Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
1 พ.ย. 2019 เวลา 23:30 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 4
ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะอินและอวัยวะอิน
หัวใจกับปอด
หัวใจดูแลเรื่องโลหิต ปอดดูแลเรื่องลมปราณ การโคจรแห่งโลหิตจะต้องอาศัยลมปราณเป็นตัวนำ ส่วนลมปราณก็ต้องอาศัยโลหิตเป็นตัวพาไปทั่วทั้งร่างกาย ดังนั้นปอดและหัวใจ ลมปราณและโลหิตจึงมีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น หากมีแต่โลหิตโดยไร้ลมปราณก็จะเกิดอาการเลือดคั่งไม่ระบาย กลายเป็นอาการเลือดจ้ำอยู่ตามร่างกาย แต่หากมีแต่ลมปราณโดยไร้โลหิต ลมปราณก็จะไม่มีที่พักพิงและเกิดการแตกกระจายจนไม่สามารถเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้
ในทางพยาธิสภาพนั้น หากพลังปอดอ่อนแรง พลังจงชี่ (宗氣) ไม่เพียงพอ การโคจรของโลหิตก็จะไร้เรี่ยวแรง การหมุนเวียนจะถูกอุดตันและเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจสั้น ใจเต้นถี่ ลิ้นม่วงเขียว เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากพลังหัวใจไม่เพียงพอหรือพลังหยางของหัวใจอ่อนแรง การไหลเวียนของเส้นโลหิตไม่ปลอดโปร่ง ยามนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อการระบายของปอด และทำให้เกิดอาการไอ หอบหืด แน่นหน้าอกและหายใจไม่ออก เป็นต้น
1
หัวใจกับม้าม
หัวใจดูแลโลหิต ม้ามควบคุมโลหิต ความสามารถในการลำเลียงของม้ามจะต้องอาศัยพลังหยางของหัวใจและไตในการผลักดัน และการเกิดขึ้นของโลหิต ก็จำเป็นต้องอาศัยสารอาหารที่ได้จากการลำเลียงของม้ามอีกด้วย โลหิตไหลเวียนอยู่ภายในเส้นโลหิต จุดนี้ต้องถูกดูแลจากหัวใจ แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยการควบคุมของม้ามจึงจะทำให้โลหิตอยู่ในเส้นทางที่ควรจะไป
ในทางพยาธิสภาพนั้น หัวใจและม้ามจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน หากพลังม้ามอ่อนแรง การลำเลียงเกิดชะงัก สารอาหารที่จะใช้ในการสร้างโลหิตก็จะไม่เพียงพอ หรืออาจจะเป็นการเสียเลือดอันเกิดจากการควบคุมโลหิตของม้ามเกิดปัญหา เหล่านี้คือสาเหตุที่จะทำให้โลหิตในหัวใจอ่อนพร่องลงได้ หรือบางทีอาจเพราะคิดมากกังวลใจจนทำร้ายโลหิตของหัวใจ และสุดท้ายได้ส่งผลกระทบต่อการลำเลียงของม้าม ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิดอาการหัวใจม้ามอ่อนพร่อง (心脾兩虛) ซึ่งจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร แขนขาอ่อนเปลี้ย ใบหน้าไร้ชีวิตชีวาได้
1
หัวใจกับตับ
ด้านความสัมพันธ์ระหว่างหัวใจกับตับ นอกจากจะมีความเกี่ยวข้องในทางสภาพจิตใจแล้ว ที่สำคัญคือจะสะท้อนออกมาในด้านการหมุนเวียนของโลหิตนั่นเอง โดยหัวใจดูแลโลหิต ตับเก็บสะสมโลหิต หากโลหิตแห่งหัวใจเปี่ยมล้น ตับจึงจะแสดงศักยภาพการสะสมโลหิตเพื่อปรับปริมาณโลหิตให้เหมาะสมกับความต้องการในการทำงานของร่างกายได้
ตับทำหน้าที่ในการระบาย คือมีการระบายเลือดลมให้ลื่นไหล เพื่อทำให้เลือดลมไม่อุดอั้นจนเกิดอาการเลือดคั่งภายในร่างกาย เช่นนี้จึงจะมีส่วนช่วยในด้านการผลักดันการหมุนเวียนโลหิตของหัวใจได้
ในทางพยาธิสภาพนั้น หัวใจกับตับจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น หากโลหิตของหัวใจไม่เพียงพอ ก็มักจะทำให้โลหิตในตับพร่อง ยามนั้นจะเกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว ฝันบ่อย ใบหน้าไร้ชีวิตชีวา กอปรกับมีอาการวิงเวียนตาลาย สายตาเสื่อมถอย ประจำเดือนลดน้อยลง เป็นต้น แต่หากพลังหยางของตับร้อนแรงจนรบกวนการทำงานของหัวใจ ก็จะมีอาการปวดศีรษะและตาแดง โมโหง่าย ขณะเดียวกันยังจะมีอาการหัวใจอึดอัด นอนไม่หลับ และฝันบ่อย ๆ เป็นต้น
หัวใจกับไต
หัวใจเป็นธาตุไฟ อยู่ด้านบน จัดอยู่ในฝั่งหยาง ไตเป็นธาตุน้ำ อยู่ด้านล่าง จัดอยู่ในฝั่งอิน ความสัมพันธ์ระหว่างหัวใจและไตจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างการขึ้นลงของอินและหยางอย่างสมดุล โดยปกตินั้น หัวใจหยางจะลงล่างและทำงานร่วมกับไตหยางในการอบอุ่นไตอิน ทำให้น้ำในไตไม่หนาวเย็น ส่วนไตอินก็จะขึ้นบนและทำงานร่วมกับหัวใจอินในการหล่อเลี้ยงหัวใจหยาง เพื่อทำให้หัวใจหยางไม่ร้อนแรงมากจนเกินไป การทำงานเชื่อมผสานและดึงรั้งระหว่างกันอย่างสมดุลเช่นนี้ เรียกว่า “หัวใจไตเชื่อมผสาน (心腎相交)” “น้ำไฟหมุนเวียน (水火既濟)” ด้วยกระบวนการอย่างนี้ จึงทำให้บนล่างอินหยางเกิดภาวะความสมดุลเพื่อรักษาสภาพการทำงานอย่างเป็นปกติของหัวใจและไต
หากว่าการทำงานระหว่างหัวใจและไตเสียสมดุลไปก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากไตอินไม่เพียงพอจนไม่สามารถส่งน้ำขึ้นหล่อเลี้ยงหัวใจ จึงมักจะทำให้หัวใจหยางร้อนแรงและเกิดอาการอสุจิเคลื่อน หัวใจอึดอัด หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ และฝันบ่อย ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า “หัวใจไตไม่ผสาน (心腎不交)” เป็นต้น
หากมีอาการไตหยางพร่อง น้ำก็จะไม่สามารถถูกสลาย ดังนั้นน้ำจึงลอยขึ้นทำร้ายที่ส่วนบนจนเกิดการหยุดยั้งก่อกวนหัวใจหยาง ดังนั้นจะเกิดอาการตัวบวมน้ำ แขนขาหนาวเย็น บวกกับมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจสั้น แน่นหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า “พลังน้ำรุกรานหัวใจ (水氣凌心)”
ในส่วนนี้ หัวใจดูแลโลหิต ไตสะสมสารจิง จิงและโลหิตจะสามารถก่อกำเนิดกันและกัน ดังนั้นเมื่อจิงในไตพร่องก็จะกระทบต่อโลหิตในหัวใจได้ หัวใจเป็นที่สถิตแห่งจิตใจ จิงในไตก็ยังกำเนิดไขกระดูกที่เชื่อมต่อไปยังสมอง สมองเป็นที่อยู่แห่งจิตใจ ดังนั้นเมื่อจิงในไตและโลหิตของหัวใจพร่องแล้วก็จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ขี้หลงขี้ลืม ฝันบ่อย ซึ่งเป็นอาการทางจิตใจทั้งสิ้น
ม้ามกับปอด
ความสัมพันธ์ระหว่างม้ามกับปอดจะสะท้อนออกในด้านลมและน้ำ โดยม้ามทำหน้าที่ด้านการลำเลียง เป็นต้นธารการกำเนิดแห่งเลือดลมในทางหลังกำเนิด การที่พลังปอดจะเหลือล้นหรือไม่ ก็ต้องอาศัยการบำรุงจากพลังจิงที่ได้จากสารอาหารหลังกำเนิด สารอาหารหลังกำเนิดได้รับจากการย่อยของกระเพาะลำไส้ และถูกลำเลียงจากม้าม ดังนั้นพลังปอดที่แรงหรืออ่อน โดยแท้แล้วก็ถูกกำหนดจากความอ่อนหรือแรงของพลังม้ามไม่มากก็น้อย หรือก็คือ ม้ามมีส่วนช่วยในการเสริมพลังปอดนั่นเอง
ในอีกด้านหนึ่งนั้น ความสามารถในด้านการลำเลียงและการย่อยสลายน้ำของม้าม ก็ต้องอาศัยความสามารถด้านการกระจายและการกดลดของปอดเข้าช่วยเหลืออีกด้วย ในซู่เวิ่นได้กล่าวไว้ว่า “พลังม้ามกระจายสารจิงขึ้นบนไปที่ปอด ปอดปรับช่องทางน้ำแล้วลงล่างไปที่กระเพาะปัสสาวะ” ตรงนี้ได้ชี้แจงว่า ระหว่างปอดและม้ามจะมีการทำงานที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
ในทางพยาธิสภาพนั้น ความอ่อนแรงของพลังม้ามย่อมจะกระทบให้พลังปอดอ่อนแรงตามไปด้วย ยามนั้นจะเกิดอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ตัวผอม บวกกับมีอาการไออย่างอ่อนแรงและมีอาการอ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรงจนไม่อยากพูดจา หากปอดสูญเสียซึ่งพลังในการกระจายและการกดลด สารจินเยี่ยก็จะตกค้าง ยามนั้นย่อมจะทำให้ม้ามชื้นและไม่สามารถลำเลียง และทำให้เกิดอาการไอและมีเสมหะมาก แน่นหน้าอก ท้องอืด ท้องร้อง และตัวบวมน้ำเป็นต้น
ตับกับปอด
ความสัมพันธ์ระหว่างตับกับปอดนั้นจะแสดงออกในด้านการขึ้นลงของลมปราณ โดยปอดดูแลเรื่องการกดลด ตับดูแลเรื่องการยกขึ้น การขึ้นและลงที่สมดุลนี้จะทำให้การหมุนเวียนลมปราณของร่างกายมีความพอดี แต่หากตับอุดอู้ ลมปราณก็จะอุดกั้นจนกลายเป็นไฟ ไฟจะลอยไปตามเส้นลมปราณและเผาสารจินของปอดจนเสียหาย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดสีข้าง โกรธง่าย สะอึก กระอักเลือด เป็นต้น แพทย์จีนได้เรียกอาการนี้ว่า “ไฟตับทำร้ายปอด (肝火犯肺)” ตรงกันข้าม หากปอดขาดซึ่งการกดลดลง ความร้อนแห้งจึงลงล่างและทำร้ายธาตุอินของตับไต ตรงนี้จะทำให้เกิดอาการตับหยางร้อนแรงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น นอกจากจะมีอาการไอที่เกิดจากอาการของปอดแล้ว ผู้ป่วยยังจะมีอาการปวดชายโครงและสีข้าง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้าแดงและตาแดงประกอบอีกด้วย
ปอดกับไต
ความสัมพันธ์ระหว่างปอดและไตจะสะท้อนออกในด้านของลมและน้ำ การหมุนเวียนของน้ำจะมีความเกี่ยวข้องกับปอดและไตอย่างแนบแน่น หากความสามารถในการกระจายของปอดผิดปกติ หรือการแปรสภาพ (氣化) ของไตไม่ลื่นไหล ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการหมุนเวียนที่ปกติของน้ำแล้ว อวัยวะทั้งสองนี้ยังจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน จนทำให้การหมุนเวียนของน้ำเกิดความขัดข้องอย่างร้ายแรงอีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการสะอึกและหอบหืดจนไม่สามารถนอนหลับได้ ทั้งยังจะมีอาการตัวบวมน้ำเกิดขึ้นอีกด้วย ในซู่เวิ่นกล่าวว่า “อันโรคที่เกี่ยวกับน้ำนั้น ตรงส่วนล่างจะมีอาการท้องใหญ่และผิวหนังอืดบวม ตรงส่วนบนจะมีอาการหอบหืดจนมิอาจนอน นี่คือการป่วยทั้งต้นและปลายแล”
ปอดดูแลเรื่องการหายใจ ไตทำหน้าที่รับลมปราณ ดังนั้น การหายใจที่ปกติจะต้องอาศัยความสามารถในการรับลมปราณที่ปกติของไตในการร่วมด้วยช่วยกันอีกแรง ขอเพียงแต่พลังไตยังเหลือล้น ลมหายใจที่สูดเข้าไปจึงจะอาศัยความสามารถในการกดลดของปอดส่งลงไปให้ไตรับได้ หากพลังไตไม่เพียงพอ การรับลมปราณขาดศักยภาพไป ลมปราณก็จะลอยขึ้นบนได้ หรืออาจจะเพราะพลังปอดพร่องมาเป็นเวลานาน จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อไต และทำให้ไตมิอาจทำการรับลมปราณได้ ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิดอาการหอบหืดได้ทั้งสิ้น ในยามนั้น เพียงแค่ขยับร่างกายเบา ๆ ก็จะเกิดอาการเหนื่อยหอบจนสุดทนเสียแล้ว
1
นอกจากนี้ สารอินของไตและปอดก็ยังมีการหล่อเลี้ยงกันไปมาอีกด้วย โดยไตอินเป็นพื้นฐานของสารอินของร่างกายทั้งหมด ดังนั้นเมื่อปอดอินพร่องก็จะกระทบต่อไตอิน เมื่อไตอินพร่องก็จะไม่สามารถหล่อเลี้ยงปอดอินที่ข้างบน และจึงทำให้ปอดอินเกิดอาการพร่องตามไปในที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการโหนกแก้มแดง ตัวร้อนหลังเที่ยง (潮熱) เหงื่อออกหลังนอน (盜汗) ไอแห้ง เสียงแหบ เอวเข่าอ่อนล้าไร้เรี่ยวแรง เป็นต้น
1
ตับและม้าม
ความสัมพันธ์ระหว่างตับและม้ามจะแสดงออกในด้านการย่อยอาหารและการโครจรของโลหิต โดยม้ามทำหน้าที่ในการลำเลียง ตับทำหน้าที่ในการระบาย หากการระบายของตับมีความเป็นปกติ การขึ้นและลงของกระเพาะม้ามจะมีความสมดุล การกินดื่ม การย่อยการดูดซับและการลำเลียงก็จะมีความเป็นปกติ ขณะเดียวกัน หากการลำเลียงของม้ามมีความแข็งแกร่ง สารอาหารที่เกิดจากการย่อยสลายมีความเหลือล้น ต้นทางของเลือดในตับก็จะมีความเพียงพอ อนึ่ง ตับทำหน้าที่ในการเก็บโลหิต ม้ามทำหน้าที่ในการควบคุมโลหิต สองอวัยวะนี้จะร่วมมือกันทำงานจนทำให้การโคจรของโลหิตที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมของร่างกายมีความเป็นปกติ
ในทางพยาธิสภาพนั้น หากตับอุดอู้ลมปราณอุดอั้น การระบายไม่เป็นปกติ ยามนั้นก็จะกระทบต่อความสามารถในการลำเลียงของม้ามและเกิดอาการ “ตับอุดอู้ม้ามอ่อนแรง (肝鬱脾虛)” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตับม้ามไม่ผสาน (肝脾不和)” ซึ่งจะมีอาการปวดสีข้าง อึดอัด โกรธง่าย เบื่ออาหาร ท้องแน่นตึง การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ และมีความรู้สึกเกียจคร้าน เป็นต้น
หากว่าพลังม้ามอ่อนแรง การลำเลียงไร้พลัง ยามนั้นจะเกิดอาการการสร้างเลือดไม่เพียงพอหรืออาการม้ามมิอาจคุมโลหิตและเกิดการสูญเสียโลหิตขึ้น ซึ่งตรงนี้จะกระทบต่อตับจนเกิดอาการเลือดตับพร่องและเกิดอาการเบื่ออาหาร ผอมซูบ สายตาพร่ามัว ประจำเดือนน้อยหรือไร้ประจำเดือนได้
ม้ามกับไต
ความสัมพันธ์ระหว่างม้ามกับไตจะสะท้อนออกในด้านก่อนกำเนิดและหลังกำเนิด โดยม้ามเป็นรากฐานของร่างกายหลังกำเนิด ส่วนไตเป็นรากฐานของร่างกายก่อนกำเนิด สารจิงในไตจะต้องอาศัยสารอาหารที่ม้ามทำการลำเลียงมาหล่อเลี้ยง ความสามารถในการลำเลียงก็ยังต้องอาศัยการอบอุ่นของไตหยางในการผลักดันจึงจะรักษาความเป็นปกติได้ นี่ก็คือก่อนกำเนิดของไตผลักดันหลังกำเนิดของม้าม หลังกำเนิดของม้ามหล่อเลี้ยงก่อนกำเนิดของไต
ในทางพยาธิสภาพนั้น ระหว่างม้ามและไตจะส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน หากไตหยางไม่พอก็จะไม่สามารถอบอุ่นม้ามหยางได้ ดังนั้นจะทำให้เกิดอาการม้ามหยางพร่อง เมื่อม้ามหยางพร่องก็จะทำให้ธาตุอินแรง เมื่อนานวันเข้าก็จะทำร้ายไตหยางและส่งผลให้ไตหยางพร่อง ในทางคลินิกนั้นจะเกิดอาการแน่นท้อง ท้องร้อง อุจจาระเหลว เอวเข่าปวดเมื่อย ร่างกายและแขนขาหนาวเย็น ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า “ม้ามไตหยางพร่อง (脾腎陽虛)” นั่นเอง
ตับกับไต
ตับเก็บโลหิต ไตเก็บสารจิง โลหิตของตับต้องอาศัยสารจิงของไตในการหล่อเลี้ยง ส่วนไตก็ต้องอาศัยโลหิตของตับในการบำรุง ดังนั้นสารจิงและโลหิตจึงต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ก่อกำเนิดซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงมีการกล่าวว่า “จิงและโลหิตหนึ่งต้นกำเนิด (精血同源)” “ตับไตหนึ่งต้นกำเนิด (肝腎同源)”
ในทางพยาธิสภาพนั้น หากสารจิงในไตไม่เพียงพอ ตับก็จะขาดการหล่อเลี้ยง ยามนั้นจะทำให้ตับอินไม่พอจนทำให้เกิดอาการตับไตอินพร่อง (肝腎陰虛) และทำให้เอวและสันหลังมีอาการเมื่อยล้าไร้เรี่ยวแรง อสุจิเคลื่อน หูอื้อและวิงเวียน ตาลาย ตาแห้ง เป็นต้น แต่หากตับหยางร้อนแรง ก็จะเกิดอาการปวดศีรษะ ตาแดง ใจร้อนโกรธง่าย หากปล่อยนานวันก็จะทำร้ายไตอินและเกิดอาการปวดเมื่อยเอว อสุจิเคลื่อน และหูอื้อ เป็นต้น
16 บันทึก
30
6
22
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
16
30
6
22
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย