Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิพากษ์ประวัติศาสตร์ CRITICAL HISTORY
•
ติดตาม
13 พ.ย. 2019 เวลา 10:30 • ประวัติศาสตร์
ความสนพระราชหฤทัยประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระนารายณ์
พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนารายณ์ ผลงานของ นิโกลาส์ เดอ ลาร์เมสแซ็ง (Nicolas de Larmessin) เขียนขึ้นตามจินตนาการ ออกแบบพระพักตร์ให้มีพระมัสสุ (หนวด) และพระทาฐิกะ (เครา) ทรงฉลองพระองค์อย่างเปอร์เซีย เนื่องจากมีหลักฐานว่าสมเด็จพระนารายณ์โปรดวัฒนธรรมเปอร์เซีย ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๖๙๐ (พ.ศ. ๒๒๓๒)
รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุทธยาเป็นยุคที่มีการติดต่อและได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากต่างประเทศมากที่สุดยุคหนึ่ง สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดปรานชาวต่างประเทศอย่างมาก จนปรากฏว่ามีชาวต่างประเทศจำนวนมากที่ได้เข้ามารับราชการในราชสำนักจนมีบทบาทสำคัญหลายคน นอกจากนี้ยังทรงโปรดปรานศิลปวิทยาการของต่างประเทศอย่างมาก ทั้งศิลปะ สถาปัตยกรรม การแต่งกาย ฯลฯ
แต่สิ่งที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยอย่างมาก คือประวัติศาสตร์ของต่างประเทศ ถึงกับปรากฏว่าทรงให้จัดหาพงศาวดารและหนังสือของต่างประเทศเข้ามาถวายจำนวนมาก
พระอธิการ เดอ ชัวซีย์ (François Timoléon, abbé de Choisy) ซึ่งติดตามคณะทูตฝรั่งเศสเข้ามาสยามเมื่อ ค.ศ. ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๘) ได้บันทึกไว้ว่า
“กล่าวคือนับตั้งแต่พระมหากษัตริย์พระองค์นี้เสด็จขึ้นเสวยราชย์สมบัติเป็นต้นมา ได้ทรงรวบรวมพระราชพงศาวดารจีนเข้าไว้เป็นอันมาก และพระองค์จัดส่งราชทูตไปประเทศจีนก็แทบว่าเพื่อการนี้โดยเฉพาะและไม่ทรงอั้นพระราชทรัพย์เลยเพื่อที่จะได้มา”
ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de la Loubère) ราชทูตชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสยามเมื่อ ค.ศ. ๑๖๘๗ (พ.ศ. ๒๒๓๐) ก็ได้บันทึกไว้ทำนองเดียวกันว่า
“พระมหากษัตริย์องค์นี้ อยากทรงทราบสรรพกิจจานุกิจทั้งปวงเป็นอันมาก มีพระบรมราชโองการให้แปลหนังสือ คิว. เคอรซ์ (Q. Curce) ออกเป็นสยามภาษาในขณะที่เรายังอยู่ที่นั่น และได้โปรดให้แปลพงศาวดารของเรามาแล้วเป็นหลายตอน.....แต่พระองค์ทรงสนพระทัยที่จะศึกษาพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ฝรั่งเศส) เป็นประการสำคัญ พระองค์ทรงกระหายที่จะได้ทราบข่าวคราวของประเทศฝรั่งเศส และพอคณะทูตานุทูตของพระองค์กลับไปถึง ก็โปรดให้ตรีทูตเข้าเฝ้าอ่านเรื่องราวที่บันทึกมาให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว จึงโปรดให้กราบถวายบังคมลาออกจากที่เฝ้าได้”
ภาพปกในจากหนังสือ Historiae Alexandri Magni ของ ควินตุส กูร์ทิอุส รูฟุส (Quintus Curtius Rufus) ฉบับพิมพ์ ค.ศ. ๑๖๘๔ (พ.ศ. ๒๒๒๗) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (https://www.historicalobjects.org/static/images/books/alexandri1684/cover.jpg)
สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนพระทัยเรื่องราวของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และประเทศฝรั่งเศสอย่างมาก แม้แต่บันทึกของราชทูตไทยที่เดินทางไปฝรั่งเศสในครั้งนั้นก็พบว่าบันทึกอย่างละเอียดลออ แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือการที่พระองค์โปรดให้แปลหนังสือ Q. Curce
Q. Curce ย่อมาจาก Quinte-Curce เป็นชื่อฝรั่งเศสของ ควินตุส กูร์ทิอุส รูฟุส (Quintus Curtius Rufus) นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันผู้มีผลงานเพียงชิ้นเดียวที่เป็นที่รู้จักคือ Historiae Alexandri Magni หรือ “ประวัติศาสตร์แห่งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช” ซึ่งแต่งขึ้นประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑ เป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุโรปสมัยกลางยุครุ่งโรจน์ (High Middle Ages) และยังส่งอิทธิพลมาถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในอารยธรรมตะวันตก เป็นที่ยกย่องและถูกยึดถือเป็นแบบอย่างของกษัตริย์ในโลกตะวันตกจำนวนมาก รวมไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสที่พยายามจะนำเสนอพระองค์เป็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ผ่านงานศิลปะจำนวนมาก
การที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงศึกษาเกี่ยวกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะค่อนข้างจะเป็นความสนพระทัยที่ผิดแผกจากจารีตกษัตริย์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ในยุคสมัยเดียวส่วนใหญ่ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับกษัตริย์ในชมพูทวีปหรือจีนเป็นหลัก สะท้อนให้เห็นความเปิดกว้างต่อโลกตะวันตกของอยุทธยาในยุคนั้นมากพอสมควร
ภาพโมเสกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชขณะเสด็จออกรบกับพระเจ้าดาริอุสที่ ๓ แห่งเปอร์เซีย ศิลปะโรมัน อายุประมาณ ๑๐๐ ปีก่อนคริสตกาล
นอกจากประวัติศาสตร์ของต่างประเทศแล้ว ประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุทธยาก็เป็นสิ่งที่ทรงศึกษาเป็นประจำ พระอธิการ เดอ ชัวซีย์ บันทึกไว้ว่าการศึกษาพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาเป็นหนึ่งในพระราชานุกิจที่จะทรงปฏิบัติเป็นประจำ ทุกๆ วันจะมีเจ้าพนักงานทำหน้าที่อ่านพงศาวดารถวายในเวลาบ่าย
“หลังจากเสวยพระกระยาหารมื้อกลางวันแล้ว ก็เสด็จเข้าห้องพระบรรทมทอดพระองค์ลงบนพะยี่ภู่หลับไป ในขณะที่มหาดเล็กพนักงานชาวสยามอ่านพระราชประวัติพงศาวดารแห่งพระมหาบุพการีชนของพระองค์ถวาย ในชั้นแรกพ่อคนอ่านก็ออกเสียงดังฟังชัดก่อน แล้วจึงค่อยลดเสียงลงทีละน้อยๆ จนกระทั่งพระเจ้าอยู่หัวทรงกรนจึงหยุดอ่าน และค่อยคลานออกไป. แต่พอเวลาสี่โมงเย็นก็หวนกลับเข้าไปใหม่โดยไม่ต้องเรียกไม่ต้องขาน แล้วตั้งต้นอ่านด้วยเสียงดังแสบแก้วหูจนพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงตื่นพระบรรทม”
นิโกลาส์ แฌร์แวส (Nicolas Gervaise) มิชชันนารีคณะเยซูอิตชาวฝรั่งเศสซึ่งอาศัยอยู่ในสยามช่วง ค.ศ. ๑๖๘๑ ถึง ๑๖๘๕ (พ.ศ. ๒๒๒๔ ถึง ๒๒๒๘) บันทึกไว้ใกล้เคียงกับพระอธิการ เดอ ชัวซีย์ แต่ระบุว่าจะอ่านถวายหลังตื่นพระบรรทม และพงศาวดารที่อ่านถวายนั้นมีของหลายประเทศในระยะแรกทรงโปรดปรานพงศาวดารจีนและญี่ปุ่น ต่อมาก็ทรงเปลี่ยนมาศึกษาพระราชประวัติพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
“...เขาจะปล่อยให้พระองค์ได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่ในพระแท่นจนกระทั่งสี่โมงเย็น แล้วจึงจะเข้าไปปลุกให้ทรงตื่นพระบรรทม มหาดเล็กถวายเครื่องทรงอันต่างแบบกว่าเมื่อตอนเช้า และเมื่อพร้อมที่จะปรากฏพระองค์ได้แล้ว อาลักษณ์ก็จะเข้าเฝ้าพร้อมด้วยหนังสือเล่มหนึ่งถืออยู่ในมือ เมื่อได้ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตรแล้ว จะทูลถามว่าจะโปรดให้อ่านในหนังสือเล่มนั้นถวายหรือไม่ เมื่อแรกๆ นั้น พงศาวดารพระราชประวัติของพระเจ้ากรุงจีน และพระเจ้ากรุงญี่ปุ่นนั้นเป็นที่พอพระราชหฤทัยใคร่สดับมาก หากนับแต่ได้ทรงคำกล่าวขวัญถึงสมเด็จพระเจ้าหลุยส์มหาราชเป็นต้นมา ก็ทรงโปรดพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้มากกว่า...
...ดูเหมือนจะไม่มีหน้าที่การงานใดในพระบรมมหาราชวังที่จะหนักและเหน็ดเหนื่อยเท่ากับทำหน้าที่เป็นอาลักษณ์อ่านหนังสือถวาย ลางทีจะต้องหมอบอ่านถวายอยู่นานตั้งสามหรือสี่ชั่วโมงทีเดียว โดยพักน้ำหนักตัวอยู่บนข้อศอกเท่านั้น แทบไม่กล้าหายใจเสียด้วยซ้ำ และต้องทนอยู่ในอิริยาบถอันไม่น่าสบายเลยนี้ตลอดเวลา ขณะที่เสด็จประทับอยู่เมืองละโว้ การอ่านหนังสือถวายจะเสร็จราวห้าโมงเย็น”
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส แสดงพระองค์เป็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผลงานของ ชาร์ล เลอ เบริง (Charles le Brun) สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗
สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาหนังสือต่างประเทศอย่างจริงจัง จนปรากฏหลักฐานว่าทรงมีความรู้ในเรื่องต่างประเทศเป็นอย่างดี ดังที่ ลา ลูแบร์ได้บันทึกว่า
“พระองค์ทรงรู้จักรัฐต่างๆ ในยุโรปเป็นอันดี และข้าพเจ้ามิได้สงสัยเลยในการข้อนี้ ด้วยว่าครั้งหนึ่งพระองค์ได้พระราชทานวโรกาสให้ข้าพเจ้ากราบทูลถึงราชอาณาจักรเยอรมนีว่า ใช้การออกเสียงเลือกกันขึ้นดำรงศักดิ์ พระองค์ได้ทรงสอบถามข้าพเจ้าว่า นอกจากราชอาณาจักรนั้นกับประเทศโปแลนด์แล้ว ยังมีประเทศใดอีกหรือไม่ในทวีปยุโรปที่ใช้วิธีออกเสียงเลือกตั้งกันขึ้นครองราชย์ และข้าพเจ้าได้ยินพระองค์ตรัสว่า โปโลเนีย (Polonia) โดยที่ข้าพเจ้าไม่เคยเอ่ยกราบทูลมาก่อนเลย”
การศึกษาเรื่องของต่างประเทศของสมเด็จพระนารายณ์ นอกจากเป็นเพราะความสนพระราชหฤทัยส่วนพระองค์ ยังสันนิษฐานว่าเป็นวิธีการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจถึงรัฐประศาสนศาสตร์ของรัฐอื่น เพื่อนำมาปรับใช้กับราชสำนักกรุงศรีอยุทธยา และเป็นการยกระดับของพระองค์และราชสำนักให้มีความเท่าเทียมกับกษัตริย์นานาประเทศ ดังที่เอกสาร “สำเภาสุลัยมาน” (The Ship of Sulaiman) ของ อิบนุ มุฮัมหมัด อิบรอฮิม (Muhammad Rabi` ibn Muhammad Ibrahim) เลขานุการของราชทูตเปอร์เซียที่เดินทางเข้ามาเมื่อปลายรัชกาลได้วิจารณ์สมเด็จพระนารายณ์ไว้ว่า
“ตรงกันข้ามกับกษัตริย์และเจ้าชีวิตองค์อื่นทั้งมวลในประเทศใต้ลม พระเจ้ากรุงสยามมีความสนพระทัยอย่างจริงใจในการยกระดับของพระองค์เองขึ้น ในการแสวงหาความดีเด่นและปรับปรุงวิถีชีวิตของพระองค์ ครอบครัวและสมบัติของพระองค์ ทรงมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ถึงกษัตริย์องค์อื่น ๆ ในโลก พฤติกรรม ขนบประเพณี และหลักการของพวกเขา ทรงพยายามอย่างมากในการทำให้พระองค์เอง มีความรู้ ทรงเที่ยวหารูปภาพที่แสดงถึงแบบอย่างของความเป็นอยู่และราชสำนักของกษัตริย์ต่างประเทศมาจากทุกหนทุกแห่ง”
1
นอกจากนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์ของกษัตริย์รัฐต่างๆ ยังมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความชำนาญในการปกครองของพระองค์โดยกษัตริย์ในอดีตทั้งของกรุงศรีอยุทธยาและต่างรัฐเป็นกรณีศึกษา (case study) ด้วย ดังที่ลา ลูแบร์ได้บันทึกพระราชดำรัสของสมเด็จพระนารายณ์เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ว่า
“มีผู้ยืนยันต่อข้าพเจ้าว่า พระมหากษัตริย์พระองค์นี้เคยรับสั่งอยู่เสมอว่า ศิลปะแห่งการครองราชย์นั้นจะกระทำกันโดยเดาหาได้ไม่ และด้วยความเจนจัดช่ำชองในกิจการบ้านเมืองแล้วเป็นอันมาก กับการอ่านเรื่องราวทั้งหลายนั่นแล ที่ตระหนักว่ายังหารู้เจนจบทั่วถ้วนทุกกระบวนไม่”
เอกสารอ้างอิง
- ความสัมพันธ์ อิหร่าน-ไทย ทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: ศูนย์วัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน, ๒๕๔๖.
- เดอ ชัวซีย์, บาทหลวง. จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยามในปี ค.ศ. ๑๖๘๕ และ ๑๖๘๖. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๕๐.
- แชรแวส, นิโกลาส์. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๕๐.
- ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๔๘.
- Histories of Alexander the Great [Online]. Available from:
https://en.wikipedia.org/wiki/Histories_of_Alexander_the_Great
[accessed Date 4 August 2018].
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข ตัดทอน ดัดแปลง คัดลอก ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การ "แชร์ (share)" จากเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์โดยตรงที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
1 บันทึก
6
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติศาสตร์ยุคสมเด็จพระนารายณ์
1
6
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย