Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
17 พ.ย. 2019 เวลา 02:56 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 6 เส้นลมปราณ (經絡)
หน้าที่ของเส้นลมปราณ
เส้นลมปราณเป็นเส้นทางแห่งเลือดลมและลมปราณที่เชื่อมโยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเข้าไว้ด้วยกัน มีลักษณะคล้ายทางด่วนในการส่งเลือดลมและพลังที่จำเป็นไปยังองคาพยพต่าง ๆ เป็นต้นว่าได้เชื่อมโยงไปที่หัวใจ ปอด ตับ ไต ม้าม ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร และกระเพาะปัสสาวะ ด้วยเพราะเหตุนี้ นักปราชญ์ทางการแพทย์แต่โบราณจึงได้ตั้งชื่อให้กับเส้นลมปราณเหล่านี้ว่า เส้นหัวใจ เส้นปอด เส้นตับ เส้นไต เส้นม้าม เส้นลำไส้เล็ก เส้นลำไส้ใหญ่ เส้นถุงน้ำดี เส้นกระเพาะอาหาร และเส้นกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
เนื่องจากเส้นลมปราณเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการส่งลมปราณ เลือดลม หรือสารจำเป็นต่าง ๆ ไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น หากเส้นลมปราณเหล่านี้เกิดการอุดตัน ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการทำงานปกติของร่างกายจนเกิดอาการป่วยขึ้นได้ เมื่อได้ทำการสั่งสมการสังเกตและการรักษามาอย่างยาวนาน นักปราชญ์ทางการแพทย์จึงได้สรุปหน้าที่ของเส้นลมปราณดังต่อไปนี้คือ
1.หน้าที่ในการลำเลียงเลือดลมและปรับสมดุลอินหยาง
ในหลิงซู (靈樞) ได้กล่าวไว้ว่า “อันเส้นลมปราณนั้น ทำหน้าที่ในการลำเลียงเลือดลม ปรับสมดุลอินหยาง หล่อเลี้ยงเอ็นกระดูก ช่วยการเคลื่อนไหวของไขข้อ” ทั้งนี้ยังมีการกล่าวอีกว่า “พลังบำรุงหรืออิ๋งชี่ (營氣) จะเดินภายในเส้นลมปราณ ส่วนพลังปกป้องหรือเว่ยชี่ (衛氣) จะเดินนอกเส้นลมปราณ” ด้วยการที่เส้นลมปราณมีการเชื่อมโยงกันไปมาและแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างสลับซับซ้อน จึงทำให้ส่วนนอกใน บนล่าง และซ้ายขวาของร่างกายมีการเชื่อมโยงถึงกันอย่างแนบแน่น และจึงทำให้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกิดความสมดุลอยู่เป็นปกตินั่นเอง
2.หน้าที่ในการปกป้องและสะท้อนอาการของโรคภัยไข้เจ็บ
เส้นลมปราณได้มีการกระจายจนกระทั่งเป็นโครงข่ายที่หนาแน่นอยู่ทั่วร่างกาย จึงทำให้เลือดลมและพลังงานสามารถส่งกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างทั่วถึง ด้วยการที่เลือดลมและพลังงานที่จำเป็นสำหรับร่างกายสามารถกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นจึงทำให้องคาพยพของร่างกายมีความตื่นตัวและแข็งแรง และจึงทำให้มีความสามารถในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้
อนึ่ง นอกจากเส้นลมปราณจะมีความสามารถในการปกป้องร่างกายให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว เส้นลมปราณยังสามารถสะท้อนโรคภัยไข้เจ็บให้เราได้รับทราบอีกด้วย ในหลิงซู (靈樞) ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อปอดหัวใจป่วย ลมจะอั้นที่สองข้อศอก (兩肘) เมื่อตับป่วย ลมจะอั้นที่สองใต้รักแร้ (兩腋) เมื่อม้ามป่วย ลมจะอั้นที่สองต้นขา (兩髀) เมื่อไตป่วย ลมจะอั้นที่สองข้อพับเข่า (兩膕)” นอกจากนี้ ยามที่อวัยวะภายในมีอาการเจ็บป่วย ในบางครั้งก็จะสะท้อนออกที่อวัยวะทางใบหน้าได้ เช่น หากไฟของหัวใจลามเลียขึ้นบนก็จะทำให้ลิ้นเป็นแผล หากไฟตับลามขึ้นบนก็จะทำให้สองตาบวมแดง หากพลังไตพร่องก็จะทำให้ความสามารถในการฟังของหูด้อยลง
นอกจากนี้ หากอยู่ภายใต้ภาวะพร่องแกร่งจากภาวะพิษร้ายที่ได้รับจากภายนอกแล้ว เส้นลมปราณก็ยังเป็นหนทางที่จะทำให้พิษร้ายจากภายนอกแทรกซึมเข้าสู่ส่วนลึกของอวัยวะภายในได้ แต่ขณะเดียวกัน โรคจากอวัยวะภายในก็สามารถถ่ายทอดออกทางเส้นลมปราณได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในซู่เวิ่น (素問) จึงได้กล่าวว่า “อันโรคของตับนั้น จะปวดจากสองสีข้างแล้วปวดรั้งถึงท้องน้อย” “อันโรคของหัวใจ จะมีอาการปวดที่หน้าอก ตึงชายโครง ปวดใต้ชายโครง ปวดระหว่างกระดูกสะบัก และปวดส่วนในของสองแขน” เป็นต้น อาการเหล่านี้ล้วนสามารถยืนยันถึงการถ่ายทอดอาการป่วยจากอวัยวะภายในออกสู่เส้นลมปราณที่อยู่ภายนอกได้ทั้งสิ้น
3.หน้าที่ในการสื่อกระแสและปรับอาการพร่องแกร่ง
ศาสตร์แห่งการฝังเข็มนั้นจะเป็นวิธีการรักษาที่กระตุ้นจุดฝังเข็มเพื่อนำไปสู่การทะลวงเส้นลมปราณให้ลื่นไหล เมื่อเส้นลมปราณที่ได้รับการกระตุ้นจากพื้นผิวของร่างกายสามารถทะลวงจุดอุดอั้นจนลื่นไหลแล้ว เลือดลมจึงจะสามารถทะลวงเข้าสู่อวัยวะที่อยู่ในส่วนลึกของร่างกายได้ ด้วยวิธีการเช่นนี้จึงจะนับว่าบรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาโรคได้ในที่สุด
เหตุที่ร่างกายมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย สาเหตุนั้นเป็นเพราะร่างกายมีภาวะความไม่สมดุลแห่งอินหยาง และความไม่สมดุลแห่งอินหยางก็เกิดจากการอุดอั้นของเส้นลมปราณที่เชื่อมโยงระหว่างกัน หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพสักหน่อย ก็จะเปรียบได้เหมือนเช่นมีถังน้ำอยู่สองถัง ระหว่างถังทั้งสองจะมีสายยางที่เ ชื่อมถึงกัน เมื่อสายยางที่เชื่อมถังทั้งสองไร้การอุดตัน ระดับน้ำที่อยู่ในถังทั้งสองก็จะอยู่ในระดับที่เท่ากัน แต่หากสายยางที่เชื่อมถังทั้งสองเกิดการอุดตัน ยามนั้นจะทำให้ระดับน้ำของถังทั้งสองมีความเหลื่อมล้ำขึ้นได้ หน้าที่ในการปรับระดับน้ำของสายยางเป็นฉันใด หน้าที่ของเส้นลมปราณที่จะปรับระดับอินหยางของอวัยวะที่เชื่อมโยงระหว่างกันก็เป็นฉันนั้น
ดังนั้น ความลื่นไหลแห่งเส้นลมปราณ จึงมีส่วนช่วยในการปรับภาวะความไม่สมดุลของอวัยวะ หรือก็คือการปรับภาวะความสมดุลของอินหยาง เมื่ออินหยางเกิดความสมดุลขึ้นแล้ว อาการป่วยของร่างกายก็จะกลับสู่ภาวะปกตินั่นเอง
5 บันทึก
6
1
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
5
6
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย