13 พ.ย. 2019 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
Pinduoduo บริษัทที่กำลังเขย่าบัลลังก์
อาลีบาบาในจีน
หลายๆ คนอาจไม่รู้จักบริษัทจีน ที่ชื่อแปลกๆ บริษัทนี้ แต่สำหรับคนที่มีอายุนิดนึง น่าจะพอจำเวบดีลที่โด่งดังในไทยเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว อย่าง “เอ็นโซโก้” (Ensogo) ได้
ซึ่งทางบริษัท Pinduoduo อ่านว่า พินตั๋วตั๋ว ก็ก่อตั้งขึ้นมาในจีน โดยใช้แนวคิดคล้ายๆ กัน คือ ชวนเพื่อนมาซื้อของเยอะๆ จะได้รวมกันต่อรองผู้ขายเพื่อให้ได้ส่วนลดมากๆ แต่ พินตั๋วตั๋ว ทำในสิ่งที่เหนือกว่านั้น…
1
โคลิน หวง (Colin Huang) ก่อตั้งบริษัทพินตั๋วตั๋ว ในปี ค.ศ. 2015 ผ่านไปเพียง 3 ปี เริ่มจากศูนย์ เขาทำให้บริษัทเติบโต มีรายได้ 278 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีผู้ใช้งาน 300 ล้านคน คนขาย 1 ล้านราย มีมูลค่าสินค้าที่ค้าขายบนแพลตฟอร์มสูงกว่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
1
และได้นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐฯ เมื่อเดือน กรกฎาคม ปีที่แล้ว ที่มูลค่ากิจการกว่า 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยล่าสุดมีมูลค่ากิจการขึ้นเป็น 48,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แซง Baidu เสิร์ชเอนจิ้น ชื่อดังจากจีน ไปเรียบร้อย
1
พินตั๋วตั๋ว (แปลชื่อเป็นไทยได้ว่า รวมกันมากๆ) จับกลุ่มลูกค้าตลาดล่าง โดยผสมผสานระหว่างการรวมกลุ่มกันซื้อของราคาถูก, เกมส์, และโซเชียลมีเดีย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่บอกว่าบริษัทใช้รูปแบบธุรกิจแบบ "Group buy" คือการรวมกันซื้อเพื่อให้ได้ส่วนลด ผสมผสานกับ Facebook
แต่ทางโคลิน หวง บอกว่าไม่ใช่ เขาอธิบายว่า พินตั๋วตั๋ว ใช้โมเดลของ ห้างค้าส่ง Costco (คล้าย Makro) ผสมผสานกับ Disney ต่างหาก! เพราะว่า แอพเค้าเน้นความสนุกสนาน อารมณ์แบบเล่นเกม RPG (Role playing game) ไปด้วยซื้อของไปด้วย
2
Shopping gamification. Photo: Roy Rachamim
ในตัวแอพก็จะเหมือนเล่นเกมส์ออนไลน์ มีการเช็คอินรายวันเพื่อรับรางวัล, การสุ่มจับรางวัล Lukky draw, การชวนเพื่อนมาเล่นเกมส์ เพื่อที่จะได้ส่วนลด และจุดขายทีเด็ดคือ ราคาที่ บางสินค้าถูกกว่า เถาเป่า (Taobao) เกือบ 50%
1
ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่เอามาขาย จะเป็นสินค้าที่โรงงานโละทิ้งเพื่อระบายสต็อกสินค้า โดยสินค้าที่ขายดีได้แก่ พวกของอุปโภคบริโภค เช่น ร่ม, น้ำยาซักผ้า, กระดาษทิชชู่ และชามะนาว  โดยลูกค้าสามารถพูดคุยต่อราคากับแม่ค้าได้ด้วย
ด้วยฟีเจอร์แบบนี้ก็ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักกว่า 60% เป็นชาวชนบทในเมือง Tier 3 ของจีน, 70% เป็นผู้หญิง, 57% อายุอยู่ระหว่าง 25-35 ปี และ ราคาเฉลี่ยของต่อคำสั่งซื้ออยู่ที่ 40 หยวน หรือประมาณ 180 บาทเท่านั้น เทียบกับ Taobao ที่มีราคาเฉลี่ยที่ 900 บาท และ JD.com ที่มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 1,800 บาท ต่อคำสั่งซื้อ
สำหรับช่องทางการขาย ก็มีทั้งผ่านเวบไซต์ของตัวเอง และเชื่อมต่อกับแอพ WeChat ของ Tencent ด้วย พอประกอบกับการที่คนชนบทมีมือถือกันแทบทุกคน ทำให้เข้าถึงลูกค้าชนบทได้เป็นอย่างดี (ทั้งนี้ Tencent ก็ถือหุ้นในบริษัทพินตั๋วตั๋ว ด้วย)
1
ชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกเป็นได้
บิลล์ เกตส์ เคยกล่าวว่า “เกิดมาจนไม่ผิด แต่ถ้าตายทั้งที่ยังจน คุณผิดแน่!”
โคลิน หวง เกิดปี ค.ศ. 1980 เป็นคนหางโจว (Hangzhou) พ่อแม่ทำงานใช้แรงงานในโรงงาน แต่ด้วยความสามารถทางคณิตศาสตร์ ทำให้เขาได้เหรียญรางวัลจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก และได้ทุนการศึกษาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน
1
โคลิน หวง
ระหว่างที่เรียนอยู่เขายังได้มีโอกาสไปฝึกงานกับ Microsoft และได้เริ่มงานกับ Google ตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงที่ Google เพิ่งระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
หลังจากทำงานที่ Google ได้ 3 ปี เขาตัดสินใจทิ้งเงินเดือนมหาศาล แล้วกลับมาทำสตาร์ทอัพในจีน หลากหลายแนว เกี่ยวกับการค้า, เวบไซต์, และบริษัทเกม จนนำมาสู่การก่อตั้งพินตั๋วตั๋วในปี 2015 และประสบความสำเร็จอย่างสูงจนขึ้นเป็นบุคคลที่รวยที่สุดลำดับที่ 7 ของจีน
ทั้งนี้ในช่วงปี ค.ศ.2006 ที่ยังอยู่ในสหรัฐฯ ทาง โคลิน ยังได้โอกาสไปทานข้าวกับนักลงทุนระดับตำนาน อย่าง วอเร็น บัฟเฟฟต์ อีกด้วย! ร่วมกับ ต้วน หย่งผิง ผู้ก่อตั้งบริษัทมือถือ Oppo ที่เป็นผู้ชนะการประมูลเพื่อทานข้าวกับปู่ ซึ่ง โคลิน ยังชื่นชมบัฟเฟตต์ สำหรับความพยายามในงานสาธารณกุศล
1
ผลประกอบการล่าสุด ของบริษัทพินตั๋วตั๋ว
Source: company reports, Fung Business Group
ปี 2018 6 เดือน รายได้ 619 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดทุนถึง 1,010 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปี 2019 6 เดือน รายได้ 1,720 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขาดทุนน้อยลง เหลือ 420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยรายได้หลักของบริษัทมาจากค่าโฆษณา (Keywords และ Ads) และเก็บค่า commission น้อยนิดเพียง 0.6% ของราคาขายเท่านั้น ไม่มีค่าแรกเข้า (ห้างบ้านเราเก็บค่าคอมกันหลัก 20%++) นอกจากนี้ทางบริษัทยังเริ่มเปิดให้บริการ Direct Sales ในชื่อ “พินฮ่าวฮัว” (Pinhaohuo) โดยให้ขายผลไม้ส่งตรงถึงผู้บริโภค
ในแง่ผู้ใช้งานสิ้นสุด 6 เดือนแรกของปีนี้ ทางพินตั๋วตั๋ว มีผู้ใช้งาน 483 ล้านราย แซง JD.com ที่มีผู้ใช้ 321 ล้านราย แต่ก็ยังตาม Alibaba ที่มีผู้ใช้งาน 674 ล้านราย เห็นเติบโตแบบนี้ บริษัทก็มีปัญหาใหญ่เหมือนกัน โดยเฉพาะ เรื่องสินค้าปลอม ไม่ได้คุณภาพ
1
Social Commerce ในไทย ก็ไม่ธรรมดา
ทางรายงาน EIC ชี้ว่ากว่า 51% ของผู้บริโภคดิจิตอลในไทย ซื้อของผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook หรือ Instagram โดยการซื้อของทางข่องทางนี้เปิดโอกาสให้ลูกค้าพูดคุย ถามเรื่องสินค้า และต่อราคากับแม่ค้าได้ ทำให้เกิดความสนิทสนม และบอกต่อเพื่อนๆ ให้มาซื้อของ กลายเป็นไวรัลไปซะอีก
สำหรับตลาด อี-คอมเมิร์ส ในไทย ในภาพรวมพบว่า ยังเติบโตด้วยอัตราสูงถึง 22% โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 3.15 ล้านล้านบาท สภาพปัจจุบันคงมีไม่กี่ตลาดที่มีการเติบโตสูงขนาดนี้ (แต่การแข่งขันก็สูงมากๆ ด้วย)
1
ที่มา: Marketeer
สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจ ลองเอามาทำบ้างในไทยก็อาจพอได้นะ ยิ่งเศรษฐกิจไม่ค่อยดีแบบนี้ หากคิดเร็วๆ ก็อารมณ์ร้าน 20 บาท เวอร์ชั่นดิจิตอล ลองไปเริ่มในเขตเมืองรอง น่าจะพอได้ แต่ถ้าคิดจะทำ ก็คงต้องเงินหนานิดนึงมานักลงทุนสนับสนุน เพราะช่วงแรกคงต้องขาดทุนหนักมาก ส่วนหากบริษัทพินตั๋วตั๋ว มาถึงไทยเมื่อไหร่ พวกห้างแม็คโคร มีหนาวแน่นอน…
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กด  ติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา