17 พ.ย. 2019 เวลา 04:12 • ประวัติศาสตร์
“มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) ราชินีองค์สุดท้ายแห่งฝรั่งเศส” ตอนที่ 1
กำเนิดราชินี
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อของ “มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)” ในฐานะราชินีของฝรั่งเศสมาบ้าง
ชื่อของพระองค์ถูกหยิบยกมาพูดถึงทั้งในหนังสือ รวมถึงภาพยนตร์ต่างๆ
1
วันนี้ผมจะเล่าเรื่องของ “มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)” ให้ฟังครับ
ณ ประเทศออสเตรีย วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1755 (พ.ศ.2298) “จักรพรรดิฟรานซิส (Francis I, Holy Roman Emperor)” และ “จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซ่า (Maria Theresa)” ผู้ปกครองดินแดนที่กว้างใหญ่ในแถบยุโรปตอนกลาง ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว
นั่นคือ “เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนีย โจเซฟ โจแอนนา (Maria Antonia Josepha Johanna)”
จักรพรรดิฟรานซิส (Francis I, Holy Roman Emperor)
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซ่า (Maria Theresa)
จักรพรรดิฟรานซิสทรงประกาศเรื่องพระประสูติกาลของพระราชธิดาให้ข้าราชสำนักที่มารวมตัวกันที่พระราชวังในเวียนนา ประเทศออสเตรียได้รับทราบ
เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียได้ประสูติมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยท่านอาร์ชดยุกและอาร์ชดัชเชสส์มากมายหลายพระองค์ โดยพระองค์มีพระเชษฐาสี่พระองค์และพระเชษฐภคินีเจ็ดพระองค์ รวมทั้งในปีต่อมา พระองค์ยังได้พระอนุชาอีกด้วย
ตามธรรมเนียมโบราณนั้น อาร์ชดัชเชสส์หรือเจ้าหญิงทุกพระองค์จะได้รับพระนามแรกว่า “มาเรีย (Maria)” ดังนั้นอาร์ชดัชเชสส์ทุกพระองค์จะมีพระนามแรกว่า “มาเรีย”
2
พระราชบิดาและพระราชมารดาจึงทรงเรียกเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียว่า “แอนโทเนีย (Antonia)”
ครอบครัวของพระองค์ทรงใช้เวลาในฤดูหนาวประทับอยู่ที่พระราชวังฤดูหนาวใจกลางเมือง และในฤดูร้อนก็จะย้ายไปประทับยังพระราชวังอื่นซึ่งหรูหราใหญ่โต
ถึงแม้ว่าออสเตรียจะมีจักรพรรดิและจักรพรรดินี แต่ผู้ปกครองที่แท้จริงก็คือจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซ่า โดยมีพระราชสวามีคอยถวายความช่วยเหลือ
2
และด้วยความที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชภารกิจมากมายเหลือเกิน จึงไม่มีเวลาดูแลพระราชโอรส พระราชธิดามากนัก ทั้งสองพระองค์จึงทรงจ้างพระพี่เลี้ยงและพระอาจารย์ให้ถวายการสอนและดูแลพระราชโอรส พระราชธิดา
4
ด้วยความที่เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียและพระพี่น้องประสูติมาในราชวงศ์ พระองค์จึงมีชีวิตที่หรูหราสุขสบาย
พระองค์มักจะใช้เวลาไปกับการขี่ม้า ล่าสัตว์ และในฤดูหนาวก็จะเล่นรถเลื่อนบนหิมะ
เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียทรงใช้เวลาเที่ยวเล่นมากกว่าทรงศึกษาตำราเรียน พระองค์ทรงมีพระสุรเสียงที่ไพเราะและมักจะทรงแสดงการร้องเพลงในงานคอนเสิร์ตต่างๆ ในขณะที่เหล่าพระพี่น้องจะเป็นผู้ที่ทรงเล่นเครื่องดนตรี
ค.ศ.1762 (พ.ศ.2305) ขณะที่เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียมีพระชนมายุหกย่างเจ็ดพรรษา ได้มีนักดนตรีผู้หนึ่งได้มาเข้าเฝ้าพระราชวงศ์ในเวียนนา
นักดนตรีผู้นั้นคือ “วูล์ฟกัง อมาดิอุส โมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart)” ผู้ซึ่งในเวลานั้นมีอายุไล่เลี่ยกับเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนีย
วูล์ฟกัง อมาดิอุส โมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart)
มีเรื่องเล่าว่าโมซาร์ทลื่นและหกล้มในพระราชวัง ซึ่งเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียก็ได้ช่วยเหลือด้วยการช่วยประคองให้โมซาร์ทลุกขึ้น
1
โมซาร์ทประทับใจและประกาศว่าเขาอยากจะแต่งงานกับเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนีย
ต่อมา สิงหาคม ค.ศ.1765 (พ.ศ.2308) จักรพรรดิฟรานซิสสวรรคตในขณะที่เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียมีพระชนมายุเพียงเก้าพรรษา
1
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซ่าซึ่งในเวลานี้ได้ปกครองแผ่นดินร่วมกับ “จักรพรรดิโจเซฟที่ 2 (Joseph II, Holy Roman Emperor)” พระราชโอรสองค์ใหญ่ ได้ทรงมีเป้าหมายบางอย่าง
จักรพรรดิโจเซฟที่ 2 (Joseph II, Holy Roman Emperor)
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซ่าได้ทรงมีพระราชประสงค์จะให้พระราชธิดาเข้าพิธีอภิเษกสมรส
ในเวลานั้น การแต่งงานระหว่างราชวงศ์เป็นสิ่งสำคัญ เจ้าหญิงเจ้าชายที่เข้าพิธีอภิเษกสมรสมักจะไม่ได้ทรงอภิเษกสมรสเพราะความรัก แต่ละพระองค์มักจะอภิเษกสมรสเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อหวังได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากประเทศนั้น โดยเฉพาะความช่วยเหลือในยามสงคราม
จักพรรดินีมาเรีย เทเรซ่าทรงมีพระราชประสงค์ให้พระราชธิดาเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับองค์รัชทายาทแห่งฝรั่งเศส นั่นคือ “เจ้าชายหลุยส์ ออกัสต์ (Louis Augusts)” ซึ่งภายหลังพระองค์คือ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI of France)”
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI of France)
ออสเตรียและฝรั่งเศสมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งมาเป็นเวลานานหลายปี แต่ในเวลานั้นทั้งสองประเทศยังคงอยู่อย่างสันติ
1
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซ่าทรงคิดว่าการอภิเษกสมรสระหว่างสองราชวงศ์จะทำให้ทั้งสองราชวงศ์นี้มีสายสัมพันธ์แนบแน่นใกล้ชิด
เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียทรงเหมาะที่สุด เนื่องจากพระองค์มีพระชนมายุใกล้เคียงกับองค์รัชทายาทแห่งฝรั่งเศส
ราชสำนักฝรั่งเศสตอบตกลงกับการอภิเษกสมรส จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซ่าจึงทรงให้พระราชธิดาเตรียมพระองค์
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซ่าทรงจ้างครูสอนบัลเล่ต์มาถวายการสอนให้เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียมีบุคลิกภาพที่สง่างาม ทั้งการดำเนิน การเคลื่อนไหวพระวรกาย อีกทั้งยังมีการจ้างช่างทำผมจากปารีสมาถวายการจัดพระเกษาให้เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียมีพระเกษาที่ทันสมัย
2
นอกจากนั้น ทางฝรั่งเศสเองก็ยังส่งพระอาจารย์มาถวายการสอนให้เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนีย นั่นคือ “Abbé de Vermond”
ขณะนั้นเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียมีพระชนม์ได้ 13 พรรษา พระองค์ทรงมีพระสิริโฉมงดงามเปี่ยมเสน่ห์ พระเกษาสีทอง พระเนตรสีฟ้า พระฉวีขาวอมชมพู
แต่ Vermond ก็พบว่าเจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียนั้นไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องต่างๆ นัก เนื่องจากที่ผ่านมา เหล่าพระอาจารย์ต่างตามใจพระองค์
Vermond จึงได้ให้เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียทรงศึกษาวิชาศาสนา วรรณคดีฝรั่งเศส และภาษาฝรั่งเศส
เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียได้เจริญพระชนม์เป็นหญิงสาวที่ดีพร้อม และพระองค์ก็พร้อมแล้วที่จะเป็นเจ้าหญิงแห่งฝรั่งเศส
งานเฉลิมฉลองการอภิเษกสมรสได้เริ่มขึ้นในกรุงเวียนนาเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1770 (พ.ศ.2313) โดยมีทูตจากฝรั่งเศสเป็นตัวแทนราชวงศ์ฝรั่งเศส เดินทางมาเข้าร่วมงาน
ไม่กี่วันต่อมา ราชวงศ์ออสเตรียได้จัดงานเลี้ยงและงานเต้นรำเพื่อฉลองพิธีอภิเษกสมรส และในเวลานี้ เจ้าหญิงมาเรีย แอนโทเนียก็ได้ทรงมีพระนามในภาษาฝรั่งเศสอีกด้วย
นั่นคือ “มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)”
เรื่องราวของพระองค์จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ตอนหน้านะครับ
โฆษณา