14 พ.ย. 2019 เวลา 05:48 • ประวัติศาสตร์
นานาชาติในภาษาไทย - แขก
ภาพเขียนศิลปะเปอร์เซีย (อิหร่าน) สมัยราชวงศ์เศาะฟะวียฮฺ (Safavid Dynasty) ในหนังสือ Falnama (Book of Omens) วาดขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 1550
แขก เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกชนชาติทางตะวันตกซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม รวมทั้งชนชาติที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือชนชาติที่อยู่ใกล้ประเทศไทยด้วย
แขก มีความหมายว่า "ผู้มาเยือน" นอกจากไทยภาคกลางแล้วก็ยังใช้กันในคนอีสานเรียก “ไทแขก” หมายถึง ผู้ที่มาเยือน (ไท แปลว่า คน หรือ ชาว) ซึ่งเป็นคนต่างถิ่น และในลาวก็มีชื่อเมือง “ท่าแขก” อยู่ในแขวงคำม่วน เป็นต้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำที่ใช้กันในตระกูลภาษา ไท-ลาว
สันนิษฐานว่าเป็นคำเดียวกับภาษาจีน 客 (เข้อ) หรือสำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า แขะ หมายถึงชาวฮากกาหรือจีนแคะ ซึ่งคำนี้ตามความหมายแปลว่า "ผู้มาเยือน" เช่นเดียวกัน
1
เหตุที่ใช้คำนี้เรียกชาวอินเดีย อาหรับ หรือชาติมุสลิมอื่นๆ เพราะสันนิษฐานว่าเป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกๆ ที่ได้เดินทางเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ
สำหรับชนชาติที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับไทยที่นับถือศาสนาอิสลามก็มักจะถูกเรียกว่าแขกไปด้วย เช่น ชาวจาม และชาวมลายู
สมุดข่อยภาพเขียนรูปแขกขี่ม้า ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
คนไทยสมัยโบราณ ได้แบ่งกลุ่มย่อยๆ ของชนชาติ "แขก" เหล่านี้โดยอาศัยความแตกต่างของภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นใน "ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์" หรือ "เรื่องนางนพมาศ" ที่สันนิษฐานว่าเป็นวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ ไว้หลายกลุ่ม ดังนี้
“แขกอาหรับภาษา ๑ แขกมห่นภาษา ๑ แขกสุหนี่ภาษา ๑ แขกมั่งกะลี้ภาษา ๑ แขกมะเลลาภาษา ๑ แขกขุร่าภาษา ๑ แขกฮุยหุยภาษา ๑ แขกมลายูภาษา ๑ แขกมุหงิดภาษา ๑ แขกชวาภาษา ๑ แขกจามภาษา ๑ แขกพฤษภาษา ๑”
- แขกอาหรับ คือ ชาวอาหรับ (Arab) ซึ่งเป็นกลุ่มชนชาติเซมิติก (Semitic) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในแถบตะวันออกกลางอย่างเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ บริเวณคาบสมุทรอาหรับ
- แขกมห่น บางที่เรียก "มะหง่ล" หรือ "มะหงุ่น" มาจากคำว่า โมกุล (Mughal) ซึ่งเป็นมุสลิมที่สืบเชื้อสายจากชาวมองโกลที่ปกครองอินเดียในศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ คำนี้ใช้เรียกมุสลิมที่เดินทางมาจากอินเดียแบบรวมๆ โดยอาจจะไม่ได้เป็นคนในอินเดียก็ได้ ซึ่งก็มีหลักฐานสมัยสมเด็จพระนารายณ์ระบุว่าทหารม้าชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ในอินเดียถูกเรียกว่า "โมกุล" เช่นเดียวกัน
ภาพวาดจักรพรรดิชะฮันคีร์ (Jahangir) แห่งจักรวรรดิโมกุลเสด็จออก ณ ท้องพระโรง (Durbar) ให้ข้าราชการในราชสำนักเข้าเฝ้า ศิลปะสมัยโมกุล ประมาณ ค.ศ. 1620 จากหนังสือพระราชประวัติจักรพรรดิชะฮันคีร์ (Tuzk-e-Jahangiri تزک جہانگیری)
-แขกสุหนี่ หมายถึงชาวมุสลิมนิกายซุนนี (Sunni) ซึ่งเป็นนิกายที่มุสลิมส่วนใหญ่นับถือ ยกเว้นในแถบอิหร่านซึ่งนับถือนิกายชีอะหฺ
-แขกมั่งกะลี้ หรือ บังกะหล่า หมายถึงชาวเบงกาลี (Bengali) ซึ่งอยู่ในแถบตอนเหนือของอินเดียหรือในบังกลาเทศ
- แขกมะเลลา ไม่ทราบชัด อาจจะหมายถึงชาวมุสลิมที่อยู่ในมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
- แขกขุร่า น่าจะหมายถึง กุรข่า (Gurkha) ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มทหารของเนปาล
- แขกฮุยหุย หมายถึงชาวหุย (Hui) ซึ่งเป็นมุสลิมในประเทศจีน ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากมุสลิมหลายชนชาติที่เดินทางมายังจีนตั้งแต่สมัยโบราณเช่นอาหรับ เปอร์เซีย
- แขกมลายู หมายถึง ชาวมลายู (Melayu) หรือ มาเลย์ (Malay) คือชนชาติที่อาศัยอยู่ทางใต้บริเวณคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะของเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ คือบริเวณภาคใต้ของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย
- แขกมุหงิด หมายถึง บูกิส (Bugis) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย
- แขกชวา หมายถึง ชาวชวา (Javas) ซึ่งอาศัยอยู่บนหมู่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
- แขกจาม หมายถึง ชาวจาม (Chams) ซึ่งเคยตั้งอาณาจักรจามปาทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม
- แขกพฤษ สันนิษฐานว่าคือชาวเปอร์เซีย ซึ่งมีชื่อเรียกชนชาติว่า Parsa
ภาพวาดสุลต่านแห่งขัมบัต (Cambay) ในรัฐคุชราต (Gujarat) ภาพเขียนของชาวโปรตุเกสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 จาก Códice Casanatense
ในเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งมีการบรรยายภูมิสถานกรุงศรีอยุทธยา (เดิมเรียบเรียงจากเอกสารในหอหลวง แต่มีการแทรกความเพิ่มในสมัยหลัง) ยังได้กล่าวถึงชนชาติ "แขก" อีกหลายชาติเพิ่มเข้ามา ได้แก่
- แขกกุศราช หมายถึง แขกจากรัฐคุชราต (Gujarat) ในอินเดีย
- แขกสุรัด หมายถึง แขกจากเมืองสุราษ (Surat) ในอินเดีย
- แขกเทศ มักหมายถึงแขกชาติทางตะวันตกที่อยู่ห่างไกลจากไทยอย่างรวมๆ เช่น อาหรับ และกลุ่มวัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย (Indo-Persian culture) แต่ในบางความหมายอาจหมายถึงชาวยุโรปด้วย
จักรพรรดิชะฮันคีร์ (Jahangir) แห่งจักรวรรดิโมกุล และ จักรพรรดิชาห์ อับบาส (Shāh Abbās) แห่งเปอร์เซีย สองอาณาจักรที่ไทยเรียกรวมว่าเป็น "แขกเทศ"
ในจารึกโคลงภาพคนต่างภาษา ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็ยังมีแขกอีกได้แก่
-แขกจุเหลี่ย หมายถึง มุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ตามชายทะเลทางภาคใต้ของประเทศอินเดียรวมถึงเกาะลังกา
-แขกปะถ่าน หมายถึง ชาวปาทาน (Pathan) หรือปัชทุน (Pashtun) ซึ่งเป็นมุสลิมในแถบอัฟกานิสถานและปากีสถาน
นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ เช่น
ภาพวาดชายชาวเปอร์เซีย ผลงานของ Muhammad Salih al-Husayni ศิลปะสมัยราชวงศ์เศาะฟะวียฮฺ (Safavid Dynasty) คริสต์ศตวรรษที่ 17 (http://www.sothebys.com/en/auctions/ecatalogue/2015/arts-islamic-world-l15220/lot.127.html)
-แขกมักกะสัน ซึ่งคือชาวมากัสซาร์ (Makassar) จากสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย
-แขกเจ้าเซ็น ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นคำเรียกมุสลิมชีอะหฺ ซึ่งส่วนใหญ่คือชาวเปอร์เซีย มุสลิมชีอะหฺจะทำพิธีกรรมที่เรียกว่า 'พิธีเจ้าเซ็น (มุฮัรรอม/มะหะหร่ำ Muḥarram)' ซึ่งเป็นการรำลึกถึงอิหม่ามฮุเซ็นที่ถูกสังหาร โดยเป็นไปได้ว่าคนไทยในอดีตจะเรียกชาวเปอร์เซียจากพิธีกรรมดังกล่าว
-อรุม อรุ่ม หรุ่ม หรือ หรุ่มโต้ระกี่ สันนิษฐานว่าหมายถึงมุสลิมชาวเติร์ก (Turks) หรือตุรกี โดยคำว่า อรุม มาจากคำว่า รูม (Rûm) ภาษาอาหรับของ โรมัน (Ρωμιοί) หมายถึงอาณาจักรโรมันตะวันออกที่มีคอนสแตนติโนเปิล (คือกรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของตุรกี)เป็นศูนย์กลาง ซึ่งภายหลังถูกชาวเติร์กแห่งจากจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) ยึดครอง เลยใช้คำนี้เรียกมุสลิมชาวเติร์กตามไปด้วย
ภาพวาดอิหม่ามอาลีและสานุศิษย์ จาก Hadikat al-Su'ada ('Garden of the Blessed') ของ Muhammad Ibn Suleyman ศิลปะออตโตมัน คริสต์ศตวรรษที่ 16 (http://www.sothebys.com/en/auctions/ecatalogue/2012/an-eye-for-opulence-art-of-the-ottoman-empire/lot.116.html)
-แขกสลุป หมายถึงพ่อค้าที่เดินทางมาด้วยเรือสลุป
-แขกตานี คือชาวปาตานี หรือ จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน
ในบางกรณีแขกจึงถูกเหมารวมไปด้วยสำหรับชนชาติที่มีหน้าตาคมเข้ม ตาโต หรือใช้เป็นคำเรียกคนที่มีลักษณะดังกล่าวด้วย
แม้ว่ารากศัพท์เดิม (ตามการสันนิษฐาน) คำว่า "แขก" ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบ แต่หลายครั้งก็ถูกมองโดยชนชาติที่ถูกเรียกเช่นนี้ว่ามีความหมายในเชิงเหยียดหยามอยู่ในบางครั้ง และทำให้เกิดความไม่พอใจที่จะถูกผู้อื่นเรียกตนว่าเป็น "แขก" ได้บ้างครับ
ภาพแขกเทศศิลปะแบบลายรดน้ำบนตู้พระธรรมสมัยอยุธยา จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_2023)
บรรณานุกรม
- จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. บทบาทและหน้าที่ของขุนนางกรมท่าขวาในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๑๕๓-๒๔๓๕). วิทยานิพนธ์ (อ.ด.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔.
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นางนพมาศ หรือ ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. พระนคร : ร.พ.ภักดีประดิษฐ์, ๒๕๐๘.
- ธีรนันท์ ช่วงพิชิต. พิธีเจ้าเซ็น (อาชูรอ) : อัตลักษณ์และการดำรงชาติพันธุ์ของมุสลิมชีอะห์ในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์. บัณฑิต (มานุษวิทยา) มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๑.
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม ๓ เรื่อง. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๓.
- ปรีดี พิศภูมิวิถี. ประชุมจดหมายเหตุออกพระวิสุทสุนทร (โกษาปาน). พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, ๒๕๕๕.
- ลาลูแบร์, ซิมอน เดอ. จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ศรีปัญญา, ๒๕๔๘.
- Kafadar, Cemal (2007). "A Rome of One's Own: Cultural Geography and Identity in the Lands of Rum". Muqarnas. 24: 11.
หมายเหตุ : บทความทั้งหมดเรียบเรียงโดยผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ ผู้ดูแลเพจขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้นำข้อมูลที่เผยแพร่ในเพจไปแก้ไข คัดลอก ดัดแปลง ทำซ้ำ เผยแพร่ต่อ และห้ามนำไปแสวงหาผลกำไรทางพาณิชย์โดยเด็ดขาด หากมีความประสงค์จะขอบทความของเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ไปเผยแพร่ต่อด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลเพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์ในทุกกรณี ยกเว้นแต่การ ”แชร์”ที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา