26 ต.ค. 2019 เวลา 02:17 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ใครขนเมล็ดทุเรียน? - Seed dispersers of durian
ธรรมชาติมีเหตุผลเสมอ
เพราะฉะนั้นกลิ่นรสที่โดดเด่นและเฉพาะตัวของทุเรียนก็มีเหตุผลเหมือนกัน วันนี้เราลองไปสำรวจกันว่ากลิ่นและรสของทุเรียนมีไว้เพื่ออะไร
ทุเรียนที่ปอกเอง
ทุเรียน [Durio zibethinus] (ที่มา By Emőke Dénes, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=58507215)
ทุเรียน (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Durio zibethinus]) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา จนถึงประเทศมาเลเซียที่อยู่บริเวณแหลมมลายู แต่ถูกนำมาปลูกเป็นไม้ผลมาตั้งแต่เมื่อมากกว่า 500 ปีก่อน โดยชาวยุโรปที่มาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อศตวรรษที่ 15 ได้ทำการบันทึกเกี่ยวกับการปลูกทุเรียนของคนพื้นเมืองไว้แล้ว
ในปัจจุบันทุเรียนได้ถูกนำมาปลูกไกลกว่าขอบเขตการแพร่กระจายในธรรมชาติ ตั้งแต่ทางใต้ของอินเดีย ในประเทศไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ จนไปถึงประเทศนิวกีนี ดังรูปข้างล่าง
ขอบเขตการกระจายของทุเรียน สีเขียวคือขอบเขตการกระจายในธรรมชาติ (Native range) สีม่วงคือ ขอบเขตการกระจายโดยมนุษย์ (ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/94/Durian_native_and_exotic_range_map.svg)
ทุเรียนจัดว่าเป็นพืชที่โดดเด่นทั้งทางกลิ่นและรสชาติ สำหรับคนไทยที่เคยลองกินทุเรียนดูแล้ว น่าจะพอรู้จักว่าทุเรียนมีกลิ่นและรสชาติเป็นอย่างไร แต่การจะอธิบายกลิ่นทุเรียนให้คนที่ไม่เคยกินและได้กลิ่นมาก่อน เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะกลิ่นมีความซับซ้อนมาก
ลองคอมเมนท์ดูก็ได้นะครับว่า จะอธิบายกลิ่นทุเรียนออกเป็นคำพูดได้อย่างไร
โดยทั่วไปเนื้อของผลไม้นี้เป็นสิ่งที่ดึงดูดหรือของรางวัลจากพืชที่ให้แก่สัตว์ที่ช่วยขนเมล็ด (Seed dispersers) ไปทิ้งไกลๆ จากต้นแม่ เพราะยิ่งเมล็ดไปได้ไกลจากต้นแม่ โอกาสที่เมล็ดจะงอกก็มีสูงมากขึ้นเพราะใต้ต้นแม่มักมีสัตว์ที่กินเมล็ดเป็นอาหาร (ผู้ล่าเมล็ด - Seed predators) อยู่มาก และร่มไม้ของต้นแม่อาจจะบังแสงที่เป็นทรัพยากรสำคัญที่ส่งเสริมให้ต้นกล้างอก ตามรูปข้างล่างนี้
3
แผนภาพแสดงโอกาสของการงอกของเมล็ด ไอเดียตั้งต้นมาจาก Janzen-Connell hypothesis
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีเปลือกหนา แต่จะสุกและแตกออกจะทำให้เนื้อครีมสีเหลืองหลุดออกมา กลิ่นและรสชาติของทุเรียนน่าจะดึงดูดสัตว์บางกลุ่มมาให้มากินและช่วยขนเมล็ดไปจากต้นแม่
1
สัตว์กลุ่มไหนล่ะน่าจะถูกดึงดูดจากกลิ่นรสของทุเรียนสุก? เพราะว่าแค่นึกถึงกลิ่นทุเรียนสุกมากๆ ก็เวียนหัวแล้ว
สีที่ไม่สดใสของผลทุเรียน เปลือกที่หนา การที่ทุเรียนแตกออกเมื่อผลหล่นลงพื้น และกลิ่นที่รุนแรงของทุเรียนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าทุเรียนนี้น่าจะถูกขนย้ายเมล็ดโดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่บินไม่ได้ เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่มีสายตาไม่ดี ซึ่งอาจจะตาบอดสี หรือมองเห็นได้แค่สองสี แต่มีความสามารถในการดมกลิ่นได้ดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเมล็ดถูกขนย้ายโดยนก ผลไม้มักจะมีสีแดงหรือสีดำ หรือผลจะแตกบนต้น ให้เห็นเนื้อสีสดใสมากกว่า
กลิ่นหมักๆ รุนแรงคล้ายๆ กับกลิ่นตัวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของทุเรียนสุก (เหมือนที่คนมักจะพูดว่า คนเมาจะมีกลิ่นเหมือนทุเรียน) ที่คนเรารู้สึกว่าเหม็นจนวิงเวียนนี้ จริงๆ แล้วเป็นกลิ่นที่น่าดึงดูดสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิด เช่น ช้าง แรด อุรังอุตัง ชะนี ลิงหางยาว สมเสร็จ กวาง หมูป่า และอาจจะดึงดูดสัตว์กินเนื้อ เช่น เสือ เสือดาว ชะมดหรือหมีได้
ช้างแคระ (Pygmy elephant) ที่พบในเกาะบอร์เนียว เป็นหนึ่งในสัตว์ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นผู้ขนเมล็ดของทุเรียน (ที่มา https://journals.plos.org/plosbiology/article?id=10.1371/journal.pbio.0000007)
พอสัตว์พวกนี้มาเจอทุเรียนสุก ก็จะได้รับรางวัลเป็นเนื้อทุเรียนที่มีน้ำตาลหวานชุ่มฉ่ำและไขมัน
นอกจากนั้นกลิ่นและน้ำตาลของเนื้อทุเรียนอาจจะดึงดูดแมลง เช่น มดหรือด้วงได้ แต่เนื่องจากเมล็ดทุเรียนมีขนาดใหญ่ ทำให้สัตว์ที่จะขนย้ายเมล็ดทุเรียนได้จะต้องมีขนาดใหญ่ สัตว์ที่มีขนาดใหญ่เช่น ช้างหรือแรด อาจจะกลืนทั้งเนื้อและเมล็ดทุเรียนไปพร้อมกัน และขนย้ายเมล็ดทุเรียนไปจากต้นแม่ภายในตัวสัตว์ และถ่ายออกมากับมูลออกมาภายหลัง ส่วนสัตว์ขนาดเล็กเช่น ลิงหรือชะนีจะนำทุเรียนไปกิน และปาเมล็ดทิ้งออกมาโดยไม่ทำลายเมล็ด
1
ในขณะที่ลิงอุรังอุตังมีขนาดใหญ่พอจะขนเมล็ดได้ แต่อุรังอุตังกลับมีพฤติกรรมกินทุเรียนดิบ และกินเมล็ดทุเรียน ทำให้เมล็ดทุเรียนถูกทำลายและไม่สามารถงอกได้ ทำให้ลิงอุรังอุตังจัดเป็นผู้ล่าเมล็ดมากกว่า
อุรังอุตังเป็นผู้ล่าเมล็ดมากกว่าผู้ขนเมล็ด (ที่มา By Eleifert, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=3913620)
การศึกษาพบว่าค้างคาวเองก็มีบทบาทสำคัญสำหรับทุเรียน เพราะดอกทุเรียนจะอยู่บนต้นสูงและจะบานและพร้อมผสมในเวลากลางคืน โดยค้างค้าวในกลุ่มของค้างคาวที่กินน้ำหวานดอกไม้และผลไม้ เช่น Island flying fox [Pteropus hypomelanus] และ Cave nectar bat [Eonycteris spelaea] เป็นสิ่งมีชีวิตหลักที่ช่วยในการผสมเกสรทุเรียน
(a) Island flying fox [Pteropus hypomelanus] (b) ดอกทุเรียน (c) การติดกล้องในการทดลองของ Aziz et al. (2017) (d) ผลทุเรียน (ที่มา Aziz et al. (2017) - DOI: 10.1002/ece3.3213)
เอกสารอ้างอิง
1. Wolfgang Stuppy. Durian. The king of fruit. https://www.kew.org/read-and-watch/durian-king-of-fruit
4. Yoshihiro Nakashima, Peter Lagan and Kanehiro Kitayama (2008)
A Study of Fruit-Frugivore Interactions in Two Species of Durian (Durio, Bombacaceae) in Sabah, Malaysia. Biotropica. Vol. 40, No. 2 (Mar., 2008), pp. 255-258. https://www.jstor.org/stable/30045470
5. Sheema A. Aziz et al, Pollination by the locally endangered island flying fox (Pteropus hypomelanus ) enhances fruit production of the economically important durian (Durio zibethinus ), Ecology and Evolution (2017). DOI: 10.1002/ece3.3213
6. Sara Bumrungsri, Ekapong Sripaoraya, Thanongsak Chongsiri, Kitichate Sridith and Paul A. Racey. The Pollination Ecology of Durian (Durio zibethinus, Bombacaceae) in Southern Thailand
Journal of Tropical Ecology
Vol. 25, No. 1 (Jan., 2009), pp. 85-92
Published by: Cambridge University Press
โฆษณา