15 พ.ย. 2019 เวลา 00:35 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มะเขือเปราะ มะเขือม่วง มะเขือพวง มะเขือยาว มะเขือเทศ
มีกี่ชนิด? มะเขือแต่ละชนิดมาจากไหน?
อ่านเรื่องนี้จบแล้วจะได้คำตอบครับ
มะเขือเทศ [Solanum lycopersicum]
มะเขือเทศ
ประวัติของมะเขือเทศจะคล้ายๆ กันกับพืชที่มีต้นกำเนิดในอเมริกาหลายๆ ชนิด ที่เคยเขียนไปก่อนหน้านี้ เช่น มันฝรั่ง พริก มะละกอ คือ เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกา และถูกใช้เป็นอาหารในแถบอเมริกา สำหรับมะเขือเทศคือ ในอาณาจักรแอซเท็ค (Aztecs) ที่ตั้งอยู่ในประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน ก่อนที่อาณาจักรแห่งนี้จะถูกโจมตีและพ่ายแพ้ต่อชาวสเปน และชาวสเปนได้นำมะเขือเทศกลับไปยังทวีปยุโรปประมาณปี ค.ศ. 1521 และมะเขือเทศได้แพร่กระจายไปในยุโรป และมาถึงเอเชียผ่านการค้าระหว่างชาวสเปนและประเทศฟิลิปปินส์ และได้แพร่กระจายจากฟิลิปปินส์ไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย
วันนี้มะเขือเทศไม่ได้เป็นพระเอกในตอนนี้ ถึงแม้จะออกมาคนแรกเลย และมะเขือเทศมีเรื่องสนุกๆ ให้เขียนอีกเยอะ และน่าจะมีตอนของตัวเองต่อไป ติดตามกันนะครับ
มะเขือพวง [Solanum torvum]
มะเขือพวงที่แอบมาขึ้นที่บ้าน
หลายๆ คนคงจะคิดว่ามะเขือพวงน่าจะมาจากประเทศไทย หรือทางเอเชียแน่ๆ เพราะว่าเราเอามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารไทย พวกผัดเผ็ด แกงเผ็ด หรือเอามากินกับน้ำพริก แถมเรายังเห็นต้นมะเขือพวงขึ้นอยู่ทั่วไป ที่บ้านผมก็มีขึ้นมาสองต้น
แต่จริงๆ แล้วมะเขือพวงมีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกาเช่นกัน โดยเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากแถบหมู่เกาะคาริบเบียน และมีการแพร่กระจายในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน (Subtropics) ทั่วทวีปอเมริกาตั้งแต่ในอเมริกาเหนือ ได้แก่ รัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก จนถึงบราซิลในอเมริกาใต้ เนื่องจากพืชชนิดนี้ค่อนข้างจะขึ้นง่าย ทำให้พบแพร่กระจายในธรรมชาติเป็นบริเวณกว้าง จนอาจจะกลายเป็นวัชพืชและพืชรุกรานต่างถิ่น (Invasive species) ในบางพื้นที่ได้
มะเขือพวงมีการแพร่กระจายไปในพื้นที่เขตร้อนอื่นๆ ในโลก ได้แก่ แอฟริกา ออสเตรเลีย หมู่เกาะแปซิฟิก และเอเชียรวมทั้งประเทศไทย และถูกนำมากินเป็นอาหารทั้งแบบดิบและสุก
มะเขือม่วง มะเขือเปราะ มะเขือยาว [Solanum melongena]
มะเขือเปราะ
มะเขือม่วง มะเขือเปราะ และมะเขือยาวเป็นพืชชนิดเดียวกัน แค่เป็นคนละสายพันธุ์ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Egg plant หรือ Aubergine มีต้นกำเนิดจากมะเขืออีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Bitter apple - แอปเปิ้ลขม [Solanum incanum] ที่มีการแพร่กระจายอยู่ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง ไปจนถึงอินเดีย
Bitter apple - แอปเปิ้ลขม [Solanum incanum] (ที่มา By Nepenthes - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=12137811)
ในแถบอินเดีย แอปเปิลขมถูกนำมาปลูกตั้งแต่โบราณ และถูกพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นมะเขือม่วงหรือ brinjal ในภาษาอินเดีย [Solanum melongena]โดยปรากฎชื่ออยู่ในหนังสือของอินเดียตั้งแต่เมื่อกว่า 2000 ปีก่อน จากนั้นกระจายไปยังประเทศจีน และไปทางทวีปแอฟริกา แต่มะเขือม่วงเข้าไปในยุโรปค่อนข้างช้า คือ หลังจากศตวรรษที่ 7 ผ่านทางประเทศอาหรับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากยุคของกรีกและโรมัน ทำให้มะเขือม่วงไม่มีชื่อเรียกในภาษากรีกและโรมันโบราณ
มะเขือม่วงถูกคัดเลือกพันธุ์ให้ได้ลักษณะตามต้องการ จนกลายเป็นมะเขือหลากหลายสายพันธุ์ที่เรารู้จักกัน ซึ่งมีถึง 475 สายพันธุ์ มะเขือเปราะ (Thai eggplant) และมะเขือยาวก็เป็นสายพันธุ์ของมะเขือม่วง
มะเขือม่วงที่นำมาปลูกสมัยแรกๆ มีลักษณะต้นสูง ใบใหญ่ มีหนาม ดอกออกเป็นช่อ ผลมีขนาดเล็ก สีเขียว เปลือกหนา ไม่มีเนื้อและรสขม หลังจากนั้นมะเขือม่วงถูกคัดเลือกให้ได้ลักษณะที่มนุษย์ต้องการ ได้แก่ สีภายนอกที่มีตั้งแต่สีขาวอย่างมะเขือเปราะ สีเขียว สีเหลือง ถึงสีม่วงเข้มอย่างมะเขือม่วง หรืออาจจะมีลายเป็นริ้วๆ มีการคัดเลือกรูปร่างที่ต่างกันไป ตั้งแต่ลูกเล็กกลมอย่างมะเขือเปราะจนลูกยาวอย่างมะเขือยาว มะเขือม่วงบางพันธุ์มีลูกยาวใหญ่ มีน้ำหนักได้ถึง 1.5 กิโลกรัม นอกจากนั้นยังมีเนื้อที่เพิ่มมากขึ้น เปลือกผลที่บางลง รวมไปถึงสารเคมีที่มีในผลที่ทำให้มีรสขมน้อยลงจากมะเขือธรรมชาติ
มะเขือม่วงสายพันธุ์ต่างๆ มีทั้งสีขาวและสีม่วง (ที่มา By J.E. Fee - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4033839)
มะเขือเปราะสีม่วง (ที่มา By User:Mattes - Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6835415)
มะเขือเปราะและมะเขือยาวที่ถูกขายในตลาด (ที่มา Lenalensen จาก Pixabay)
มะเขือม่วงสายพันธุ์ที่มีลายเป็นริ้วๆ (ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Eggplant_aubergine_brinjal.jpg)
มะเขือม่วงเป็นพืชในสกุลมะเขือ [Solanum] ที่ถูกปลูกเพื่อการค้าเป็นอันดับสามรองจากมันฝรั่งและมะเขือเทศ
มันฝรั่งเป็นมะเขือ?
สนใจไปตามอ่านจากตอนมันฝรั่งที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ได้ครับ ตามลิงค์ข้างล่าง
เอกสารอ้างอิง
5. Sekara, A. et al. (2007) Cultivated eggplants – origin, breeding objectives and genetic resources, a review. Folia Horticulturae 19(1). 97-114.
โฆษณา