29 พ.ย. 2019 เวลา 11:37 • บันเทิง
ทฤษฎีมูลค่าและภาพยนตร์เรื่อง Blood Diamond (2006)
เมื่อได้มีโอกาสสอนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซิสต์ คำถามที่ผู้เขียนมักชอบถามนักเรียนในตอนต้นของการสอน คือ “ เมื่อคุณมองไปที่สินค้า คุณมองเห็นอะไรบ้าง ? "
ซึ่งคำตอบที่มักได้กลับมาส่วนใหญ่คือ ความเงียบ หรือไม่ก็มีการตอบแบบกระปริดกระปรอยว่าเมื่อมองเห็นสินค้าแล้วเราก็จะเห็นราคาของมันก่อนเป็นอันดับแรก
คำตอบที่ได้มาอาจถูกเพียงครึ่งเดียว และคงไม่น่าแปลกใจสำหรับนักเรียนที่ถูกอบรมภายใต้ขนบธรรมเนียมของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก ซึ่งมองว่าแหล่งที่มาของมูลค่าและราคาของสิ่งของต่างๆนั้นเกิดจาก“อรรถประโยชน์”(utility)และ “ความขาดแคลน”(scarcity)เป็นที่ตั้ง
โดยอรรถประโยชน์แสดงถึงความต้องการของบุคคลที่มีต่อสินค้านั้น
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากบุคคลมีความต้องการสินค้า X มาก อรรถประโยชน์ของบุคคลที่มีต่อสินค้า X ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้บุคคลนั้นยินดีที่จะเสนอราคาให้แก่สินค้า X มากตามไปด้วย
ซึ่งมันได้กลายมาเป็นอุปสงค์ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการสินค้าและราคาของสินค้า X
อีกด้านซึ่งเป็นเรื่องของอุปทานที่แสดงปริมาณของสินค้าที่สามารถหามาได้ในตลาดโดยปัจจัยกำหนดที่สำคัญ คือ ความหามาได้ยาก
 
ถ้าสินค้า X เป็นสินค้าที่ขาดแคลน สามารถหามาได้ยากแล้ว ทำให้สินค้าดังกล่าวมีจำนวนน้อยและส่งผลให้มันมีมูลค่าหรือราคาเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งสององค์ประกอบเป็นส่วนสำคัญในการอธิบายในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่าเพราะเหตุใด สินค้าแต่ละชนิดจึงมีมูลค่าหรือราคาที่ไม่เท่ากัน
กรณีที่คลาสสิกและถูกหยิบยกมาพูดบ่อยเห็นจะเป็นเรื่อง “ความขัดแย้งด้านมูลค่าของน้ำและเพชร”(Water and Diamond Paradox)ที่เศรษฐศาสตร์ใช้กรอบคิดดังกล่าวอธิบายว่าเพราะเหตุใดน้ำจึงมีราคาถูกกว่าเพชร
ทั้งๆที่เพชรเป็นสินค้าที่มีคุณประโยชน์น้อยกว่าน้ำอย่างเห็นได้ชัด
(เพราะขาดน้ำเราตายและขาดเพชรเราไม่ยักตาย)
คำตอบก็คือแม้ว่าน้ำดูท่าทางแล้วควรจะมีอรรถประโยชน์ที่สูง แต่เนื่องด้วยความหามาได้ง่าย ทำให้มูลค่าของมันไม่สูงดังที่ควรจะเป็น ในทางกลับกันเพชรซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณประโยชน์อะไรเลยกลับมีราคา มูลค่าขึ้นมาได้เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่หามาไว้ในครอบครองได้ยากยิ่ง
1
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอธิบายในแบบนีโอคลาสสิกมีคุณูปการในการทำความเข้าในประเด็นเรื่องมูลค่า อย่างไรก็ตามผลพวงที่ตามมาคือคำอธิบายดังกล่าวได้ทำให้ “แรงงาน” ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ก่อให้เกิดการผลิตสินค้าเลือนหายออกไปจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
ผู้เขียนอยากให้นึกภาพถึงหนังเรื่อง “Blood Diamond” ซึ่งนำแสดงโดย ลีโอนาโด ดีคาปริโอ รับบทเป็น แดนนี่ อาร์เชอร์ อดีตทหารรับจ้างในประเทศซิมบับเว ที่หากินด้วยการแลกเปลี่ยนเพชรกับอาวุธสงคราม
ชะตากรรมได้ชักนำให้พบกับ ดิจิมอน ฮาวน์ซู ที่รับบทเป็น โซโลมอน แวนดี้ แรงงานที่ถูกพรากจากครอบครัวให้มาทำงานหนักในเหมืองเพชร แต่บังเอิญไปเจอเพชรสีเลือดในตำนานจึงได้เก็บซ่อนเอาไว้ เพื่อที่จะมาขุดเอาไปในภายหลัง
เมื่อแดนนี่ได้ล่วงรู้ถึงความลับของโซโลมอน ว่าเขาแอบซ่อนเพชรสีเลือดไว้ จึงได้ทำการตกลงว่าจะพาโซโลมอนไปหาลูกเมีย...โดยมีเพชรสีเลือดเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน
แต่เรื่องมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น...เพราะเพชรสีเลือดดังกล่าวได้ไปจุดประกายความโลภของคนมากมายให้เข้ามาพัวพัน ทำให้การฆ่าฟันเพียงเพื่อเพชรเพียงเม็ดเดียวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ไม่แปลกสำหรับสภาพแวดล้อมในหนังขณะนั้น ที่ประเทศชิมบับเวเต็มไปด้วยสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน
โดยวิธีการของทหารฝ่ายต่อต้านคือ การเกณฑ์แรงงานชายฉกรรจ์ไปทำงานในเหมืองเพชรเพื่อนำเพชรไปซื้อหาอาวุธอีกต่อหนึ่ง และนำอาวุธมาใช้ในการทำสงครามเข่นฆ่าคนชาติเดียวกันเองไม่เว้นแม้แต่ เด็ก และ ผู้หญิง เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็มาจัดการล้างสมองเพื่อให้เป็นทหารซะ
สภาพแวดล้อมที่ปรากฏในหนังนั้นยากจะบรรยาย เพราะเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม...ทั้งหมดล้วนทำให้การเดินทางไปพบลูกเมียของโซโลมอนเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ
ภาพจากหนังเรื่อง Blood diamond (2006)
นอกจากความโหดร้ายทารุณในสงครามแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนอยากให้มองในหนังเรื่องนี้ คือ ความยากลำบากของการได้มาซึ่งเพชรซักเม็ดหนึ่ง ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานมากมายที่ทำงานไม่ต่างไปจากทาส ต้องถูกพรากจากลูกเมียอันเป็นที่รัก เพื่อมาผลิตเพชรซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตพวกเขาเลย
มันมีค่าเพียงเพื่อนำไปแลกกับอาวุธเพื่อนำมาเข่นฆ่าพวกเขา
แรงงานทาสเหล่านี้ ต่างถูกบงการด้วยผลผลิตที่เค้าผลิตขึ้นมาเอง แต่ไม่เคยได้เป็นเจ้าของมัน แม่แต่นิดเดียว...
ผู้เขียนคิดว่าสภาพความเป็นจริงในเหมืองเพชรคงจะไม่โหดร้ายทารุณเท่ากับสภาพแวดล้อมที่หนังได้นำเสนอออกมา แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การได้มาซึ่งเพชรเม็ดหนึ่งนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มี “หยาดเหงื่อแรงงาน”อยู่ในนั้น
ไม่นับเฉพาะเพชรเท่านั้น สินค้าหลากชนิดที่เราเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันต่างถูกผลิตขึ้นโดย “แรงงาน” ทั้งสิ้น (บางคนอาจจะอ้างว่าสินค้าบางอย่างผลิตขึ้นโดยเครื่องจักร แต่ถ้ามองให้ถ้วนถี่ในการควบคุมหรือซ่อมเครื่องจักรย่อมใข้แรงงานและสมองของคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้)
ตามกรอบทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิกของอดัม สมิธ นั้น แรงงานเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดมูลค่าของสิ่งของต่างๆ
ต่อมาทฤษฎีของมาร์กซ์ ได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวให้ละเอียดขึ้น
โดยมองว่ามูลค่าของสินค้านั้น เกิดจาก “พลังแรงงาน” (labor power) ซึ่งหมายถึงกิจกรรมในการผลิตสิ่งของนั้นของคนงานเพื่อให้สิ่งของเกิดประโยชน์ใช้สอยขึ้นมา
1
ส่วน “ราคา” หรือมูลค่าในการแลกเปลี่ยนสินค้านั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณแรงงาน ณ จุดเฉลี่ยในสินค้านั้นๆ เช่น สำหรับสินค้า X มูลค่าแลกเปลี่ยนถูกกำหนดจากปริมาณแรงงานที่ใช้ในการผลิตของแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากสุด
ไปจนถึงแรงงานที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด รวมกันเข้าแล้วหาเป็นปริมาณแรงงานเฉลี่ยขึ้น ซึ่งคงเป็นการยากที่จะทำได้ ทำให้วิธีการดังกล่าวค่อนข้างเป็นนามธรรม และตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของแนวคิดนี้คือ การทำให้เรามองเห็น “แรงงาน” ในสินค้า มากกว่าจะเห็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกและราคาเพียงอย่างเดียว
หรือจะกล่าวให้หนักแน่นขึ้นคือ ในโฉมหน้าแรกนั้น สินค้าเป็นแกนกลางในสังคมทุนนิยม หน้าที่แรกของสินค้าคือการแอบซ่อน อำพรางแรงงานด้วยภาพภายนอกของมัน
ยิ่งไปกว่านั้นกรอบความคิดของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกที่พิจารณาแรงงานเสมือนหนึ่งอากาศธาตุที่ไม่ส่งผลต่อมูลค่าแต่อย่างใด ยิ่งคอยย้ำเตือนให้แรงงานหายไปจากสารบบความคิดของคนทั่วไป และนำไปสู่การมองข้ามปัญหาและไม่สนใจปัญหาของแรงงานดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
สุดท้ายแล้วผู้เขียนอยากจะถามว่า.......คุณมองเห็นสินค้า คุณมองเห็นอะไร ?
เครดิตบทความ :
คอลัมน์มุมมองบ้านสามย่าน
กรุงเทพธุรกิจ 5 มีนาคม 2552
ผู้เขียน : นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทความนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากผู้เขียนเพื่อเผยแพร่บนเพจหนังหลายมิติ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา