4 พ.ย. 2019 เวลา 05:12 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 4
ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะหยางและอวัยวะหยาง
ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะหยางและอวัยวะหยาง
หน้าที่หลักของอวัยวะหยางก็คือการถ่ายทอดและการแปรสภาพสิ่งของ ในด้านการดูดซับและการขับถ่ายล้วนมีความเกี่ยวข้องต่อเนื่องและมีการร่วมมือซึ่งกันและกันอย่างแนบแน่น
เมื่ออาหารเข้าสู่กระเพาะอาหารและได้ถูกกระเพาะอาหารทำให้สุกละเอียดแล้ว อาหารเหล่านั้นก็จะส่งเข้าสู่ลำไส้เล็กและทำการแปรสภาพในขั้นตอนต่อไป จากนั้นจึงทำการแยกขุ่นใสออกจากกัน ส่วนใสคือสารอาหารที่จะต้องส่งต่อไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ในนี้ก็ยังมีน้ำบางส่วนที่ซึมเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ในส่วนขุ่นก็จะกลายเป็นกากเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ส่วนของน้ำที่ซึมเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ หลังจากผ่านกระบวนการแปรสภาพแล้วก็จะทำการขับถ่ายออกเป็นน้ำปัสสาวะ ในส่วนของกากใยนั้นจะเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ผ่านกระบวนการส่งผ่านไปสู่ทวารหนักแล้วขับถ่ายออกเป็นอุจจาระ
ในส่วนของกระบวนการย่อยสลาย การดูดซับและการขับถ่ายนั้น นอกจากต้องอาศัยการระบายของตับ อาศัยถุงน้ำดีในการช่วยย่อยสลาย อาศัยซันเจียวในการกระจายพลังต้นกำเนิดเพื่อช่วยในการลำเลียงน้ำต่าง ๆ แล้ว โดยทั่วไปก็จะเป็นความสัมพันธ์ที่มีความสลับซับซ้อนของหกอวัยวะหยางทั้งสิ้น
เนื่องจากการส่งผ่านน้ำและอาหารของหกอวัยวะหยางจำเป็นต้องอาศัยการรับ การย่อย การส่งผ่าน และการขับถ่ายที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องมิขาด ในกระบวนการเหล่านี้จึงควรที่จะทำให้เกิดการระบายไม่ควรอุดกั้นเป็นสำคัญ ดังนั้นโบราณจึงกล่าวว่า “อวัยวะหยางควรถือการระบายเป็นประโยชน์ (腑以通為用)”
หกอวัยวะหยางจะมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น ดังนั้นในทางพยาธิสภาพนั้น อวัยวะทั้งหกจึงมีการกระทบซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่นหากกระเพาะอาหารมีอาการร้อนแกร่ง ยามนั้นก็จะเผาสารจินเยี่ยจนทำให้อุจจาระแห้งกรัง การส่งผ่านของลำไส้ใหญ่ก็จะติดขัด เมื่อลำไส้ใหญ่มีอาการท้องผูกก็จะส่งผลกระทบต่อการกดลดของกระเพาะอาหาร ทำให้พลังของกระเพาะอาหารย้อนขึ้นบนและเกิดอาการพะอืดพะอมและอาเจียนขึ้น
ในส่วนของถุงน้ำดีนั้น หากถุงน้ำดีมีลักษณะของไฟที่ร้อนแรง ไฟถุงน้ำดีก็จะกระทำต่อกระเพาะอาหารจนเกิดอาการอาเจียนและกรดไหลย้อนขึ้นนั่นเอง
โฆษณา