Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ปกิณกะของข้าพเจ้า
•
ติดตาม
19 พ.ย. 2019 เวลา 10:30 • ประวัติศาสตร์
ความเป็นอยู่ของคนจีนที่อพยพมายังประเทศไทยในอดีตนั้น ต้องถือว่าค่อนข้างเลวร้าย ไม่ต่างอะไรกับพวกคนไร้บ้านหรือพวกโฮมเลสนั่นเอง หลายคนเมื่อก่อนมาได้มีการติดต่อญาติพี่น้องหรือคนรู้จักกัน โดยหวังว่าเมื่อมาถึงเมืองไทยแล้ว จะมีที่ให้พักพิงอาศัยหรือมีคนคอยช่วยเหลือ บางครั้งเมื่อมาถึงกลับพบว่า บรรดาผู้ที่ตนได้ติดต่อไว้ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือหรือให้ที่พักพิงแก่ตนเองได้ก็มีอยู่เยอะพอสมควร
หลายคนที่มาอย่าว่าแต่เสื่อผืนหมอนใบ บางคนไม่มีแม้แต่เสื่อหรือหมอนด้วยซ้ำ หลายคนมาในสภาพไม่มีเสื้อผ้าสำรอง ไม่มีเงินทองติดตัวนำมาด้วย หลายคนทำทุกวิถีทางที่ประเทศจีนเพื่อหาเงินค่าตั๋วเรือโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ หรือ ฉก ชิง ปล้นสดมป์ก็แล้วแต่ บางครั้งมีเพียงความหวังไปตายเอาดาบหน้าเป็นที่ตั้ง ดังนั้น เมื่อก้าวเท้าลงจากเรือกลับพบว่าตนเองต้องกลายเป็นคนเร่รอน เพนจรไปเรื่อย ต้องอาศัยหาคนที่พอมีน้ำใจเพื่อไต่ถามหาอาหารประทังชีวิตหรือหางานทำ
แน่นอนว่างานกุลีหรือกรรมกรหรือที่ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า"จับกัง"นั้น ย่อมเป็นงานที่หาได้ง่ายและสะดวกที่สุด อีกทั้งยังไม่ต้องลงทุนใดๆ อาศัยเพียงหยาดเหงื่อแรงกายเข้าแลกเอา ด้วยสภาวะการณ์ในอดีตที่ต้องถือว่างานล้นคน ไม่ใช่คนล้นงานดังเช่นในปัจจุบันนี้ รวมทั้งทรัพยาการต่างๆ ที่มีมากมายเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในอดีต ทำให้ความต้องการแรงงานจับกังนั้น ถือว่าเป็นงานลำดับต้นๆ ในรายชื่ออาชีพที่คนจีนเลือก รองลงมาก็เห็นจะเป็นพวกคนลากรถ ลูกจ้างในสวนในไร่ โรงสีข้าว โรงไม้ เป็นต้น
ในอดีตนั้นธุรกิจมีอยู่ไม่หลากหลายมากนัก อาชีพหลักๆ คงเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรกรรม และสินค้าปัจจัยสี่ต่างๆ เป็นหลัก แนโดยเฉพาะข้าวซึ่งคืออาหารประจำชาติของคนไทยมาช้านานไม่ต่างจากคนจีน
หากคุณเคยรับชมภาพยนตร์จีนที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเซี่ยงไฮ้ นั่นคือภาพเสมือนกับกรุงเทพฯ ในอดีต เพียงแต่อาจไม่หวือหวา หรืออุดมไปด้วยสถานบันเทิงดังเช่นในหนังเหล่านั้น แต่ภาพคนลากรถที่มีผ้าขนหนูผืนเล็กคล้องคอ ใส่เสื้อผ้ามอซอเก่าคร่ำคร่า นั่งจับเจ่าเรียงรายตามถนนสายใหญ่เพื่อรอผู้คนเรียกใช้ จับกังที่ยืนออตามท่าเรือ หรือโรงงานต่างๆ ในยามเช้า เพื่อรอหัวหน้าหรือโฟร์แมนเรียกตัวไปทำงานในแต่ละวันนั้นๆ หรือภาพคนหาบคอนขายของกินหรือของกระจุกกระจิก อยู่ตามริมถนนสายต่างๆ ซึ่งเทียบกันแล้วกรุงเทพฯ ในอดีตก็ไม่แตกต่างจากภาพเหล่านั้นเช่นเดียวกัน
โดยพื้นฐานแล้วคนจีนส่วนใหญ่มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ขยัน อดทน มุมานะ ช่างเจรจา มีหัวการค้า มักไม่เกี่ยงกับงานทุกรูปแบบ และกล้าที่จะเสี่ยงในสิ่งที่คนไทยทั่วไปมักเลือกที่จะหลีกเลี่ยง ดังนั้นหลายคนยอม อาบเหงื่อต่างน้ำ ทำงานหนัก อดออม มัธยัสถ์ เก็บหอมรอมริบเงินทอง เนื่องด้วยหลายคนมีครอบครัวยังอยู่ที่เมืองจีน ที่คาดหวังรอคอยความช่วยเหลือเจือจุนด้านเงินทองหรือเฝ้ารอคนที่อยู่เมืองไทย ส่งเงินค่าตั๋วโดยสารเรือสำเภาส่งกลับบ้าน เพื่อหวังจะหนีมาตั้งหลักปักฐานที่เมืองไทยเช่นเดียวกัน
คนจีนเหล่านี้มักนิยมยอมอดมื้อกินมื้อ และอยู่กินกันแบบมัธยัสถ์มาก สังเกตได้เลยว่าคนจีนที่มาจากเมืองจีนแท้ๆ นั้น ส่วนมากมักเป็นพวกกินน้อย ทำงานหนัก ไม่ซื้อเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ โดยยอมที่จะอดทนเพื่อหวังให้คนที่ตนเองรักและคิดถึง ได้ย้ายตามมาอยู่ด้วยกันในวันข้างหน้า
อาจมีบ้างบางส่วน ที่นอกจากไร้การศึกษาอีกทั้งยังมีทัศนคติที่ไม่ดีในการใช้ชีวิต ทำงานหนัก ติดยาติดฝิ่น ดื่มเหล้าขาว เหล้าต้ม ไม่มีเงินทองเหลือเก็บ ซึ่งก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยจริงๆ พ่อเล่าว่า ในสังคมคนจีนนั้นแตกต่างออกไป บางครั้งต่อให้รู้จักกันเพียงผิวเผิน หรือบางครั้งแม้ไม่รู้จักกันเลยเสียด้วยซ้ำไป แต่ก็มักจะช่วยเหลือเกื้อกูล หยิบยื่นน้ำใจไมตรีให้แก่กัน ด้วยเห็นซึ้งถึงความลำบากที่แต่ละคน ต่างเคยประสพพบเจอมาก่อนอย่างไม่แตกต่างกันนัก
หลายท้องถิ่น ต่างก็มีการจัดตั้งสมาคมตามชื่อแซ่ของตน ซึ่งเปรียบเหมือนมูลนิธิกลายๆ โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือในคนแซ่เดียวกันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นที่พักชั่วคราว อาหารการกินโดยการจัดโรงทานในบางสมาคม หรือบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนหรือว่างงาน
ในละแวกตรอกจันทน์ที่พ่อผมอาศัยอยู่นั้น เท่าที่เราจะพบเห็นได้ในปัจจุบัน อาทิเช่น สมาคมโผวเล้งบนถนนสาธุประดิษฐ์ สมาคมแต้จิ๋วสุดซอยถนนเย็นจิตต์ เป็นต้น ซึ่งตระกูลผมใช้แซ่ลี้ หรือแซ่หลี่ในภาษาจีนกลาง ดังนั้นชีวิตพวกเราจึงผูกพันกับสมาคมแต้จิ๋วที่ว่านี้อยู่เนืองๆ
ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ย่านตรอกจันทน์นั้นเป็นสวนผลไม้ต่างๆ เสียมาก พ่อเล่าว่าในอดีตเรือกสวนไร่นาเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีลักษณะที่ดินเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินติดทางน้ำ ซึ่งจะมีคลองตัดผ่านถนนจันทน์อยู่เป็นระยะ สวนผลไม้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสวน ฝรั่ง ส้ม ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน มะไฟ กระท้อน ขนุน มะม่วง มะปราง มะไฟ ปลูกรวมๆ คละเคล้ากันไป
การทำสวนของคนละแวกนี้มักจะทำกันตลอดทั้งปีไม่มีหยุด อีกทั้งยังมีการจัดทำและแปรรูปสินค้าเหล่านี้เพื่อจำหน่ายอีกด้วย โดยส่วนใหญ่มักเกณฑ์คนในครอบครัว หรือคนในตระกูลช่วยกันทำสวน สำหรับบ้านที่มีฐานะและมีพื้นที่ขนาดใหญ่มักจะจ้างแรงงานเพื่อช่วยทำงาน ซึ่งอาม่าผมก็เริ่มต้นด้วยการทำสวนนี่เอง เราได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในกระท่อมในสวนได้ทั้งครอบครัว โดยหลังจากนั้นจึงได้พัฒนาต่อมาเป็นการออกมาเช่าบ้านอยู่ และซื้อขาดในภายหลังนั่นเอง
ซึ่งพ่อผมเล่าให้ฟังว่า มีตัวอย่างเรื่องสนุกๆ อยู่เรื่องหนึ่งคือ แต่เดิมนั้นการปลูกกล้วยและหมากในสวนแถวนี้ มักนิยมให้ผู้หญิงเป็นผู้ปลูกคนแรกเท่านั้น ที่สำคัญคือในขณะที่ลงต้นกล้วยหรือรดน้ำ มักจะให้ผู้ปลูกซึ่งเป็นผู้หญิงพูดจาด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ได้ผลผลิตที่ดกดื่นกว่าปรกติ แต่สำหรับกล้วยนั้น ในบางกรณีอาจยอมให้ผู้ชายเป็นผู้ปลูก โดยมีเคล็ดลับคือคนที่ปลูกจะต้องนุ่งผ้าขาวม้าหรือผ้าเตี่ยวให้สั้นๆ สั้นชนิดที่เรียกได้ว่าเห็นของลับเป็นงวงช้างน้อยให้เห็นวับๆแวมๆ ออกมานอกร่มผ้า เพื่อเป็นเคล็ดให้กล้วยออกเครือยาวๆ สมใจ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องตลกโปกฮาของพ่อในวงเหล้าอยู่บ่อยครั้ง
คนที่ทำงานในสวนมักตื่นกันแต่เช้าราวๆ ตีสามตีสี่ทุกๆ วัน เพื่อนำผลผลิตไปขายยังตลาด บางสวนก็พายเรือออกตระเวณขายตามคุ้งน้ำต่างเองๆ โดยไม่ง้อตลาด บางเจ้าก็พายเรือไปส่งพ่อค้าเจ้าประจำในตลาด หรือสวนใหญ่ๆ มักมีพ่อค้ารายใหญ่จากที่ต่างๆ มารับซื้อผลผลิตถึงในสวน ซึ่งหลังจากนั้นชาวสวนจะกลับมากินข้าวเช้าที่บ้านในช่วงค่อนสาย เมื่อกินเสร็จจึงจะออกไปสวนต่อเพื่อดูแล รดน้ำ พรวนดิน ให้ปุ๋ย ตามแต่ฤดูกาลไป เมื่อเสร็จแล้วช่วงเที่ยงๆ จึงจะกลับเข้าบ้านเพื่อทานอาหารเที่ยง แล้วออกไปทำสวนต่อจนเย็นย่ำ จึงกลับเข้าบ้านเพื่อรับประทานอาหารเย็นพร้อมหน้ากัน และคัดผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้เพื่อเตรียมออกจำหน่ายในวันต่อไป
สำหรับแหล่งที่นิยมพายเรือหรือนำสินค้าไปขายนั้นได้แก่ ตลาดน้ำวัดปริวาส ตลาดแพตาท้วม ตลาดวัดไผ่เงิน ตลาดตรอกจันทน์ ตลาดปากลัด หรือแม้กระทั่งไปถึงตลาดคลองเตยก็มี ซึ่งในอดีตผลผลิตเหล่านี้จากละแวกอำเภอยานนาวา เลื่องชื่อลืมนามว่า อร่อย หอมหวานมากกว่าแหล่งอื่นๆ จนบางทีพืชผลจากแหล่งอื่นที่นำมาขายมักแอบอ้างลงท้ายชื่อผลไม้เหล่านั้นว่าเป็นของที่มาจากย่าน “ยานนาวา”
ซึ่งผลไม้ที่ขึ้นชื่อที่สุดของถนนจันทน์นี้ก็คือ ลำไย กับฝรั่ง โดยมีเทคนิคและภูมิปัญญาในสมัยก่อนของคนละแวกนี้คือการห่อพวงผลลำไยด้วยชะลอม ซึ่งนอกจากจะป้องกันแมลงและศัตรูพืชแล้ว ยังส่งผลให้ลำไยจากย่านนี้มีขนาดลูกที่ใหญ่ขึ้นอีกด้วย เพราะผลลำไยจะขยายขนาดได้เพียงทางด้านข้าง ทำให้ลำไยจากแถบนี้มีลักษณะเป็นผลแป้นและขนาดใหญ่กว่าลำใยปรกติจากแหล่งอื่นทั่วไป อาทิเช่น ลำไยจากทางภาคเหนือ ผิวลำใยก็สะอาดเกลี้ยงเกลากว่า เนื่องด้วยถูกห่อหุ้มไม่ให้สกปรกนั่นเอง นอกจากนี้ที่แปลกไปกว่าสมัยปัจจุบันนี้คือ เขาขายลำไยกันแบบนับเป็นลูก โดยขายกันเป็นร้อยละเท่านั้น ไม่นิยมชั่งกิโลนั่นเอง
ปล. สำหรับคนที่สงสัยว่าคนแถวนี้ปลูกข้าวทำนากันไหม ขอเฉลยครับว่า ละแวกช่องนนทรีในปัจจุบันนี้นั้น คือย่านที่นิยมปลูกข้าวเป็นหลักนั่นเองครับ
ชอบกดไลค์ ถูกใจช่วยกันกดแชร์นะขอรับ ผมจะได้มีกำลังใจเขียนเรื่องสนุกๆ ให้อ่านกันครับผม
บันทึก
9
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ร้อยแปดอาชีพ
9
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย