6 ก.ย. 2022 เวลา 07:00 • กีฬา
NBA 101 - พื้นฐานที่ควรรู้ สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาหรือเริ่มดู NBA (ตอนที่ 9) - การยกเลิกสัญญาผู้เล่น
ในบทความนี้จะขอพูดถึงเกี่ยวกับการยกเลิกสัญญาผู้เล่นกันนะครับ
ก่อนที่ฤดูกาล 2022-23 ที่กำลังจะเริ่มขึ้น เราได้เห็นข่าวว่าผู้เล่นอย่าง John Wall ได้ตกลง Buyout สัญญาออกมาจาก Rockets และมาอยู่ Clippers แทนด้วยค่าเหนื่อยขั้นต่ำ
ทำไม Clippers ถึงทำแบบนั้นได้ และทำได้อย่างไร
Rockets อำลา John Wall หลังยกเลิกสัญญาเป็นที่เรียบร้อย
การยกเลิกสัญญา โดยปกติจะทำได้ 2 วิธีด้วยกัน ดังนี้
1. Buyout
การยกเลิกสัญญาด้วยวิธีนี้ จะเป็นการที่ทีมได้เจรจากับผู้เล่น ว่าจะตกลงยกเลิกสัญญา โดยจ่ายค่าเหนื่อยตามจำนวนที่เหลือในสัญญาให้ แต่จะเป็นการจ่ายแบบไม่ครบจำนวนที่ควรจะได้ เช่น ถ้าสัญญาที่เหลืออยู่ที่ 20 ล้าน ทีมจะตกลงยกเลิกสัญญาโดยจ่ายต่ำกว่านั้น เป็นต้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะตกลงกันได้แบบไหน
หลังจากที่ตกลง Buyout กันเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่นคนดังกล่าวจะต้องรอ 48 ชั่วโมง โดยจะเรียกช่วงเวลาระหว่างรอนี้ว่า Clear waivers period พอครบแล้ว ผู้เล่นก็จะสามารถเซ็นสัญญาเข้าสู่ทีมใหม่ได้อย่างอิสระ กลายเป็น Free Agents แบบเต็มตัว
2. Waivers
การยกเลิกสัญญาด้วยวิธีนี้ จะแตกต่างจากกรณีแรกอยู่เล็กน้อย นั่นคือ ทีมจะตัดสินใจยกเลิกสัญญาโดยทันที ไม่ได้ทำการปรึกษากับผู้เล่นก่อนนั่นเอง เพียงแต่ว่าการยกเลิกสัญญาด้วยวิธีนี้ ทีมจะต้องจ่ายค่าเหนื่อยเต็มจำนวนให้แทน
ทีมจะไม่ต้องจ่ายค่าเหนื่อยเลยก็ได้ หากว่าระหว่าง Clear waiver period นั้นได้มีทีมอื่นมาขอ "เหมา" สัญญาส่วนที่เหลือนั้นด้วยการจ่ายค่าเหนื่อยแทนทั้งหมด แต่ปกติกรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย ทำให้พอหมดช่วงเวลาดังกล่าว ทีมต้นสังกัดเก่าก็จะจ่ายค่าเหนื่อยให้เต็มจำนวน แล้วปล่อยให้ผู้เล่นนั้นได้หาทีมใหม่อย่างอิสระต่อไปแทน
แต่การยกเลิกสัญญาก็จะถือว่าทีมจะมีข้อเสียไปด้วย ถึงแม้ผู้เล่นคนนั้นจะไม่อยู่แล้ว แต่ค่าเหนื่อยก็จะยังถูกนับรวมอยู่ใน Salary Cap ของทีมเหมือนเดิม
หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้างั้นทำแบบนี้แล้วทีมจะได้ประโยชน์อะไรกับสิ่งที่ดูเหมือนเสียมากกว่าได้แบบนี้บ้าง
1. การตัดตัวผู้เล่นให้ไม่เกินโควต้า
ถึงแม้ว่าช่วง Offseason ลีกจะอนุญาตให้แต่ละทีมมีผู้เล่นในสังกัดได้ถึง 20 คน แต่พอเข้า Training Camp แล้ว ทีมต้องตัดให้เหลือ 15 คนเท่านั้น (ไม่รวมผู้เล่นสัญญาแบบ Two-Way อีกสองคน) รายละเอียดของกรณีนี้สามารถดูได้ในตอนก่อนหน้าของ Series นี้ครับ
ในเมื่อทีมต้องการตัดผู้เล่นดังกล่าวออก ทีมก็จะต้องใช้วิธีการยกเลิกสัญญาแทน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เล่นที่มีสัญญาแบบระยะสั้นก็จะถูก Waived ออกไปเลย ส่วนผู้เล่นที่มีสัญญาค่าเหนื่อยสูงก็จะเจรจา Buyout แทน
2. ทีมยอม Cut Losses เจ็บแต่จบ
บางคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมทีมถึงไม่เอาผู้เล่นคนดังกล่าวไป Trade มากกว่าจะมายกเลิกสัญญา อย่างน้อยทีมก็ได้อะไรกลับมาบ้าง สาเหตุหลักก็คือ ทีมไม่สามารถหาคู่ Trade ที่จะมารับสัญญาที่เหลือต่อได้ ซึ่งมีปัจจัยมาจากฟอร์มการเล่นของผู้เล่นคนดังกล่าวไม่สมกับค่าเหนื่อยที่ได้รับ
กรณีอย่าง Russell Westbrook กับ Lakers น่าจะเห็นได้ชัดที่สุดในฤดูกาลนี้ มีข่าวมากมายว่า Lakers อยาก Trade ออกเหลือเกิน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีทีมไหนมาสนใจอย่างจริงจัง เนื่องจากฟอร์มตกลงไปมาก ไม่เหลือฟอร์มอดีต MVP สมัยที่อยู่ Thunder เลยแม้แต่น้อย
Russell Westbrook
เพียงแต่ทีมยังอยู่ในโหมด Win now เลยไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ ผลที่เกิดขึ้นจะเสียมากกว่าได้ ทีมเลยพยายามเข้าไปแทรกแซงเป็นทีมที่สามในการ Trade ที่เกิดขึ้นเพื่อให้คู่สัญญาทำการ Buyout ให้แทน ซึ่งเหตุผลข้อนี้จะกล่าวถึงต่อไป
3. ผู้เล่นไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับเป้าหมายของทีม
หากทีมนั้นกำลังเข้าสู่ช่วงสร้างทีมใหม่ (Rebuild) และกำลังลุ้นอันดับ Draft ในฤดูกาลถัดไป การที่มีผู้เล่นที่มีประสบการณ์แต่ค่าเหนื่อยสูงในทีมก็อาจไม่ดีนัก
ส่วนมากทีมที่อยู่ในช่วง Rebuild จึงจะค่อนข้างเปิดรับข้อเสนอที่อิงกับเหตุผลข้อ 2 ด้วย เพราะต้องอย่าลืมว่าทางลีกมีการปรับหากมีการใช้ค่าเหนื่อยเกินกว่าเพดานขั้นต่ำประจำฤดูกาล (ซึ่งฤดูกาล 2022-23 เพดานขั้นต่ำอยู่ที่ 111.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
หนึ่งในทางเลือกที่ดีในช่วง Rebuild คือการรับแบกสัญญาผู้เล่นประเภทนี้เอาไว้ แล้วทำการ Buyout ออกไปนั่นเอง (และจะได้ให้เด็กในทีมได้มีเวลาลงเล่นเก็บประสบการณ์มากขึ้นด้วย เผื่อพัฒนากลายเป็นแกนหลักในอนาคตได้ เป็นปัจจัยทางอ้อม)
เพียงแต่การที่ทีมจะรับการแบกค่าเหนื่อยผู้เล่นแบบนี้ อีกฝ่ายก็ต้องมอบสิทธิพิเศษอะไรมาให้เพิ่มเติมด้วย ไม่อย่างนั้นมีหรือที่ทีมจะยอมทำให้โดยที่อีกฝ่ายไม่ต้องเสียอะไรเลย ทำให้ส่วนใหญ่แล้ว ทีมที่ต้องการส่งผู้เล่นให้อีกฝ่าย Buyout ก็จะต้องแถมสิทธิ์ Draft ไปด้วยเพื่อเพิ่มโอกาสให้อีกฝ่ายยอมตกลงรับเงื่อนไขนี้ให้มากขึ้น
กรณีอย่าง John Wall กับ Rockets นั้นอยู่ในกรณีนี้แบบนี้ เห็นได้ชัดว่าทีมจะเข้าสู่ช่วง Rebuild เลยไม่ได้ใช้งานเขาเลยตลอดฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เลยจบด้วยการ Buyout ออกมา ให้เขาได้เข้าไปอยู่กับทีมลุ้นแชมป์อย่าง Clippers ด้วยการเซ็นสัญญาระยะสั้นพร้อมค่าเหนื่อยขั้นต่ำเท่านั้น เนื่องจากตัวเขาได้ค่าเหนื่อยจากทาง Rockets มาแล้ว จึงเซ็นแค่ระยะสั้นเพื่อล่าแหวนแชมป์ติดตัว แล้วถ้าโชว์ฟอร์มได้ดี ก็มีโอกาสที่จะได้รับสัญญาที่ค่าเหนื่อยสูงขึ้นในฤดูกาลถัดไป
เนื่องจากการยกเลิกสัญญา จะทำให้มูลค่าที่เหลือนั้นกลายเป็นสัญญาการันตีเต็มจำนวนโดยอัตโนมัติ ส่วนใหญ่ทีมเลยเลือกที่จะยกเลิกสัญญาในปีสุดท้ายของสัญญาฉบับปัจจุบันเท่านั้น ยกเว้นผู้เล่นที่ค่าเหนื่อยไม่สูง บางกรณีก็มักจะยกเลิกสัญญาที่เหลือมากกว่าหนึ่งปีไปเลย เพราะต้องอย่าลืมว่าค่าเหนื่อยก็จะยังถูกคำนวณใน Salary Cap เหมือนเดิม เลยจะมีคำเรียกพวกนี้ว่า Dead Cap หรือการที่ทีมเสีย Cap แต่ไม่มีผู้เล่นให้ใช้งาน
ถ้าย้อนกลับไปสักหน่อย Pistons น่าจะรู้สึกเจ็บปวดกับ Case แบบนี้มากที่สุด กับการตกลง Buyout สัญญา Blake Griffin ที่เหลืออยู่สองปี โดยที่สัญญาเดิมอยู่ที่ 45.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนที่จะตกลง Buyout กันได้ที่ 29.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่หาคู่ Trade ให้ไม่ได้เสียทีระหว่างที่ทีมตัดสินใจ Rebuild ก่อนที่เจ้าตัวจะย้ายไปอยู่กับ Nets ในเวลาต่อมา
Blake Griffin สมัยอยู่ Pistons
แต่นั่นก็ทำให้ทีมได้ Draft อันดับที่ 1 และเริ่มสร้างทีมใหม่โดยได้ดาวรุ่งอย่าง Cade Cunningham เข้าสู่ทีมแทนนั่นเอง
สุดท้ายนี้ ผู้เล่นที่ถูกยกเลิกสัญญา จะกลายเป็น Unrestricted Free Agent (UFA) ในทันทีที่หลังจากช่วง Clearing waiver period ได้สิ้นสุดลง สามารถเซ็นสัญญาใหม่กับทีมไหนก็ได้ แต่ก็จะมีข้อยกเว้นบางประการ เช่น ผู้เล่นไม่สามารถเซ็นสัญญากับทีมที่ทำการยกเลิกสัญญาได้อีกอย่างน้อยหนึ่งปีหรือจนกว่าสัญญาฉบับปัจจุบันจะหมดลง ขึ้นกับว่าอย่างไหนยาวนานกว่ากัน
บางทีมเลยหาทางใช้เทคนิคบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงกฎนี้ ที่น่าจะเห็นได้ชัดที่สุดคือ Zydrunas Ilgauskas ในปี 2010 ที่ทางต้นสังกัดอย่าง Cavaliers ได้ทำการ Trade ไปให้กับ Wizards โดยที่ฝั่งนั้นไม่ใช้งานจึงทำการ Waived ยกเลิกสัญญา แล้วสุดท้ายก็เป็น Cavaliers ที่เซ็นกลับเข้าสู่ทีมอีกครั้ง
เหตุผลที่ทีมต้องการทำแบบนี้ เนื่องจากการจะปรับสัญญาใหม่นั้นจะไม่สามารถทำในทันทีได้ ทีมจะสามารถทำได้แค่เพียงขยายสัญญาออกไปจากของเดิมเท่านั้น หากทีมต้องการจะปรับค่าเหนื่อยใหม่อย่างทันทีทันใด ก็ต้องอาศัยทีมอื่นช่วยในการที่จะยกเลิกสัญญาแล้วจ้างกลับมาใหม่แทน แต่ Case แบบนี้ก็เกิดขึ้นไม่บ่อยเช่นกัน
หวังว่าคุณผู้อ่านจะเข้าใจเรื่องการยกเลิกสัญญาได้มากขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยหลังจากที่อ่านบทความนี้จบแล้วนะครับ
ช่วงปิดฤดูกาลแบบนี้บทความก็จะน้อยลงตามไปด้วย ประกอบกับผู้เขียนได้ตัดสินใจเรียนต่อ ทำให้มีเวลาเขียนบทความน้อยลงครับ ประวัติทีมที่เคยบอกไว้ว่าจะลงให้ครบก็ดูท่าจะทำไม่ทันเสียแล้ว แต่บทความเกี่ยวกับฤดูกาลใหม่ก็ยังจะพยายามทำอยู่นะครับ
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้าครับ
ขอบคุณที่เข้ามารับชมครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา