20 พ.ย. 2019 เวลา 07:36 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 6 เส้นลมปราณ (經絡)
วิทยาศาสตร์เส้นลมปราณ
แม้เส้นลมปราณจะถูกค้นพบและใช้ในการรักษาโรคมาอย่างยาวนานนับสามพันปีแล้วก็จริง แต่เส้นลมปราณก็ยังมิอาจถูกพิสูจน์ได้จริงในเชิงกายวิภาคศาสตร์ได้สักที จนทำให้ในสมัยหนึ่ง ศาสตร์แห่งเส้นลมปราณก็ถูกมองว่าเป็นความงมงายจนแทบจะถูกลบล้างไปเลยทีเดียว
ตราบจนกระทั่งปีคริสตศักราชที่ 1960 มีนักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีเหนือคนหนึ่งนามว่าคิมบองฮัน เขาได้ประกาศว่าได้ค้นพบวัตถุของเส้นลมปราณแล้ว คิมบองฮันได้ตั้งชื่อให้กับวัตถุชนิดนี้ว่าท่อบองฮัน (Bonghan duct) ซึ่งได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการการแพทย์เป็นอย่างสูง โดยเฉพาะคือประเทศจีน เพราะศาสตร์แห่งเส้นลมปราณเป็นมรดกทางปัญญาของชาวจีน หากปริศนาแห่งเส้นลมปราณได้ถูกค้นพบโดยชาติอื่น เรื่องนี้ก็คงจะสร้างความอับอายให้กับประเทศจีนอยู่ไม่น้อย
ดังนั้นประเทศจีนจึงได้ส่งทีมนักวิทยาศาสตร์ไปขอศึกษาข้อมูลการวิจัยที่ประเทศเกาหลีเหนือโดยทันที ขณะเดียวกัน กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกต่างก็เรียกร้องให้คิมบองฮันเปิดเผยข้อมูลการวิจัยอยู่มิขาด แต่คิมบองฮันก็ยังคงบ่ายเบี่ยงไม่มีความชัดเจนเสมอมา ครั้นต่อมาก็มีข่าวการกระโดดตึกฆ่าตัวตายของคิมบองฮันอย่างปริศนา เรื่องการค้นพบเส้นลมปราณจึงสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างสูง และเรื่องนี้ก็ยิ่งตอกย้ำความงมงายของศาสตร์แห่งเส้นลมปราณอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์จีนคนหนึ่งนามว่าศาสตราจารย์เฟ่ยหลุนแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น เขาได้พยายามอธิบายให้ทางการได้รับทราบถึงความสำคัญของการวิจัยเส้นลมปราณ จนสุดท้ายก็สามารถจัดตั้งโครงการวิจัยเส้นลมปราณได้สำเร็จ เหตุด้วยศาสตราจารย์เฟ่ยหลุนเป็นนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกซ์โมเลกุล ไม่ใช่แพทย์ ดังนั้นศาสตราจารย์เฟ่ยหลุนจึงได้ออกแบบการทดลองที่แตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง การทดลองในอดีตจะเน้นแต่การผ่าพิสูจน์หาเส้นลมปราณตามตำแหน่งในตำราเสียอย่างเดียว การที่ยังมิอาจผ่าพิสูจน์พบเส้นลมปราณได้สักที ก็มีความเป็นไปว่าได้เกิดจากการออกแบบการทดลองที่ไม่สอดคล้อง
ก่อนอื่น ศาสตราจารย์ได้กำหนดจุดฝังเข็มของร่างกายในรูปแบบสามมิติ แล้วนำมนุษย์มาทำการฝังเข็มที่ขา จากนั้นส่งเข้าเครื่องแสกน MRI เพื่อดูตำแหน่งความตื้นลึกของปลายเข็ม เมื่อได้ข้อมูลชัดเจนแล้วก็ทำการผ่าตัดหาจุดที่ปลายเข็มหยุดในท่อนขามนุษย์ที่ตายแล้ว ปรากฏว่าปลายเข็มได้หยุดอยู่บนเอ็นเยื่อระหว่างกระดูก ในเวลานี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงตัดตัวอย่างของเอ็นเยื่อระหว่างกระดูก ไปทำการทดสอบดูองค์ประกอบด้วยเครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน พบว่ามีธาตุอยู่ด้วยกันเจ็ดธาตุ คือ แคลเซียม (Ca) ฟอสฟอรัส (P) โปรแตสเซียม (K) เหล็ก (Fe) สังกะสี (Zn) แมงกานีส (Mn) และโครเมียม (Cr) ณ ตำแหน่งที่เป็นจุดฝังเข็มและไม่ใช่จุดฝังเข็มจะมีความแตกต่างในทางปริมาณของธาตุตั้งแต่ 40 ถึง 200 เท่าอย่างชัดเจน และเส้นผ่านศูนย์กลางของจุดฝังเข็มจะมีขนาดห้าถึงแปดมิลลิเมตร ปริมาณธาตุอันมากมายเหล่านี้จะมีอยู่มากเฉพาะบนผิวของเอ็นเยื่อระหว่างกระดูกที่ความหนาประมาณเพียงหนึ่งไมครอนเท่านั้น
ต่อจากนั้น ทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างของเอ็นเยื่อระหว่างกระดูก พบว่าเป็นเส้นใยที่ประกอบด้วยเส้นใยคอลลาเจน (膠原前纖維) สามเส้น และท่อนเส้นใยห้าเส้นนี้จะม้วนรวมกันเป็นหนึ่งลำ ลำเส้นใยอันมากมายได้สานกันขึ้นจนเป็นแผ่น ลักษณะเช่นนี้จะดูคล้ายกับโครงสร้างเคเบิลในคอมพิวเตอร์ยิ่งนัก
เมื่อทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์โครงสร้างโมเลกุลของคอลลาเจนไฟเบอร์นี้อีกที พบว่ามันเป็นไบโอ-ลิควิดคริสตัล (Bio-Liquid Crystal) ชนิดหนึ่งที่ประกอบขึ้นจากโมเลกุลของโปรตีนหลายชนิด
ในเวลาต่อมา ทีมวิจัยได้อ้างอิงข้อมูลการทดลองของมหาวิทยาลัยเจียวทง (Jiao Tong University) ที่ได้ทำการทดสอบกับผู้มีพลังวิเศษ พบว่าขณะที่ปรมาจารย์กำลังภายในได้ปล่อยพลังลมปราณออกมานั้น ได้มีการปล่อยรังสีอินฟราเรดไกลที่มีความยาวคลื่นบางช่วงโดยเฉพาะ (15.5 µm) ดังนั้นทีมวิจัยจึงได้ทำการทดสอบคุณสมบัติทางฟิสิกซ์กับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันนี้ ก่อนอื่นได้ทำการทดสอบคุณสมบัติการทะลุแสงของแสงอินฟราเรดไกล ไม่นานก็ได้ผลลัพธ์ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นขึ้นในทันที การทดลองได้พิสูจน์พบว่าเส้นใยคอลลาเจนสามารถให้แสงอินฟราเรดไกลที่ความยาวคลื่นระหว่าง 9µm-20µm ทะลุแสงที่ด้านหน้าตรงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การทะลุแสงที่ด้านขวางกลับแทบไม่สามารถทะลุได้เลย หรือก็คือในช่วงความยาวคลื่นดังกล่าวนี้ เส้นใยคอลลาเจนมีคุณสมบัติที่คล้ายกับคุณสมบัติทางฟิสิกซ์ของเส้นใยแก้วนำแสงนั่นเอง
รายงานการวิจัยชุดนี้ ได้แถลงในวารสารวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Science Bulletin) เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปีคริสตศักราชที่ 1998 ต่อมาทีมวิจัยยังได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลก (WHO : The World Health Organization) ให้ไปแถลงผลงานวิจัยที่งานการประชุมสัมมนาวิชาการแพทย์แผนโบราณ (Seminar on traditional medicine) เมื่อปีคริสตศักราชที่ 2000 และยังได้แถลงผลงานวิจัยอีกครั้งที่การประชุมสัมมนายาจีนระหว่างจีนและไต้หวัน (Cross-strait seminar on Chinese medicine) แม้นว่ารายงานการวิจัยในครั้งนี้จะได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าอิทธิพลของผลงานการวิจัยในครั้งนี้คงจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้แน่นอน
ต่อมาทีมวิจัยที่นำทีมโดยดอกเตอร์ติงกวงหง (丁光宏) แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) ได้พบว่า เส้นโลหิตฝอยในร่างกายมนุษย์มักจะอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นระเบียบ หากมีเพียงเส้นโลหิตฝอยที่อยู่บริเวณจุดฝังเข็มเท่านั้นที่อยู่ในสภาพขนาน อีกทั้งยังเป็นลักษณะที่ขนานกับเส้นลมปราณอีกด้วย หลังจากได้ทำการคำนวณโดยวิธีทางกลศาสตร์ของไหล (fluid mechanics) แล้ว พบว่ามีเพียงระหว่างจุดฝังเข็มที่อยู่เคียงกันเท่านั้นที่จะมีความแตกต่างของความดันที่มีค่าแน่นอนระดับหนึ่ง
ในท่ามกลางเส้นลมปราณนั้น จะก่อให้เกิดกระแสของเหลวของเนื้อเยื่อ (組織液) ระหว่างเส้นโลหิตฝอยที่อยู่นอกเส้นลมปราณ จุดนี้ค่อนข้างจะเหมือนกับกระแสสมุทรที่อยู่ในมหาสมุทร ไม่มีท่อ แต่มีกระแสน้ำไหล เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ของเหลวภายในร่างกายก็ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผ่านท่ออย่างเช่นเส้นโลหิตก็ได้ หากแต่สามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปตามเส้นทางที่มีความแตกต่างของค่าความดันบนเส้นลมปราณ
เมื่อของเหลวภายในร่างกายสามารถเคลื่อนย้ายไปตามเส้นทางที่มีความแตกต่างของค่าความดัน โดยความแตกต่างของค่าความดันนี้จะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของเส้นลมปราณอีกต่างหาก เมื่อเป็นเช่นนี้ หากอวัยวะที่เชื่อมโยงกับเส้นลมปราณนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานบางอย่าง การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ย่อมต้องส่งผลไปยังเส้นลมปราณที่เชื่องโยง เมื่อเส้นลมปราณได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ค่าความดันต่าง ๆ บนจุดฝังเข็มย่อมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงตาม และส่งผลต่อการลำเลียงของเหลวทั้งในเส้นลมปราณและนอกเส้นลมปราณอย่างแน่นอน การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมต้องส่งผลบางอย่างในเชิงกายภาพ อย่างเช่นอาการปวดเมื่อย เป็นต้น หรือบางที อาจจะส่งผลใหญ่หลวงต่อการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ยังผลให้เกิดโรคหลายอย่างตามมาเลยก็เป็นได้
ผลกระทบต่ออวัยวะที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากการทำงานของอวัยวะอื่น โดยมีเส้นลมปราณเป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสองอวัยวะนี้ ความจริงแล้วก็มีลักษณะที่คล้ายกับการแลกเปลี่ยนสินค้าของสองจังหวัดที่มีทางหลวงเป็นตัวเชื่อมกลาง หากทางหลวงเกิดการกระจุกตัว ขอเพียงแต่จัดการปัญหาการกระจุกตัวนั้นออกไปเสีย สินค้าของสองจังหวัดก็จะสามารถลำเลียงแลกเปลี่ยนต่อไป หรือหากจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งผลิตสินค้ามากเกินความต้องการของอีกจังหวัดหนึ่ง จังหวัดนั้นก็จะทำการลดการผลิตให้เหมาะสม หรือหากจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งขาดแคลนสินค้าของจังหวัดอื่น จังหวัดนั้นก็จะเร่งผลิตสินค้าเพื่อป้อนความต้องการของจังหวัดที่ขาดแคลนให้พอดี และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องมีทางหลวงคอยเชื่อมโยงสองจังหวัดนี้อย่างคล่องตัวเท่านั้น
การทำงานระหว่างจังหวัดยังเป็นเช่นนี้ อวัยวะภายในของร่างกายก็เป็นเช่นนี้เช่นเดียวกัน และตัวที่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงอวัยวะหลักของร่างกายให้เกิดความสมดุลนั้น ก็คือเส้นลมปราณที่เชื่อมโยงไปมาระหว่างอวัยวะอย่างมากมายมหาศาล ซึ่งเป็นเส้นลมปราณที่การแพทย์แผนจีนได้มีการพูดถึงมากว่าสามพันปีแล้วนั่นเอง
เมื่อเส้นลมปราณคือสิ่งที่เชื่อมโยงทุกอวัยวะจนเกิดความสมดุล ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเส้นลมปราณก็คือทางหลวงแห่งชีวิต ขอเพียงทางหลวงแห่งชีวิตมีความลื่นไหล สุขภาพย่อมต้องแข็งแรงอย่างแน่นอน
โฆษณา