11 ธ.ค. 2019 เวลา 01:09 • ธุรกิจ
ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 3 : Billion Dollar Company
ตั้งแต่ Dell Computer ได้ก่อตั้งขึ้นมาจนถึงปี 1990 นั้น บริษัทเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยสูงถึง 97% ต่อปี ซึ่งรวมถึงตัวเลขของผลกำไรสุทธิก็เติบโตได้ในลักษณะเดียวกัน มันคือจุดแข็งของ Dell ในยุคแรก ๆ เป็นความสำเร็จที่ฉายภาพซ้ำ ๆ ในตลอดทุก ๆ ปีในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัท
ประวัติ Michael Dell ตอนที่ 3 : Billion Dollar Company
เหมือนดูจะไม่มีปัญหากับการเติบโต แต่ในที่สุด การเติบโตของ Dell นั้นก็กลายเป็นจุดอ่อนที่เริ่มเห็นแผลครั้งแรกในช่วงปี 1989 เมื่อบริษัทกำลังพบกับปัญหากับการ stock ชิ้นส่วนที่เป็นวัตถุดิบในการประกอบคอมพิวเตอร์มากเกินไป
ปัญหาคือชิ้นส่วนที่ตกรุ่นเร็วเช่น Ram ที่ เมื่อออกรุ่นใหม่ก็ต้องซื้อในราคาแพง แต่เพียงไม่นานมันก็ตกรุ่นอย่างรวดเร็ว และปัญหานี้นี่เองที่ทำให้ ชิ้นส่วนเหล่านี้เหลืออยู่ในสินค้าคงคลังเต็มไปหมด ทำให้ Dell เริ่มสูญเสียเงินจากเรื่องเหล่านี้ไปจำนวนมหาศาล
เมื่อเจอแผลแรกแล้วนั้น ก็ได้เกิดวิกฤติอีกครั้งในโครงการที่ถูกเรียกชื่อว่า Olympic ที่สร้างคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะแบบครอบจักรวาล ตั้งแต่ผู้ใช้ทั่วไปจนถึงระดับการใช้งานในเครือข่ายขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นโครงการใหญ่ โครงการแรกของ Dell เลยก็ว่าได้ แต่กลับกลายเป็นว่า คอมพิวเตอร์ครอบจักรวาลเหล่านี้คือสิ่งสุดท้ายที่ลูกค้าต้องการ ทำให้โครงการนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ปัญหาเรื่องสินค้าคงคลังที่ทำให้ Dell เกิดภาวะถดถอย
และจากความล้มเหลวเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ Michael ตัดสินใจที่จะสร้างแผนก R&D ขึ้นมาเพื่อค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีของตัวเองขึ้น มุ่งให้ความสนใจกับเทคโนโลยีที่เป็นไปได้ และที่สำคัญคือเป็นการช่วยพิจารณาว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำนั่นเอง
ตั้งแต่ช่วงปี 1990-1992 เป็นปีที่ให้บทเรียนครั้งสำคัญแก่ Michael Dell ที่เขาต้องมาแก้ปัญหาทั้งเรื่องสินค้าคงคลัง รวมถึงโครงการอย่าง Olympic ที่ฉุด Dell Computer ให้ดูล้าหลังกว่าคู่แข่งอยู่ประมาณ 3 ปี
ซึ่งหลังจากภาวะถดถอย 3 ปี Dell ก็ตั้งหลักใหม่ได้สำเร็จ และกลับมาเดินหน้าสร้างความสำเร็จได้อีกครั้ง โดยบริษัทได้กลับมาเป็นผู้นำในตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ รวมถึงตลาด Notebook ได้อีกครั้ง
และการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Michael Dell ที่นำพาบริษัทกระโจนเข้าสู่ตลาด Server ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ครั้งสำคัญของ Dell และการขยายสาขาไปทั้งในยุโรปตะวันตก และ ยุโรปกลาง รวมถึงแผนการที่จะขยายตลาดไปยังทวีปเอเชียอีกด้วย
ตอนนั้น มันเป็นทางแยกครั้งสำคัญของบริษัทหากต้องการเติบโต ก็ต้องลุยแบบเต็มที่ เพราะการไม่สนใจที่จะเข้าสู่ตลาดโลกนั้น สุดท้ายอาจจะทำให้บริษัทถูกกลืนกินจากบริษัทยักษ์ใหญ่ได้นั่นเอง
แม้ในช่วงดังกล่าว Dell Computer จะมียอดขายถึง 1 พันล้านเหรียญต่อปี แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่เล็กน้อย เมื่อเทียบกับคู่แข่งระดับโลก และแนวโน้มในขณะนั้นดูเหมือนว่าการถูกรวมบริษัทนั้นเป็นไปได้สูงเลยทีเดียว
และแน่นอนว่าด้วยพื้นฐานสำคัญของระบบส่งตรงของ Dell ที่คิดค้นไว้นั้น ทำให้ Dell แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น ๆ
1
และในช่วงที่ Microprocessor รุ่นใหม่อย่าง 486 ได้ออกมาทำการตลาดนั้น Michael Dell ได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทไปยังเทคโนโลยีใหม่นี้ก่อนใคร ทำให้ Dell ได้เปรียบคู่แข่งอยู่มาก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญเพราะ Microsoft ก็ออก Windows รุ่นใหม่ออกมาพอดี ทำให้คนทั่วไปเริ่มต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงมาใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows ของ Microsoft นั่นเอง
1
Windows ใหม่ของ Microsoft ที่ทำให้ลูกค้าต้องการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง
ในปี 1992 หลังผ่าน วิกฤติครั้งสำคัญต้องบอกว่า Dell ได้ปรับกลยุทธ์ทางด้านราคาใหม่ เพื่อเร่งการเติบโตให้เร็วขึ้น ซึ่ง Michael ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น สามารถทำยอดขายเพิ่มจาก 880 ล้านเหรียญไปเป็นมากกว่า 2 พันล้านเหรียญ ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงถึง 127%
ซึ่งเมื่อสิ้นสุดปี 1992 อัตราการเติบโตของ Dell ก็เรียกได้ว่าแข็งแกร่งสุด ๆ บริษัทมีรายได้กว่า 2 พันล้านเหรียญ และมันโตเกินกว่าขนาดของบริษัทเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบโทรศัพท์ ระบบการเงิน ระบบ support ต่าง ๆ เรียกได้ว่าตอนนี้ได้ใช้งานจนถึงขีดจำกัดของมันแล้ว
และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องคน เพราะบริษัทได้เติบโตเกินกว่าที่กำลังคนที่มีอยู่จะรับมือต่อไปไหว และที่สำคัญ ตัว Michael เองก็แทบจะไม่มีประสบการณ์ในการบริหารบริษัทขนาด 2 พันล้านเหรียญมาก่อน แทบจะไม่มีพนักงานคนไหนปรับตัวได้ทันกับการเติบโตในระดับนี้ ถึงเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือแล้ว และจะเป็นใครที่จะมาช่วยเหลือ Michael ในการจัดการบริษัทที่เติบโตรวดเร็วเช่นนี้ โปรดอย่าพลาดติดตามตอนต่อไปครับผม
1
อ่านตอนที่ 4 : The Professional
ช่องทางติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา