27 ธ.ค. 2019 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๒๘ โลหิตุปบาท
พระเทวทัต สืบทราบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มักจะเสด็จไปเดินจงกรม (เป็นการฝึกสมาธิในท่าเดิน เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถ) อยู่ที่บริเวณเขาคิชฌกูฏ (อ่านว่า คิด-ชะ-กูด) และบนยอดเขาก็มีหินก้อนขนาดใหญ่ จึงวางแผนไปซุ่มรออยู่บนยอดเขา เมื่อได้จังหวะที่พระพุทธองค์เดินมาถึงพื้นที่สังหาร ก็ใช้พละกำลังของตัวเอง (มีกล่าวไว้บ้างแล้วในตอนที่ ๒๗) กลิ้งหินนั้นลงมาจากยอดเขา หวังจะให้หินก้อนใหญ่นั้นทับพระวรกายของพระพุทธองค์
ธรรมดาของพระพุทธเจ้า ใครๆ ก็มิอาจจะปลงพระชนม์พระองค์ได้ เพราะบารมี (คือบุญระดับเข้มข้น จะหาโอกาสอธิบายในภายหลัง) ที่สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงทำให้มีปรากฎการณ์ที่เหนือธรรมชาติเกิดขึ้น คือยอดเขา ๒ ลูก ที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นได้โค้งมาน้อมรับหินก้อนใหญ่อันนั้น แต่พระองค์ก็ยังมีเศษกรรมอยู่นิดหน่อย คือ ได้มีสะเก็ดที่เกิดจากหินก้อนใหญ่นั้น กระเด็นมาถูกพระบาทของพระองค์ทำให้โลหิตห้อขึ้น สำนวนในพระพุทธศาสนาเรียกอาการนี้ว่า “โลหิตุปบาท” (อ่านว่า โล-หิ-ตุ-ปะ-บาด)
พระพุทธองค์ แหงนพระพักตร์ขี้นไปทอดพระเทวทัต แล้วตรัสกับพระเทวทัตว่า
“เทวทัต เธอทำบาปมากอีกแล้ว”
พระพุทธองค์ทรงนำเหตุการณ์นี้ ไปตรัสบอกกับบรรดาพระภิกษุสงฆ์ในวัดเวฬุวัน ว่า พระเทวทัตได้ทำอนันตริกรรมข้อหนึ่งแล้ว (อ่านรายละเอียดได้ในตอนที่ ๑๓)
มีคำถามว่า แล้วพระพุทธองค์ทราบไหมว่า จะมีเหตุการณ์แบบนี้ เกิดขึ้น
คำตอบก็คือ “ทราบ”
แล้วพระพุทธองค์เสด็จไปที่เขาคิชฌกูฏทำไม
ก็เป็นหลักการเดียวกับในตอนที่ ๘ ว่าพระองค์ใช้ญานทัสสะนะ ตรวจตราดูดีแล้วว่า หากไปจะเสียน้อยกว่าไม่ไป
เมื่อพระภิกษุในวัดเวฬุวัน ทราบว่าพระเทวทัตพยายามปลงพระชนม์พระพุทธองค์ด้วยวิธีการกลิ้งก้อนหินจากยอดเขาคิชฌกูฏ ความตึงเครียด (ตั้งแต่ตอนที่ ๑๐) ที่มีอยู่แล้ว ก็เพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ พระภิกษุสงฆ์ผู้มีศีลเหล่านั้น ก็มิอาจจะอยู่นิ่งเฉย จึงพร้อมใจกันทำอะไรบางอย่าง ...​จบตอนที่ ๒๘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา