7 ธ.ค. 2019 เวลา 01:55 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 8
การกำหนดตำแหน่งจุดฝังเข็ม
จุดฝังเข็มทุกจุดล้วนมีการบัญญัติตำแหน่งอย่างชัดเจนว่าอยู่ในส่วนไหนของร่างกาย เป็นต้นว่าอยู่ห่างจากหัวเข่าเท่าไหร่ อยู่ห่างจากข้อมือเท่าไหร่ อยู่ห่างจากดวงตาเท่าไหร่ เป็นต้น ดังนั้น การเข้าใจตำแหน่งของจุดฝังเข็ม และการหาตำแหน่งของจุดฝังเข็มจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการฝังเข็มถูกหรือไม่ถูกตำแหน่ง จะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพการรักษาว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างสำคัญเลยทีเดียว
การหาจุดฝังเข็มบางจุดจะต้องมีวิธีการหาที่เป็นแบบเฉพาะ เป็นต้นว่า จะต้องมีการโค้งงอร่างกายในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรือจะต้องนั่งตัวตรง หรือจะต้องหมุนข้อมือ หรือจะต้องอ้าปาก หรือจะต้องแหงนคอ เป็นต้น อนึ่ง เนื่องจากสรีระของคนจะมีความแตกต่างจากหลาย ๆ เหตุปัจจัย เช่น มีความแตกต่างตามรูปร่างที่สูงใหญ่หรือผอมเล็ก มีความแตกต่างตามรูปร่างที่เจริญวัยตามอายุ มีความแตกต่างตามรูปร่างที่อ้วนผอม ซึ่งเป็นความแตกต่างที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสรีระหรือการเจริญวัยของอายุ แต่ความจริงจุดฝังเข็มจะไม่มีความแตกต่างกันในเชิงอัตราส่วนของกระดูกและรูปร่างเลย สมมุติว่าเด็กทารกมีจุดฝังเข็ม A อยู่ตรงตำแหน่งหัวเข่า เมื่อเจริญวัยขึ้น แม้นรูปร่างของกระดูกหัวเข่าจะมีการขยายตัวตามอายุ จนทำให้ตำแหน่งจุดฝังเข็ม A มีการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงการวัดของไม้บรรทัด แต่ความจริงจุดฝังเข็ม A จะยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิมในเชิงอัตราส่วนไม่เปลี่ยน ด้วยคุณลักษณะของตำแหน่งจุดฝังเข็มเช่นนี้นี่เอง นักปราชญ์ทางการแพทย์แต่โบราณจึงได้บัญญัติวิธีการหาตำแหน่งจุดฝังเข็มออกเป็น 3 วิธีด้วยกันคือ หนึ่ง วิธีการหาตำแหน่งโดยใช้อัตราส่วนของกระดูก (骨度分寸折量法) สอง วิธีการหาตำแหน่งโดยใช้สัญลักษณ์ของร่างกาย (體表標誌法) สาม วิธีการหาตำแหน่งโดยใช้มาตราส่วนกระดูกนิ้ว (手指同身寸法)
วิธีการหาตำแหน่งโดยใช้อัตราส่วนแห่งกระดูก (骨度分寸折量法)
กระดูกของร่างกายจะมีอัตราส่วนที่เฉพาะ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์มีส่วนสูงที่ขยายในอัตราส่วนหนึ่ง กระดูกนิ้ว กระดูกศีรษะ กระดูกหน้าอก และกระดูกแขนขาก็จะมีความยาวที่ขยายตามในอัตราส่วนเดียวกัน และด้วยคุณสมบัติของร่างกายที่มีอัตราส่วนที่คงที่เช่นนี้นี่เอง นักปราชญ์ทางการแพทย์จึงได้กำหนดอัตราส่วนของอวัยวะแต่ละอวัยวะ (ดังมีรายละเอียดดังตารางที่ 7.1) และกำหนดหน่วยของอัตราส่วนนี้ว่า “ชุ่น” ยกตัวอย่างเช่น ความยาวเชิงอัตราส่วนแห่งกระดูกของเส้นข้อมือจนถึงปลายนิ้วกลางเท่ากับ 8.5 ชุ่น ดังนั้น แม้เด็กที่มีอายุเพียงแค่หนึ่งขวบก็จะมีความยาวเท่ากับ 8.5 ชุ่น หรือเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีก็จะมีความยาวเท่ากับ 8.5 ชุ่นเหมือนกัน ส่วนอุปกรณ์ที่จะใช้วัดความยาวของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายจะไม่ใช่อุปกรณ์ประเภทไม้บรรทัดที่เรารู้จักกันทั่วไป หากแต่คือนิ้วมือของเจ้าตัวเองต่างหาก ดังนั้น แม้นกระดูกของฝ่ามือที่มีความยาว 8.5 ชุ่นจะมีการขยายตัวตามอายุก็จริง แต่อุปกรณ์การวัดซึ่งในที่นี้จะหมายถึงนิ้วมือของเจ้าตัวเองนั้น ก็จะมีการขยายตัวตามในอัตราส่วนเดียวกับการขยายตัวของกระดูกฝ่ามืออย่างเท่าเทียมกัน ด้วยวิธีการวัดที่มีมาตรฐานเดียวกันเช่นนี้ จึงทำให้การกำหนดตำแหน่งจุดฝังเข็มมีมาตรฐานในการอ้างอิงที่ถูกต้องไม่เปลี่ยนแปลง
ความยาวเชิงอัตราส่วนแห่งกระดูกจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
วิธีการหาตำแหน่งโดยใช้สัญลักษณ์ของร่างกาย (體表標誌法)
บนร่างกายของมนุษย์จะมีลักษณะทางกายวิภาคอยู่หลายอย่างที่สามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ในการอ้างอิงตำแหน่งจุดฝังเข็มได้ โดยสัญลักษณ์ของร่างกายเหล่านี้จะสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
1.สัญลักษณ์แบบแน่นอนที่ไม่เคลื่อนย้าย
หมายถึงสัญลักษณ์ที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นต้นว่า อวัยวะทางใบหน้า แนวเส้นผม เล็บมือ เล็บเท้า หัวนม สะดือ และส่วนนูนของกระดูกที่อยู่ตามไขข้อต่าง ๆ เนื่องจากสัญลักษณ์เหล่านี้จะมีความแน่นอน ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมสำหรับใช้อ้างอิงในการค้นหาตำแหน่งจุดฝังเข็มได้เป็นอย่างดี สำหรับวิธีการหาจุดฝังเข็มแบบอัตราส่วนของกระดูกก็ยังต้องใช้สัญลักษณ์ตามร่างกายเป็นจุดอ้างอิงเช่นเดียวกัน
การใช้สัญลักษณ์ของร่างกายในการหาจุดฝังเข็มมีมากมายหลายจุด ยกตัวอย่างเช่น จุดอิ้นถางจะอยู่กึ่งกลางระหว่างคิ้วทั้งสอง จุดซู่เหลียว (GV25) จะอยู่ส่วนปลายของจมูก จุดเสินเชวี่ย (CV8) จะอยู่กึ่งกลางของรูสะดือ เป็นต้น
2.สัญลักษณ์ที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย
หมายถึงสัญลักษณ์ของร่างกายที่จะต้องมีการเคลื่อนไหวท่าทางบางท่าจึงจะสามารถหาจุดอ้างอิงได้ ยกตัวอย่างเช่นจะต้องงอศอกแล้วหาส่วนปลายสุดของเส้นข้อพับศอกเพื่อระบุตำแหน่งของจุดชวีฉือ (LI11) กำหมัดแน่นแล้วหาส่วนปลายสุดของเส้นฝ่ามือเพื่อหาจุดโฮ่วซี (SI3) เป็นต้น
วิธีการหาตำแหน่งโดยใช้มาตราส่วนกระดูกนิ้ว (手指同身寸法)
วิธีการหาจุดฝังเข็มโดยใช้มาตราส่วนของกระดูกนิ้วหมายถึงการใช้กระดูกนิ้วของผู้ป่วยในการวัดหาตำแหน่งของจุดฝังเข็ม ในทางปฏิบัติจะมีอยู่สามวิธีด้วยกันคือ
1.มาตราส่วนของกระดูกนิ้วกลาง
หมายถึงการใช้นิ้วกลางของผู้ป่วยในการวัด โดยให้งอนิ้วกลางเล็กน้อย ตรงส่วนความกว้างของข้อนิ้วข้อกลาง ซึ่งเป็นความกว้างที่อยู่ระหว่างเส้นข้อนิ้วสองเส้นนั้นก็คือขนาด 1 ชุ่น โดยมีรายละเอียดดังภาพที่ 7.3
2.มาตราส่วนของกระดูกนิ้วโป้ง
หมายถึงการใช้นิ้วโป้งของผู้ป่วยในการวัด โดยกำหนดให้ขนาดความกว้างของนิ้วโป้งในแนวตั้งเท่ากับ 1 ชุ่น โดยมีรายละเอียดดังภาพที่ 7.4
3.มาตราส่วนของการเรียงนิ้ว
หมายถึงการใช้วิธีการเรียงนิ้วของผู้ป่วยในการวัด โดยกำหนดให้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อยเรียงชิดกัน แล้วใช้เส้นข้อนิ้วข้อกลางของนิ้วกลางเป็นแกนกลางในการวัดขนาดความกว้างของนิ้วทั้งสี่ที่เรียงชิดกัน ขนาดความกว้างของนิ้วทั้งสี่ที่ตัดผ่านเส้นข้อนิ้วข้อกลางของนิ้วกลางก็คือขนาด 3 ชุ่น โดยมีรายละเอียดดังรูปที่ 7.5
ทั้งนี้ ในตำราโบราณจะกำหนดมาตราส่วนของการเรียงนิ้วขนาด 3 ชุ่นด้วยวิธีการเรียงชิดนิ้วมือ 4 นิ้วเท่านั้น แต่ปัจจุบันก็ได้พัฒนาวิธีการเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวิธี นั่นก็คือ มาตราส่วนการเรียงนิ้วขนาด 2 ชุ่น
สำหรับวิธีการแบบมาตราส่วนการเรียงนิ้วขนาด 2 ชุ่นนั้นคือ ให้เรียงชิดนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง แล้วใช้เส้นข้อนิ้วข้อปลายของนิ้วกลางเป็นแกนกลางในการวัดขนาดความกว้างของนิ้วทั้งสามที่เรียงชิดกัน ขนาดความกว้างของนิ้วทั้งสามที่ตัดผ่านเส้นข้อนิ้วข้อปลายของนิ้วกลางก็คือขนาด 2 ชุ่น โดยมีรายละเอียดดังรูปที่ 7.6
โฆษณา