3 ม.ค. 2020 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๓๕ พระใหม่กลับใจ
ในยุคนี้ การจะมีโครงการทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องมีการทำวิจัยใช่ไหมเอ่ย ว่าสมควรทำไหม หากทำแล้วจะให้ประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร ใครเป็นคนทำ เป็นต้น
พระพุทธองค์ก็เหมือนกัน ท่านอุบัติขึ้นมาเพื่อโปรดสัตว์โลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะโปรดทุกคน จะโปรดใครท่านก็ต้องดูก่อนว่าโปรดได้ไหม เกิดประโยชน์สูงสุดหรือเปล่า เพราะเวลาของพระองค์ท่านมีจำกัด
พระองค์ท่านจึงต้องมีญานหยั่งรู้ชนิดหนึ่ง ท่านเรียกญานนี้ว่า
“อินทริยปโรปริยัตตญาน”
หมายถึงญานที่หยั่งรู้ อินทรีย์ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) หรือ บุญบารมีของสรรพสัตว์ ว่ามีความแก่กล้า พอที่จะบรรลุธรรมหรือไม่
เมื่อมีเหตุที่พระใหม่จากแคว้นวัชชีประมาณ ๕๐๐ รูป หลงผิดตามพระเทวทัตไป ท่านก็ใช้ “อินทริยปโรปริยัตตญาน” ตรวจตราดูว่าภิกษุใหม่ที่หลงผิด มีอินทรีย์ หรือ บุญบารมีแก่กล้าพอจะบรรลุธรรมได้หรือไม่ พระองค์ก็พบว่า มีอยู่เหมือนกัน
เมื่อพบว่า “มีอยู่” พระองค์ก็ต้องหาใครสักคนไปทำหน้าที่แก้ไขความหลงผิดอันนั้น แล้วพระองค์ก็พบว่า ต้องเป็นอัครสาวกทั้งสองเท่านั้น ที่จะทำหน้าที่นี้ได้ โดยเฉพาะพระสารีบุตร เพราะท่านมีบุญเก่าด้านการประคับประคองหมู่คณะข้ามชาติติดตัวมา (จะเล่าให้ฟังในตอนที่ ๓๖)
“สารีบุตร โมคคัลลานะ เรารู้ว่า พวกเธอมีความกรุณาในภิกษุใหม่ พวกเธอจงรีบไปแก้ไขความหลงผิดของภิกษุใหม่เหล่านั้นเถิด ก่อนที่ภิกษุเหล่านั้นจะถึงความย่อยยับ”
พระพุทธองค์มีรับสั่งกับพระอัครสาวกทั้งสอง พระอัครสาวกทั้งสองก็ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว ก็ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเดินทางไปยังตำบลคยาสีสะ
เมื่อพระอัครสาวกทั้งสอง ไปถึงสำนักของพระเทวทัตที่ตำบลคยาสีสะ พระเทวทัตก็กำลังแสดงธรรมให้ภิกษุใหม่ฟังอยู่ พอพระเทวทัตเห็นพระอัครสาวกทั้งสองมาแต่ไกลเท่านั้นแหละก็ดีใจ บอกกับภิกษุใหม่เหล่านั้นว่า
“พวกท่านเห็นไหม ขนาดอัครสาวกทั้งสอง ยังชอบใจในคำสอนของเราเลย จึงออกจากสำนักของพระพุทธเจ้า มาอยู่กับเรา”
มือขวาของพระเทวทัต คือ พระโกกาลิกะ (ได้กล่าวไว้บ้างแล้วในตอนที่ ๓๓) นั่งอยู่ใกล้ๆ พระเทวทัต ก็กระซิบกับพระเทวทัตว่า
“ท่านเทวทัต อย่าไว้ใจพระอัครสาวกทั้งสองนะ ไม่มาดีหรอก เชื่อเหอะ”
“พระอัครสาวกทั้งสองมาดี เพราะชอบใจคำสอนของเรา เชื่อฉันเหอะ” พระเทวทัตบอกพระโกกาลิกะ
พระเทวทัตเชื้อเชิญ ให้อัครสาวกทั้งสองนั่งในตำแหน่งเดียวกับตน แต่พระอัครสาวกทั้งสองปฏิเสธ เลือกที่นั่งที่สมควรอีกที่หนึ่ง
“ขอท่านทั้งสองโปรดแสดงธรรมแก่เหล่าภิกษุทั้งหลายนี้เถิด เราเมื่อยหลังจะเอน” (นอนพักผ่อนสักหน่อย)
หมายเหตุ คำว่า “เราเมื่อยหลังจะเอน” เป็นการแสดงอาการเลียนแบบพระพุทธองค์ เนื่องจากในเวลานั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีประชนมายุ ๗๒ พรรษาแล้ว (พระเทวทัตก็มีอายุใกล้เคียงกัน) แม้พระองค์จะเป็นถึงพระพุทธเจ้า แต่วิบากกรรมเก่าก็ยังตามเล่นงานพระองค์อยู่ พระองค์จึงเป็นโรคปวดหลัง นั่งแสดงธรรมนานๆ ไม่ได้ พอปวดมากเข้า ก็จะขอพัก แล้วบอกให้พระอัครสาวกทั้งสองแสดงธรรมแทน ก่อนที่พระองค์จะไปเอนนอนพักผ่อน ซึ่งระยะหลังในช่วงวัยชรา พระพุทธองค์จะทำอย่างนี้เป็นประจำ
พระเทวทัตจึงแสดงอาการเลียนแบบตีเสมอ เพื่อให้คนอื่นเห็นว่า ตัวเองก็เป็นพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน แต่เลียนแบบได้เฉพาะพฤติกรรมทางกายเท่านั้น ส่วนทางจิต ไม่อาจจะเลียนแบบได้ พระพุทธองค์ทรงเอนนอนพักผ่อนอย่างมีสติ แต่พระเทวทัตพอเอนนอนปุ๊บ ก็หลับปั๊บ ไม่มีสติทันที
ปกติพระเทวทัต ไม่ชอบพระอัครสาวกทั้งสองนะ (กล่าวไว้บ้างแล้วตอนที่ ๑๐) เพราะริษยาที่มีคนให้ความเคารพนับถือมากกว่า แต่วันนั้นน่าจะเป็นวันดีของพระเทวทัต คือ เป็นวันที่พระเทวทัตหมดโอกาสที่จะสร้างกรรมหนักๆ ได้อีก จึงทำให้เข้าใจผิดว่า พระอัครสาวกทั้งสองชอบใจในคำสอนของตน และอีกอย่างตนเองก็คงจะเหน็ดเหนื่อยจากความพยายามในการทำสังฆเภทมามาก จึงปล่อยให้พระอัครสาวกทั้งสองแสดงธรรมแทนตน
นอกจากนี้ ยังมีเบื้องหลังลึกๆ ในอดีตอีก โดยเฉพาะพระสารีบุตร กับ พระเทวทัต เคยมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในภพชาติอดีต (จะกล่าวในตอนที่ ๓๖) อาจจะเป็นด้วยความรู้สึกลึกๆ อันนี้ด้วย จึงทำให้พระเทวทัตให้การต้อนรับพระอัครสาวกทั้งสองอย่างดี
ส่วนพระสารีบุตร กับ พระโมคคัลลานะ ก็ช่วยกันแสดงธรรมและสอนสมาธิให้ภิกษุใหม่เหล่านั้น จนภิกษุใหม่ทั้งหมดบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น คือเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมด เป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย และไม่เป็นผู้หลงผิดอีกต่อไป
“ท่านทั้งหลาย เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้ใดชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ผู้นั้นจงตามเรามาเถิด”
พระสารีบุตรกล่าวในตอนท้าย และพระภิกษุใหม่ประมาณ ๕๐๐ ก็ตามพระอัครสาวกทั้งสองไป ไม่เหลือใครอยู่กับพระเทวทัตเลยแม้แต่รูปเดียว
“อินทริยปโรปริยัตตญาน” ของพระพุทธองค์ช่างแม่นยำ พระอัครสาวกทั้งสอง ก็ทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมสมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากพระพุทธองค์
อะไรอยู่เบื้องหลังที่พระพุทธองค์ทรงให้พระอัครสาวกทั้งสอง โดยเฉพาะพระสารีบุตร ไปตามพระใหม่กลับมา และอะไรอยู่เบื้องหลังที่พระเทวทัตจู่ๆ ก็เกิดความยินดีที่จะต้อนรับพระสารีบุตร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่ชอบเลย เรามาศึกษาในตอนหน้ากัน ... จบตอนที่ ๓๕)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา