Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
30 ต.ค. 2019 เวลา 07:58 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 4
อวัยวะหยางนิจพิเศษ (奇恆之腑)
สมองและมดลูก
อวัยวะหยางนิจพิเศษจะประกอบด้วยสมอง ไขกระดูก กระดูก เส้นโลหิต ถุงน้ำดี และมดลูก คำว่าพิเศษมีความหมายว่าแตกต่าง ส่วนคำว่านิจหมายถึงตลอดกาล เหตุที่แยกอวัยวะเหล่านี้ออกมาต่างหากอีกหมวดหนึ่ง นั่นก็เพราะอวัยวะเหล่านี้มีความแตกต่างจากส่วนของอวัยวะหยาง อีกทั้งยังมีความแตกต่างจากส่วนของอวัยวะอิน หรือก็คือมีคุณลักษณะของทั้งอวัยวะอินและอวัยวะหยางในตัวเดียวกัน ดังนั้นจึงได้แยกออกมาต่างหากอีกหมวดหนึ่ง
อวัยวะหยางนิจพิเศษมีคุณลักษณะที่เหมือนกันอยู่สองประการ คือ อวัยวะหยางนิจพิเศษมีลักษณะกลวงเหมือนอวัยวะหยาง แต่กลับไม่มีการสัมผัสหรือเชื่อมโยงอะไรกับน้ำและอาหารเหมือนกับอวัยวะหยางแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน อวัยวะหยางนิจพิเศษมีหน้าที่ในการเก็บสะสมสารจิง แต่กลับมีโครงสร้างที่กลวงไม่เหมือนกับอวัยวะอินที่มีลักษณะเต็มเลยแม้แต่น้อย
นอกจากถุงน้ำดีที่จะมีความสัมพันธ์กับตับในลักษณะนอกในแล้ว อวัยวะหยางนิจพิเศษจะไม่มีความสัมพันธ์กับอวัยวะอินในลักษณะนอกในแต่อย่างใด หากจะมีบางอวัยวะที่จะมีการเชื่อมโยงกับแปดเส้นลมปราณพิเศษบ้าง
ทั้งนี้ เพศหญิงจะมีอวัยวะหยางนิจพิเศษอยู่หกอวัยวะ ส่วนเพศชายจะมีอวัยวะหยางนิจพิเศษอยู่เพียงห้าอวัยวะ คือจะไม่มีมดลูกเหมือนเช่นเพศหญิง แต่ปราชญ์แพทย์จีนในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงจะจัดให้ถุงอัณฑะเป็นอวัยวะหยางนิจพิเศษสำหรับเพศชาย จึงทำให้ทฤษฎีในส่วนนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเนื่องจากไขกระดูก กระดูก เส้นโลหิต และถุงน้ำดีได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้แล้ว ในส่วนต่อไปจะกล่าวเฉพาะสมองและมดลูกเท่านั้น
สมอง
สมองเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในกะโหลก มีการเชื่อมต่อกับไขสันหลัง ในหลิงซูจึงกล่าวว่า “สมองเป็นทะเลแห่งไขกระดูก บนถึงส่วนป่ายฮุ่ย ล่างถึงส่วนเฟิงฝู่” ทั้งป่ายฮุ่ยและเฟิงฝู่ล้วนเป็นจุดฝังเข็มของเส้นตูม่าย เส้นตูม่ายจะเดินตามกระดูกสันหลังขึ้นสู่ข้างบน เมื่อถึงเฟิงฝู่ก็จะเข้าไปภายในสมอง ดังนั้นจุดฝังเข็มของเส้นตูม่ายจำนวนไม่น้อยจึงมีส่วนในการรักษาโรคทางสมองได้
สมองเป็นอวัยวะในการคิดอ่านของร่างกาย ในซู่เวิ่นจึงกล่าวว่า “อันว่าศีรษะคือที่รวมแห่งความชาญฉลาด” ทั้งนี้ ในหลิงซูยังกล่าวไว้ว่า “ทะเลแห่งไขกระดูกไม่เพียงพอ ก็จะมีอาการหัวหมุนและหูอื้อ” ซึ่งหมายความว่า หากสมองทำงานบกพร่องก็จะมีอาการวิงเวียนและตาลายนั่นเอง
แม้คนโบราณจะมีการระบุถึงพยาธิสภาพของสมองอยู่พอสมควร แต่ในศาสตร์แห่งการรักษาอวัยวะทั้งอินและหยางนั้น ความจริงก็มีการระบุว่าอาการป่วยทางสมองก็มีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะภายในด้วยเช่นกัน เป็นต้นว่าหัวใจ ตับ และไตนั้น ล้วนถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการทางสมองอยู่เสมอ
มดลูก
มีตำแหน่งอยู่ที่ท้องน้อย มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องของประจำเดือนและการมีบุตร มดลูกมีส่วนเกี่ยวข้องกับไต เส้นชงม่าย และเส้นเยิ่นม่ายมากเป็นที่สุด เนื่องจากมดลูกมีความเชื่ยมโยงกับไต ความสามารถในการสืบพันธุ์ก็มีพลังไตเป็นตัวกำหนดโดยเฉพาะ ส่วนเส้นเยิ่นม่ายและเส้นชงม่ายก็มีจุดต้นทางที่มดลูก โดยเยิ่นม่ายมีหน้าที่ในการปรับพลังลมปราณของเส้นลมปราณอินทั้งหลาย มีความสามารถในการบำรุงทารกที่อยู่ในท้อง ส่วนชงม่ายมีหน้าที่ในการปรับเลือดลมของเส้นลมปราณ 12 เส้น
ดังนั้น เมื่อพลังไตเต็มเปี่ยม เลือดลมของเส้นเยิ่นม่ายชงม่ายเหลือล้น ยามนั้นจึงจะมีประจำเดือน และจึงจะมีความสามารถในการสืบพันธุ์และบำรุงทารกในครรภ์ได้ หากพลังไตพร่อง เลือดลมของเส้นเยิ่นม่ายชงม่ายไม่เพียงพอ ยามนั้นก็จะเกิดอาการประจำเดือนผิดปกติ ไร้ประจำเดือน หรือไม่มีบุตรได้
นอกจากนี้ มดลูกยังมีความเกี่ยวข้องกับหัวใจ ตับ ม้ามอย่างแนบแน่นอีกด้วย เพราะมดลูกมีความเกี่ยวข้องกับประจำเดือน การบำรุงทารกในครรภ์ก็จำเป็นต้องใช้โลหิตในการบำรุง และในส่วนของโลหิตนั้น จะมีหัวใจที่ทำหน้าที่ในการดูแลโลหิต ตับทำหน้าที่ในการเก็บโลหิต ม้ามทำหน้าที่ในการควบคุมโลหิต ดังนั้นหากหัวใจ ตับ ม้ามทำงานเสียสมดุลไป แน่นอนว่าย่อมจะกระทบถึงการทำงานตามปกติของมดลูกอย่างแน่นอน
3 บันทึก
7
1
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
3
7
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย