18 พ.ย. 2019 เวลา 00:40 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นกนับเลขได้ไหม?
การนับหรือการรู้จักจำนวนเป็นความสามารถที่พบในมนุษย์อย่างเดียว หรือความสามารถนี้พบในสัตว์อื่นด้วย และถ้านับได้ สัตว์จะนับได้แค่ไหน? ที่สำคัญกว่านั้นคือ เราจะทดสอบได้อย่างไรว่าสัตว์สามารถนับเลข หรืออย่างน้อยรู้จักจำนวนได้? ในเมื่อเราไม่สามารถสื่อสารโดยตรงกับสัตว์ได้ วันนี้เราลองมาสำรวจกัน
แม่นก Eurasian reed warbler กำลังป้อนอาหารให้กับลูกนกกาเหว่า (Common cuckoo) (ที่มา Per Harald Olsen - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1887345)
นกกาเหว่าบางชนิดเป็นนกที่จะไม่ทำรังเอง แต่จะไปไข่ไว้ในรังของนกชนิดอื่นและให้นกเจ้าของรังหรือที่เรียกว่าโฮสต์เลี้ยงดูลูกของตัวเองให้ พฤติกรรมเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า ปรสิตของรัง หรือ Brood parasitism
ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จมากๆ เพราะนกกาเหว่าสามารถประหยัดพลังงานในการเลี้ยงดูลูกอ่อนได้มหาศาล เพราะเมื่อนกกาเหว่าวางไข่แล้วก็จะทิ้งไป ไม่กลับมาดูลูกของตัวเองอีกเลย โดยให้นกที่เป็นโฮสต์คอยหาบินหาอาหารวันละหลายๆ รอบ เพื่อมาป้อนลูกนกกาเหว่า จนลูกนกกาเหว่าโตขนาดที่บินออกจากรังได้ ก็จะทิ้งรับของนกที่เป็นโฮสต์ไป
แต่ก่อนที่นกกาเหว่าจะประสบความสำเร็จในการฝากลูกให้นกที่เป็นโฮสต์เลี้ยง สิ่งแรกที่นกกาเหว่าจะต้องทำคือ จะต้องแอบวางไข่ไปในรังให้แนบเนียน ไม่ให้นกที่เป็นโฮสต์เห็นตัวแม่นกกาเหว่าที่แอบมาวางไข่ วิวัฒนาการก็คัดเลือกให้ไข่ของนกกาเหว่าให้มีลายคล้ายคลึงกันกับลายของโฮสต์ และทำให้นกกาเหว่าวางไข่ได้อย่างรวดเร็ว
ไข่ของนกกาเหว่า (ล่างซ้าย) ที่ถูกวางในรังของนกที่เป็นโฮสต์ (ที่มา Galawebdesign - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=4200741)
นอกจากนั้นสิ่งที่แม่นกกาเหว่าชอบทำคือ แม่นกกาเหว่าจะเขี่ยทิ้งหรือหรือจิกไข่ของนกที่เป็นโฮสต์หนึ่งใบออกจากรัง ก่อนที่จะวางไข่ตัวเอง 1 ใบ กลับเข้าไปในรัง ซึ่งการกระทำอย่างนี้อาจจะทำให้แม่นกที่เป็นโฮสต์ไม่ได้สังเกตว่า ในรังของตัวเองนั้นมีไข่เกินมาหนึ่งใบ
แปลว่านกสามารถนับเลขได้? แม่นกสามารถนับได้ว่าไข่ในรังของตัวเองนั้นมีกี่ใบ ในขณะที่นกกาเหว่าก็สามารถนับได้ว่าไข่ที่ตัวเองทำลายไปแล้วมีกี่ใบ และวางคืนเท่ากับจำนวนที่ทำลายไปนั้น
ลองมาดูตัวอย่างอื่นๆ ที่ชัดเจนกว่านี้บ้าง
เป็ดชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Wood ducks [Aix sponsa] มีพฤติกรรมคล้ายๆ กับนกกาเหว่า คือ ถ้ามีรังของเป็ดชนิดเดียวกันอยู่ใกล้ๆ แม่เป็ดจะมีพฤติกรรมแอบไปวางไข่ในรังข้างๆ เป็นปรสิตของรังในเป็ดชนิดเดียวกัน (Conspecific brood parasitism)
Wood duck ตัวเมีย (ที่มา Frank Vassen - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=31263879)
นักวิทยาศาสตร์จึงทำการทดลอง ดูว่า เป็ดชนิดนี้จะมีการเลือกรังที่จะวางไข่จากจำนวนไข่ที่มีอยู่ก่อนในรังหรือไม่ โดยให้เลือกจากรังที่มีจำนวนไข่อยู่แล้ว 5, 10, 15 และ 20 ใบ โดยเชื่อว่า เป็ดน่าจะชอบวางไข่ในรังที่มีไข่อยู่แล้วน้อยใบ เพราะไข่ที่วางลงไปจะมีโอกาสรอดและเติบโตได้ดีกว่ารังที่มีไข่อยู่แล้วเยอะๆ ที่จะมีการแข่งขันเยอะกว่า
ผลการศึกษาพบว่า Wood duck จะชอบวางไข่ในรังที่มีไข่อยู่แล้ว 5-10 ใบ มากกว่าในรังที่มีไข่อยู่แล้ว 15-20 ใบ และจะวางไข่ลงในรังที่มีไข่ 5-10 ใบจำนวนมากกว่า รังที่มีไข่ 15-20 ใบ ซึ่งตีความได้ว่า Wood duck สามารถรับรู้จำนวนของไข่ในรังได้ และใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะวางไข่ในรังนั้นกี่ใบ
แต่ก็อาจจะมีคำอธิบายอื่นๆ ว่าจริงๆ แล้วเป็ดอาจจะนับไม่ได้ แต่อาจจะใช้สัญญาณอย่างอื่นในกำหนดพฤติกรรมการวางไข่ เช่น ความหนาแน่นของไข่ในรัง (ถ้าในรังยังมีที่ว่าง ก็จะทำการวางไข่มีจำนวนมาก) หรือการสัมผัสกับไข่ตอนกกไข่ (ถ้าสัมผัสได้ว่า ยังมีพื้นที่ว่างตอนกกไข่ ก็อาจจะวางไข่เพิ่มได้)
การทดลองในห้องแลปโดยศึกษาในอีกา [Corvus macrorhynchos] โดยใช้อีกาที่ไม่เคยได้รับการฝึกฝนมาก่อนนำมาทดสอบ โดยให้เลือกอาหารจำนวนแตกต่างกัน 2 จาน โดยจานหนึ่งมาก อีกจานหนึ่งมีอาหารน้อย โดยมีชุดทดลอง คือ
1. สัดส่วน 1:2 คือ 1 ชิ้น vs. 2 ชิ้น, 2 ชิ้น vs. 4 ชิ้น, 4 ชิ้น vs. 8 ชิ้น
2. สัดส่วน 2:3 คือ 2 ชิ้น vs. 3 ชิ้น, 4 ชิ้น vs. 6 ชิ้น, 8 ชิ้น vs. 12 ชิ้น
3. สัดส่วน 3:4 คือ 3 ชิ้น vs. 4 ชิ้น, 6 ชิ้น vs. 8 ชิ้น, 12 ชิ้น vs. 16 ชิ้น
แล้วดูว่าอีกาจะเลือกจานไหน โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า อีกาจะเลือกอาหารในจานที่มากกว่าเสมอ และถ้าอีกาเลือกจานที่มากกว่าได้เสมอ แปลว่า อีกาสามารถแยกจำนวนมากกับจำนวนน้อยได้ หรือไม่อย่างนั้นอีกาอาจจะนับได้จริงๆ
ผลการทดลองพบว่า อีกาจะเลือกจานที่มีจำนวนมากกว่าได้เสมอเมื่ออาหารในทั้งสองจานมีจำนวนน้อยๆ แต่เมื่อมีอาหารในทั้งสองจานมีจำนวนมาก อีกาจะเริ่มสับสนและเลือกไม่ได้ ได้แก่ 6 ชิ้น vs. 8 ชิ้น, 8 ชิ้น vs. 12 ชิ้น และ 12 ชิ้น vs. 16 ชิ้น แปลว่าอีกาน่าจะเข้าใจจำนวนหรืออาจจะนับได้ถึงประมาณ 8
อีกา (ที่มา Rushenb - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=33560900)
อีกการทดลองในนก New Zealand Robin [Petroica longipes] ในธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองโดยการใช้กล่องสองชั้นโดยใส่หนอน 2 ตัวในกล่องชั้นที่ 2 ให้นกเห็น จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็สลับเปิดกล่องชั้นที่ 1 ออกมาเหมือนเล่นมายากล โดยในกล่องชั้นที่ 1 นั้นมีหนอนแค่ตัวเดียว แล้วยื่นให้นกกินเป็นอาหาร
New Zealand Robin (ที่มา I, Tony Wills - https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2018545)
นกเห็นว่าจะต้องมีหนอนสองตัวในกล่อง แต่เห็นหนอนแค่ตัวเดียว ก็ทำการตอบสนองโดยการค้นและจิกกล่องเพื่อหาหนอนตัวที่สอง แต่มันไม่สามารถเปิดกล่องชั้นที่สองได้ ทำให้เจอหนอนแค่ตัวเดียว เป็นตัวอย่างว่านกชนิดนี้สามารถแยกจำนวนน้อยๆ เช่น 1 และ 2 ออกจากกันได้
นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า การรู้เรื่องจำนวนและการนับนี้สำคัญกับนกชนิดนี้ เนื่องจากนก New Zealand Robin ตัวผู้มีพฤติกรรมการเก็บสะสมหนอนไว้หลายๆ จุดใกล้ๆ รัง ในขณะที่นกตัวเมียมีพฤติกรรมขโมยอาหารสะสมนี้จากคู่ของมัน และการรู้เกี่ยวกับจำนวนทำให้นกตัวเมียสามารถเลือกขโมยอาหารจากกองที่ใหญ่ที่สุดจากตัวผู้ไปได้ ในขณะที่นกตัวผู้สามารถทราบได้ว่า อาหารของมันถูกขโมยไปหรือไม่ และโจมตีตัวเมีย ถ้าเห็นว่าอาหารสะสมถูกขโมยไป
โดยสรุปความสามารถในการนับจำนวนอาจจะไม่ได้จำกัดโดยมนุษย์เท่านั้น การเรียนรู้จำนวน รวมไปถึงการบวก-ลบในสัตว์ ก็ช่วยให้พวกมันประสบความสำเร็จในการอยู่รอดและสืบพันธุ์มากขึ้นเช่นกัน
ชอบนก อยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับนกอีก ลองอ่านเรื่องนี้ได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Michal Šulc, Petr Procházka, Miroslav Capek, Marcel Honza, Common cuckoo females are not choosy when removing an egg during parasitism, Behavioral Ecology, Volume 27, Issue 6, 01 November-December 2016, Pages 1642–1649, https://doi.org/10.1093/beheco/arw085
3. Bezawork Afework Bogale, Masato Aoyama, Shoei Sugita,
Spontaneous discrimination of food quantities in the jungle crow, Corvus macrorhynchos, Animal Behaviour, Volume 94, 2014, Pages 73-78,
4. Nicole S. Odell, John M. Eadie, Do wood ducks use the quantity of eggs in a nest as a cue to the nest’s value?, Behavioral Ecology, Volume 21, Issue 4, July-August 2010, Pages 794–801, https://doi.org/10.1093/beheco/arq055
7. Garland A., Low J. Addition and subtraction in wild New Zealand robins. Behav Processes. 2014;109 Pt B:103-10. doi: 10.1016/j.beproc.2014.08.022.
โฆษณา