Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
3 พ.ย. 2019 เวลา 00:15 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 4
ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะอินและอวัยวะหยาง
ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะอินและอวัยวะหยางจะเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะนอกใน โดยอวัยวะอินอยู่ส่วนใน อวัยวะหยางอยู่ส่วนนอก หนึ่งนอกหนึ่งใน หนึ่งอินหนึ่งหยาง ทั้งสองฝ่ายจะผสานเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น
หัวใจกับลำไส้เล็ก
พยาธิสภาพระหว่างหัวใจและลำไส้เล็กนั้นคือ หากเส้นหัวใจร้อนแกร่ง (實火) ความร้อนนี้จะย้ายเข้าสู่ลำไส้เล็กจนทำให้ลำไส้เล็กร้อนแกร่งและเกิดอาการปัสสาวะน้อย ปัสสาวะแดง หรือปัสสาวะร้อนขึ้น ตรงกันข้ามคือ หากลำไส้เล็กร้อน ความร้อนก็จะไหลไปตามเส้นลมปราณและลอยขึ้นเผาหัวใจ ยามนั้นจะมีอาการใจหงุดหงิด มีอาการลิ้นแดงจนเป็นแผลเน่า เป็นต้น
ตับกับถุงน้ำดี
ถุงน้ำดีอยู่ใกล้กับตับ ส่วนเส้นลมปราณก็ยังมีการเชื่อมโยงกันไปมา น้ำดีมีแหล่งกำเนิดมาจากตับ ดังนั้นการวินิจฉัยในทางคลินิก อวัยวะทั้งสองจะไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ เป็นต้นว่า อาการตับแรงหรือไฟถุงน้ำดีแรง ล้วนจะเกิดอาการปวดหน้าอกและสีข้าง ปากขมและลำคอขัด ใจร้อนโกรธง่ายทั้งสิ้น ส่วนอาการตับและถุงน้ำดีร้อนชื้นจนทำให้เกิดอาการดีซ่านนั้น อาการร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดีจะทำให้มีน้ำดีไหลออกจนร่างกายมีอาการตัวเหลือง ลิ้นขม ปวดสีข้าง หงุดหงิดไม่เป็นสุข ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่เกิดจากพลังตับอุดอั้นนั่นเอง
ม้ามกับกระเพาะอาหาร
ม้ามกับกระเพาะอาหารจะอยู่ในส่วนของจงเจียว มีความเชื่อมโยงกันในลักษณะนอกใน โดยม้ามดูแลเรื่องการลำเลียง กระเพาะดูแลเรื่องการรับอาหาร การทำให้น้ำและอาหารสุกละเอียดเป็นหน้าที่หลักของกระเพาะอาหาร ส่วนการดูดซับและการลำเลียงก็จะต้องอาศัยม้ามเป็นตัวผลักดันหลัก หากกระเพาะอาหารมีปัญหาเรื่องการรับอาหารก็จะเกิดอาการอาหารไม่ย่อย ท้องร้อง หิวง่าย และหากการลำเลียงของม้ามเกิดปัญหาก็จะทำให้เกิดอาการท้องอืดหลังรับประทาน และอุจจาระเหลว เป็นต้น
ม้ามเน้นการยกขึ้น ส่วนกระเพาะเน้นการกดลง การที่ม้ามยกขึ้นก็จะทำให้สารอาหารลำเลียงไปที่หัวใจปอด ส่วนกระเพาะอาหารที่เน้นการกดลดก็จะทำให้น้ำและอาหารที่ผ่านการย่อยสลายถูกส่งลงล่าง หากม้ามไม่มีการยกขึ้นแต่กลับเป็นการลดลง ก็จะเกิดอาการถ่ายเหลวและลำไส้หย่อนได้ หากพลังกระเพาะอาหารไม่ยอมลงแต่กลับเป็นการลอยขึ้น ก็จะทำให้เกิดอาการพะอืดพะอม อาเจียนและสะอึกได้
ม้ามมีลักษณะเป็นธาตุอิน จึงชอบแห้งเกลียดชื้น กระเพาะอาหารมีลักษณะเป็นธาตุหยาง จึงชอบชุ่มชื้นเกลียดแห้ง หนึ่งแห้งหนึ่งชื้น หนึ่งอินหนึ่งหยาง ทั้งสองนี้จะผสานซึ่งกันและกัน หากพิษชื้นทำร้ายม้าม ก็จะกระทบต่อการลำเลียงของม้าม เมื่อม้ามสูญเสียซึ่งการลำเลียงก็จะทำให้เกิดความชื้นได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นม้ามจึงชอบแห้งและเกลียดชื้น ในด้านกระเพาะนั้น หากตัวกระเพาะและสารจินของกระเพาะถูกทำร้ายจากพิษแห้ง ธาตุอินของกระเพาะจะไม่เพียงพอ ความร้อนพร่องก็จะเข้ารบกวน ดังนั้นกระเพาะจึงชอบชื้นและเกลียดแห้ง
เนื่องจากกระเพาะม้ามมีการทำงานที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงมีพยาธิสภาพที่เกี่ยวโยงกัน หากม้ามมีความชื้นจนทำให้การลำเลียงมีปัญหา พลังด้านความใสก็จะไม่ลอยขึ้น ยามนั้นก็จะกระทบต่อการรับอาหารและการกดลดของกระเพาะอาหาร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย อาเจียนและตึงกระเพาะได้ ตรงกันข้าม หากขาดวินัยในการทานอาหาร อาหารตกค้างที่กระเพาะอาหาร และพลังขุ่นไม่สามารถลงล่าง เช่นนี้ก็จะกระทบต่อการยกสูงของพลังใสและการลำเลียงของม้าม จนทำให้เกิดอาการท้องอืดและถ่ายเหลวได้
ปอดกับลำไส้ใหญ่
หากปอดที่ดูแลเรื่องการกดลดทำงานปกติ ลำไส้ใหญ่ที่ดูแลเรื่องการส่งผ่าน (傳導) ก็จะปกติ การขับถ่ายอุจจาระก็จะสะดวก หากลำไส้ใหญ่อุดอั้นไม่ลื่นไหล ยามนั้นก็จะย้อนกลับไปกระทบต่อการกดลดของปอด ในทางคลินิกนั้น หากปอดสูญเสียความสามารถในการกดลด สารจินเยี่ยจะไม่สามารถลงล่าง ยามนั้นจะเกิดอาการท้องผูก หากลำไส้ใหญ่มีอาการร้อนแกร่ง ก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนของพลังปอดจนทำให้มีอาการไอและแน่นหน้าอกได้
ไตกับกระเพาะปัสสาวะ
ความสามารถในการแปรสภาพ (氣化) ของกระเพาะปัสสาวะจะถูกกำหนดโดยความแข็งแรงหรือความอ่อนแอของพลังไต พลังไตมีส่วนช่วยในการแปรสภาพสารจินเยี่ยของกระเพาะปัสสาวะ หากพลังไตเต็มเปี่ยม การเก็บรัดก็จะมีเรี่ยวแรงดี กระเพาะปัสสาวะก็จะมีพลังในการเปิดปิดเพื่อรักษาระดับของน้ำปัสสาวะได้อย่างปกติ แต่หากพลังไตพร่อง พลังแปรสภาพไม่พอ การเก็บรัดไร้เรี่ยวแรง การเปิดปิดของกระเพาะปัสสาวะก็จะผิดปกติและเกิดอาการปัสสาวะไม่สะดวก ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ด หรือปัสสาวะถี่ขึ้น ดังนั้นอาการทางด้านปัสสาวะ นอกจากเป็นปัญหาที่กระเพาะปัสสาวะแล้ว นอกนั้นล้วนมีความเกี่ยวข้องกับไตอย่างแนบแน่นด้วยเช่นกัน
3 บันทึก
2
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
3
2
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย