5 ธ.ค. 2019 เวลา 06:08 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
การตั้งชื่อจุดฝังเข็ม
นักปราชญ์ทางการแพทย์แต่โบราณมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาทฤษฎีการฝังเข็มเป็นอย่างมาก ท่านเหล่านั้นรู้ดีว่าควรทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ฝังเข็มมีความสะดวกในการใช้เข็ม ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้ฝังเข็มเพียงแค่อ่านชื่อจุดฝังเข็มก็สามารถรู้คุณสมบัติของจุดฝังเข็มนั้นได้ในทันที
การตั้งชื่อจุดฝังเข็มของปราชญ์ทางการแพทย์แต่โบราณ ส่วนใหญ่จะอ้างอิงเปรียบเทียบตามลักษณะของธรรมชาติ เป็นต้นว่า ใช้ลักษณะการไหลของสายน้ำมาเปรียบเทียบกับลักษณะการเดินของเลือดลม ใช้ภูเขาหรือหุบเหวมาเปรียบเทียบกับลักษณะของเส้นเอ็น กระดูก หรือลักษณะความนูนเว้าทางกายวิภาค ใช้รูปร่างลักษณะของสัตว์หรือสิ่งของในการเปรียบเทียบกับลักษณะทางกายภาพ ใช้ลักษณะของสิ่งปลูกสร้างหรือลักษณะของดวงดาวในการเปรียบเทียบกับหน้าที่ ซึ่งวิธีการตั้งชื่อจุดฝังเข็มในสมัยก่อนจะต่างจากการตั้งชื่อจุดฝังเข็มในปัจจุบันนี้พอสมควร เพราะปัจจุบันเริ่มมีการค้นพบจุดฝังเข็มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละคนต่างตั้งชื่อตามที่ใจตัวเองต้องการ บางคนตั้งชื่อเพื่อเป็นการให้เกียรติกับตัวเอง บางคนตั้งชื่อโดยไม่ศึกษาค้นคว้าคุณลักษณะของจุดฝังเข็มให้ชัดเจน ซึ่งวิธีการตั้งชื่ออย่างนี้จะผิดจากวิธีการตั้งชื่อจุดฝังเข็มในอดีต และสุดท้ายจะต้องสร้างปัญหาให้กับแพทย์ผู้ฝังเข็มรุ่นหลังอย่างแน่นอน
นักปราชญ์ทางการแพทย์แต่โบราณจะมีวิธีการตั้งชื่อจุดฝังเข็มที่มีคุณลักษณะเฉพาะ ดังจะขอสรุปดังต่อไปนี้คือ
1.การตั้งชื่อด้วยการใช้ภูเขา หุบเหว และสายน้ำ
จุดชวีฉือ (สระที่คดไปมา ; LI11) จุดฉื่อเจ๋อ (หนองที่คดเคี้ยว ; LU5) เส้าห่าย (ทะเลน้อย ; HT3) ไท่เยวียน (เหวใหญ่ ; LU9) จือโกว (ร่องแขนง ; TE6) จิงฉวี (คลองส่งน้ำ ; LU8) ฟู่ลิว (ไหลขึ้นอีกครั้ง ; KI7) โฮ่วซี (ธารน้ำด้านหลัง ; SI3) เหอกู่ (หุบเหวที่แนบเข้าหากัน ; LI4) เฉิงซัน (แบกรับภูเขา ; BL57) เหลียงชิว (เนินแห่งธัญญาหาร ; ST34) ชิวซวี (เนินร้าง ; GB40) หยางหลิงเฉวียน (น้ำพุของเนินดินฝั่งนอก ; GB34) เป็นต้น
2.การตั้งชื่อด้วยการใช้ชื่อสัตว์หรือสิ่งของ
อวี๋จี้ (ท้องปลา ; LU10) ตู๋ปี๋ (จมูกวัว ; ST35) จิวเหว่ย (หางนกจิว ; CV15) ฝูถู่ (กระต่ายหมอบ ; ST32) จั่นจู๋ (กำไม้ไผ่ ; BL2) เจี๋ยเชอ (กลไก ; ST6) เชวียเผิน (อ่างที่แหว่งเว้า ; ST12) เทียนติ่ง (เตาสามขา ; LI17) เป็นต้น
3.การตั้งชื่อด้วยการใช้สิ่งปลูกสร้างหรือที่อยู่อาศัย
เสินเหมิน (ประตูแห่งจิตใจ ; HT7) ชี่ฮู่ (หน้าต่างแห่งลมปราณ ; ST13) อิงชวง (หน้าต่างของหน้าอก ; ST16) เทียนยง (รูไหแห่งฟ้า ; TE16) เทียนถู (จุดนูนแห่งฟ้า ; CV22) ทิงกง (วังแห่งการได้ยิน ; SI19) เน่ยถิง (ห้องโถงใน ; ST44) จงฝู่ (ตำหนักส่วนกลาง ; LU1) ชี่เซ่อ (เรือนแห่งลมปราณ ; ST11) ตี้ชัง (คลังแห่งแผ่นดิน ; ST4) คู่ฝาง (คลังแห่งเต้านม ; ST14) จื้อซื่อ (ห้องแห่งกำลังใจ ; BL52) อวี้ถัง (โถงหยก ; CV18) ปู้หลาง (ระเบียงทางเดิน ; KI22) หลิงไถ (เวทีแห่งจิตวิญญาณ ; GV10) เน่ยกวน (ด่านด้านใน ; PC6) จวี้เชวี่ย (วังใหญ่ ; CV14) เป็นต้น
4.การตั้งชื่อด้วยการใช้ดวงดาวหรือภูมิอากาศ
ยื่อเยวี่ย (สุริยันจันทรา ; GB24) ซั่งซิง (ดวงดาวด้านบน ; GV23) ไท่อี่ (ดาวไท่อี่ ; ST23) ไท่ป๋าย (ดาวไท่ป๋าย ; SP3) เสวียนจี (ดาวเสวียนจี ; CV21) เฟิงฉือ (สระแห่งลม ; GB20) อวิ๋นเหมิน (ประตูแห่งเมฆ ; LU2) เป็นต้น
5.การตั้งชื่อโดยกายวิภาค
จงหวั่น (กระเพาะอาหารส่วนกลาง ; CV12) เหิงกู่ (กระดูกที่อยู่แนวขวาง ; KI11) เจียนอวี๋ (กระดูกหัวไหล่ ; LI15) ปี้เน่า (กระดูกต้นแขน ; LI14) โจ๋วเหลียว (รูกระดูกตรงข้อศอก ; LI12) หวั่นกู่ (กระดูกข้อมือ ; SI4) ปี้กวน (ด่านของกระดูกต้นขา ; ST31) เป็นต้น
6.การตั้งชื่อโดยสรรพคุณการรักษา
เฟ่ยซู (จุดฝังเข็มปอด ; BL12) กวงหมิง (สว่างไสว ; GB37) เฉิงชี่ (รองรับน้ำตา ; ST1) เฉิงเจียง (รองรับน้ำลาย ; CV24) ชี่ห่าย (ทะเลแห่งลมปราณ ; CV6) เสวียห่าย (ทะเลแห่งโลหิต ; SP10) กวนเอวี๋ยน (ด่านแห่งพลังต้นกำเนิด ; CV4) จิงหมิง (ตาสว่าง ; BL1) อิ๋งเซียง (ต้อนรับกลิ่นหอม ; LI20) เป็นต้น
จำนวนจุดฝังเข็มบนอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
หลังจากที่มีการทำการสังคายนาจำนวนจุดฝังเข็มของตำราโบราณแต่ละเล่ม จนสามารถสรุปจำนวนจุดฝังเข็มออกเป็นจำนวน 361 จุดแล้ว เราก็จะสามารถสรุปจำนวนจุดฝังเข็มของแต่ละเส้นลมปราณที่กระจายอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ดังต่อไปนี้
โฆษณา