18 พ.ค. 2020 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
วันปฏิวัติพระนารายณ์
วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๘๘ (พ.ศ. ๒๒๓๑) เป็นวันที่ออกพระเพทราชาก่อการ “ปฏิวัติ” ยึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงพระประชวรอยู่ที่พระราชวังเมืองลพบุรี และเป็นวันที่คอนสแตนซ์ ฟอลคอน (Constance Phaulkon) หรือออกญาวิไชยเยนทร์ เสนาบดีชาวกรีกถูกจับกุม
ก่อนที่วัน “ปฏิวัติ” ดังกล่าวจะเกิดขึ้น ราชสำนักกรุงศรีอยุทธยามีความคุกรุ่นทางการเมืองมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้วนับตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวร (หลักฐานร่วมสมัยบางชิ้นอ้างว่าทรงถูกลอบวางยาพิษ) โดยมีการปะทะกันระหว่างขั้วอำนาจของออกพระเพทราชาซึ่งได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกับขั้วอำนาจของฟอลคอนที่หวังจะใช้กองทหารฝรั่งเศสเป็นเกราะกำบัง โดยมีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ
แผนผังเมืองลพบุรี (Plan de la ville de Louvo) ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ตีพิมพ์ใน ค.ศ. ๑๗๖๔ (พ.ศ. ๒๓๐๗) ที่มาภาพ : Bibliothèque nationale de France, département Cartes et plans, CPL GE DD-2987 (7121)
จุดแตกหักที่นำมาสู่เหตุการณ์ “ปฏิวัติ” ดังกล่าว ปรากฏในจดหมายเหตุของบาทหลวง เดอ แบซ (Claude de Bèze) แห่งคณะเยซูอิต ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับฟอลคอน อ้างว่าออกพระเพทราชาวางแผนไว้อย่างแยบยล ด้านหนึ่งแสดงออกว่าสนับสนุนหม่อมปีย์พระราชบุตรบุญธรรมให้เป็นกษัตริย์และอาศัยหม่อมปีย์ให้ยุยงสมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงหวาดระแวงพระอนุชา อีกด้านหนึ่งกลับแสดงตนว่าสนับสนุนพระอนุชาซึ่งเป็นรัชทายาทโดยชอบธรรมอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังสามารถดึงเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ พระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์ และเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์มาเป็นฝ่ายเดียวกับตนได้
ฟอลคอนในเวลานั้นไม่มีกำลังทหารฝรั่งเศสสนับสนุน และคิดว่าไม่สามารถใช้พรรคพวกชาวอังกฤษจัดการออกพระเพทราชาได้อย่างทันการ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากวางแผนจะกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ว่าออกพระเพทราชาเป็นกบฏเพื่อจับกุม ก่อนหน้านั้นฟอลคอนก็ได้กราบทูลให้พระองค์สถาปนาพระอนุชาองค์ใดองค์หนึ่งเป็นรัชทายาทก่อนแล้ว แต่สมเด็จพระนารายณ์ไม่ทรงไว้วางพระทัยพระอนุชา จึงไม่เต็มพระทัยยกพระอนุชาเป็นรัชทายาทตามคำขอ เพราะเกรงว่าจะปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระองค์อย่างไม่เหมาะสม แต่ทรงมีพระราชพินัยกรรมมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ โดยมีเงื่อนไขว่าพระนางต้องทรงปฏิบัติตามคำถวายข้อปรึกษาของออกญาวิไชยเยนทร์ ออกพระปีย์ และออกพระเพทราชา จนกว่าจะถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถอภิเษกสมรสกับพระอนุชาได้ตามความปรารถนา
.
ในระหว่างที่ฟอลคอนกำลังดำเนินการเรื่องนี้ หม่อมปีย์เกิดกรณีพิพาทกับออกพระเพทราชาเพราะตระหนักว่าออกพระเพทราชามีเจตนาจะครองราชสมบัติมากกว่าสนับสนุนตนเอง หม่อมปีย์จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระนารายณ์ฟ้องร้องว่าออกพระเพทราชาคิดการกบฏ ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระพิโรธ จึงมีพระราชโองการให้ฟอลคอนเข้าเฝ้าและรับสั่งว่าจะจับกุมออกพระเพทราชาในทันที แต่ฟอลคอนกราบทูลขอให้เรียกออกพระเพทราชามาเข้าเฝ้าในวันรุ่งขึ้นโดยให้ฟอลคอนเข้าเฝ้าในที่นั้นด้วย พร้อมกับทหารคุ้มกันชาวอังกฤษ ๑๕ คนและชาวยุโรปอีกหลายคน เพื่อจะได้จับกุมออกพระเพทราชาโดยสะดวก
ความใจร้อนของหม่อมปีย์กับการที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระพิโรธอย่างเปิดเผยทำให้ออกพระเพทราชาไหวตัวทัน จึงไปเฝ้าพระสังฆราชเมืองลพบุรีกับเพื่อนสนิทบางคน ปรึกษากันว่าจะใช้กำลังอย่างเปิดเผยในการยึดอำนาจ แต่เนื่องด้วยในเวลานั้นไม่มีไพร่พลมากพอ (สันนิษฐานว่าคงระดมคนไม่ทัน) พระสังฆราชกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายมีความสัมพันธ์อันดีกับออกพระเพทราชาจึงให้ความช่วยเหลือด้วยการปลุกระดมประชาชนให้ร่วมกันก่อการ “ปฏิวัติ”
ภาพพิมพ์สมเด็จพระนารายณ์เสด็จทอดพระเนตรจันทรุปราคา เมื่อ ค.ศ. ๑๖๘๗ (พ.ศ. ๒๒๓๐)
วันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๘๘ (พ.ศ. ๒๒๓๑) ออกพระเพทราชาได้อาศัยกำลังของทั้งพระสงฆ์และราษฎรก่อการปฏิวัติบุกยึดพระราชวังเมืองลพบุรีในที่สุด ดังที่บาทหลวง เดอ แบซบันทึกว่า
“ครั้นรุ่งขึ้น พระสังฆราชกับพระภิกษุทั้งนั้นก็เรียกประชุมราษฎร ประกาศกล่าวหาว่าเป็นกรณีที่ประชาชนพลเมืองทั้งหลายพึงจะจับอาวุธเพื่อรับใช้องค์พระมหากษัตริย์และแผ่นดินแล้ว ด้วยว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงพระประชวรอยู่ (ไม่สามารถที่จะบริหารราชการแผ่นดินได้) จึงได้ทรงมอบราชการงานแผ่นดินให้เพทราชาบริหารแทนพระองค์ โดยปลดหน้าที่นี้เสียจากออกญาวิชเญนทร์ด้วยทรงทราบว่าบุคคลผู้นั้นคิดการทรยศจะเอาแผ่นดินไปยกให้แก่คนต่างด้าวท้าวต่างแดน และบุคคลนั้นยังปรารถนาลาภยศอันได้ใช้อำนาจทำประโยชน์ให้แก่ตัวเองอยู่อีก (หายอมผละจากตำแหน่งไม่) เพทราชาจึงจำต้องจับอาวุธขึ้นโดยพระบรมราชโองการ เพื่อปราบคนผู้นั้นให้สิ้นฤทธิ์พิษสง ถ้าประชาชนพลเมืองทั้งหลายมีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแน่วแน่แล้วไซร้ ก็ขอให้ตามตนไปยังพระบรมมหาราชวังเถิด ฝ่ายประชาชนพลเมืองก็คึกคักไปตามสุนทรกถาของพระภิกษุซึ่งพวกเขามีความเคารพนับถือเป็นอันมาก จึงพากันจับอาวุธยุทธภัณฑ์เท่าที่จะหาได้ ตามพระสังฆราชและภิกษุลางรูปที่ออกนำหน้าแบกพวกที่ปลุกปั่นให้เกิดการจลาจลไปบนบ่า เข้าไปในพระบรมมหาราชวังซึ่งเพทราชาได้ล่วงหน้าเข้าไปคอยอยู่ก่อนแล้ว และผ่านเข้าไปโดยง่าย โดยมีสายลับคอยเปิดรับให้เข้าไป”
.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนที่ออกพระเพทราชา และออกหลวงสุรศักดิ์บุตรชายเข้าไปในพระราชวังไว้ว่า
"ศุภมัศดุศ้กราช ๑๐๕๐ ปีม่โรงสำเรดทีศก สมเดจ์พระณรายน์เปนเจ้า เสดจขึนัใปเมืองลพบุรีย อยู่ประมารเดีอนหนึงทรงพระทวนหนกัลง วันหนึ่งหมอมปีเสดจ์ออกมาสงพระภักตร์อยู่ณชาสาพญาสุระศักดีเข้าใปจะจับ หมอมปีวีงเจ้าใปในทีพระบันทม รองว่าทูลกระหมอมแกัวชอัยเกล้ากระมอมดีฉานดอย สมเดจ์พระพุทธีเจ้าอยู่หัอตรัสว่าไอ่พ่อลูกนี้คีดทรยศจะเอาสมบัดแลัว มีพระราชโองการสังให้ประจุพระแสงปืนค่างทีแล้ว ให้หาพญาเพชราชา พญาสุระศักดี ก็เข้าใปยืนยูทีพระทะวารทังสองคล สมเดจ์พระนารายน์เปนเจ้า เสดจ์บันทมอยู่ยืนพระหัตดคลำเอาพระแสงปืนพเหยอพระอ่งคจะลุกขึนัก็ลุกขึนัมิได้ กลับบันทมหลับพระเนดร”
ตึกพระเจ้าเหา พระนารายณ์ราชนิเวศน์ สถานที่ออกว่าราชการของพระเพทราชา
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีรายละเอียดพิสดารคลาดเคลื่อนจากหลักฐานร่วมสมัยในหลายประเด็น แต่มีเนื้อหาน่าสนใจจึงนำมาให้ผู้อ่านศึกษาประกอบด้วย
เนื้อความโดยสรุปมีอยู่ว่า พระเพทราชานั้นว่าราชการโดยสุจริตมาตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์ประชวร ผู้เป็นต้นคิดการปฏิวัติยึดอำนาจคือหลวงสรศักดิ์ (ออกหลวงสุรศักดิ์) ซึ่งพงศาวดารสมัยหลังอ้างว่าเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์และจะเอาราชสมบัติตามสิทธิ ได้ร่วมมือกับสมิงพัตบะผู้เฒ่า ปลัดกรมดั้งทองขวาในกรมอาสามอญ เตรียมไพร่พล ๓๐๐ คนกับอาวุธไว้ แล้วแจ้งต่อพระเพทราชาผู้เป็นบิดาเลี้ยง (ตามหลักฐานร่วมสมัยระบุตรงกันว่าหลวงสุรสักดิ์เป็นบุตรของพระเพทราชา) ให้เตรียมไพร่พลกับอาวุธ นอกจากนี้ยังคิดการร่วมกับนายจบคชประสิทธิ์ หลวงทรงบาศขวาในกรมพระคชบาลที่ไว้ใจได้อีกคนหนึ่ง (ภายหลังได้เป็นกรมพระราชวังหลัง)
เมื่อถึงวันก่อการเวลาสามโมงเช้า หลวงสรศักดิ์จึงเข้าไปยังตึกพระเจ้าเหาในพระราชวังเมืองลพบุรีซึ่งพระเพทราชาใช้เป็นที่ประชุมข้าราชการ พร้อมด้วยทหาร ๑๖ คนกับทนายคนสนิทถือดาบตามไปด้วยประกาศในที่ประชุมว่าจะเอาราชสมบัติในฐานะพระโอรส ถ้าใครไม่เข้าด้วยจะประหารชีวิต แล้วให้ไพร่พลเอาอาวุธพาดเข้าไปตามช่องประตูหน้าต่างตึก บ้างก็คืออาวุธเข้าไปในตึก ฝ่ายหลวงสรศักดิ์กวัดแกว่งดาบประกาศซ้ำ บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยกลัวความตายต่างก็ถวายบังคมยอมสวามิภักดิ์ หลวงสรศักดิ์จึงเวนราชสมบัติถวายพระเพทราชา ตนเองได้สำเร็จราชการในที่พระมหาอุปราช จากนั้นจึงให้ขุนนางทั้งหลายถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาทั้งสิ้น (ความเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) และหลักฐานร่วมสมัยหลายชิ้นที่ระบุว่าพระเพทราชายังไม่ได้รับราชสมบัติ และยังคงแสดงท่าทีจะถวายราชสมบัติให้พระอนุชาที่เป็นรัชทายาทโดยชอบธรรมอยู่)
เดอ แบซ บันทึกว่ามีผู้มาแจ้งให้ฟอลคอนทราบว่าราษฎรจำนวนมากยกขบวนเข้าไปในพระราชวังแล้ว เดอ แบซ ซึ่งอยู่ที่นั้นด้วยพยายามห้ามไม่ให้ฟอลคอนเข้าไปในพระราชวังเพราะเกรงว่าฝ่ายนั้นมีกำลังเหนือกว่ามาก แต่ฟอลคอนตกลงใจที่จะตายดีกว่าจะทอดทิ้งสมเด็จพระนารายณ์ หลังจากนั้นได้ปรึกษาหารือกันอีกเป็นเวลานาน สุดท้ายฟอลคอนขอให้ เดอ แบซไปสวดมนต์พร้อมกับบาทหลวงรูปอื่นๆ ในโรงสวด ขอให้พระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองสมเด็จพระนารายณ์ที่ตกอยู่ในอันตราย พอ เดอ แบซ ออกไปไม่นานฟอลคอนก็เข้าไปอำลานางมารี กีมารด์ผู้เป็นภรรยา ราวกับจะไม่ได้กลับมาพบหน้ากันอีก
ฟอลคอนเดินทางไปยังพระราชวังพร้อมกับนายทหารฝรั่งเศสชั้นสัญญาบัตร ๓ นาย คือพันตรีโบช็อง (Beauchamp) แฟรตเตอวิลล์ (Fretteville) และเชอวาลิเยร์ เดส์ฟาร์ฌส์ (Chevalier Desfarges) ผู้บังคับกองและหน่วยทหารคุ้มกันชาวอังกฤษ ๑๕ คน กับชาวโปรตุเกสถืออาวุธบางคน
.
พันตรีโบช็องป์ซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์โดยตรง ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียดว่า
“นับตั้งแต่นี้จนถึงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ข้าพเจ้าประจำอยู่ที่ละโว้ตลอดกับเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ [ฟอลคอน] ซึ่งได้บอกถึงแต่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา ในวันนั้นเอง ข้าพเจ้าได้รับประทานอาหารร่วมกับเขา เขาพูดกับข้าพเจ้าน้อยลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ครั้นพอลุกจากโต๊ะต่างก็แยกไปที่นอนของตน
ประมาณ ๒ ชั่วโมงให้หลัง คือราวบ่าย ๓-๔ โมง เขาก็เรียกข้าพเจ้าเข้าไปพบ ครั้นข้าพเจ้าเข้าไปก็เห็นเขาอยู่กับบาทหลวง เดอ แบส เขาว่า “ท่านพันตรี เกิดเรื่องขึ้นแล้วล่ะ พระเจ้าแผ่นดินมีพระประสงค์จะจับสมเด็จพระเพทราชา” ข้าพเจ้าบอกเขาว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อ และมีอีกหลายอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย เขาควรจะให้พวกเราไปรวมตัวกันที่บ้านของเขาซึ่งปลอดภัยมากกว่า และข้าพเจ้าจะได้สั่งให้คนฝรั่งเศสและอังกฤษเตรียมพร้อมโต้ตอบศัตรู แต่เขากลับบอกว่า “ไม่” และย้ำ (สามถึงสี่ครั้งราวกับเป็นคนบ้าที่พยายามหาคำตอบ) ว่าให้ข้าพเจ้าไปยึดอาวุธจากกองชาวสยามที่ข้าพเจ้านำขึ้นมาจากบางกอก โดยอย่าให้พวกเขารู้ตัว พอข้าพเจ้าจะออกไป บาทหลวง เดอ แบสก็ถามมองซิเออร์ก็องสต๊องส์ว่าเขาจะเข้าวังหรือไม่ เขาตอบว่า “ข้าพเจ้าจะให้ทหารไปด้วย”
ในไม่ช้า ข้าพเจ้าจึงไปที่กองกำลังทหารที่ข้าพเจ้ายึดอาวุธไว้และจัดให้เข้าแถว เมื่อเห็นเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์กำลังเดินทางไปพระราชวังเพียงลำพัง ข้าพเจ้าจึงไปดักรอข้างหน้าแล้วถามว่าจะไปที่ใด เขาตอบว่า “จะไปพระราชวัง ตามฉันมาสิ” เมอซิเออร์ เชอวาลิเยร์เดส์ฟาร์จ (Chevalier Desfarges) และเดอ แฟรตเตอวิลล์ (De Fretteville) ซึ่งออกมาล่าสัตว์เดินอยู่พร้อมอาวุธครบมือ ก็เข้ามาถามข้าพเจ้าว่าจะไปไหน ข้าพเจ้าตอบว่า “จะไปพระราชวังพร้อมด้วยเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์” ทั้งสองจึงรีบเดินเข้าไปทำความเคารพและถามว่าปรารถนาจะให้พวกเขาไปด้วยหรือไม่ เมื่อเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ตอบตกลง ทั้งสองก็ปลดอาวุธฝากไว้กับทหาร เว้นแต่ปืนพกที่พวกเขาไม่ทันได้ปลดออก
พวกเราเดินเข้าไปในพระราชวังเพียง ๒๐ ก้าว เมื่อเข้าไปนั้นเอง ข้าพเจ้าก็บอกกับเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์ว่า “ฯพณฯ เหตุใดจึงไม่ออกคำสั่งให้ข้าพเจ้าจับสมเด็จพระเพทราชา” เขาตอบว่า “อย่าพูดอะไรอย่างนั้นเด็ดขาด”
ในไม่ช้า เราก็เห็นสมเด็จพระเพทราชาพร้อมด้วยทหารกว่า ๒,๐๐๐ นาย แวดล้อมด้วยข้าราชบริพารเดินตรงมาหาเรา คว้าแขนเสื้อเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์แล้วว่า “อ้า มันนี่แหละ” ว่าแล้วก็บอกให้ขุนนางผู้หนึ่งเข้าไปจะจับตัดหัว เมอซิเออร์ก็องสต๊องส์อยู่ในสภาพเกือบใกล้ตาย หันหน้าไปทางสมเด็จพระเพทราชาเหมือนร้องขอชีวิต
ในขณะเดียวกันนั้นขุนนาง ๖ คนก็เข้ามาจับกุมข้าพเจ้า แล้วบุตรชายของสมเด็จพระเพทราชาก็มาแย่งกระบี่ข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้ายกมือทั้งสองขึ้นกั้นไว้ จ้องมองไปยังเมอซิเออร์ก็องสต๊องส์เพื่อดูว่าอย่างน้อยเขาจะให้ข้าพเจ้าทำอย่างไร และมองผ่านไปยังสมเด็จพระเพทราชาและเชื่อว่าคงเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินที่จะจัดการเขาตามที่เขาเคยบอกไว้ เมอซิเออร์ก็องสต๊องส์หันมาหาข้าพเจ้าแล้วบอกว่า “เมอซิเออร์ จงมอบกระบี่ของท่านให้เพทราชาไป” ข้าพเจ้าจึงดึงกระบี่ออกมา และด้วยเหตุที่ข้าพเจ้าถืออยู่ตรงกลางเพื่อจะยื่นให้สมเด็จพระเพทราชา แต่ลูกชายของเขาซึ่งอยู่ด้านหลังข้าพเจ้าได้มาแย่งไป ข้าพเจ้าหันกลับไปทันที แต่เมื่อเห็นว่าเป็นใครแล้วก็ปล่อยไป
เชอวาลิเยร์เดส์ฟาร์จและแฟรตเตอวิลล์ถูกปลดอาวุธและถูกจับเมื่อเข้ามาในเขตวังได้เพียง ๒๐ ก้าว เมื่อข้าพเจ้าถูกปลดอาวุธแล้วเขาก็พาไปรวมกับเชอวาลิเยร์เดส์ฟาร์จและแฟรตเตอวิลล์ไปรวมในห้องหนึ่งในพระราชวัง โดยให้ท่านอุปทูตสยาม [ออกหลวงกัลยาราชไมตรี] และชาวสยามอีก ๕๐ คน ควบคุมไว้ ทุกคนมีดาบในมือทั้งสิ้น
บ้านวิชาเยนทร์ หรือ บ้านหลวงรับราชทูต ตั้งอยู่ทางเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เป็นทำเนียบของฟอลคอนในเมืองลพบุรี
พระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ระบุถึงเหตุการณ์ที่ฟอลคอนถูกจับไว้ว่า
“ครั้นเพลาบ่ายพญาเพทราชา ไห้ไปเชีณพญาวีใชยเยนเข้ามาว่าปฤกษาราชการ แล้วให้ตำรวดไปกำกับประตูพระราชวัง สั้งว่าข้าทูลล่อองทุลีพระบาทฝ่ายทหาร พลเรีอน จ่เขาม่าเฝา ให้เขามาแตถาดหมากคนโทมัดเฝ้า ครั้นพญาวิใชยเยนเข้ามาพรัอมกันณสาลาลูกขุน พญาเทพราชาว่าสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัอทรงพระประชอนอยู่บานปาเมีองดอน เราจะไหัยแตงกองรอัยกองกระเวน แลกองรอยรอบพระราชวั้งชันหนึ่ง หน้าพเนียดชั้นนึ่ง พระตำหนักชชุบศรนั้นไว้แตม้าเรัอคอยเหด พญาวีใชยเยนจึงตอบว่าท่านว่าชอบ แล้วก็ชวนกันขึนัไปบนเชีงเทีน พญาวิใชยเยนก็จัดปอ้ม ปากตลาดฉลากให้เจ้าน่าทีอยู่รักสา พญาวีใชยเยนกเดินใปประมานเสนหนึง รักสาองคเอาตะบองตีทอังหักล้มลงแลัวพญาสุระศักเข้าไปจับหมอมปีใด้ เอาไปลางเสียทังพญาวีใชยเยัน”
.
เรื่องการปรึกษาจัดกองร้อยรักษาพื้นที่ต่างๆ ระหว่างออกพระเพทราชาและฟอลคอน กับการที่ฟอลคอนเดินขึ้นไปบนเชิงเทินที่พงศาวดารบันทึกไว้เป็นเพียงอุบายสำหรับหลอกทหารของฟอลคอนที่รออยู่นอกวัง เพราะเดอ แบซ บันทึกว่า
“...แต่โดยที่ขณะนั้นหน่วยทหารคุ้มกันตัวของเขาซึ่งมีอาวุธพร้อมสรรพอยู่ที่หน้าทหารวัง เพทราชารู้ตัวว่ายังไม่ปลอดภัย จึงบังคับให้ มร. ก็องสตังซ์ขึ้นไปที่ป้อมเชิงเทินกับตน ทำเป็นเดินเล่นไปพลางสนทนาปราศรัยด้วยอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส ให้พวกยุโรปที่อยู่ข้างนอกเห็น (เป็นทำนองว่ามิได้มีอะไรกัน)”
หลังจากนั้น “หม่อมปาน” หรือ โกษาปานได้ออกมาเจรจากับผู้บังคับกองหน่วยคุ้มกันชาวอังกฤษว่าฟอลคอนมีคำสั่งให้กลับไปรักษาการที่ประตูทำเนียบ อย่าให้เกิดเหตุร้ายกับภรรยาของเขาในขณะที่เขาต้องจัดการเรื่องราวต่างๆ ในพระราชวังสัก ๒-๓ วัน ชาวอังกฤษผู้นั้นเกรงความปลอดภัยของภรรยาตนเอง ประกอบกับห่วงกำปั่นเหล็กที่เก็บเงินของฟอลคอนที่เขารับผิดชอบอยู่ ก็หลงเชื่อพาทหารทั้งหมดกลับไป วันรุ่งขึ้นก็ได้รับคำสั่งจากฟอลคอนให้ออกจากเมืองลพบุรีและให้พาผู้คนไปอยู่ที่ทะเลชุบศร
กำแพงพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี
พันตรีโบช็องได้บันทึกถึงชะตากรรมของฟอลคอนหลังจากถูกจับว่า
“สมเด็จพระเพทราชาหิ้วปีกเมอซิเออร์ก็องสต็องส์ บังคับให้เดินเท้าเปล่า ถอดหมวก พาเดินประจานรอบพระราชวังเพื่อให้คนจำนวนมากได้เห็น จากนั้นก็พาไปรวมกับเราในห้อง เกือบจะทันทีที่เขาเข้ามารวมกับเรา เมื่อเห็นข้าพเจ้าเขาก็บริภาษว่า “เมอซิเออร์ ข้าพเจ้าโกรธมากที่เห็นท่านที่นี่” ข้าพเจ้าตอบว่า “ก็ ฯพณฯ ปรารถนาในสิ่งนี้มิใช่หรือ หากว่าท่านเชื่อข้าพเจ้าแล้ว ทั้งท่านและข้าพเจ้าคงไม่ต้องมาอยู่ที่นี่หรอก”
สมเด็จพระเพทราชาเห็นพวกเราพุดคุยกันก็พาเขาออกไป เขาถูกตีตรวน ใส่ขื่อคา เอาไฟลนฝ่าเท้า จากนั้นสมเด็จพระเพทราชาก็เข้าไปในห้องเล็กข้างห้องบรรทมของพระเจ้าแผ่นดิน จับหม่อมปีย์สำเร็จโทษโดยตัดออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนพระธิดาของพระองค์ ซึ่งประทับในพระราชวังในช่วงที่เกิดเหตุมีพระเสาวนีย์ให้ขับไล่ชาวคริสต์ทุกคนออกจากอาณาจักร ดังนั้นทุกคนจึงถูกตีตรวน แม้ท่านสังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิสก็ไม่ยกเว้น มีเพียงบาทหลวงเยซูอิตเท่านั้นที่ได้รับเสรีภาพและได้รับอนุญาตให้เข้าพบพวกถูกจองจำและปลอบโยนเท่าที่ท่านจะกระทำได้”
.
นายพลเดส์ฟาร์ฌส์ ผู้บัญชาการกองทหารฝรั่งเศสที่เมืองบางกอก บันทึกว่า
“ในไม่ช้าเข้าก็ได้กระทำการยึดอำนาจอย่างที่ต้องการ จากนั้นก็จับเมอซิเยอร์ก็องสต๊องส์ไปประจานบนกำแพงพระราชวัง แวดล้อมด้วยพวกแขนลายที่ถูกใช้งานเวลาที่เขาต้องการให้ไปจับใคร จากนั้นก็นำตัวไปพันธนาการด้วยเครื่องจำทั้ง ๕ และขังไว้ในพระราชวังนั้น นับแต่นั้นเราก็ไม่ได้เห็นเขาอีกเลย ทั้งไม่ได้ติดต่อใครด้วย เขาเองก็ต้องทนทุกข์ทรมานต่างๆ มากมาย เกี่ยวกับข่าวลือที่แพร่กระจายไปทั่ว ทั้งเรื่องคำให้การของขุนนาง ๒ คน เขาถูกบังคับให้สารภาพว่าได้เข้าร่วมกับฝ่ายพระปีย์ ที่ได้ยักยอกและนำเงินในท้องพระคลังหลวงออกไปจากอาณาจักร พวกเขาได้พยายามล้วงเกี่ยวกับกิจการต่างชาติออกมา...
...ยังมีขุนนางอีก ๓ นายในฝ่ายนั้นที่พระเพทราชาไม่ต้องการจะปล่อยทิ้งไว้ จึงมีคำสั่งให้ออกไปจับกุมในคืนหลังจากที่เมอซิเยอร์ก็องสต๊องส์ถูกจับนั้นเอง ขุนนางคนหนึ่งที่ละโว้สามารถหลบหนีออกมาได้ แต่ก็ถูกจับกุมกลางทาง ส่วนอีกสองคนถูกจับที่บ้าน โดยที่ไม่มีใครทราบเรื่องแม้แต่น้อย”
ความผิดของฟอลคอนที่เดส์ฟาร์ฌส์บันทึกตรงกับจดหมายของเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ส่งไปถึงบาทหลวง เดอ ลา แชส (François de la Chaise) ใน พ.ศ. ๒๒๓๗ ระบุว่า
“สํมเด......กร่ษัตราธีราชเจ้ากรุงไทย่ โปรดกาศตันเปนอันยิ่งนักหน่า เลียงเป็นพรญาวิไชยเยน่ท่มนตรี ให้ว่าราช่การ่ดว้ยเสนาบ่ดี แลกาศตันเอาทรัพยสิ่งฃอ่งเงืนทองณ่พระคลัง ออก่จำหนายทำมาตรายเสียเปนอันมัาก แล้วจ่คีดทำร้าย แลลเสนาบ่ดีรู้แล้ว แลจ่ว่ากล่าวไสมีชอับทว่งทิ แต่ร่วังร่ใวอยู่ กาศตันจ่ทำร้ายมีใด้.......แลสํมเดจพรม่หากร่ษตราธีราชเจ้าทุกวันนี้รูร่คายจืงให้จับเอาตัวกาศตัน ถาม่ไสใด้เนื้อคว้ามสํมดุจ่ผูฟองกล่าวโทษกาศตันนั้น”
สอดคล้องกับคำให้การที่ออกหลวงกัลยาราชไมตรี (เวลานั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงราชนิกุลนิตยภักดี) แจ้งต่อทหารฝรั่งเศสที่โบช็องป์บันทึกไว้ ระบุว่าฟอลคอน “...คดโกงเงินและยักยอกเงินหลวง และจะทำให้ราชอาณาจักรสยามตกไปสู่เงื้อมมือของฝรั่งเศส””
ภาพพิมพ์คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิไชยเยนทร์
เดอ แบซ บันทึกเหตุการณ์ในช่วงปฏิวัติว่า “ส่วนชาวยุโรปคนอื่นๆ นั้นอพยพมาอยู่กับเรา และคนสยามก็เริ่มวิ่งพล่านไปตามท้องถนน มีอาวุธอยู่ในมือ ชั้นแรกก็เข้าทำการปล้นบ้านพระปีย์กับบ้านบิดามารดาของพระปีย์ก่อน ในไม่ช้าเราก็ได้รับคำบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางพระบรมมหาราชวัง กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงถูกจับ และกักพระองค์เป็นนักโทษไว้ในพระตำหนัก มียามเฝ้ารักษาการณ์อย่างกวดขัน เราทราบข่าวนี้จากพนักงานชาวที่ห้องบรรทม ผู้ซื่อสัตย์คนหนึ่งซึ่งพวกนั้นละไว้ให้ถวายงาน”
