25 ธ.ค. 2019 เวลา 07:12 • ธุรกิจ
ผลกระทบภาษีที่ดินกับภาคการเกษตร
เรียกว่าฝุ่นตลบในช่วงปลายปีเลย สำหรับภาษีที่ดินที่จะเริ่มจัดเก็บในปี 2563 คนย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านจนสำนักงานเขตแทบแตก แถมเจ้าของคอนโดต้องไปแจ้งเปลี่ยนประเภทการใช้กันวุ่นวาย แต่เรื่องที่จะเขียนวันนี้ไม่ใช่เรื่องนั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเกษตรครับ
ภาพที่ 1: คำอธิบายอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดิน (ที่มา:สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สศค)
1.ที่ดินทำการเกษตร จะเสียภาษีในอัตราต่ำสุด (ดูภาพที่ 1) โดยคิดเป็นขั้นบันไดตามมูลค่าที่ดิน และถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะได้ยกเว้นภาษี 50 ล้านแรกด้วย เช่น ถ้าที่ดินมูลค่า 100 ล้านบาท จะเสียภาษีเพียงร้อยละ 0.01 หรือ 5000 บาทเท่านั้น (เพราะ 50 ล้านแรกไม่คิดภาษี อัตราถูกกว่าที่พักอาศัยเสียอีก)
2.แต่ถ้าเรามีที่ดินแล้วปล่อยรกร้างไม่ทำอะไร เราก็ต้องเอามาทำการเกษตร เพราะที่ดินรกร้างเสียภาษีแพงกว่าเยอะ เช่น ถ้าที่ดินมูลค่า 100 ล้านเหมือนข้อแรก เราต้องเสียภาษีปีละ 350,000 บาท แถมปรับขึ้นเรื่อยๆ ปีละ 0.3% ทุก 3 ปีจนสูงสุดคือ 3% ของมูลค่าที่ดิน หรือที่ดิน 100 ล้านเสียภาษีปีละ 3 ล้าน!
3.จากเหตุผลในข้อ 2 ทำให้เจ้าของที่ดินหันมาทำการเกษตรกันทั้งนั้น ตามข่าวที่เราเห็นกันทั่วไป (เช่นข่าวปลูกมะนาวที่ดินรัชดา) รวมถึงประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่พบคนจากบริษัทใหญ่มาทำธุรกิจเกษตรมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเจ้าของที่ดิน เพราะใครก็ย่อมหาวิธีประหยัดภาษีภายใต้เงื่อนไขที่กฏหมายเปิดช่องให้ (ประหยัดภาษี ไม่ใช่หนีภาษีนะครับ)
4. เจ้าของที่ดินที่มาทำการเกษตรแบ่งเป็น 2 กลุ่มกว้างๆ คือกลุ่มที่ไหนๆ ทำแล้วก็ทำจริงจังเสียเลย กับกลุ่มที่ทำเล่นๆ เพื่อประหยัดภาษีเป็นหลัก แต่ทั้งสองกลุ่มส่งผลต่อธุรกิจเกษตรทั้งคู่ครับ
5.อย่างแรกคือปริมาณสินค้าเกษตรที่ปลูกง่ายๆ ลงทุนไม่เยอะ ดูแลรักษาง่ายเช่น กล้วย จะเพิ่มขึ้น พอของมีเยอะราคาก็จะตกครับ เกษตรกรที่ปลูกพืชเกษตรที่ปลูกง่ายๆ เตรียมรับผลกระทบชุดแรกก่อน
6.อย่างที่สอง พอคนมาทำเกษตรกันเยอะ มันทำให้ความต้องการซื้อสินค้าเกษตรมันลดลงครับ เช่น ถ้าเราเป็นบ้านเล็กๆ เอาที่ว่างมาทำสวนเอง เราก็คงซื้อผักน้อยลง หรือลองนึกภาพบริษัทยักษ์ใหญ่มาทำเกษตร แล้วนำกล้วย มะนาว ผัก organic มาแจกพนักงานฟรีเป็นสวัสดิการ หรือขายให้พนักงานในราคาพิเศษ พนักงานเหล่านี้ก็คงไม่ซื้อสินค้าจากเกษตรกรทั่วไปเท่าไหร่
7.อย่างที่สาม กลุ่มที่ทำเกษตรเพื่อประหยัดภาษีเป็นหลัก เจ้าของที่ดินมาทำเกษตรไม่ได้สนใจจะขายสินค้าเป็นธุรกิจเพื่อเลี้ยงปากท้องจริงๆ (ปลูกเพื่อประหยัดภาษีก็คุ้มแล้ว) เรียกว่าขายราคาทุนยังคุ้ม ดังนั้น นอกจากเราจะเจอปริมาณสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาที่ขายอาจจะต่ำลงด้วยเพราะกลุ่มนี้พร้อมขายราคาทุน
8.อย่างที่สี่ ส่วนกลุ่มที่ทำแล้วก็ทำจริงจังเลย เค้าจะมาด้วยทุนที่พร้อมกว่า ความรู้ที่เยอะกว่า เค้าสามารถจัดการฟาร์มได้ดีกว่าเกษตรกรรายย่อยครับ ลองนึกภาพฟาร์มที่จัดการโดยบริษัทผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ที่แชร์พนักงาน เครื่องจักร เทคโนโลยี หรือช่องทางการขายกับธุรกิจเดิมของเขา ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยยังต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินอยู่เลย ไหนจะค่าขนส่ง ค่าโน้นนี่สารพัด รายย่อยแพ้ตั้งแต่ในมุ้งครับ
9.จากเหตุผลที่เขียนมา (ยังไม่ครบถ้วนครับ ใครมีอะไรเพิ่มเติมได้เลย) ภาษีที่ดินส่งผลกระทบกับเกษตรกรรายย่อยด้านลบพอสมควร กลุ่มนี้ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินก็จริง และแม้มีมาตราการช่วยเหลือก็จริง (ดูภาพที่2) แต่กำลังโดนหางเลขเต็มๆ จากนโยบายเก็บภาษีที่ดิน
ภาพที่ 2: มาตราการดูแลผลกระทบเกษตรกร (ที่มา:สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สศค.)
10. ที่เขียนมามันจะเกิดขึ้นจริงไหม? คำตอบคือไม่รู้ครับ (อ่าว) มันอาจจะผิดหมดก็ได้ ผู้เขียนไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้อ่านหรือทำวิจัยด้านนี้ ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านนโยบายภาครัฐ บันทึกนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนล้วนๆ
11. งั้นเขียนทำไม? เป็นข้อสังเกตที่กังวลเพราะผมเคยผ่านประสบการณ์ที่นโยบายบางอย่างสร้างผลกระทบ (ด้านลบ) กับสิ่งรอบข้างมากกว่าข้อดีของมันเสียอีกครับ
12. ข้อแนะนำละ? ภาครัฐควรทำวิจัยผลกระทบของภาษีที่ดินกับภาคเกษตรอย่างจริงจัง ที่อยากแนะนำคือให้หน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านนี้จริงๆ เป็นผู้รับผิดชอบ คือภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครับ หากไม่รู้ติดต่อใคร ติดต่อผมได้ครับ (อ่าว 55)
สุดท้ายขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ ใครมีอะไรเพิ่มเติมพูดคุยกันได้เลย ขอบคุณมากครับ
Written by:
โสภณ แย้มกลิ่น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนใจด้าน Business Model Innovation และการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจการเกษตร https://www.sophony.co/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา