19 ธ.ค. 2019 เวลา 07:00 • บันเทิง
ฟังไปแล้ว - The Christmas Present อัลบัมเพลงคริสท์มาสของร็อบบี วิลเลียมส์
อัลบัมเดี่ยวชุดที่ 12 ของร็อบบี วิลเลียมส์ หลังออกมาจาก Take That บอยแบนด์ตัวท็อปของวงการเพลงในช่วงยุค ‘90s และเป็นอัลบัมคริสท์มาสชุดแรกของเจ้าตัวด้วย แล้วก็ไม่รู้ว่าอัดอั้นมานานขนาดไหน เพราะทำออกมาเป็นอัลบัมคู่ อัดเพลงใส่เข้ามาถึง 28 เพลง ฟังกันยาวเหยียดชั่วโมงครึ่งไปเลย
ซึ่งก็มีเรื่องเล่าขำๆ ในตอนที่ร็อบบีทำอัลบัมชุดนี้ ที่ยังเป็นงานชุดแรกของเจ้าตัวนับตั้งแต่อัลบัม The Heavy Entertainment Show เมื่อปี 2016 อีกต่างหาก โดยวิลเลียมส์เริ่มบันทึกเสียงเพลงนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2019 ก่อนหน้าการแสดงระลอกสุดท้ายของเขาที่ ไวนน์ ลาส เวกัส แล้วก็ปิดจ็อบได้ในเดือนตุลาคม โดยวิลเลียมส์บอกว่า เขาจะตั้งชื่ออัลบัมว่า Achtung Bublé โดย Buble’ ที่ว่าก็ไม่ใช่ใครอื่น ไมเคิล บูเบล นักร้องเสียงนุ่มที่รู้จักกันดีนั่นแหละ เพื่อบ่งบอกว่าช่วงเวลาของการครองตลาดเพลงคริสท์มาสของบูเบลนั้น ต้องจบลงเพราะอัลบัมนี้ อะไรทำนองนั้น
ก็ไม่รู้ว่าเอาจริงหรือแซวเล่น แต่ในอัลบัมคริสท์มาสของวิลเลียมส์ มีเพลง "Home” ที่เป็นเพลงชื่อเดียวกับเพลงดังของบูเบลอยู่ในอัลบัมด้วยก็แล้วกัน :D
เพลงคริสท์มาสที่อยู่ในThe Christmas Present มีทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่ โดยแบบงานเป็นสองภาค ในภาคแรกเป็น Christmas Past, ภาคที่สองเป็น Christmas Future ที่หลายๆ คนอาจจะคิดว่าในภาคแรกคงเป็นการนำเพลงเก่ามาทำใหม่ ส่วนภาคสองก็เป็นเพลงใหม่ล้วนๆ ที่ก็ต้องบอกว่าผิด เพราะในแผ่นที่สองถึงจะเต็มไปด้วยเพลงคริสท์มาสที่แต่งขึ้นใหม่เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีเพลงเก่า อย่าง "Christmas (Baby Please Come Home)" แทรกเข้ามา แต่ในแผ่นแรกที่เป็น Christmas Past นั้น จะคละกันระหว่างเพลงใหม่และเพลงเก่า มีทั้ง "Winter Wonderland”, "Let It Snow! Let It Snow! Let It Snow!", "Rudolph the Red-Nosed Reindeer (song)" หรือ "Santa Baby" ที่เป็นเพลงคริสท์มาสคลาสสิค แล้วก็มีเพลงที่แต่งใหม่อย่าง "Yeah! It's Christmas", "Let's Not Go Shopping"
แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้ต้องแบ่งอัลบัม The Christmas Present คำตอบก็คือ การเรียบเรียงดนตรี
ในภาคแรกจะเป็นงานบิกแบนด์ เป็นเพลงสวิง เป็นป็อป สแตนดาร์ด เป็นงานในแบบเรโทร
ส่วนภาคที่สองจะเป็นเพลงป็อปร่วมสมัย ในสไตล์ของร็อบบี วิลเลียมส์
กับงานป็อปร่วมสมัยก็ไม่ใช่อะไรที่น่าแปลกใจ ส่วนภาคแรกหากติดตามงานของร็อบบี วิลเลียมส์มาตลอด ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเช่นกัน เพราะครั้งหนึ่งเขาก็เคยทำอัลบัมเพลงสวิง, เพลงป็อปสแตนดาร์ด ที่บรรเลงโดยวงบิกแบนด์ Swing When You Are Winning มาแล้ว ซึ่งเพลงในอัลบัมจะเป็นเพลงเก่า เอามาเล่าใหม่ในสไตล์เดิมๆ โดยมีเพลงใหม่แค่เพลงเดียว เพื่อสดุดีศิลปินเก่าๆ อย่าง แฟรงค์ ซินาตรา, แน็ท คิง โคล รวมไปถึงสนองความต้องการของวิลเลียมส์ที่อยากทำเพลงในสไตล์นี้ ที่ลงลึกถึงขั้นไปอัดเสียงห้องเดียวกับซินาตราเลย
นั่นคืออัลบัมในปี 2001 พอมาถึงปี 2013 วิลเลียมส์ก็กลับมาทำอัลบัม Swings Both Ways อีกครั้ง ซึ่งจะมีทั้งเพลงเก่าเอามาทำใหม่ในสไตล์เก่า และเพลงใหม่ที่ทำในสไตล์เก่าให้ได้ฟังกัน
ถือว่าเป็นการแบ่งภาคที่ทำให้เพลงไม่กวนกันดี แม้บางเพลงใน Christmas Future จะมีบรรยากาศหรือโทนในแบบเพลงยุคเก่า แต่ซาวนด์ดนตรีนั้น ก็ถือว่าแตกต่างกัน
นอกจากจะมีทั้งเพลงเก่า-ใหม่ให้ได้ฟังกันมากมายอย่างที่เห็นแล้ว The Christmas Present วิลเลียมส์ยังได้ศิลปินรับเชิญมาร่วมงานเพียบ อาทิ เจมี คัลลัม ใน "Merry Xmas Everybody” เพลงคริสท์มาสเก่าของวง Slade, ป็อปปา พีท ใน "It's a Wonderful Life", "Santa Baby" ก็มีเฮเลนา ฟิสเชอร์ มาร่วมงาน รวมไปถึงรุ่นใหญ่อย่าง ร็อด สจวร์ท ใน "Fairytales" กับ "It Takes Two" แล้วก็ไบรอัน อดัมส์ กับ "Christmas (Baby Please Come Home)"
ที่โดยส่วนตัวแล้วจะชอบงานในภาคที่สองมากกว่า ด้วยความที่ฟังสนุก และให้ความรู้สึกทันสมัยกว่า โดยเฉพาะเรื่องของความคึกคักเข้ากับโลกในยุคโซเชียล มีเดีย ส่วนเพลงเก่าสไตล์ทั้งหลายก็ไม่ได้แย่ แต่ฟังแล้วเป็นคริสท์มาสในแบบอบอุ่น ครอบครัวล้อมวงกินอาหาร แกะกล่องของขวัญ ดูนิ่งๆ เรียบๆ มากกว่า
ซึ่งก็ดีแล้วที่จับแยกแบ่งภาคกันอย่างที่เป็น
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง The Christmas Present อัลบัมเพลงคริสท์มาสของร็อบบี วิลเลียมส์ คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ไทยโพสท์ วันที่ 6 ธันวาคม 2562
อ่านแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตาม และยังมีเรื่องราวมากมายให้อ่านได้ที่ www.sadaos.com และทำความรู้จักกันได้มากกว่านี้ด้วยการกดไลค์เพจ www.facebook.com/Sadaos
ฟังไปแล้ว อัลบัมที่เป็นร่วมงานข้ามชาติของค่ายเพลงไทย และค่ายเพลงเกาหลี BNM X WAYFER ฟังบางเพลงจากอัลบัม และอ่านวิจารณ์กันได้ที่นี่ https://www.blockdit.com/articles/5da506ebf5f84f5ec1c34eac
โฆษณา