28 ต.ค. 2019 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“ประวัติศาสตร์การสอดแนมและจารกรรมข้อมูล (The History of spy and espionage)” ตอนที่ 3
เบล็ตช์ลีย์พาร์ค (Bletchley Park)
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) ชาวบ้านในหมู่บ้านเบล็ตช์ลีย์ หมู่บ้านในชนบทของอังกฤษ ได้มองรถหลายคันขับผ่านบ้านพวกเขาไปยังเบล็ตช์ลีย์พาร์ค ซึ่งเป็นบ้านสวนนอกตัวเมือง
ชาวเมืองต่างส่ายหัว พวกเขาได้ยินมาซักพักแล้วว่าจะมีกลุ่มนายทหารระดับสูงจะมาจัดงานเลี้ยงกันในเบล็ตช์ลีย์พาร์ค
ในเวลานั้น สงครามเริ่มปะทุไปทั่วยุโรป ชาวเมืองจึงไม่ค่อยพอใจนักที่ทหารเหล่านี้จะมาจัดปาร์ตี้ สนุกสนาน ทำเป็นไม่รู้เรื่องของโลกภายนอก
เบล็ตช์ลีย์พาร์ค (Bletchley Park)
แต่ในขณะที่รถเหล่านี้ได้มาถึงบ้านเบล็ตช์ลีย์พาร์คแล้ว รอยยิ้มของเหล่าทหารในรถก็กลายเป็นเคร่งเครียด
ที่จริงแล้ว พวกเขาไม่ได้มาจัดงานเลี้ยงหรอก พวกเขามาทำภารกิจที่สำคัญมากต่างหาก
พวกเขามาเพื่อถอดรหัสของกองทัพเยอรมัน
ตั้งแต่ยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) กองทัพเยอรมันได้ทำการส่งข้อความทางวิทยุโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “เครื่องอินิกมา (Enigma machine)”
เครื่องอินิกมา (Enigma machine)
เครื่องอินิกมานั้นดูเหมือนกับเครื่องพิมพ์ดีด แต่มีฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำหน้าที่พิมพ์ข้อความลงไป
การที่จะถอดข้อความที่พิมพ์ลงไปในเครื่องนี้ ต้องมีการติดตั้งฟันเฟืองให้ตรงกับรหัสที่ได้รับ
(เรื่องของการทำงานของเครื่องอินิกมานั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และผมเองก็ยังงงๆ กับการทำงานของมันครับ แต่เอาเป็นว่า การถอดรหัสเจ้าเครื่องนี้มันยากมากๆ ครับ)
ฝ่ายเยอรมนีภูมิใจกับเครื่องนี้มาก และมั่นใจว่าจะไม่มีใครถอดรหัสของพวกเขาได้ แต่สุดท้ายรหัสของเยอรมนีก็ถูกถอดได้จนได้
ค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) ฝรั่งเศสและโปแลนด์ก็ได้ทำการค้นพบวิธีการถอดรหัสสัญญาณวิทยุของฝ่ายเยอรมนีได้
แต่ฝ่ายเยอรมนีก็เริ่มทราบว่ารหัสของพวกเขาเริ่มจะไม่ได้ถอดยากอย่างที่คิดไว้ พวกเขาจึงเริ่มเปลี่ยนฟันเฟืองของเครื่องและรอบคอบในการตั้งรหัสมากขึ้น ทำให้การถอดรหัสเริ่มจะทำได้ยากจริงๆ แล้ว
แต่ถึงรหัสของเยอรมนีจะถอดยากแค่ไหน โรงเรียนสอนการถอดรหัสของอังกฤษก็ไม่ยอมแพ้
หากพวกเขาทำสำเร็จ พวกเขาก็จะสามารถล้วงความลับของศัตรู
กองทัพสหราชอาณาจักรได้เลือกเบล็ตช์ลีย์พาร์คเป็นศูนย์บัญชาการของภารกิจนี้ และได้มีการรวบรวมเหล่าหัวกะทิจากทั่วประเทศมาช่วยกันถอดรหัส
เหล่านักถอดรหัสเหล่านี้มีทั้งแชมป์เปี้ยนหมากรุก ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ และนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ และเหล่าหัวกะทิจำนวน 200 คนก็ต้องทำการสาบานว่าจะปิดเรื่องเบล็ตช์ลีย์พาร์คนี้เป็นความลับ และเบล็ตช์ลีย์พาร์คก็มีรหัสลับว่า “Station X”
เบล็ตช์ลีย์พาร์คในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในแต่ละวัน นักถอดรหัสใน Station X ได้รับรหัสลับเยอรมันมากกว่าวันละ 3,000 รหัส ซึ่งรหัสเหล่านี้ได้ถูกดักจับไว้ได้โดยหน่วยที่เรียกว่า “Y Station”
เหล่านักถอดรหัสต่างทำงานหามรุ่งหามค่ำในกระท่อมเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ในสนามหญ้าในสวนของคฤหาสน์หลังนี้ พวกเขาต้องทำการเปรียบเทียบรหัสแต่ละรหัส และหวังว่าจะสามารถค้นพบวิธีการถอดรหัสเยอรมันที่ถูกส่งมาในวันนั้นได้
หนึ่งในนักถอดรหัสที่เก่งที่สุดคืออัจฉริยะคณิตศาสตร์ชื่อ “อลัน ทัวริง (Alan Turing)”
1
อลัน ทัวริง (Alan Turing)
ในปีค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) ทัวริงได้ทำการออกแบบเครื่องถอดรหัสชื่อ “บอมเบ้ (Bombe)”
เครื่องบอมเบ้นี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถถอดรหัสได้ทีละน้อย จนในที่สุดก็สามารถถอดรหัสทั้งหมดได้
ในเวลานี้ เหล่าสายลับใน Station X สามารถรับรู้ถึงแผนการต่างๆ ของฝ่ายเยอรมนีได้แล้ว พวกเขาสามารถช่วยนำทางให้เรือรบของฝั่งตนทราบถึงตำแหน่งของเรือดำน้ำศัตรูและสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางที่เรือดำน้ำเยอรมันกำลังลาดตระเวน อีกทั้งยังสามารถทำให้กองทัพตนทราบถึงการดักซุ่มโจมตีของศัตรู
1
เครื่องบอมเบ้ (Bombe)
เมื่อ “วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรทราบถึงความสำเร็จที่เบล็ตช์ลีย์พาร์ค เชอร์ชิลล์ก็ได้เรียกเหล่านักถอดรหัสว่า
“ห่านที่ออกไข่เป็นไข่ทองคำ”
1
ถึงแม้ว่าเหล่านักถอดรหัสเหล่านี้จะไม่ได้ออกไปในสนามรบจริงๆ แต่พวกเขาก็ทำงานหนักและเป็นตัวแปรสำคัญของผลลัพธ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้
เรื่องราวเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เหล่าสายลับจะมีวิวัฒนาการอะไรอีกบ้าง ติดตามต่อในตอนต่อไปนะครับ
โฆษณา