1 พ.ย. 2019 เวลา 00:28 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มะละกอกะเทย
ผลมะละกอที่ถูกนำมาขาย
มะละกอ (ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Carica papaya]) เป็นหนึ่งในพืชที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายตั้งแต่กินเป็นผลไม้ มะละกอดิบสามารถทำเป็นอาหารเช่น ส้มตำ เมล็ดเมื่อนำมาบดให้ละเอียดก็สามารถใช้แทนพริกไทยได้ ในขณะที่ยางของมะละกอมีเอนไซม์ปาเปน (Papain) ที่สามารถย่อยเนื้อให้เปื่อยได้
ปริมาณผลผลิตของมะละกอจัดเป็นอันดับที่สี่ของผลผลิตของผลไม้เขตร้อน รองจากกล้วย มะม่วง และสัปปะรด โดยในปี 2010 มะละกอถูกปลูกถึง 11 ล้านตัน
มะละกอมีต้นกำเนิดมาจากอเมริกากลางบริเวณเม็กซิโกถึงคอสตาริกา ในธรรมชาติมะละกอมีการแพร่กระจายไม่กว้างนัก และมักพบมะละกอตามขอบป่า หรือช่องว่างภายในป่า (Forest gap) แต่ถ้ามีพืชอื่นๆ ขึ้นบังแสง ต้นมะละกอจะตาย เพราะฉะนั้นมะละกอมักจะไม่ถูกพบในป่าที่สมบูรณ์เท่าไหร่นัก
มะละกอถูกใช้โดยชาวมายาและชาวเผ่าอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณเม็กซิโกในปัจจุบัน (เรียกรวมๆ ว่า Mesoamerica) ช่วงก่อนที่จะถูกรุกรานโดยชาวสเปนในศตวรรษที่ 16 โดยนอกจากการที่ชาวมายาจะกินมะละกอเป็นผลไม้แล้ว ยังใช้ประโยชน์จากยางในใบมะละกอในการหมักเนื้อ ทำให้เนื้อนุ่มด้วย
พื้นที่ Mesoamerica ที่เป็นจุดกำเนิดของมะละกอ ปัจจบันคือ ประเทศเม็กซิโก (ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Mesoamerica)
เมื่อชาวสเปนได้พื้นที่บริเวณเม็กซิโกเป็นอาณานิคม ก็ได้ทำการแพร่กระจายมะละกอไปยังอาณานิคมส่วนอื่นๆ เช่น หมู่เกาะ Hispaniola (ประเทศไฮติ และประเทศโดมินิกันในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 1521
ที่แปลกคือ ชื่อภาษาอังกฤษของมะละกอที่ชื่อว่า Papaya ไม่ได้มีชื่อมาจากชื่อท้องถิ่นของอาณาจักรมายา เพราะในอาณาจักรมายาเรียกพืชชนิดนี้ว่า Olocoton แต่ Papaya มาจากภาษาในหมู่เกาะคาริบเบียนที่เรียกมะละกอว่า Ababai และค่อยๆ เพี้ยนไปเป็น Papaia, Papia, Papeya และสุดท้ายกลายเป็น Papaya
จากนั้นมะละกอได้แพร่ไปยังจาไมก้า คิวบา เวเนซุเอลา และไปยังอเมริกาใต้ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา ในปี ค.ศ. 1526 มะละกอได้ถูกนำไปปลูกนอกทวีปอเมริกา คือ มายังประเทศอินโดนีเชีย และได้กระจายไปทั่วเอเชีย
มะละกอที่ถูกนำมาปลูก (ขอเรียกว่า มะละกอบ้าน) แตกต่างจากมะละกอในธรรมชาติอย่างมาก เนื่องจากการคัดเลือกของมนุษย์
สิ่งแรกคือ มะละกอบ้านถูกคัดเลือกให้มีขนาดต้นที่เตี้ยลงกว่าต้นมะละกอที่อยู่ในธรรมชาติ ทำให้มนุษย์เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น
นอกจากนั้น คล้ายๆ กันกับผลไม้ประเภทอื่นๆ คือ เนื้อของมะละกอถูกคัดเลือกให้มีปริมาณมากขึ้น และให้ผลมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้แก่มนุษย์
รูป A และ B แสดงมะละกอป่าในธรรมชาติที่เม็กซิโก ที่มีต้นสูงและผลมีขนาดเล็กกว่ามะละกอที่ปลูกโดยมนุษย์ ส่วนรูป C เป็นผลของมะละกอป่า (ซ้าย) ผลที่น่าจะเกิดจากการผสมระหว่างมะละกอป่าและมะละกอบ้าน (กลาง) และผลมะละกอบ้าน (ขวา) (ที่มา Chávez-Pesqueira and Núñez-Farfán, 2017)
เมล็ดของมะละกอบ้านที่ปลูกโดยมนุษย์ก็มีคุณสมบัติที่เปลี่ยนแปลงไป คือ มีขนาดใหญ่ขึ้น มีโอกาสงอกได้ดีกว่า และสามารถงอกได้โดยไม่ถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อม ซึ่วต่างจากเมล็ดของมะละกอป่าที่จะงอกเมื่อมีแสงเท่านั้น เนื่องจากมะละกอป่าเป็นพืชที่ชอบขึ้นอยู่ระหว่างช่องว่างในป่าและขอบป่า
สิ่งที่น่าสนใจคือ มนุษย์ได้คัดเลือกเพศของมะละกออีกด้วย โดยในธรรมชาตินั้นมะละกอเป็นพืชที่แยกเพศ (Dioecy) คือ มีต้นเพศผู้ที่ไม่ออกลูก โดยมีลักษณะเด่นคือ ช่อดอกยาวแตกแขนงเป็นสายยาว และโคนกลีบยาวเป็นหลอด และมีต้นเพศเมียจะออกลูก ซึ่งมีดอกที่ต่างจากต้นตัวผู้ คือ ดอกจะอ้วนป้อม กลีบดอกมีลักษณะบิดเป็นเกลียวเล็กน้อย และผลที่ได้มีลักษณะกลม
ในขณะที่ต้นเพศผู้ก็จะไม่ติดผล แต่จะติดผลเฉพาะในต้นเพศเมียเท่านั้น และยิ่งดอกเพศเมียได้รับการผสมโดยละอองเกสรมาก จะทำให้มีเมล็ดมาก และยิ่งมีเมล็ดมากก็จะทำให้ผลมะละกอลูกใหญ่ขึ้น โดยผลมะละกอขนาดที่ขายกันปกติจะมีเมล็ด 1,000 เมล็ดในผล ซึ่งดอกตัวเมียก็จะต้องได้รับละอองเกสรเพศผู้มากกว่า 1,000 ละออง เพื่อให้ผลิตเมล็ดได้ 1,000 เมล็ด (1 ละอองเกสรให้ 1 เมล็ด)
โดยดอกสีไม่สดใสและน้ำหวานของดอกมะละกอมีลักษณะดึงดูดให้ผีเสื้อกลางคืนกลุ่มมอธเหยี่ยว (Family Sphingidae) และผีเสื้อบินเร็ว (Skippers) ให้กินน้ำหวานและผสมเกสร แต่ก็อาจจะมีการถ่ายละอองเกสรไปกับลมได้
เพื่อแก้ปัญหาข้างต้นที่ต้นเพศผู้ไม่มีผล และต้นเพศเมียมีผลยาก ต้องได้รับการผสมละอองเกสรจำนวนมาก มนุษย์ได้คัดเลือกให้เกิดมะละกอกะเทย (Hermaphrodites) เกิดขึ้น คือ มะละกอที่มีทั้งดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศ (มีทั้งเพศผู้และเพศเมียบนดอกเดียวกัน) ที่สามารถผสมตัวเองได้ บนต้นเดียวกัน ทำให้มีโอกาสที่จะติดผลมากกว่า และมะละกอที่เกิดจากต้นกะเทยจะมีลูกลักษณะยาวอย่างที่เราเห็นวางขายกัน แตกต่างจากมะละกอที่เกิดจากต้นตัวเมียที่จะมีผลเป็นลูกกลมๆ
นกเขาเกาะอยู่บนต้นมะละกอกะเทย ดอกเล็กคือดอกเพศผู้ ส่วนดอกใหญ่คือดอกกะเทยหรือดอกสมบูรณ์เพศ
มะละกอดิบ
เราอาจจะคิดกันว่า การคัดเลือกเพศของมะละกอนี้น่าจะเกิดกันมาไม่นาน แต่จากการศึกษาในระดับโครโมโซมพบว่า การคัดเลือกเพศกะเทยของมะละกอนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการกำเนิดของอาณาจักรมายา แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ หรือชาวมายาอาจจะเป็นคนที่คัดเลือกมะละกอกะเทยนี้ออกมาจากมะละกอธรรมชาติก็ได้
เนื้อผลสีส้มสดใสของมะละกอสุกก็เป็นจุดดึงดูดให้นกมากินเนื้อมะละกอและขนเมล็ดมะละกอไปที่อื่นเพื่อกระจายเมล็ด นอกจากนั้นค้างคาวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็กก็เป็นสัตว์ที่อาจจะมีบทบาทในการขนเมล็ดได้ด้วย
จบเรื่องนี้ด้วยส้มตำดีกว่า
เอกสารอ้างอิง
1. Chávez-Pesqueira M and Núñez-Farfán J (2017) Domestication and Genetics of Papaya: A Review. Front. Ecol. Evol. 5:155. doi: 10.3389/fevo.2017.00155
3. Evans, E. A., and Ballen, F. H. (2012). An overview of Global Papaya Production, Trade, and Consumption. Gainesville, FL: University of Florida. Publication FE913. https://edis.ifas.ufl.edu/fe913
5. https://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=8615&s=tblplant - อันนี้มีภาพมะละกอเพศผู้ เพศเมีย และมะละกอกะเทยเทียบกัน
โฆษณา