18 พ.ย. 2019 เวลา 20:25 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 6 เส้นลมปราณ (經絡)
รายละเอียดของเส้นลมปราณแต่ละประเภท
12 เส้นลมปราณหลัก (十二經脈)
แบ่งออกเป็นเส้นลมปราณมือประเภทอิน 3 เส้น (เส้นไท่อินมือปอด เส้นเจวี๋ยอินมือเยื่อหุ้มหัวใจ เส้นเส้าอินมือหัวใจ) เส้นลมปราณมือประเภทหยาง 3 เส้น (เส้นหยางหมิงมือลำไส้ใหญ่ เส้นเส้าหยางมือซันเจียว เส้นไท่หยางมือลำไส้เล็ก) เส้นลมปราณเท้าประเภทอิน 3 เส้น (เส้นไท่อินเท้าม้าม เส้นเจวี๋ยอินเท้าตับ เส้นเส้าอินเท้าไต) และเส้นลมปราณเท้าประเภทหยาง 3 เส้น (เส้นหยางหมิงเท้ากระเพาะอาหาร เส้นเส้าหยางเท้าถุงน้ำดี เส้นไท่หยางเท้ากระเพาะปัสสาวะ) เส้นลมปราณทั้ง 12 เส้นนี้จะเป็นเส้นลมปราณหลักของระบบเส้นลมปราณของร่างกาย ดังนั้นจึงเรียกว่าเส้นลมปราณหลัก
การตั้งชื่อเส้นลมปราณของ 12 เส้นลมปราณหลัก จะดูองค์ประกอบสามด้านด้วยกันคือ องค์ประกอบด้านมือหรือเท้า องค์ประกอบด้านอินหรือหยาง องค์ประกอบด้านอวัยวะอินหรืออวัยวะหยาง เมื่อได้ทราบองค์ประกอบว่าเป็นองค์ประกอบใดแล้ว เราจึงจะสามารถตั้งชื่อให้กับเส้นลมปราณนั้น ๆ ได้
ในการตั้งชื่อ หากเป็นอวัยวะอินก็จะเป็นเส้นลมปราณประเภทอิน หากเป็นอวัยวะหยางก็จะเป็นเส้นลมปราณประเภทหยาง หากเส้นลมปราณอยู่ฝั่งในของแขนขาจะเป็นเส้นลมปราณประเภทอิน หากเส้นลมปราณอยู่ฝั่งนอกของแขนขาก็จะเป็นเส้นลมปราณประเภทหยาง ยกตัวอย่างเช่นเส้นกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะหยาง เส้นทางของเส้นลมปราณจะอยู่ตรงส่วนนอกของร่างกาย และเส้นลมปราณนี้ยังอยู่ตรงส่วนเท้า ดังนั้น เส้นกระเพาะปัสสาวะจึงมีชื่อว่าเส้นไท่หยางเท้า เป็นต้น
8 เส้นลมปราณพิเศษ (奇經八脈)
นอกจากเส้นลมปราณหลัก 12 เส้นแล้วก็ยังมีเส้นลมปราณที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากเส้นลมปราณหลักอีก 8 เส้น จึงมีการตั้งชื่อเส้นลมปราณเหล่านี้ว่า เส้นลมปราณพิเศษแปด (奇經八脈) อันประกอบด้วย เส้นเยิ่นม่าย (任脈) เส้นตูม่าย (督脈) เส้นชงม่าย (衝脈) เส้นต้ายม่าย (帶脈) เส้นหยางเชียว (陽蹻) เส้นอินเชียว (陰蹻) เส้นหยางเหวย (陽維) และเส้นอินเหวย (陰維)
อันว่ าเยิ่นม่ายนั้น คำว่าเยิ่น (任) มีความหมายว่า แบกรับหรือเลี้ยงดู เป็นทะเลแห่งเส้นลมปราณอิน มีสรรพคุณในการควบคุมดูแลเหล่าเส้นลมปราณอินทั้งหลาย ส่วนคำว่าตู (督) ในเส้นตูม่ายนั้นจะมีความหมายว่าการปกครอง เป็น “ทะเลแห่งเส้นลมปราณหยาง” เหตุที่ตูม่ายสามารถปกครองเหล่าเส้นลมปราณหยาง เพราะเส้นตูม่ายเชื่อมเข้าสมอง และศีรษะก็เป็นจุดเชื่อมของเส้นลมปราณหยางทั้งหมดนั่นเอง
คำว่าชง (衝) ในเส้นชงม่ายนั้นจะมีความหมายว่าเส้นทางสำคัญ เพราะเส้นชงม่ายจะทะลวงเลือดลมของ 12 เส้นลมปราณ ดังนั้นจึงถูกเรียกว่าทะเลแห่ง 12 เส้นลมปราณ ส่วนคำว่าต้าย (帶) ในเส้นต้ายม่ายนั้นจะมีความหมายว่าเข็มขัด เนื่องจากเส้นต้ายม่ายจะรัดขวางอยู่บริเวณเอวเสมือนว่าเป็นเข็มขัดเส้นหนึ่ง ดังนั้นจึงตั้งชื่อว่าเส้นต้ายม่ายหรือเส้นเข็มขัดนั่นเอง
ส่วนคำว่าเชียว (蹺) ในเส้นหยางเชียวและอินเชียวนั้นจะมีหมายความว่าส้นเท้า โดยเส้นลมปราณที่เริ่มต้นจากตาตุ่มนอกเรียกว่าเส้นหยางเชียว ส่วนเส้นลมปราณที่เริ่มต้นจากตาตุ่มในเรียกว่าเส้นอินเชียว นอกจากนี้ คำว่าเหวย (維) ในเส้นหยางเหวยและเส้นอินเหวยนั้นจะมีความหมายว่าครอบคลุมหรือเชื่อมโยง หากเป็นการครอบคลุมหรือเชื่อมโยงพลังหยางของผิวกายจะเรียกว่าเส้นหยางเหวย หากเป็นการครอบคลุมหรือเชื่อมโยงพลังอินภายในกายเรียกว่าเส้นอินเหวย
15 เส้นลมปราณเชื่อม (十五絡脈)
เป็นเส้นลมปราณที่เชื่อมต่อเส้นลมปราณหลักที่มีความสัมพันธ์แบบนอกในเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ หนึ่ง เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นปอดจากจุดเลี่ยเชวียไปที่เส้นลำไส้ใหญ่ สอง เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นลำไส้ใหญ่จากจุดเพียนลี่ไปที่เส้นปอด สาม เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นหัวใจจากจุดทงหลี่ไปที่เส้นลำไส้เล็ก สี่ เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นลำไส้เล็กจากจุดจือเจิ้งไปที่เส้นหัวใจ ห้า เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นเยื่อหุ้มหัวใจจากจุดเน่ยกวนไปที่เส้นซันเจียว หก เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นซันเจียวจากจุดว่ายกวนไปที่เส้นเยื่อหุ้มหัวใจ เจ็ด เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นตับจากจุดหลีโกวไปที่เส้นถุงน้ำดี แปด เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นถุงน้ำดีจากจุดกวงหมิงไปที่เส้นตับ เก้า เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นไตจากจุดต้าจงไปที่เส้นกระเพาะปัสสาวะ สิบ เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นกระเพาะปัสสาวะจากจุดเฟยหยางไปที่เส้นไต สิบเอ็ด เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นกระเพาะอาหารจากจุดเฟิงหลงไปที่เส้นม้าม สิบสอง เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นม้ามจากจุดกงซุนไปที่เส้นกระเพาะอาหาร สิบสาม เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นตูม่ายจากจุดฉางเฉียงไปที่เส้นเยิ่นม่าย สิบสี่ เส้นลมปราณที่เชื่อมเส้นเยิ่นม่ายจากจุดจิวเหว่ยไปที่เส้นตูม่าย สิบห้า เส้นเชื่อมใหญ่ที่เชื่อมออกจากเส้นม้ามคือจุดต้าเปา
12 เส้นลมปราณแขนง (十二經別)
เป็นเส้นลมปราณที่แตกแขนงออกมาจากเส้นลมปราณหลัก มีการกระจายอยู่บริเวณหน้าอก ท้อง และศีรษะ และจะทำการเชื่อมโยงเส้นลมปราณที่มีความสัมพันธ์แบบนอกในเข้าไว้ด้วยกัน แม้นเส้นลมปราณแขนงจะเชื่อมโยงเส้นลมปราณหลักที่มีความสัมพันธ์แบบนอกในก็จริง แต่ความจริงแล้วเส้นลมปราณแขนงจะมีเส้นทางที่ลึกและยาวกว่าเส้นลมปราณเชื่อม ดังนั้นเส้นลมปราณแขนงจึงเป็นระบบเส้นลมปราณอีกระบบหนึ่งที่ช่วยเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะอินและอวัยวะหยางให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
12 เส้นลมปราณแขนงมีคุณสมบัติ “แยก (離) เข้า (入) ออก (出) รวม (合)” สี่อย่าง สามารถเสริมการเชื่อมโยงระหว่างภายในและภายนอกให้กระชับมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะที่อยู่ส่วนลึกภายในให้แข็งแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย
12 เส้นลมปราณแขนงส่วนใหญ่จะ “แยก” ออกจากเส้นลมปราณหลักที่บริเวณเข่าและศอก จากนั้นจะเดินไปที่บริเวณลำตัวแล้วลงลึก “เข้า” ไปเชื่อมกับอวัยวะที่อยู่ภายใน ต่อจากนั้นจะ “ออก” มาที่บริเวณพื้นผิวกายแล้วเดินขึ้นไปที่ส่วนศีรษะ ตรงที่ศีรษะนี้ เส้นลมปราณแขนงแบบหยางก็จะ “รวม” เข้ากับเส้นลมปราณหลักที่แยกออกมา ส่วนเส้นแขนงแบบอินก็จะ “รวม” เข้ากับเส้นลมปราณหยางที่มีความสัมพันธ์แบบนอกในกับเส้นลมปราณที่แยกออกมา ด้วยลักษณะการรวมของเส้นลมปราณแขนงเช่นนี้ จึงทำให้มีการ “รวม” อยู่หกหมวด เรียกว่า “หกรวม (六合)”
การ “แยก เข้า ออก รวม” ของ 12 เส้นลมปราณแขนงที่สุดท้ายจะรวมกันเป็นหกหมวดจะมีรายละเอียดดังนี้คือ หนึ่ง เส้นกระเพาะปัสสาวะและเส้นไตจะ “แยก” ออกที่หลังข้อพับเข่า “เข้า” สู่ภายในแล้วเชื่อมเข้ากับกระเพาะปัสสาวะและไต ต่อมาจะเดินขึ้นบนแล้ว “ออก” ที่ต้นคอแล้ว “รวม” กับเส้นกระเพาะปัสสาวะ สอง เส้นตับและเส้นถุงน้ำดีจะ “แยก” ตรงท่อนขาล่าง แล้วเดินขึ้นบนไปที่บริเวณขนอวัยวะเพศ จากนั้นจะ “เข้า” สู่ภายในแล้วเชื่อมกับตับและถุงน้ำดี ครั้นแล้วขึ้นบน “ออก” เชื่อมโยงกับดวงตา ต่อมาจึงไป “รวม” ที่เส้นถุงน้ำดี สาม เส้นกระเพาะอาหารและเส้นม้ามจะ “แยก” ตรงบริเวณต้นขา แล้ว “เข้า” สู่ภายในเชื่อมกับกระเพาะและม้าม ต่อมา “ออก” ที่สันจมูกแล้ว “รวม” กับเส้นกระเพาะอาหาร สี่ เส้นลำไส้เล็กและเส้นหัวใจจะ “แยก” ตรงรักแร้แล้ว “เข้า” ไปเชื่อมกับลำไส้เล็กและหัวใจ ต่อมาจะ “ออก” ตรงบริเวณหัวตาแล้ว “รวม” เข้ากับเส้นลำไส้เล็ก ห้า เส้นซันเจียวและเส้นเยื่อหุ้มหัวใจจะ “แยก” จากเส้นลมปราณของตัวเองแล้ว “เข้า” สู่อก เดินอยู่ภายในซันเจียวและเยื่อมหุ้มหัวใจ ต่อมา “ออก” ตรงหลังหูแล้ว “รวม” เข้ากับเส้นซันเจียว หก เส้นลำไส้ใหญ่และเส้นปอดจะ “แยก” จากเส้นลมปราณของตัวเองแล้ว “เข้า” ไปเชื่อมลำไส้ใหญ่และปอด ต่อมา “ออก” ที่ไหปลาร้าแล้ว “รวม” เข้ากับเส้นลำไส้ใหญ่
12 เส้นลมปราณเอ็น (十二經筋)
เป็นพลังแห่ง 12 เส้นลมปราณที่จะทำการบำรุงหล่อเลี้ยงระบบกระดูกและเส้นเอ็นของร่างกาย เนื่องด้วยการกระจายตัวและพยาธิสภาพจะสะท้อนออกที่เส้นเอ็น ดังนั้นจึงเรียกระบบเส้นลมปราณประเภทนี้ว่าเส้นลมปราณเอ็น
12 เส้นลมปราณเอ็นเป็นระบบเส้นลมปราณที่เชื่อมส่วนพื้นผิวของร่างกาย มีลักษณะการกระจายตัวที่คล้ายกับเส้นลมปราณหลักคือ หากเป็นเส้นลมปราณเอ็นประเภทหยางก็จะอยู่ส่วนนอกของร่างกาย หากเป็นเส้นลมปราณเอ็นประเภทอินก็จะอยู่ส่วนในของร่างกาย เส้นลมปราณเอ็นจะเริ่มต้นที่ปลายแขนขาแล้วเดินเข้าสู่ลำตัว ซึ่งจะมีการรวมตัวกันที่บริเวณกระดูกและไขข้อ โดยเส้นลมปราณเอ็นแบบหยางจะเดินขึ้นไปที่ศีรษะ ส่วนเส้นลมปราณเอ็นแบบอินจะเดินเข้าสู่ภายในท้อง หากแต่ไม่มีการเชื่อมโยงกับอวัยวะภายในแต่อย่างใด
12 เขตพื้นผิว (十二皮部)
หมายถึงเขตพื้นที่ผิวหนังที่เส้นลมปราณหลักสามารถมีอิทธิพลถึง และเป็นเขตพื้นที่ผิวหนังที่เลือดลมของเส้นลมปราณหลักกระจายตัว เนื่องจาก 12 เขตพื้นผิวจะอยู่ตรงส่วนนอกสุดของร่างกาย อีกทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับเลือดลมของเส้นลมปราณหลักอีกต่างหาก ดังนั้นจึงเป็นเขตพื้นที่ที่สามารถป้องกันพิษร้ายจากภายนอก ดังนั้นเขตพื้นผิวเหล่านี้จึงสามารถสะท้อนพยาธิสภาพของอวัยวะภายในได้ อนึ่ง 12 เขตพื้นผิวนอกจากจะสามารถแบ่งเขตพื้นผิวหนังตามเส้นลมปราณหลักได้แล้ว หากแต่ยังสามารถแบ่งเขตพื้นผิวหนังตามเส้นลมปราณเชื่อมได้อีกด้วย
โฆษณา