หม่อมปีย์นั้นหลบไปซ่อนอยู่ในที่พระบรรทมของสมเด็จพระนารายณ์ แต่ตอนกลางคืนจำต้องออกไปถ่ายทุกข์ ยามที่เฝ้าอยู่หน้าห้องพระบรรทมจึงจับตัวไว้ได้ แล้วถูกนำไปประหารชีวิตในวันรุ่งขึ้นโดยถูกหั่นเป็น ๓ ท่อน ลือกันว่าศีรษะที่ถูกตัดถูกนำไปแขวนกับคอของฟอลคอน ส่วนฟอลคอนถูกประหารชีวิตในวันที่ ๕ มิถุนายนของปีเดียวกัน
.
การ “ปฏิวัติ” ของออกพระเพทราชาในครั้งนี้ผิดแผกจากการชิงราชสมบัติในอดีต เพราะประกอบด้วยแนวร่วมจากทั้งพระราชวงศ์ชั้นสูง พระภิกษุสงฆ์ ขุนนาง และประชาชนในเมืองลพบุรีที่ไม่พอใจนโยบายทางการเมืองของสมเด็จพระนารายณ์และฟอลคอนให้การสนับสนุนจำนวนมาก โดยเฉพาะกับประชาชนที่แม้จะถูกปลุกระดมโดยพระสงฆ์ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับออกพระเพทราชาก็ตาม แต่ “ประชาชน” เหล่านี้ก็มีความคิดอ่านออกมามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองระดับรัฐด้วยตนเอง แตกต่างจากการชิงราชสมบัติส่วนใหญ่ที่ประชาชนเหล่านี้อยู่ในสถานะไพร่ที่ถูกเกณฑ์เป็นไพร่พลโดยไม่ได้มีความคิดอ่านทางการเมืองแต่ประการใด
บรรณานุกรม
- กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. (๒๕๔๘). กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
- เดส์ฟาร์จ, นายพล. (๒๕๕๒). ชิงบัลลังก์พระนารายณ์. กรุงเทพฯ: มติชน.
- เดอะ แบส, บาทหลวง. (๒๕๕๐). บันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์. (๒๕๕๗). การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์.พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพฯ: มติชน.
- โบชอง, พันตรี. (๒๕๕๖).หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน. กรุงเทพฯ: มติชน.
- ปรีดี พิศภูมิวิถี. (๒๕๕๕). ประชุมจดหมายเหตุออกพระวิสุทสุนทร (โกษาปาน). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหมอบรัดเล. (๒๕๔๙). พิมพ์ครั้งที่สอง. นนทบุรี: ศรีปัญญา.
- สปอร์แตซ, มอร์กาน. (๒๕๕๔). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ: มติชน
- หมู่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ผูก ๑๗ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) มัดที่ ๑ ประวัติ นายจิตรถวาย พ.ศ. ๒๔๕๑.
- Bhawan Ruangsilp. (2007). Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perception of the Thai Kingdom, c 1604-1765, Leiden: Brill.
- Launey, A. (1920). “Histoire de la Mission de Siam, 1662-1811 documents historiques. T. 1”. Paris: Anciennes Maisons Charles Douniol et Retaux.
- Smithies, M. (2004). Witness to a Revolution: Siam 1688. Bangkok: Siam Society.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การแชร์ (share) ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
โฆษณา