2 ม.ค. 2020 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๓๔ พระใหม่หลงผิด
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาประทับที่โรงธรรมแล้ว พระเทวทัตก็ขอโอกาสเสนอกฎเหล็กทั้ง ๕ ข้อทันที (อ่านรายละเอียดตอนที่ ๓๓) พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่า
“อย่าเลย เทวทัต
ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้นจงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงอยู่ในบ้าน
รูปใดปรารถนา จงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีกิจนิมนต์
รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร
เราอนุญาตโคนไม้เป็นเสนาสนะ ๘ เดือน
เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ”
โดยสรุป คือ
๓ ข้อแรกพระองค์มิได้บังคับ ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้
ข้อ ๔ อนุญาตแค่ ๘ เดือน อีก ๔ เดือนที่ห้ามเพราะเป็นช่วงฤดูฝน ต้องอยู่ในที่มุงบัง
ข้อ ๕ อนุญาตให้ฉันเนื้อได้ แต่ต้องไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่รังเกียจ ว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน
“เป็นไปตามแผน” พระเทวทัตคิด จากนั้น ก็ถวายบังคม และทำประทักษิณ (เดินรอบพระพุทธองค์โดยหันข้างขวาให้ตามเข็มนาฬิกา เป็นอาการแสดงออกถึงความเคารพในยุคนั้น) พระผู้มีพระภาค แล้วกลับไป
ต่อมาพระเทวทัต กับ ลูกทีม ก็ไปป่าวประกาศให้ชาวนครราชคฤห์ทราบว่า ตัวเองทูลเสนอกฎเหล็ก ๕ ข้อกับพระพุทธองค์ แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต แต่พวกอาตมาจะทำตามกฎเหล็กทั้ง ๕ ข้อนี้โดยเคร่งครัด
การป่าวประกาศ ไม่ได้หมายถึงเดินไปบอกแต่บ้านแต่ละหลังนะ ในยุคนั้น จะมีสถานที่สำหรับกระจายข่าวอยู่ในพระนคร พระเทวทัตไปประกาศข่าว ณ ตรงนั้น ซึ่งก็เป็นที่เดียวกับที่พระสารีบุตร ทำปกาสนีกรรม คือไปประกาศข่าวว่า พระเทวทัตเปลี่ยนไปนั่นเอง (รายละเอียดอยู่ในตอนที่ ๑๑)
การประกาศของพระเทวทัตในครั้งนี้ ก็เพื่อหาพวกนั่นเอง ทำให้ชาวนครราชคฤห์หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าพระเทวทัตดีกว่าพระพุทธเจ้า ใครคิดอย่างนี้ก็ติเตียนพระพุทธเจ้า แล้วมาเข้าพวกกับพระเทวทัต ส่วนใครรู้ทันพระเทวทัตก็จะติเตียนพระเทวทัตว่าต้องการทำลายสงฆ์
หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน พระเทวทัตได้พบกับพระอานนท์ (ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในตอนที่ ๓๒) ในขณะกำลังบิณฑบาต เนื่องจากพระเทวทัตคุ้นเคยกับพระอานนท์มาตั้งแต่สมัยเป็นเจ้าชายด้วยกัน (ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในตอนที่ ๓) จึงเดินไปบอกกับพระอานนท์ว่า จากนี้ไปจะขอแยกทำสังฆกรรม จะไม่ร่วมทำสังฆกรรมกับพระพุทธเจ้าอีกต่อไป
พระอานนท์นำเรื่องนี้ไปกราบทูลกับพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงสดับแล้ว ก็เปล่งพระอุทานในเวลานั้นทันที เป็นพระอุทาน ที่เราชาวพุทธคุ้นหูกันมาตั้งแต่เด็ก คำอุทานนั้นก็คือ
ความดี คนดีทำง่าย
ความดี คนชั่วทำยาก
ความชั่ว คนชั่วทำง่าย
แต่คนดี ทำความชั่วได้ยาก ฯ
ในนครราชคฤห์ ไม่ได้มีวัดเวฬุวันวัดเดียว มีวัดใหญ่ๆ ทั้งในและรอบเมืองอยู่ถึง ๑๘ วัด พอถึงวันอุโบสถ หรือวันพระ (แรม ๑๕ ค่ำ กับ ขึ้น ๑๕ ค่ำ) ทั้ง ๑๘ วัดก็จะมีการประชุมเพื่อทบทวนศีลที่มีในพระปาฏิโมกข์ (๒๒๗ ข้อ) และมีอยู่วัดหนึ่งซึ่งจะมีพระใหม่เป็นส่วนใหญ่ พระเทวทัตเลือกไปลงอุโบสถวัดนั้น พอได้จังหวะก็ลุกขึ้นประกาศ พอสรุปใจความได้ว่า
“กระผมเสนอวัตถุ (กฎเหล็ก) ๕ ประการกับพระพุทธเจ้าแต่พระองค์ไม่ทรงอนุญาต แต่อย่างไรก็ตามกระผมจะทำตามวัตถุทั้ง ๕ ประการนั้น ใครจะเห็นด้วยกับวัตถุ ๕ ประการนี้ ก็ขอให้แยกตัวออกจากพระพุทธเจ้า แล้วตามกระผมมาเถิด”
ได้ผล มีพระบวชใหม่ (ที่ความรู้ในพระพุทธศาสนายังมีน้อย) จากแคว้นวัชชีประมาณ ๕๐๐ รูป หลงเชื่อพระเทวทัต ตามพระเทวทัตไปที่ตำบลคยาสีสะ ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งในแคว้นมคธ
จะสังเกตว่า พระเทวทัตก็ฉลาดไม่ใช่เล่น เพราะรู้ว่าชาวนครราชคฤห์รู้ไส้รู้พุงของตัวเองหมดแล้ว ดังนั้นจะไปกล่อมเกลาล้างสมองอะไรๆ กับชาวนครราชคฤห์ ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเลือกที่จะไปล้างสมองพระภิกษุที่มาจากต่างบ้านต่างเมืองแทน แล้วได้ผลเสียด้วย
ในที่สุด พระเทวทัตก็ทำสังฆเภทสำเร็จ หรือทำอนันตริยกรรมสำเร็จ แต่เป็นความสำเร็จที่ต้องแลกกับความทุกข์ทรมานอันแสนยาวนานในอเวจีมหานรก (ได้กล่าวไว้บ้างแล้ว ในตอนที่ ๑๓)
เรื่องนี้ ทราบไปถึงพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ อัครสาวกทั้งสองจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลกับพระพุทธองค์ แล้วพระพุทธองค์จะมีรับสั่งอย่างไร ก็ต้องติดตามตอนต่อไปแล้วล่ะจ้ะ ... จบตอนที่ ๓๔

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา