23 ต.ค. 2019 เวลา 03:38 • ปรัชญา
กฐินครั้งแรกในพุทธศาสนา
พระภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ รูปกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมที่บ้านเกิด คือ ปาไฐยรัฐ แต่ไม่มีภิกษุรูปใดสำเร็จเป็นพระอรหันต์ รูปใดเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี หรือพระอนาคามี ตั้งแต่ครั้งได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็ยังคงเป็นอย่างนั้น
ทางด้านพระพุทธเจ้าหลังจากบวชให้พระภัททวัคคีย์แล้ว พระองค์ก็เสด็จไปทรมานชฎิล ๓ พี่น้องและบริวาร จนทั้งหมดออกบวชสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วตามเสด็จพระศาสดาเข้านครราชคฤห์ ทรงแสดงธรรมที่สวนตาลหนุ่มนอกเมือง มีผู้ศรัทธามากมายออกบวชอีกนับหมื่น พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายเวฬุวันที่เป็นอุทยานสำหรับให้อาหารกระแตของพระองค์ให้เป็นอารามแห่งแรกในพุทธศาสนา รองรับได้ทั้งพระภิกษุเก่าและพระภิกษุบวชใหม่ อีกทั้งอยู่ในพระนครด้วยพระองค์จะได้เสด็จไปฟังธรรมได้ง่าย
ในครั้งนั้น อนาถบิณฑิกเศรษฐี เดินทางจากสาวัตถีไปค้าขายถึงนครราชคฤห์ ได้มีโอกาสฟังธรรมจนเกิดความศรัทธามาก เมื่อกลับสาวัตถีแล้วจึงไปสร้างอารามใหญ่โตมากชื่อว่า เชตวันมหาวิหาร แล้วกลับไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาพระศาสดาให้เสด็จไปประทับที่พระเชตวัน
ขณะนั้นเป็นพุทธพรรษาที่ ๒ พระศาสดารับนิมนต์กาฬุทายีอำมาตย์เสด็จนิวัตินครกบิลพัสดุ์ แสดงธรรมโปรดหมู่พระญาติ หลังจากนั้นก็เสด็จกลับนครราชคฤห์ ก่อนจะเสด็จต่อไปพาราณสี มุ่งหน้าสู่กรุงสาวัตถี ทรงรับวิหารทานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้วประทับจำพรรษาที่ ๓ ที่เชตวันมหาวิหาร
ฝ่ายพระภิกษุภัททวัคคีย์หรือพระภิกษุปาไฐยรัฐทั้ง ๓๐ ครั้นได้ยินข่าวว่าพระศาสดาเสด็จมาประทับที่เชตวันมหาวิหาร พวกท่านจึงรีบเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อจะขอรับพุทธโอวาทเพิ่มเติม แต่เดินทางมาถึงแค่เมืองสาเกตซึ่งอยู่ห่างจากสาวัตถีแค่ 6 โยชน์ ก็เข้าพรรษาเสียก่อน ภิกษุเหล่านั้นจึงต้องหยุดจำพรรษาอยู่ที่สาเกตด้วยใจกระวนกระวายอยากไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ครบพรรษา ภิกษุปาไฐยรัฐปวารณาออกพรรษาแล้วก็รีบเดินทางต่อไปสาวัตถีทันที แต่เวลานั้นแม้จะออกพรรษาแล้วแต่ฝนก็ยังไม่หยุดตกเสียทีเดียว ถนนหนทางยังเฉอะแฉะ ทางเดินเต็มไปด้วยหญ้าที่ขึ้นรกเพราะได้ฝน พื้นมีหล่มมีโคลนมองเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง เมื่อภิกษุเหล่านี้เดินย่ำไปจีวรก็เปียกเปื้อน บางครั้งก็เดินเหยียบหรือล้มลงไปในแอ่งโคลนจีวรจึงเลอะเทอะไปหมด เมื่อไปถึงพระเชตวันก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยสภาพพระเปื้อนโคลน
พระพุทธเจ้าทรงต้อนรับภิกษุเหล่านั้น ตรัสถามทุกข์สุขว่าเป็นอย่างไร การบำเพ็ญภาวนาเจริญก้าวหน้าดีไหม ความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ภิกษุสามัคคีกลมเกลียวกันดีหรือเปล่า ภิกษุเหล่านั้นก็กราบทูลว่าพวกข้าพระองค์เป็นอยู่สุขสบายดีทุกอย่าง เว้นอย่างเดียวคือยังไม่สำเร็จมรรคผลนิพพานเสียทีจึงรีบมาเฝ้าเพื่อทูลขอพุทธโอวาทเพิ่มเติม
พระพุทธองค์ทรงดำริว่าภิกษุเหล่านี้ออกบวชเพราะเห็นโทษของกาม และเห็นคุณของการออกบวช แต่จิตของภิกษุเหล่านี้ยังไม่สามารถสละละวางได้หมด พระศาสดาจึงยกพระกถามาแสดงเป็นต้นว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอผู้ท่องเที่ยวไปมาคร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ ตลอดกาลนาน เทียบกับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน
ภิกษุกราบทูลว่า น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกข้าพระองค์ผู้ท่องเที่ยวไปมาคร่ำครวญร้องไห้อยู่ตลอดกาลนานนี้แหละ มากกว่าน้ำใน
มหาสมุทรทั้ง ๔ พระเจ้าข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถูกแล้ว น้ำตาที่หลั่งไหลออกของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมาตลอดกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย พวกเธอเคยประสบมรณกรรมของมารดา มรณกรรมของบิดา ของพี่ชายน้องชาย ของพี่สาวน้องสาว ของบุตรธิดา และของญาติ น้ำตาของเธอหลั่งไหลเพราะเหตุนั้นตลอดกาลนานนี้มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย
ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอเคยประสบกับความเสื่อมแห่งโภคะ ความเสื่อมเพราะโรค ประสบสิ่งที่ไม่พอใจ และต้องพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ น้ำตาที่หลั่งไหลของพวกเธอเพราะเหตุนั้นตลอดกาลนานนี้มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่าสงสารนี้ยาวไกล กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้พวกเธอควรเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย เพื่อจะคลายกำหนัด เพื่อความหลุดพ้น ดังนี้แล
ภิกษุปาไฐยรัฐส่งกระจิตไปตามพุทธโอวาท เกิดอาการเบื่อยหน่าย คลายกำหนัด หมดความยึดมั่นถือมั่นในสังขาร จิตของท่านสละ ละ วาง ไม่ยึดติดสิ่งใดอีก และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด
จากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงนำเหตุของภิษุปาไฐยรัฐเป็นปฐมเหตุบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทั้งหลายที่อยู่จำพรรษาแล้ว มีจีวรเก่า ถึงกาลที่จะตัดเย็บจีวรใหม่ พระองค์อนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากฐินจีวรที่มีผู้มาถวายด้วยความบริสุทธิ์ได้ในระยะเวลา 30 วันหลังออกพรรษา
นี่คือปฐมเหตุของการเกิดบุญกฐิน ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกหลังออกพรรษาที่ ๓ เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว
ที่มา:
กฐินขันธกะ พระวินัยปิฎกเล่ม ๕ คัมภีร์มหาวรรค ภาค ๒
หมายเหตุ
ตำนานกฐินหลายแห่งบอกว่านางวิสาขามหาบาสิกาเป็นคนแรกที่ถวายกฐิน แต่ในพระไตรปิฎกและอรรกถาไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนแรกที่ถวายกฐิน แต่มีกล่าวถึงการถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นครั้งแรกโดยนางวิสาขาเท่านั้น
หลังจากมีปฐมบัญญัติเรื่องกฐินแล้ว ต่อมาก็มีการรับกฐินที่มีลักษณะไม่เป็นไปเพื่อความมักน้อย พระพุทธเจ้าก็ทรงมีอนุบัญญัติเพิ่มเติมมาอีกมากมาย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา