Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Last Naturalist - ธรรมชาติวิทยา
•
ติดตาม
25 พ.ย. 2019 เวลา 01:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ประวัติของผักชี
ผักชีที่โรยบนอาหาร อยากให้โฟกัสกันที่ผักชีนะครับ
ผักชีเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่เอามาใส่ในอาหารในประเทศไทย โดยใบสามารถนำมาโรยบนอาหารต่างๆ ให้กลิ่นหอม เม็ดผักชี (ซึ่งจริงๆ แล้วส่วนที่นำมาใช้คือผลของผักชี ส่วนของเมล็ดจริงๆ แล้วอยู่ภายในผลหรือเม็ดผักชีนี้) สามารถนำมาใช้ในการหมักเนื้อ หรือนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกงได้ และส่วนของราก สามารถนำมาทำเป็นสามเกลอ รากผักชี กระเทียม พริกไทย นำมาใส่ในอาหารต่างๆ หรือจะใส่ลงไปในต้มจืด ต้มยำต่างๆ ก็ได้
คนไทยใช้ผักชีได้หลากหลายขนาดนี้ ผักชีก็น่าจะเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดแถวๆ ประเทศไทยใช่หรือเปล่า?
ผักชีที่ขายในประเทศไทยมีทั้งราก ลำต้นและใบ เพราะสามารถนำมาใช้ทำอาหารได้หมด
ผักชีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Coriandrum sativum] และมีชนิดพันธุ์ที่เป็นญาติที่ใกล้ชิด และพบแพร่กระจายอยู่ในธรรมชาติ คือ [Coriandrum tordylium] ซึ่งพบแพร่กระจายอยู่ในประเทศตุรกีและเลบานอน พืชอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความใกล้เคียงกันกับผักชี คือ พืชในสกุล [Bifora] ซึ่งพบแพร่กระจายตามธรรมชาติอยู่ในแถบรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และพืชชนิดพันธุ์ใกล้ชิดของผักชีส่วนใหญ่ในธรรมชาติจะพบในเขตอบอุ่นของเอเชียกลางและยุโรป
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ผักชีน่าจะมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง หรือแอฟริกาเหนือ เนื่องจากในสามพื้นที่นี้มีการพบผักชีที่มีลักษณะแตกต่างจากที่อื่นๆ
สิ่งที่สนับสนุนคือ หลักฐานทางโบราณคดี และหลักฐานทางภาษา เม็ดผักชีที่เก่าแก่ที่สุดที่พบ พบอยู่ในถ้ำในประเทศอิสราเอล ซึ่งตรวจหาอายุของเม็ดผักชีได้ถึง 6,000 ปีก่อน ทำให้เชื่อว่า ผักชีน่าจะเริ่มถูกนำมาปลูกในบริเวณเอเชียตะวันตกเฉียงใต้แถบบริเวณนี้ แล้วค่อยกระจายไปในบริเวณอื่นๆ
ชื่อของผักชีปรากฏอยู่ในกระดาษปาปิรุส (Papyrus) ของอียิปต์ที่อายุเก่าแก่กว่า 3,500 ปี ซึ่งกล่าวว่าเม็ดของผักชีถูกใช้เป็นยารักษาโรค นอกจากนั้นเม็ดผักชียังพบอยู่ในหลุมศพโบราณหลายแห่ง รวมถึงหลุมศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนที่มีอายุกว่า 2,300 ปี และเอกสารโบราณของอียิปต์ได้เขียนระบุไว้ว่า ผักชีนั้นมาจากเอเชีย
นอกจากนั้นยังพบเอกสารในภาษากรีกและละตินโบราณอายุ 2,000-2,500 ปี ที่เขียนเกี่ยวกับผักชีเอาไว้ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับผักชีมาปรากฏในเอกสารของประเทศจีนเมื่อประมาณ คริสต์ศตวรรษที่ 5 หรือเมื่อประมาณ 1,600 ปีก่อน ซึ่งชื่อเรียกผักชีในภาษาจีนได้มาจากภาษาเปอร์เซีย ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชาวจีนน่าจะได้รับผักชีมาจากเปอร์เซีย ประเทศไทยน่าจะได้รับผักชีมาจากประเทศจีนหรือการค้ากับเอเชียกลางก็เป็นได้
ผักชีถูกนำมาใช้ทั้งเป็นอาหาร เครื่องเทศและเป็นยารักษาโรค ซึ่งการใช้เม็ดผักชีเป็นเครื่องเทศนั้นพบในหลายวัฒนธรรม เช่น รัสเซีย อินเดีย เอธิโอเปีย และเม็ดผักชียังเป็นส่วนผสมที่สำคัญของผงกะหรี่ นอกจากนั้นมีการนำเม็ดผัดชีไปผสมในเครื่องดื่ม เช่น ในเหล้า Gin หรือในเบียร์ของชาวเยอรมัน
ผลของผักชีที่ชอบเรียกกันว่า เม็ดหรือเมล็ดผักชี (ที่มา https://zh.wikipedia.org/wiki/%E8%8A%AB%E8%8D%BD)
ในขณะที่การใช้ใบในการประกอบอาหารมีการแพร่กระจายที่จำกัดกว่า โดยแพร่กระจายในเอเชีย ในประเทศจีน อินเดีย พม่า และไทย ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศรัสเซีย
แต่หลายคนที่กินใบผักชีอาจจะรู้สึกว่าใบผักชีมีกลิ่นเหม็นคล้ายสบู่
โดยจากแบบสอบถามพบว่า 21% ของชาวเอเชียตะวันออก 17% ของคนที่มีบรรพบุรุษเป็นคนยุโรป 14% ของคนที่มีบรรพบุรุษเป็นคนแอฟริกา ไม่ชอบกลิ่นของใบผักชี ในขณะที่มีเพียงประมาณ 3–7% ของชาวเอเชียใต้ อเมริกาใต้ และตะวันออกกลางไม่ชอบใบผักชี
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการพิสูจน์เรื่องความเหม็นต่อผักชี และพบว่า ความเหม็นผักชีนี้น่าจะเกิดจากกรรมพันธุ์ เพราะเมื่อทดสอบในฝาแฝด พบว่าแฝดร่วมไข่ (ที่มีพันธุกรรมเหมือนกัน 100%) กว่า 80% มีความเหม็นต่อผักชีเหมือนกัน ในขณะที่แฝดต่างไข่ (ที่มีพันธุกรรมเหมือนกันแค่ 50%) มีความเหม็นต่อกลิ่นของผักชีเหมือนกันแค่ 50%
ความเหม็นต่อผักชีนี้มีความสัมพันธ์กับยีนที่มีชื่อว่า OR6A2 ที่สร้างโปรตีนในการรับกลิ่นในจมูก (Olfactory receptor) ของแอลดีไฮด์ (Aldehyde) ในจมูก ซึ่งกลิ่นของผักชีจะมีองค์ประกอบของสารกลุ่มแอลดีไฮด์เป็นหลักและอาจจะเกี่ยวข้องกับยีนรับรสขมด้วย
ใครเหม็นใบผักชีบ้างครับ?
โครงสร้างของแอลดีไฮด์ (ที่มา By NEUROtiker - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1745167)
ใครอยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับผลไม้ต่อ สามารถอ่านตอนเก่าๆ ได้ครับ
blockdit.com
The Last Naturalist
มนุษย์สรรสร้าง: สตรอว์เบอร์รี่ Artificial Selection: Strawberry สตรอว์เบอร์รี่เป็นพืชที่ซับซ้อนมาก แต่ว่าถ้าเข้าใจแล้วจะกลายเป็นเรื่องที่สนุกมากเลย
เอกสารอ้างอิง
1.
https://www.bioversityinternational.org/fileadmin/_migrated/uploads/tx_news/Coriander__Coriandrum_sativum_L._375.pdf
2.
https://www.greenery.org/articles/samrabthai-chineseparsley/
3.
https://www.nature.com/news/soapy-taste-of-coriander-linked-to-genetic-variants-1.11398
4.
https://en.wikipedia.org/wiki/Coriander
1 บันทึก
5
1
4
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สารบัญเพจ The Last Naturalist
Domestication - มนุษย์สรรสร้าง
1
5
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย