15 ธ.ค. 2019 เวลา 01:39 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 9
จุดเบญจธาตุหรือจุดอู่ซู (五腧穴)
ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเข่าและศอกของแต่ละเส้นลมปราณหลักลงไป จะมีจุดฝังเข็มอยู่ห้าจุดที่มีคุณสมบัติการรักษาที่โดดเด่น มีประสิทธิภาพการรักษาสูง จึงเป็นจุดฝังเข็มที่มักจะนำมาใช้ในทางการรักษาอยู่บ่อยครั้ง จุดฝังเข็มทั้งห้านี้เรียกว่าจุดอู่ซู หรือจุดฝังเข็มทั้งห้า แต่เนื่องจากจุดอู่ซูเป็นจุดที่มีคุณลักษณะแห่งธาตุทั้งห้าคือทอง ไม้ น้ำ ไฟ ดิน ดังนั้นจึงขอเรียกจุดอู่ซูว่าจุดเบญจธาตุ
จุดเบญจธาตุจะเริ่มต้นที่ส่วนปลายของแขนขา และเริ่มขยับเข้าสู่ส่วนศอกและเข่า ประกอบด้วย จุดจิ่ง (井穴 ; จุดพุ) จุดอิ๋ง (滎穴 ; จุดธาร) จุดซู (輸穴 ; จุดเติม) จุดจิง (經穴 ; จุดสาย) และจุดเหอ (合穴 ; จุดรวม) โดยในอวัยวะอิน (ปอด ไต ตับ หัวใจ ม้าม) นั้น จุดจิ่งจะเป็นธาตุไม้ จุดอิ๋งเป็นธาตุไฟ จุดซูเป็นธาตุดิน จุดจิงเป็นธาตุทอง และจุดเหอเป็นธาตุน้ำ แต่หากเป็นอวัยวะหยาง (ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ถุงน้ำดี ลำไส้เล็ก กระเพาะอาหาร ซันเจียว) แล้ว จุดจิ่งจะเป็นธาตุทอง จุดอิ๋งเป็นธาตุน้ำ จุดซูเป็นธาตุไม้ จุดจิงเป็นธาตุไฟ และจุดเหอเป็นธาตุดิน ในแต่เส้นลมปราณหลักจะมีจุดเบญจธาตุอยู่ 5 จุด ซึ่งมีรายละเอียดดังตารางในต่อไปนี้
ทั้งนี้ แพทย์จีนได้อุปมาการไหลของพลังเส้นลมปราณให้เสมือนหนึ่งสายน้ำ
โดยจุดจิ่งหรือจุดพุคือที่ลมปราณไหลออกดุจน้ำพุ (所出為井) มีจุดเริ่มต้นที่ส่วนปลายของแขนขา อุปมาเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำ จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพลังเส้นลมปราณ
จุดอิ๋งหรือจุดธารคือที่ลมปราณไหลเอื่อยดุจลำธาร (所溜為滎) มีตำแหน่งอยู่ตรงส่วนหน้าของกระดูกฝ่ามือฝ่าเท้า อุปมาเหมือนดั่งสายน้ำน้อย ๆ เหมือนเช่นลำธาร
จุดซูหรือจุดเติมคือที่ลมปราณไหลเข้าดุจเติมใส่ (所注為輸) มีตำแหน่งอยู่ตรงส่วนหลังของกระดูกฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นจุดที่มีพลังลมปราณเริ่มหลากมากขึ้น เสมือนเป็นสายน้ำที่เติมใส่จากเล็กไปสู่มาก จากตื้นไปสู่ลึก
จุดจิงหรือจุดสายคือที่ลมปราณไหลยาวดุจสายน้ำ (所行為經) มีตำแหน่งอยู่เหนือข้อมือข้อเท้า อุปมาเหมือนดั่งสายน้ำที่กว้างใหญ่มากยิ่งขึ้น เป็นตำแหน่งที่พลังลมปราณมีกำลังแรงกล้า
จุดเหอหรือจุดรวมคือที่ลมปราณไหลรวมดุจสาคร (所入為合) มีตำแหน่งอยู่ตรงบริเวณศอกเข่า อุปมาดั่งสายน้ำที่เริ่มไหลรวมเข้าสู่แม่น้ำหรือทะเลใหญ่ เป็นจุดที่พลังลมปราณจะเริ่มไหลเข้าสู่ส่วนลึก และจะเข้าไปรวมกับอวัยวะที่อยู่ในภายใน
ในตำราหนันจิง (難經•六十四難) ยังได้อธิบายคุณสมบัติการรักษาของจุดเบญจธาตุไว้อย่างน่าสนใจอีกว่า จุดพุหรือจุดจิ่งรักษาอาการแน่นใต้หัวใจ (井主心下滿) จุดธารหรือจุดอิ๋งรักษาอาการตัวรุมร้อน (滎主身熱) จุดเติมหรือจุดซูรักษาอาการเนื้อตัวหนักและปวดข้อ (俞主體重節痛) จุดสายหรือจุดจิงรักษาอาการหอบไอร้อนหนาว (經主喘咳寒熱) และจุดรวมหรือจุดเหอรักษาอาการลมย้อนและรั่วไหล (合主逆氣而泄)
การประยุกต์ใช้จุดเบญจธาตุหรือจุดอู่ซู (五輸穴) ในการรักษา
นักปราชญ์ทางการแพทย์ที่ได้ประพันธ์ตำราแพทย์หลายท่านต่างได้อธิบายลักษณะอาการของโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับจุดเบญจธาตุไว้อย่างหลากหลาย แต่โดยหลักจะอ้างอิงคำพูดในในตำราหนันจิง (難經•六十四難) ที่ได้อธิบายคุณสมบัติการรักษาของจุดเบญจธาตุไว้ว่า จุดพุหรือจุดจิ่งรักษาอาการแน่นใต้หัวใจ (井主心下滿) จุดธารหรือจุดอิ๋งรักษาอาการตัวรุมร้อน (滎主身熱) จุดเติมหรือจุดซูรักษาอาการเนื้อตัวหนักและปวดข้อ (俞主體重節痛) จุดสายหรือจุดจิงรักษาอาการหอบไอร้อนหนาว (經主喘咳寒熱) และจุดรวมหรือจุดเหอรักษาอาการลมย้อนและรั่วไหล (合主逆氣而泄) แต่เมื่อทำการประมวลข้อความของแต่ละตำราแล้ว สามารถสรุปได้ใจความดังต่อไปนี้
1.จุดจิ่งรักษาอาการทางตับ
ในตำรากล่าวว่า จุดจิ่งรักษาอาการแน่นใต้หัวใจ (井主心下滿) ในทางการแพทย์นั้น ตับคือธาตุไม้ ดูแลเรื่องการระบาย มีความเชื่อมโยงเชิงนอกในกับถุงน้ำดี และเส้นลมปราณจะกระจายอยู่บริเวณหน้าอกและสีข้าง หากตับไม่มีการระบายจนทำให้พลังตับย้อนขวางที่ข้างบนแล้ว ก็จะทำให้เกิดอาการแน่นใต้หัวใจขึ้น ส่วนอาการอื่น ๆ ที่เกิดตามมา เป็นต้นว่าอาการตึงสีข้างและหน้าอก อึดอัดไม่มีความสุข คิดมากขี้ระแวง โมโหหงุดหงิดง่าย ทอนซิลอักเสบ ลมชักในเด็ก บ้าคลั่ง ปวดตึงศีรษะ ลมตีย้อนขึ้นบน เรอ ก้อนแข็งที่ท้อง ก้อนเลือดในท้อง ชีพจรตึง อาการเหล่านี้สามารถใช้จุดจิ่งในการระบายตับดับลม (疏肝熄風) ปรับลมปราณแก้อาการอึดอัดได้
ทั้งนี้ จุดจิ่งของเส้นหัวเยื่อหุ้มใจจะอยู่ที่ปลายนิ้วกลาง ส่วนจุดจิ่งของเส้นไตจะอยู่ที่ใจกลางฝ่าเท้า อันหนึ่งขึ้นอันหนึ่งลง อันหนึ่งอินอันหนึ่งหยาง อันหนึ่งน้ำอันหนึ่งไฟ ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการแบบเฉียบพลัน เจ็บปวดอย่างทรมาน สิ้นลม อัมพฤกษ์ หมดสติ หรือสะลึมสะลือ หากใช้ที่สองจุดนี้จะได้ผลดีเยี่ยม เพราะมีสรรพคุณในการเชื่อมเส้นต่อลมปราณ และเปิดทวารให้แง้มออกนั่นเอง
2.จุดอิ๋งรักษาอาการทางหัวใจ
ในตำรากล่าวว่า จุดอิ๋งรักษาอาการตัวรุมร้อน (滎主身熱) หัวใจคือธาตุไฟ ส่วนอาการตัวร้อนก็เป็นอาการหนึ่งที่ไฟร้อนแรงมากผิดปกติ หัวใจกับเส้นลำไส้เล็กมีความสัมพันธ์เชิงนอกใน ดังนั้นอาการอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะทั้งสอง เป็นต้นว่า เมื่อความร้อนทำลายจิต ก็จะทำให้รู้สึกใจหงุดหงิด หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ หมดสติและพูดจาเพ้อเจ้อ คลุ้มคลั่งไม่เป็นสุข หากความร้อนทำลายจินเยี่ย ก็จะทำให้ปากร้อนลิ้นแห้ง หากความร้อนเข้าสู่ลำไส้เล็ก ก็จะทำให้ปัสสาวะสั้นและเหลือง หากความร้อนทำลายเส้นโลหิต ก็จะทำให้กระอักเลือดหรือมีเลือดกำเดา หากพิษร้อนรุนแรง พวกอาการผื่นร้อนปวดแสบ ลิ้นแดง ชีพจรรัวเร็วก็จะเกิดขึ้นมา ในเวลานี้สามารถใช้จุดอิ๋งในการรักษา เพื่อจะได้ทำให้ระบายจิตสงบใจ ระบายร้อนลดอุณหภูมิโลหิต
3.จุดซูรักษาอาการทางม้าม
ในตำรากล่าวว่า จุดเติมหรือจุดซูรักษาอาการเนื้อตัวหนักและปวดข้อ (俞主體重節痛) ม้ามเป็นธาตุดิน การที่มีอาการเนื้อตัวหนัก สาเหตุเพราะม้ามสูญเสียความสามารถในการลำเลียง น้ำและความชื้นจึงอุดอั้นไม่ลื่นไหล ม้ามและกระเพาะอาหารจะมีความสัมพันธ์เชิงนอกใน หากม้ามป่วยก็จะมีอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระเพาะอาหารตึงแน่น เบื่ออาหาร พะอืดพะอมและอาเจียน เนื้อตัวบวมฉุ อุจจาระเหลว ชีพจรลื่นช้า ทั้งหมดนี้สามารถใช้จุดซูในการรักษา เพื่อทำการบำรุงม้ามและกระเพาะ ลำเลียงน้ำและความชื้นได้
4.จุดจิงรักษาอาการทางปอด
ในตำรากล่าวว่า จุดสายหรือจุดจิงรักษาอาการหอบไอร้อนหนาว (經主喘咳寒熱) เนื่องจากปอดเป็นธาตุทอง มีความสัมพันธ์แบบนอกในกับเส้นลำไส้ใหญ่ อาการหอบไอและร้อนหนาวนั้นเป็นอาการที่พิษร้ายจากภายนอกเข้าจู่โจมปอด จึงทำให้ปอดสูญเสียความสามารถในการกดลดและกระจาย หากป่วยก็จะมีอาการที่เกี่ยวข้องดังนี้คือ ลำคอแห้งคัน น้ำเสียงแหบแห้ง คัดจมูก เหนื่อยหอบ ปัสสาวะขัด อุจจาระไม่สะดวก ชีพจรลอย หากเป็นดังนี้ก็สามารถใช้จุดจิงในการรักษา เพื่อทำการระบายปอดคลายผิว หยุดไอลดลม
5.จุดเหอรักษาอาการทางไต
ในตำรากล่าวว่า จุดรวมหรือจุดเหอรักษาอาการลมย้อนและรั่วไหล (合主逆氣而泄) เป็นธาตุน้ำ มีความสัมพันธ์เชิงนอกในกับกระเพาะปัสสาวะ อาการลมย้อนที่กล่าวถึง จะหมายถึงอาการที่มีลมย้อนขึ้นบน ซึ่งเป็นอาการที่ไตไม่ยอมรับลมนั่นอง ส่วนการรั่วไหลที่กล่าวถึงนี้จะหมายถึงอสุจิรั่วหรือปัสสาวะรั่ว หรืออุจจาระเหลวเป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นอาการที่พลังไตพร่องลงนั่นเอง ส่วนอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากไตอ่อนแรง พลังต้นกำเนิดพร่องขาด จะมีอาการดังนี้เช่น หย่อนสมรรถภาพทางเพศ แท้งลูกเป็นประจำ มีบุตรยาก ชราภาพก่อนวัยอันควร พัฒนาการช้าในเด็ก ชีพจรเล็กช้า หรือชีพจรตำแหน่งฉื่อ (尺) อ่อนแรง ทั้งหมดนี้ล้วนสามารถใช้จุดเหอในการรักษาได้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ อาการลมย้อนและรั่วไหลจะมิใช่สาเหตุจากไตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารอีกด้วย ในการรักษานั้น จุดเหอนอกจากจะรักษาอาการทางไตแล้ว ยังสามารถรักษาอาการทางกระเพาะได้อีกด้วย ดังนั้นในซู่เวิ่นจึงกล่าวว่า “อันว่าไต คือด่านแห่งกระเพาะอาหารแล” ไตดูแลเซี่ยเจียว เมื่อพลังไตระเหิดขึ้นก็จะทำให้ทวารหนักและทวารเบาลื่นไหล แต่หากพลังไตพร่องขาดก็จะทำให้ทวารหนักและทวารเบาขัดข้อง เมื่อขัดข้องก็จะทำให้มีการสะสมน้ำและเกิดลมตีย้อน เมื่อนั้นก็จะทำให้แน่นกระเพาะขึ้น ดังนั้น จุดเหอนอกจากจะสามารถรักษาไตได้แล้ว ยังสามารถรักษากระเพาะได้อีกด้วย ดังนั้นในซู่เวิ่นจึงกล่าวว่า “จะรักษาอวัยวะหยางจะต้องรักษาที่จุดเหอ”
เหตุใดจุดเบญจธาตุจึงรักษาอาการได้ทั้งแบบอวัยวะอินและอวัยวะหยาง
จุดเบญจธาตุจะมีความแตกต่างของธาตุระหว่างอวัยวะอินและอวัยวะหยาง แต่เหตุไฉนจึงมีสรรพคุณในการรักษาที่เหมือนกัน นั่นก็เพราะการรักษาของจุดเบญจธาตุจะใช้หลักของการเสริมข่มของห้าธาตุเป็นพื้นฐาน เป็นต้นว่า จุดจิ่งรักษาอาการแน่นใต้หัวใจ ในทางอวัยวะอิน จุดจิ่งจะเป็นธาตุไม้ ธาตุไม้คือตับ ยามที่พิษร้ายเข้าทำร้ายตับจนตับร้อนแรง ตับก็จะข่มม้ามมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เกิดอาการแน่นใต้หัวใจ ในยามนี้หากระบายที่จุดจิ่งก็จะทำให้พลังตับอ่อนลงและลดการข่มม้ามลงไป อาการแน่นใต้หัวใจก็จะคลาย แต่ในส่วนของอวัยวะหยางนั้น จุดจิ่งคือธาตุทอง หากใช้จุดจิ่งในแบบเสริม ยามนั้นธาตุทองก็จะเพิ่มขึ้นและทำการข่มไม้ จึงทำให้พลังของธาตุไม้อ่อนและไม่กระทำต่อธาตุดินมากจนเกินไป เมื่อนั้นอาการแน่นใต้หัวใจก็จะคลายลง
นอกจากนี้ ขอยกตัวอย่างของจุดอิ๋งที่มีสรรพคุณในการรักษาอาการตัวร้อน เนื่องจากจุดอิ๋งเป็นธาตุไฟในทางอวัยวะอิน จุดอิ๋งจึงสัมพันธ์กับหัวใจ หากพิษร้ายเข้าหัวใจก็จะทำให้ไฟเผาปอด จึงทำให้เกิดอาการตัวร้อนขึ้น ยามนี้หากระบายที่จุดอิ๋ง ทำให้ไฟไม่กระทำต่อทอง อาการตัวร้อนก็จะคลายลง ในส่วนของอวัยวะหยางนั้น จุดอิ๋งคือธาตุน้ำ หากบำรุงที่จุดอิ๋งก็จะเสริมธาตุน้ำเข้าข่มไฟ เมื่อนั้นอาการตัวร้อนก็จะคลายลง
ด้วยหลักการที่ว่าดังนี้ จึงทำให้ทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะอินหรืออวัยวะหยาง จุดเบญจธาตุล้วนสามารถทำการรักษาอาการได้ทั้งสองทาง ถึงแม้จุดเบญจธาตุจะมีลักษณะของธาตุที่แตกต่างตามลักษณะของอวัยวะอินและอวัยวะหยางก็ตาม
โฆษณา