17 พ.ย. 2019 เวลา 07:34 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศิษย์ขงจื่อ (ฉบับสมบูรณ์)
หยั่นยง (冉雍)
หยั่นยง ฉายาจ้งกง บิดานามว่าหยั่นหลี (冉離) มีอายุอ่อนกว่าขงจื่อ ๒๙ ปี ชาวแคว้นหลู่ เป็นผู้ที่มีคุณธรรมอันสูงส่ง จึงถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดคุณธรรม
หนึ่งตระกูลสามเมธา (一門三賢)
ตามบันทึกในสาแหรกตระกูลแห่งตระกูลหมิ่น ได้มีการบันทึกไว้ว่า หยั่นหลีได้แต่งงานกับเหยียนซื่อ (顏氏) ให้กำเนิดบุตรชายสองคน คนโตนามว่าหยั่นป๋อหนิว คนกลางนามว่าหยั่นยง ภายหลังเหยียนซื่อได้ถึงแก่กรรม หยั่นหลีจึงแต่งงานใหม่กับกงซีซื่อ (公西氏) และให้กำเนิดบุตรชายนามว่าหยั่นฉิว จากตรงนี้จึงทราบได้ว่า หยั่นหลีมีบุตรชายสามคน และทั้งสามคนต่างก็เป็นศิษย์ในสำนักขงจื่อ ทั้งยังมีคุณธรรมความสามารถเป็นที่ปรากฏและถูกยกย่องให้อยู่ในทำเนียบนักปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อด้วยกันทั้งสามคน โดยหยั่นป๋อหนิวและหยั่นยงถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดคุณธรรม ส่วนหยั่นฉิวจะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสิบปราชญ์แห่งสำนักขงจื่อในหมวดการเมือง
คุณธรรมงามเลิศ
หยั่นยงถูกขงจื่อยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิบนักปราชญ์ในหมวดคุณธรรม คุณธรรมของท่านสามารถเห็นได้จากคำชมของขงจื่อที่ปรากฏในคัมภีร์หลุนอวี่ดังนี้
ขงจื่อพูดถึงหยั่นยงว่า “ลูกโคไถนา มีขนแดงแลเขางาม แม้นมิดำริใช้เป็นเครื่องเซ่น แต่เทพแห่งหุบเขาลำธารจะรังเกียจฤๅ ? (บทยงเหยี่ยตอนที่ ๔)”
ผู้คนในสมัยราชวงศ์โจวมักนิยมใช้โคที่มีขนสีแดงและเขาอันได้รูปเป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าแห่งหุบเขาลำธาร เหตุเพราะสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคล ดังนั้นจึงไม่มีใครสนใจใช้โคไถนาที่มีสีขนวุ่นวายเป็นเครื่องเซ่นไหว้แต่อย่างใด ในที่นี้ ลูกโคไถนาที่มีสีขนแดงเลื่อมและเขาอันงดงามจะหมายถึงหยั่นยง เพราะหยั่นยงมีชาติกำเนิดอันต่ำต้อย และแม้นหยั่นยงจะมีชาติกำเนิดอันต่ำต้อยจนผู้คนรังเกียจ แต่ด้วยคุณธรรมความสามารถของหยั่นยงแล้ว มีหรือที่ฟ้าจะรังเกียจ ดังนั้นขงจื่อจึงได้กล่าวเช่นนี้ขึ้น
จึงเห็นได้ว่า ไม่ว่าหยั่นยงจะดำรงในสภาวะแวดล้อมอันเลวร้าย หรือแม้นจะมีชาติกำเนิดอันต่ำต้อยเช่นใด ท่านก็ยังคงบำเพ็ญปฏิบัติอย่างเข้มแข็งอดทน
คุณธรรมนำการเมือง
สำหรับทัศนะของบุคคลทั่วไป มักจะมีทัศนะที่ผิดๆ เช่นนี้ว่า “จะปกครองคนที่มีแต่ความเจ้าเล่ห์เพทุบาย หากสักแต่สุภาพอ่อนน้อม ย่อมต้องถูกรังแกและมิอาจปกครองเขาได้ ดังนั้นจะต้องเข้มงวดดุดัน จึงจะสยบผู้คนให้อยู่ในโอวาท”
แต่ขงจื่อได้เคยกล่าวถึงทัศนะเรื่องการปกครองที่แตกต่างไว้เช่นนี้ว่า “ปกครองด้วยรัฐศาสตร์ เคร่งครัดด้วยราชทัณฑ์ ทวยราษฎร์ก็จักหลีกหนีและไม่รู้ละอาย หากปกครองด้วยคุณธรรม และเคร่งครัดด้วยจริยธรรม ไพร่ฟ้าก็จักรู้ละอายและปรับปรุงตน” ทั้งยังเคยกล่าวอีกว่า “อันวัตรปฏิบัติแห่งวิญญูชนนั้นจะประหนึ่งลม แลอันวัตรปฏิบัติแห่งสามัญชนนั้นจะประหนึ่งหญ้า หญ้าที่อยู่ใต้ลม ก็จักต้องล้มลู่ตามลมเป็นแน่แท้”
จึงทราบได้ว่า ปกครองด้วยความแข้งกร้าว ผู้คนจะยอมแต่เพียงภายนอก หากแต่จิตใจจะยังคงกระด้างกระเดื่อง และรอเพียงวันเวลาที่จะระเบิดปะทุออกมาเท่านั้น แต่หากปกครองด้วยคุณธรรม เช่นนี้จึงจะสลายจิตใจที่เลวร้าย เพียงผู้คนหมดสิ้นแล้วจากจิตใจที่เลวร้าย เมื่อนั้นประเทศชาติก็จะสงบร่มเย็นโดยมิต้องเปลืองแรงในการปกครองแต่อย่างใด ด้วยเพราะเหตุนี้ ขงจื่อจึงกล่าวถึงหยั่นยงในเรื่องของการปกครองไว้เช่นนี้ว่า “อันหยั่นยงผู้นี้ มีคุณสมบัติให้ทักษิณาภิมุขได้แล”
คำว่าทักษิณาภิมุข หมายถึงการหันหน้าไปทางทิศใต้ หากดูจากหลักอัฏฐขันธ์ (八卦) นั้น ธาตุไฟจะอยู่ทิศใต้ ฉะนั้นคนโบราณจึงถือทิศใต้เป็นทิศแห่งความสว่าง ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัลลังก์ จวนว่าการของเหล่าเจ้าเมือง หรือข้าราชการทั้งหลาย ล้วนจะยึดตำแหน่งทิศทางแบบหลังเหนือหน้าใต้ทั้งสิ้น และการที่ขงจื่อกล่าวชมหยั่นยงว่ามีคุณสมบัติให้หันไปทางทิศใต้ได้นั้น เป็นเพราะหยั่นยงมีคุณธรรมความสามารถที่คู่ควรแก่ตำแหน่งบริหารบ้านเมือง หากหยั่งยงได้รับโอกาสปกครองบ้านเมือง ขงจื่อเชื่อว่าด้วยบารมีที่น่ายกย่องของหยั่งยงแล้ว จะต้องนำพาประชาราษฎร์จนมุ่งมั่นใฝ่ดี และประสบความสำเร็จในการปกครองได้เป็นแน่แท้
เนื่องจากหยั่นยงมีคุณธรรมเลื่องลือเป็นที่ปรากฏ ดังนั้นจึงเคยได้รับการทาบทามให้ไปรับราชการในตระกูลของจี้ซื่ออยู่ระยะหนึ่ง แต่เพื่อความรอบคอบมิให้เกิดความเสียหายต่อการปกครอง หยั่นยงจึงกราบเรียนถามความรู้ด้านการปกครองจากขงจื่อ ขงจื่อกล่าวว่า “ทุกการงานพึงมีผู้รับผิดชอบก่อนเป็นอันดับแรก รู้อภัยต่อลหุโทษ ทั้งพึงสนับสนุนปราชญ์ให้เข้ารับราชการ” หยั่นยงถามต่อจากนั้นว่า “แล้วจะรู้ว่าเป็นนักปราชญ์แล้วทำการสนับสนุนได้อย่างไร ?” ขงจื่อตอบว่า “จงสนับสนุนผู้ที่เจ้ารู้จักก่อน ส่วนคนที่เจ้ายังไม่รู้จักนั้น มีหรือที่ผู้คนจะอำพราง?”
หลังจากหยั่นยงได้รับหลักแห่งการปกครองสามประการคือ กระจายอำนาจ หนึ่ง ใจกว้าง หนึ่ง และสนับสนุนคนดีมีความสามารถอีกหนึ่งแล้ว หยั่งยงก็สามารถนำไปปฏิบัติ จนประสบความสำเร็จในการปกครองได้อย่างงดงาม
บำเพ็ญเมตตาธรรมให้ดุจพบอาคันตุกะ
ในด้านเมตตาธรรม หยั่นยงจะมีความวิริยะในด้านนี้อย่างน่ายกย่อง ท่านจะมีความระมัดระวังในการบำรุงรักษาเมตตาธรรมไม่ให้เกิดความมัวหมอง จึงได้ถามหลักในการยกระดับเมตตาธรรมจากขงจื่อ ขงจื่อตอบว่า “ยามออกธุระพึงให้ประหนึ่งพบอาคันตุกะ การเกณฑ์แรงงานพึงให้ประหนึ่งรับผิดชอบมหาพิธีบวงสรวง สิ่งที่ตนไม่ประสงค์อย่ากระทำกับผู้อื่น ฉะนี้แล้ว อยู่ในประเทศจะไร้คำครหา อยู่ในเคหะก็ไร้คำนินทา” หยั่นยงกล่าวว่า “แม้นศิษย์มิฉลาดเฉลียว แต่จะขอน้อมปฏิบัติตามโอวาทท่านอาจารย์ (บทเหยียนเยวียนตอนที่ ๒)”
จะธำรงเมตตาธรรมให้ยืนยง ก็พึงปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะธรรมนั้นคือสิ่งธรรมดาที่อยู่ในชีวิตประจำวัน หาใช่ความวิเศษพิสดารจนหลุดโลกแต่อย่างใดไม่ มันก็เพียงสิ่งธรรมดาสามัญในทุกลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ดังนั้นสิ่งสำคัญในการธำรงเมตตาธรรมให้คงอยู่ ประการสำคัญอยู่ที่การตระหนักรู้ในท่ามกลางชีวิตประจำวันนี้นั่นเอง
ในส่วนนี้ ขงจื่อได้สอนหยั่นยงให้มีความตระหนักรู้ว่า หากประสงค์ธำรงเมตตาธรรมไม่ให้มัวหมอง ก็พึงสำรวมกายใจให้ประหนึ่งว่ากำลังจะออกจากบ้านไปพบอาคันตุกะผู้ทรงเกียรติ ให้มีความระมัดระวังเสมือนหนึ่งเกรงว่าจะก่อความขาดตกบกพร่อง ในด้านการปฏิคมพบปะกับผู้คน ก็พึงดำรงท่าทีที่ระแวดระวัง เสมือนหนึ่งกำลังรับผิดชอบมหาพิธีบูชาฟ้า เพียงใช้ใจดังนี้ในการปฏิบัติต่อปวงประชา แน่นอนว่าย่อมสามารถดำรงในเมตตาธรรมและไม่สร้างความเสื่อมเสียแก่เมตตาธรรมได้เป็นแน่แท้
ทั้งนี้ จะปฏิบัติสิ่งใดก็ต้องมีใจเสมอภาค ไร้การแบ่งแยก ไม่แบ่งวรรณะ เพราะการไร้ใจแบ่งแยกในการปฏิบัติต่อสรรพสิ่ง จึงจะไม่เลือกที่รักมักที่ชัง การไม่เลือกที่รักมักที่ชังจึงจะมอบความรักต่อปวงประชาได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และการที่จะปฏิบัติเช่นนี้ได้ ก็พึงรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา สิ่งใดที่ตนไม่ปรารถนา ก็จงอย่าปฏิบัติกับผู้อื่น ขอเพียงปฏิบัติตนได้เช่นนี้ ก็จะธำรงเมตตาธรรมให้มั่นคงสถาพรได้อย่างแน่นอน
ไม่อวดคารม
เนื่องจากหยั่นยงเป็นบุคคลที่เน้นการปฏิบัติ ท่านจึงมิใช่ผู้ที่ชอบอวดคารมเพื่อแสดงความเด่นของตนให้คนยกย่องแต่อย่างใด คนที่สามารถเป็นเช่นนี้ได้ ในจิตใจย่อมเป็นคนที่มีความสมถะ ไม่นิยมชื่อเสียงคำเยินยอ และต่อให้ไม่มีใครรับรู้ในคุณธรรมความสามารถ เขาก็มิได้นำพา หรือต่อให้ประสบกับการว่าร้ายไยไพ เขาก็ไม่นำมาใส่ใจ แต่สิ่งนี้จะขัดกับค่านิยมที่ผู้คนให้การยกย่องผู้ที่มีคารมคมคายอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นผู้คนจึงรู้สึกเสียดายในความรู้ความสามารถของหยั่นยง และวิจารณ์หยั่งยงว่า “อันหยั่นยงนั้น เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม หากแต่ไร้วาทศิลป์” ครั้นขงจื่อได้ทราบก็กล่าวว่า “ไฉนต้องมีวาทศิลป์ด้วย ? หากปกป้องตนด้วยฝีปาก ก็จักได้รับความรังเกียจจากผู้คน ข้าไม่ทราบถึงเมตตาธรรมของหยั่นยงดอก แต่ไฉนต้องมีวาทศิลป์ด้วย ?”
ขงจื่อเคยสอนว่า “ดอกกล้วยไม้ในป่าลึก จะไม่เพราะไร้คนดอมดมและหยุดส่งกลิ่นหอม ส่วนวิญญูชนผู้มากด้วยคุณธรรมความสามารถ ก็จะไม่หยุดบำเพ็ญคุณธรรมด้วยเพราะไร้ผู้คนรับรู้ซึ่งความดี” ดังนั้น ผู้คนจะสามารถรับรู้ถึงความหอมของกล้วยไม้โดยไม่ต้องเปล่งวาจาเชิญชวน ฉันใด ดวงตาแห่งปวงประชา ก็ย่อมจะพิศเห็นซึ่งคุณธรรมความดีโดยมิต้องป่าวโฆษณา ฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ วาทศิลป์จึงเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์สำหรับเมตตาธรรมของหยั่นยง ส่วนความสามารถอันเจิดจรัส ก็ยังต้องมัวหมองเมื่อเทียบกับคุณธรรมอันล้ำลึกของจ้งกง
โฆษณา