10 ธ.ค. 2019 เวลา 04:09 • ธุรกิจ
ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 2 : Going Public
ธุรกิจคอมพิวเตอร์ของ Michael Dell นั้นเป็นไปตามที่เขาคิดไว้ เพราะกิจการของเขานั้นเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ๆ ในช่วงแรกของการก่อตั้งนั้นแทบจะไม่มีระบบคอมพิวเตอร์มารองรับคำสั่งซื้อจำนวนมาก แต่ด้วยจำนวน order ที่มีเข้ามามากมายทำให้ Michael ต้องเดินไปรับคำสั่งซื้อจากพนักงานขาย เพื่อรวมรวมคำสั่งซื้อเหล่านี้ไว้บนแผ่นดิสก์ แล้วจึงนำไปประมวลในฐานข้อมูลต่อไป
ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 2 : Going Public
เพียงแค่หนึ่งเดือนหลังจากย้ายจากหอพักมาอยู่ที่สำนักงานขนาด 1,000 ตร.ฟุต บริษัท Dell Computer ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนต้องย้ายไปอยู่สำนักงานแห่งใหม่ขนาด 2,350 ตร.ฟุต และหลังจากนั้นเพียงไม่นานก็ต้องย้ายอีกครั้งไปอยู่สำนักงานขนาด 7,200 ตร.ฟุต
และในที่สุดเมื่อถึงปี 1985 บริเวณพื้นที่เดิมของบริษัท ก็ไม่สามารถรองรับไหว ทั้ง infrastructure พื้นฐานอย่างโทรศัพท์ รวมถึงโครงสร้างองค์กรที่ขณะนั้นเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ Michael ต้องพาทีมงานย้ายไปอยู่สำนักงานที่ใหญ่พอ ๆ กับสนามฟุตบอล เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เข้ามาอย่างมหาศาล
1
และด้วยการที่กิจการขยายอย่างรวดเร็ว ทำให้ Michael เองก็ต้องรับพนักงานเพิ่มอีกจำนวนมาก ทั้งนักบัญชี นักการตลาด หรือแม้กระทั่งฝ่าย IT เองก็ตาม ซึ่งตอนนั้น ก็จะกวาดต้อนเอาหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสมาแทบจะทั้งหมดในทุกสาขาที่เขาต้องการ
และด้วยความที่ Michael เองนั้นเป็นคนที่ทำงานแบบลงมือปฏิบัติจริง และ เห็นผลจากการปฏิบัตินั้นจริง ๆ ทำให้เขาคิดตลอดเรื่องการที่จะทำให้ Dell Computer ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร
และจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ Dell Computer มีชื่อเสียงด้านบริการมาจวบจนถึงปัจจุบันนั้นต้องบอกว่ามาจากวัฒนธรรมตั้งต้นของบริษัท ที่ Michael สร้างมานั่นเอง ในบริษัทนั้น ทีมงานด้านการขาย ซึ่งอาจจะต้องมาประกอบเครื่องด้วยตัวเองในบางครั้ง แม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบงานแบบนี้ก็ตามที แต่มันทำให้พวกนักขายเหล่านี้ได้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้ดีขึ้นนั่นเอง และที่สำคัญยังทำให้ได้รู้ว่า ลูกค้าใช้ข้อมูลอะไรบ้างในการตัดสินใจซื้อคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง
1
ในปี 1986 บริษัทก็ได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพเข้าไปอีกขั้นเมื่อได้ทำการจ้าง Lee Walker มาเป็นประธานบริษัท ซึ่ง Lee นั้นเป็นคนที่มีประสบการณ์สูงมาก เคยทำงานกับบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่มาหลายแห่ง
โดย Lee ทั้งทำหน้าที่ในการช่วยจัดหาเงินทุนเพื่อมาลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงการกำหนดรูปแบบคณะกรรมการบริษัทขึ้นมา และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทเพิ่มมากขึ้น เพราะ Lee นั้นเป็นมืออาชีพตัวจริงคนแรก ๆ ที่ได้ร่วมงานกับ Dell Computer
หลังจากนั้น Michael ก็ได้เริ่มสร้างต้นแบบของการขายตรงที่มีชื่อว่า “Direct From Dell” ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการขายให้กับลูกค้าโดยตรงแบบไม่ผ่านตัวแทน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ สำหรับธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีกลุ่มลูกค้าตั้งแต่บุคคลทั่วไป จนถึง บริษัทขนาดใหญ่ที่ติดอันดับ Fortune 500
1
ในขณะที่คู่แข่งนั้นต่างคิดเองว่า คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องนั้นจะต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่ Michael กลับคิดต่าง เพราะลูกค้าจะบอกเองว่าพวกเขาต้องการอะไร ซึ่งที่ Dell นั้นเสนอแม้กระทั่งการทำคอมพิวเตอร์แบบพิเศษให้เฉพาะลูกค้าแต่ละราย
Direct From Dell ที่เน้นขายตรงให้กับลูกค้า
และเป็นเหตุให้ Dell ไม่จำเป็นต้องมีคลังสินค้าขนาดใหญ่เพื่อเก็บสินค้าเหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งในตลาด และสามารถทำราคาได้ดีกว่ามาก และได้ฐานข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจากลูกค้าได้โดยตรง
การที่ได้ติดต่อกับลูกค้าโดยตรง ทำให้สามารถรู้ถึงความต้องการในตลาดได้ สามารถคาดเดาว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการคืออะไร เพราะคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ระบบส่งตรงของ Dell จึงเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญที่ทำให้ Dell Computer นั้น เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
และเมื่อถึงสิ้นปี 1986 Dell Computer มียอดขายรวมประมาณ 60 ล้านเหรียญต่อปี ตอนนั้นสถานการณ์ของ Dell อยู่ในจุดที่ดีมาก ๆ เหล่านักลงทุนเริ่มสนใจจะมาลงทุน ธนาคารก็ต้องการปล่อยกู้กับให้ Dell Computer เรียกได้ว่าตอนนั้น Dell เริ่มเนื้อหอมมาก ๆ ในสายตาเหล่านักลงทุน
ในปี 1987 Dell Computer ได้ขยายกิจการไปยังทวีปยุโรป ได้เปิด Dell UK ขึ้นที่ประเทศอังกฤษ แม้จะโดนสื่อมวลชนจากอังกฤษ สบประมาท ในกลยุทธ์เรื่องการส่งตรงที่ได้ผลดีในอเมริกา แต่เหล่าสื่อกลับมองว่า เป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้ที่อังกฤษ เพราะในอังกฤษไม่มีใครซื้อคอมพิวเตอร์จากโรงงานโดยตรง
แต่ลูกค้าในอังกฤษกลับไม่คิดอย่างงั้น พวกเขารู้ดีว่าต้องการอะไรที่แท้จริงจากธุรกิจคอมพิวเตอร์ และ Dell ก็สามารถให้พวกเค้าได้ ซึ่งบริษัท Dell UK นั้นสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่เปิดดำเนินการวันแรกมาจวบจนถึงปัจจุบัน ที่สามารถสร้างรายได้ไปกว่าหลายหมื่นล้านเหรียญ
และมันทำให้ Michael Dell นั้นคิดถึงการที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนมาสร้างความเติบโตให้กับบริษัท และเพิ่มเครดิตจากบรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเหล่าลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติมแทบจะทั้งสิ้น
และเป็น Lee ที่จัดการเรื่องดังกล่าว และมีการแต่งตั้งบริษัทเงินทุนเข้ามาจัดการเรื่องดังกล่าว และในเดือนมิถุนายนปี 1988 บริษัทสามารถเพิ่มทุนได้อีก 30 ล้านเหรียญ ซึ่งทำให้มูลค่ากิจการของ Dell Computer มีมูลค่าสูงถึง 85 ล้านเหรียญ และก้าวเข้าสู่หลักไมล์ครั้งสำคัญในการเป็นบริษัทมหาชนได้สำเร็จ
ต้องบอกว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก กับการสร้างธุรกิจด้วยเงินทุนเพียง 1,000 เหรียญ ของ Michael Dell ใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปี ก็สามารถทำให้ Dell Computer กลายเป็นบริษัทมหาชนได้สำเร็จ ซึ่งสิ่งที่ Dell ทำนั้นกลายเป็นต้นแบบที่ปฏิวัติแนวคิดทางธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่ใคร ๆ เคยทำมาก่อนจนหมดสิ้น แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อกับ Dell Computer หลังจากได้รับเงินทุนมหาศาลเพื่อมาขยายกิจการ โปรดติดตามในตอนต่อไปครับผม
อ่านตอนที่ 3 : Billion Dollar Company
1
ช่องทางติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา