17 ธ.ค. 2019 เวลา 07:00 • บันเทิง
[Review] Akira (1988) – สังคมไซเบอร์พังก์กับไอ้เด็กพลังจิต
หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อหรือไม่เคยเห็นอนิเมชั่นเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ เนื่องด้วยความเก่าและชื่อชั้นที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แต่อนิเมชั่นเรื่องนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในบรรทัดฐานของอนิเมชั่นญี่ปุ่นยุคนี้ อนิเมชั่นเรื่องนี้สร้างขึ้นจากหนังสือการ์ตูนเรื่องเดียวกันโดย คัทซึฮิโระ โอโตโมะ ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นผู้กำกับ ฯ อนิเมชั่นชื่อเดียวกันนี้โดยอิงเนื้อเรื่องจากการ์ตูน Akira ที่เขียนโดยตัวเขาเอง
ซึ่งในขณะที่หนังเรื่องนี้ออกฉาย การ์ตูนก็ยังไม่จบบริบูรณ์ อนิเมชั่นเรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการ์ตูนก็ว่าได้และอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ได้รับทุนจากบริษัทนายทุนญี่ปุ่นมากมายรวมกันถึงพันล้านเยน ซึ่งอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ยังสร้างปรากฎการณ์นอกจากเงินทุนที่สูงลิ่ว (ในยุคนั้น) ยังสร้างปรากฏการณ์ในการใช้ภาพวาดมือที่ละเอียดมากถึง 1.6 แสนเฟรม นั่นคือแตกต่างจากอนิเมชั่นในยุคนั้น ที่รายละเอียดยิบย่อยในฉากจะไม่เปลี่ยนไป เช่น ฉากสนทนา ตัวละครจะขยับแค่ปากเท่านั้น แต่ในเรื่องนี้ ตัวละครจะขยับตัว ขยิบตา ขยับปาก ตามเสียงพากย์ ยังไม่รวมถึงเนื้อหา Cyberpunk และพล๊อตต่างๆที่เป็นต้นแบบให้หนังในยุคนี้หลายๆเรื่อง
Akira เล่าเรื่องเมืองโตเกียวหลังเกิดระเบิดขึ้นกลางเมืองและก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ในปี 2019 เมืองใหม่นาม Neo Tokyo ที่ตั้งอยู่ข้างๆเมืองเก่ากำลังเตรียมความพร้อมเข้าสู่การจัดงาน โอลิมปิคปี 2020 แต่ในเมืองก็เต็มไปด้วยจลาจลและการลุกฮือของประชาชน นั่นรวมถึง บางลัทธิที่เชื่อว่า Akira จะมาปลดแอคญี่ปุ่นให้เป็นอิสระ
ขณะเดียวกัน เพื่อนแก๊งมอไซค์แคปซูลอย่าง คาเนดะ ที่กำลังต่อกรกับแก๊งคลาวน์ แต่แล้วเพื่อนคาเนดะอย่าง เท๊ตสุโอะ ก็บาดเจ็บหลังเข้าไปเอี่ยวกับเด็กลึกลับคนหนึ่ง และรัฐบาลก็เข้ามาจับเด็กคนนั้นและเท๊ตสุโอะกลับไปทดลองอะไรบางอย่างจนพลังภายในของเขาตื่นขึ้น “พลัง” ที่อาจเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3
ส่วนที่ดีคือ ด้านภาพอนิเมชั่น ที่เนียนไม่มีที่ติและดูดีมากในสมัยนั้นรวมถึงตอนนี้ เพราะงานภาพวาดมือกว่า 1.6 แสนเฟรมย่อมมีความประณีตที่ซ่อนอยู่ในฉากแต่ละฉาก นั่นรวมถึง ฉากที่มีควัน, รายละเอียดการพูดของตัวละคร, ฉากแอ็คชั่นต่างๆและฉากโหดรุนแรงที่แสนจะมากมายในเรื่อง ก็ทำให้อนิเมชั่นมีความเนียนมากพอสมควร
ส่วนต่อมาก็คือ ฉากแอ็คชั่นต่าง ๆ ที่มีน้อยแต่น่าจดจำมากในหลายๆฉาก นับตั้งแต่ ฉากนั่งมอไซต์ไล่ล่าตอนเปิดเรื่อง, ฉากที่โรงพยาบาลรวมถึงฉากต่อสู้หน้าสนามกีฬาก็ล้วนเป็นฉากแอ็คชั่นที่ทำได้สนุกและน่าตื่นตามาก ๆ ส่วนต่อมาคือ ทางด้านเนื้อเรื่องที่สอดแทรกประเด็นความเชื่อ ประเด็นทางการเมือง ประเด็นคอรัปชั่นผ่านความรุนแรงต่างๆที่ปรากฎในเนื้อเรื่อง รวมถึงส่วนของตัวเอกที่ควบคุมพลังไม่ได้ก็กลายเป็นพล๊อตหลักของหนังไซไฟหลาย ๆ เรื่องในสมัยนี้ เช่น Looper, Chronicle และ Stranger Things
พูด ๆ มาแต่จริง ๆ ก็มีข้อเสีย นั่นก็คือ การตัดสินใจทำ ทั้งๆที่การ์ตูนยังไม่จบดีหรือยังไม่มีข้อสรุปในแบบของหนังสือการ์ตูน มันก็คือการสรุปจบอีกแบบนึงของเรื่องนี้ แต่เท่าที่ดู ก็พบปัญหาหลักๆ นั้นคือ บางสิ่งในหนังนั้นดูรวบรัดไปมาก บางอย่างก็เล่าน้อยเกินไป ใส่เข้ามาแบบไม่มีการย้อนความ โดยที่ผู้กำกับ (ซึ่งก็คือคนเขียนการ์ตูนเอง) อาจจะติดวิธีการเล่าแบบเดียวกันกับการ์ตูนที่ค่อยๆหยอดข้อมูลเข้ามาเลยเฉลยปมเอา ซึ่งถึงแม้หนังจะเฉลยปมให้ในตอนจบแต่ก็ดูเร่งรัดไปนิด นอกจากนั้น ความรุนแรงในเรื่องก็อาจทำให้อนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่ใช่อนิเมชั่นของทุกคนเท่าไหร่ แต่ด้วยเนื้อหา Cyberpunk เมืองพัฒนาแต่สังคมทรามก็ค่อนข้างอนุโลมไปด้วยกันได้
สรุปแล้ว Akira หากนำมาดูในสมัยนี้ก็อาจจะไม่ต่างจากหนังตัวเอกที่ควบคุมพลังไม่ได้แบบที่เห็นกันเกร่อในยุคนี้ แต่ด้วยเป็นผลงานที่อายุอานามเกือบ 30 ปี เนื้อหาที่แทรกประเด็นการสังคม, การเมืองและความเชื่อผ่านมุมมอง Cyberpunk พ่วงมาด้วยฉากแอ็คชั่นที่มีน้อยแต่น่าจดจำ รวมถึงภาพอนิเมทล้ำ ๆ ที่วาดด้วยมือแต่ละเอียดมากถึงแสนเฟรม แม้ว่าหนังจะดูรวบรัดเกินไปก็ตามเถอะ
4 / 5
Akira (1988)
Directed by Katsuhiro Otomo
Screenplay by Katsuhiro Otomo & Izo Hashimoto
Based on "Akira" by Katsuhiro Otomo

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา