27 ก.พ. 2020 เวลา 07:00
NBA 101 - พื้นฐานที่ควรรู้ สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาหรือเริ่มดู NBA (ตอนที่ 8) - NBA Trade Deadline
บทความนี้ได้ต่อยอดมาจาก NBA 101 ตอนที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการเสริมผู้เล่นเข้าสู่ทีมนะครับ
หลายคนอาจรู้สึกแปลกใจอยู่บ้างว่า ทำไมเวลา American Games มีข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เล่นแล้ว ถ้าข่าวไหนที่เป็นจริง ในระยะเวลาที่ไม่นานนัก Deal นั้นมักจะเกิดขึ้นทันที เหมือนกับว่าการซื้อขายผู้เล่นระหว่างกันสามารถทำได้ตลอดฤดูกาล ไม่เหมือนกีฬาอื่นๆ ที่จะมีการกำหนดเวลาซื้อขายที่แน่นอน
แต่เอาจริงๆ แล้ว American Games ก็มีระยะเวลาในการซื้อขายเช่นกัน เพียงแต่ว่าระยะเวลาจะค่อนข้างนาน และจะกำหนดเฉพาะเงื่อนไขบางอย่างเท่านั้น
ในบทความนี้จะขยายว่า แท้จริงแล้วระยะการซื้อขายของ NBA จะมีกำหนดเวลาถึงช่วงไหนกันแน่ และข้อจำกัดต่างๆ ในการซื้อขายนั้นมีอะไรบ้างครับ
โดยทาง NBA จะเรียกการซื้อขายในลักษณะนี้ว่า NBA Trade Market และ Trade Deadline นั่นเอง
Cr. medium.com
NBA Trade Deadline นั้น สำหรับฤดุกาลล่าสุด (2019/20) ได้ถูกกำหนดไว้ว่าเป็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2020 หรือก่อน All-Star Games ที่จะจัดขึ้นที่ Chicago เป็นเวลา 10 วัน
ที่จริงแล้ว การวาง Deadline ใน NBA นั้น มีมานานมากแล้ว เพียงแต่ว่าวันที่กำหนดนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตามความเหมาะสมและตามข้อกำหนดต่างๆ ของลีก
โดยข้อกำหนดล่าสุดที่จัดให้ Deadline จบก่อนมีงาน All-Stars นั้น เพิ่งจะมีการประกาศใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2017 ที่ผานมานี่เอง (ก่อนหน้านั้นจะกำหนดให้หมดลงในวันพฤหัสบดี ในสัปดาห์หลังจากจบเทศกาล All-Star Games ซึ่งจะอยู่ประมาณสัปดาห์ที่ 17 ของฤดูกาลปกติ)
การ Trade ผู้เล่นนั้น ทางลีกจะมีข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับทีมที่เข้าเงื่อนไขต่างๆ ด้วย ดังนี้
***กรณีที่การ Trade ผู้เล่นระหว่างกันทั้งสองทีมพร้อมกัน (Simultaneous Trade)***
1. กรณีทีมที่ไม่ต้องจ่ายภาษีเพดานค่าเหนื่อย (Non-Taxpaying Team)
โดยปกติแล้วทีมจะสามารถ Trade กันได้โดยตรงโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เพียงแต่ค่าเหนื่อยของผู้เล่นที่ทำการ Trade กันนั้นจะต้องมีความใกล้เคียงกันในระดับหนึ่ง โดยจะมีข้อกำหนดดังนี้
-175% ของสัญญาค่าเหนื่อยปัจจุบันของผู้เล่น (รวมเงินพิเศษอีกไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ) กรณีที่มูลค่าในสัญญาไม่เกิน 6.533 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
-มูลค่าสัญญาค่าเหนื่อยปัจจุบันของผู้เล่น (รวมเงินพิเศษอีกไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ) กรณีที่มูลค่าในสัญญาอยู่ระหว่าง 6.533 จนถึง 19.6 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
-125% ของสัญญาค่าเหนื่อยปัจจุบันของผู้เล่น (รวมเงินพิเศษอีกไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐ) กรณ๊ที่มูลค่าในสัญญามากกว่า 19.6 ล้านเหรียญสหรํฐต่อปีขึ้นไป
ตัวอย่าง เช่น ทีม A ต้องการ Trade ผู้เล่นกับทีม B
-ถ้ามูลค่าสัญญาของผู้เล่นทีม A อยู่ที่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทีม A จะมีสิทธิ์เรียกร้องมูลค่าได้ถึง 8.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามเงื่อนไขแรก
-ถ้ามูลค่าสัญญาของผู้เล่นทีม A อยู่ที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทีม A จะมีสิทธิ์เรียกร้องมูลค่าได้ถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามเงื่อนไขที่สอง
-ถ้ามูลค่าสัญญาของผู้เล่นทีม A อยู่ที่ 20 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทีม A จะมีสิทธิ์เรียกร้องมูลค่าได้ถึง 25.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามเงื่อนไขที่สาม
2. กรณีทีมที่ต้องจ่ายภาษีเพดานค่าเหนื่อย (Taxpaying Team)
ถึงแม้ว่าทีมจะติดภาษีเพดานค่าเหนื่อยก็ตาม แต่ทีมจะยังสามารถทำการ Trade ได้ เพียงแต่ข้อจำกัดจะเหลือแค่การ Trade ผู้เล่นที่มีค่าเหนื่อยในสัญญารวมกันแล้วห่างกันไม่เกิน 125% เท่านั้น
ตัวอย่างเดียวกันกับด้านบน โดยให้ทีม A เป็นทีมที่ต้องจ่ายภาษีเพดานค่าเหนื่อย
-ถ้ามูลค่าสัญญาของผู้เล่นทีม A อยู่ที่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทีม A จะมีสิทธิ์เรียกร้องมูลค่าได้ถึง 6.35 ล้านเหรียญสหรัฐ
-ถ้ามูลค่าสัญญาของผู้เล่นทีม A อยู่ที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทีม A จะมีสิทธิ์เรียกร้องมูลค่าได้ถึง 12.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
-ถ้ามูลค่าสัญญาของผู้เล่นทีม A อยู่ที่ 20 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทีม A จะมีสิทธิ์เรียกร้องมูลค่าได้ถึง 25.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยเงื่อนไข Trade Exception ต่างๆ จะถูกคำนวณไปด้วยเลยจากการใช้สิทธิ์ Trade ในกรณีแบบนี้ (พวก Exception จะมีไว้เพื่อให้การ Trade นั้น เข้าข่ายข้อยกเว้นต่างๆ ที่จะทำให้ทีมไม่ต้องติดเพดานค่าเหนื่อย หรือหากติดก็จะเข้ากรณียกเว้นต่างๆ ที่ทางลีกกำหนด โดยรายละเอียดในส่วนนี้จะขอนำเสนอในโอกาสต่อไป)
แต่จะมีบางกรณ๊ที่การ Trade ผู้เล่น จะไม่อยู่ในข้อกำหนดดังกล่าว เช่น กรณีที่ทีมใช้สิทธิ์ Sign and Trade (ส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงปิดฤดูกาล ทีมจะทำการเซ็นสัญญาผู้เล่นเพื่อให้อยู่ในสังกัด แต่ทีมจะเอาผู้เล่นคนนั้น Trade ต่อทันที เพื่อให้เข้าเงื่อนไขการ Trade ผู้เล่นที่มีมูลค่าใกล้เคียงกัน) ดังนั้นบางทีมจึงเลือกที่จะใช้วิธีนี้ในการ Trade ผู้เล่นแทน (แต่การ Trade ด้วยวิธีนี้ก็จะมีข้อกำหนดที่แตกต่างออกไปเช่นกัน ซึ่งจะขอนำเสนอในโอกาสต่อไป)
***กรณีที่การ Trade เป็นการส่งผู้เล่นเพียงฝ่ายเดียว และไม่ได้ทำการ Trade ผู้เล่นกลับมาพร้อมกัน (Non-Simultaneous Trade)***
กรณีนี้มักจะเกิดกับทีมที่ต้องการ Rebuild หรือสร้างทีมใหม่ หรือทีมที่ต้องการระบายผู้เล่นออกเพื่อไม่ให้โดนเพดานค่าเหนื่อย โดยจะเป็นการส่งผู้เล่นในทีมไปให้ทีมอื่น แต่จะยังไม่ได้ทำการ Trade ผู้เล่นคนอื่นกลับมาในทันที
ทีมนั้นจะมีระยะเวลาหนึ่งปีหลังการ Trade เกิดขึ้น ในการหาผู้เล่นมาเข้าสู่ทีม (ไม่จำเป็นต้องมาจากทีมที่ส่งผู้เล่นไปให้เท่านั้น) แต่มูลค่าจะต้องเท่ากับมูลค่าสัญญาค่าเหนื่อยของผู้เล่นที่ปล่อยออกไป + เงินพิเศษไม่เกิน 1 แสนเหรียญสหรัฐเท่านั้น โดยมูลค่าที่ได้มานี้จะถือว่าเป็น Trade Exception ประเภทหนึ่ง แต่ถ้าไม่ใช้จนครบหนึ่งปีแล้ว สิทธิ์นี้จะหายไปทันที
ตัวอย่าง เช่น ทีม A ส่งผู้เล่นที่มีสัญญาค่าเหนื่อย 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีไปให้ทีม B แต่ไม่ได้รับผู้เล่นคนอื่นกลับมา ในกรณีนี้ ทีม A จะมีเวลาหนึ่งปีในการหาผู้เล่นที่มีสัญญารวมกันไม่เกิน 10.1 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าสู่ทีม
***กรณีที่ใช้ทั้งสองกรณีร่วมกัน***
ในการ Trade บางครั้ง อาจเข้าเงื่อนไขทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ ถ้ามูลค่าในการ Trade นั้นไม่ได้ใกล้เคียงกัน
โดยปกติแล้ว ทีมที่มักจะทำการ Trade มักจะมีสาเหตุหลักๆ อยู่ 3 อย่าง
1. ทีมต้องการเสริมผู้เล่นเพื่อเตรียมทีมเข้าสู่ช่วงสำคัญอย่าง PlayOffs
2. ทีมต้องการเข้าสู่โหมด Rebuild หรือการสร้างทีมใหม่ ทีมเลยต้องการปล่อยผู้เล่นที่มีมูลค่าในสัญญาสูงออกไปเพื่อเคลียร์เพดานค่าเหนื่อยของทีม
3. กรณีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ 2 ข้อด้านบนซะทีเดียว
ดังนั้นในการปล่อยผู้เล่นออกจากทีมนั้น การที่จะหาทีมอื่นมารับสัญญาแพงๆ ของผู้เล่นที่สังกัดนั้น อาจทำให้ไม่สามารถเข้าข่ายกรณี Trade ตามด้านบนได้ ทำให้การ Trade อาจเกิดทั้งสองกรณีพร้อมกันได้ และส่วนมากจะเกิดกับการ Trade ผู้เล่นหลายคนพร้อมกัน (หรือการ Trade ผู้เล่นที่มีคู่กรณีมากกว่า 2 ทีม)
เนื่องจากโดยปกติแล้ว การ Trade แบบ 1-1 อาจไมไ่ด้เกิดขึ้นง่ายๆ ทางทีมที่เสนอ Trade จึงอาจต้องมีการเพิ่ม Option ต่างๆ เข้าไปด้วย เพื่อจูงใจให้ทีมคู่กรณียอมรับเงื่อนไขในการ Trade ได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่าง เช่น การ Trade ระหว่าง Clippers กับ Pistons ที่ถือว่าเป็นการ Trade ที่มีมูลค่าสัญญารวมกันค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
โดย Clippers ทำการส่ง Blake Griffin, Willie Reed และ Brice Johnson ในขณะที่ได้ Tobias Harris, Avery Bradley, และ Boban Marjanovic กลับมา
ผลจากการ Trade นี้ ทำให้ทั้งสองทีมไม่ต้องเสียภาษีเพดานค่าเหนื่อย และใน Case นี้ จะสามารถแจงรายละเอียดในการ Trade ได้ดังนี้
1. ในมุมของ Clippers
-Griffin (29.5 ล้าน) สามารถ Trade ได้กับ Harris (16 ล้าน) / Bradley (8.8 ล้าน) และ Marjanovic (7 ล้าน) ซึ่งจะเข้าเงื่อนไข Simultaneous Trade ที่ทีมจะได้มูลค่าสัญญากลับมาได้สูงสุด 36.99 ล้าน ทำให้การ Trade สำเร็จ
-Reed (1.47 ล้าน) และ Johnson (1.33 ล้าน) เป็นการ Trade ที่ไมไ่ด้อะไรกลับมา ทำให้เข้าเงื่อนไข Non-Simultaneous Trade ทีมจะมี Exception เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อหาผู้เล่นที่มีสัญญารวมกันไม่เกิน 2.8 ล้าน เข้าสู่ทีม
2. ในมุมของ Pistons
-Harris (16 ล้าน) และ Bradley (8.8 ล้าน) สามารถ Trade ได้กับ Griffin (29.7 ล้าน - จะเห็นว่าเงื่อนไขสัญญาค่าเหนื่อยไม่เท่ากับในมุมของ Clippers เพราะเจ้าตัวมีโบนัสพิเศษระบุไว้ในสัญญา) และ Johnson (1.33 ล้าน) ซึ่งจะเข้าเงื่อนไข Simultaneous Trade ที่ทีมจะได้มูลค่าสัญญากลับมาได้สูงสุด 31.1 ล้าน ทำให้การ Trade สำเร็จ
-Reed (1.47 ล้าน) เป็นการใช้ Minimum-Salary Exception ที่จะเป็นสัญญาค่าเหนื่อยขั้นต่ำที่ทีมจะสามารถเซ็นผู้เล่นได้ (ค่าเหนื่อยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนปีที่เล่นใน NBA)
-Marjanovic (7 ล้าน) เป็นการ Trade ที่ไมไ่ด้อะไรกลับมา ทำให้เข้าเงื่อนไข Non-Simultaneous Trade ทีมจะมี Exception เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อหาผู้เล่นที่มีสัญญารวมกันไม่เกิน 7 ล้าน เข้าสู่ทีม
จากด้านบนจะเป็นข้อกำหนดและตัวอย่างง่ายๆ ในการ Trade ผู้เล่นกันระหว่างทีม
แต่ทีจริงแล้ว การ Trade ผู้เล่นกันแบบเพียวๆ นั้น มักจะไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการ Trade ผู้เล่นที่มีมูลค่าสัญญาสูงๆ หรือเป็นตัวหลักของทีม
ดังนั้น ทีมต่างๆ จึงต้องมีการเพิ่ม Option พิเศษที่ทีมมีอยู่ เพื่อจูงใจให้อีกฝ่ายรับข้อเสนอได้ง่ายขึ้น โดยอาจจะเป็นสิทธิ์ Draft / เงินสด / ผู้เล่นที่เข้าเงื่อนไข Exception ที่จะไม่ถูกรวมกับข้อกำหนดในการ Trade เป็นต้น
และเนื่องจากหากการ Trade สัมฤทธิ์ผลแล้วนั้น ทีมที่ได้ผู้เล่นใหม่จะต้องทำการจ่ายเงินค่าเหนื่อยตามสัญญาที่ระบุไว้ของผู้เล่นใหม่ทันที ในกรณีนี้ ทีมทีต้องแบกรับค่าเหนื่อยปริมาณมหาศาล จึงมักที่จะชะลอการใช้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ได้นานที่สุด
การ Trade ผู้เล่นหลังฤดูกาลปกติเริ่มต้นไปแล้วจึงมักจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก จนกระทั่งใกล้ถึงวันสุดท้ายหรือ Trade Deadline นั่นเอง
แต่ถ้าเป็นการเซ็นสัญญากับผู้เล่นที่ไม่มีสังกัด อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาถ้าทีมนั้นต้องการ โดยไม่มี Deadline มาเกี่ยวข้อง เช่น การที่ Portland Trail Blazers ได้เซ็นสัญญากับ Carmelo Anthony หลังจากที่ไม่มีทีมในสังกัดเป็นเวลานานมากๆ เนื่องจากทีมต้องการผู้เล่นที่สามารถประคองทีมได้ หลังจากทีมมีปัญหาในการบริหารผู้เล่นมาก เนื่องจากอาการบาดเจ็บ
จากข้อกำหนดต่างๆ จะเห็นว่าจริงๆ แล้วรายละเอียดในการเซ็นสัญญาผู้เล่น หรือการ Trade ผู้เล่น หรือการเสริมทีมด้วยวิธีการต่างๆ จะมีข้อกำหนดมากมายเลยทีเดียว ทั้งเงื่อนไข และข้อยกเว้นต่างๆ
แต่ในบทความนี้จะนำเสนอแค่พื้นฐานในการ Trade และวันที่กำหนดไว้ก่อน เพื่อเป็นแนวทางให้คุณผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ในส่วนของรายละเอียดต่างๆ ถ้ามีโอกาสจะนำเสนอในโอกาสถัดไปครับ (บางเรื่องขอยอมรับว่าผู้เขียนก็ยังไม่อาจทำความเข้าใจได้ทั้งหมดเช่นกัน เนื่องจากรายละเอียดนั้นถือว่าเยอะและค่อนข้างซับซ้อน)
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสถัดไปครับ
ถ้าชอบบทความ รบกวนฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
BombWalkerz

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา