18 พ.ย. 2019 เวลา 11:45 • ธุรกิจ
ข่าวด่วน! Yahoo! Japan ตกลงควบรวมกิจการ LINE เรียบร้อยแล้ว!!
ถือเป็นข่าวใหญ่ ในวงการเทคโนโลยี และเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยเรามากๆ โดยทาง มาซาโยชิ ซัน แห่งบริษัท Softbank ประกาศควบรวมกิจการ Yahoo! Japan และ LINE เพื่อก้าวไปสู่การเป็น Super App หรือ แอพลิเคชั่น ครอบจักรวาล แอพเดียวทำได้ทุกอย่าง โดยดีลนี้มีมูลค่า ถึง 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ!!
โดยที่มาที่ไป มาจากการที่ มาซาโยชิ ซัน ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Yahoo! Japan ต้องปรับกลยุทธ์ เนื่องจากการแข่งขันในตลาดออนไลน์ e-commerce ในญี่ปุ่น มีการแข่งขันกันสูงมาก ทั้ง Amazon Japan และ Rakuten การควบรวมกับ LINE ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นแชท ยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น (เช่นเดียวกับคนไทย) จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และนำมาสู่ดีลนี้ในที่สุด
ดีลนี้ ทาง Softbank บริษัทแม่ของ Yahoo! Japan จะทำบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) กับ Naver บริษัทแม่ของ LINE ซึ่งจะแบ่งหุ้นกัน 50:50% แล้วบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้น ก็จะไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Z Holding ซึ่งเป็นบริษัทที่ควบคุมกิจการ Yahoo! Japan อยู่
Yahoo! Japan รวมกับ LINE แล้วจะเกิดอะไรขึ้น?
LINE มีผู้ใช้งานในญี่ปุ่นกว่า 80 ล้านราย ส่วน Yahoo! Japan มีฐานผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านราย ซึ่งการควบรวมกิจการกับ LINE ก็จะทำให้ Yahoo! Japan ขยายฐานลูกค้า และขยายบริการไปยังระบบจ่ายเงินทางมือถือ และขยายธุรกิจ e-commerce
Yahoo! Japan cr.phocuswire
โดยคาดหมายว่าการควบรวมกันจะทำให้ฐานผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 100 ล้านรายในญี่ปุ่น และหาก 2 เจ้านี้รวมกัน ก็จะทำให้มีรายได้สูงถึง 1.2 ล้านล้านเยน (3 แสนล้านบาท) แซงหน้าบริษัท Rakuten ยักษ์ใหญ่ในวงการ e-commerce ญี่ปุ่นได้
นอกจากนี้ด้วยฐานข้อมูลผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้สามารถใช้ข้อมูลทำมาวิเคราะห์ด้วย AI เพื่อที่จะเอาไว้ใช้ต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Amazon, Facebook, and Apple, Baidu, Alibaba, Tencent, และ Huawei ได้ (ชื่อคู่แข่งเยอะมากๆ เลย)
แล้วทำไมคนไทยถึงชอบใช้ LINE?
ในไทยต้องบอกว่าแอพลิเคชั่นแชทหนึ่งเดียวในดวงใจของคนไทย ก็คือ LINE ซึ่งจริงๆ แล้วเปิดให้บริการเมื่อ ประมาณ 8 ปีที่แล้วนี่เองนะ จนปัจจุบันมีฐานผู้ใช้งานในไทยมากกว่า 44 ล้านราย!
สำหรับสาเหตุที่ ทำไมต้องเป็น LINE?? อันนี้คงประกอบด้วยหลายๆ สาเหตุ แอดมินขอลองแชร์ สิ่งที่เห็นได้ชัดๆ น่าจะเป็น
1) สติกเกอร์น่ารัก และเกมส์ Line Cookie run สนุกดี
ข้อแรกนี้ต้องบอกว่า เป็นวัฒนธรรมของคนฝั่งเอเชีย ที่เติบโตมากับอะนิเมะญี่ปุ่น แอดมินคุยกับฝรั่งที่เป็นคนอเมริกัน แล้วเค้าไม่เข้าใจ ว่าจะสติกเกอร์ที่ส่งมาที่หมายความว่าอย่างไร เค้าเลยไม่ค่อยชอบส่งสติกเกอร์กัน ต่างกันคนไทยที่ ชอบม๊ากกกกกกกก………. (ก ไก่ ล้านตัว) เดี๋ยวนี้ลามหนัก ส่งสติกเกอร์ มีชื่อตัวเอง มันดีจริงๆ และสำหรับคนที่มีอายุนิดนึง ก็จะส่งรูปสวยๆ พร้อมสวัสดีวันจันทร์ ถึงอาทิตย์ ให้กลุ่มเพื่อนๆ รู้ว่ายังสบายดีอยู่นะ!
ส่วนใครที่ทันยุคเกมส์ LINE ฮิตๆ เช่น LINE Cookie Run ฮิตๆนี่ แข่งวิ่งกันสนุกเลย หรือ LINE Ranger ก็เขย่า กาชา ซื้อของในเกมโดยใช้เงินจริงกันสนุกสนาน สร้างรายได้ให้บริษัทมากทีเดียว (พูดเหมือนนานมากเลยเนอะ เอหรือว่าก็นานแล้วจริงๆ)
หยุดให้บริการไปละ Cr. iPhonemod
2) สื่อสารกันได้ฟรี
ไม่รู้ใครมีความรู้สึกเหมือนแอดมินไหมว่า สมัยก่อน (นานมาแล้ว) รู้สึกไม่ค่อยชอบเมื่อคนโทร LINE มาหา แบบว่า ทำไมขี้งกจัง จริงๆ อาจเป็นเพราะคุณภาพสัญญานอินเตอร์เนตไม่ค่อยดีด้วย แต่พอเข้าสู่ยุค 3G ต้องถือว่าการติดต่อโทรหากันผ่าน LINE ทำได้ดีมากๆ และที่สำคัญฟรีด้วย (จริงๆ เราก็จ่ายค่าบริการอินเตอร์เนตไปแล้วนั่นแหล่ะ)
ทำไปทำมาจากที่เมื่อก่อนก็ใช้วิธีโทรหากันนะ แต่ทุกวันนี้เวลาจะสั่งงานใคร หรือโดนสั่งงาน ไม่ต้องโทรหาแล้ว ใช้การส่งข้อความมาสั่งงานเร็วกว่าเยอะ (มีหลักฐาน สั่งได้ทุกที่ ทุกเวลา) อีกทั้งการส่งรูปก็ทำได้ง่ายๆ เนื่องจากมือถือก็มีกล้องอยู่แล้ว ถ่ายรูปหน้างานแล้วส่งให้เพื่อนร่วมงานกันได้เลย
Line Sitcker cr. Bluebert
3) Line Official Account และบริการอื่นๆ
อันนี้ก็เป็นช่องทางสื่อสาร ให้ทางแบรนด์ต่างๆ เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น โดยช่องทางที่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆได้ลืมตาอ้าปากกันด้วย ไม่ต้องไปจ่ายเงินแพงๆ ค่าโฆษณาในทีวี ส่วนบริการอื่นๆ ของ Line ก็มีเยอะมากจริงๆ เช่น LINE TV, LINE Jobs, LINE Man, เป็นต้น
Cr. LINE TV
อื่นๆ ไม่แน่ใจว่าเพื่อนๆ มีความเห็นอย่างไรกันบ้าง?
แล้วบริษัท LINE นี่ทำรายได้จากไหนบ้าง และทำกำไรได้รึยัง?
บริษัท LINE Corp มีรายได้ 3 ส่วนคือ
หนึ่ง รายได้โฆษณา ส่วนนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจาก LINE Official Accounts และโฆษณาในตัวแอพ
ปี 2558 รายได้ 10,000 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 15,000 ล้านบาท (เติบโต 50%)
ปี 2560 รายได้ 23,100 ล้านบาท (เติบโต 54%)
ปี 2560 รายได้ 30,040 ล้านบาท (เติบโต 30%)
สอง รายได้จากเกม สติกเกอร์ และอื่นๆ ลดลงเรื่อยๆ แต่สวนทางกับจำนวนรายการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นนะ (น่าจะแข่งขันรุนแรงรายได้เลยหดตัว)
ปี 2558 รายได้ 21,650 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 20,570 ล้านบาท (ลดลง 5%)
ปี 2560 รายได้ 20,320 ล้านบาท (ลดลง 1.3%)
ปี 2560 รายได้ 19,490 ล้านบาท (ลดลง 4%)
สาม รายได้จากธุรกิจเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วย LINE PAY, บริการทางการเงิน, การค้า, และการให้บริการ AI รายได้ในส่วนนี้ยังไม่เยอะ แต่อนาคตน่าจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง
โดยหากมีดูกำไรสุทธิ ก็พอไหวนะ ตามสไตล์บริษัทสตาร์ทอัพ ลุ่มๆ ดอนๆ
ปี 2558 ขาดทุน 2,000 ล้านบาท
ปี 2559 กำไร 1,900 ล้านบาท
ปี 2560 กำไร 2,200 ล้านบาท
ปี 2560 ขาดทุน 1,000 ล้านบาท
(ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 100 yen = 28 บาท)
ตัวเลขผู้ใช้งานและรายได้ Cr. Investor Presentation
ทั้งนี้ พี่มาร์ค แห่งเฟสบุ๊ก ได้เคยทำนายเอาไว้ว่า โลกในยุคต่อไป จะเป็นยุค "โลกแห่งความส่วนตัว" คือ การ "แชทเป็นกลุ่ม" แบบส่วนตั๊วส่วนตัว จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
Cr. WSJ
(แน่หล่ะสิ ก็พี่เล่นเอาข้อมูลผู้ใช้งานไปขาย เค้าก็คงไม่ค่อยพอใจกันหล่ะ 555)
อนาคตเราคงได้เห็นศักยภาพที่แท้จริง ของ LINE มากกว่าแค่แชท, ขายสติกเกอร์, ขายของ, สั่งอาหาร, และอื่นๆ กันแน่นอน
(แค่นี้ก็เยอะเหมือนกันแล้วนะ แอพเดียวครอบจักรวาล)
เราอาจแชทขายผลไม้ให้คนญี่ปุ่นในแอพ LINE จ่ายเงินเบ็ดเสร็จผ่าน LINE PAY ก็เป็นได้
เตรียมตัวรับมือ…
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และสำหรับผู้นำเข้าส่งออก เชิญเข้าร่วมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หาช่องทางนำเข้าส่งออก และข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา