30 ธ.ค. 2019 เวลา 04:00 • ประวัติศาสตร์
“สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (Elizabeth I of England) พระประมุของค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ทิวดอร์ ตอนที่ 6 (ตอนจบ)
บทสุดท้ายของราชินีผู้ยิ่งใหญ่
ภายหลังจากที่โรเบิร์ต ดัดลีย์ ผู้ที่พระราชินีเอลิซาเบธทรงสนิทและไว้วางพระทัย (อีกทั้งอาจจะเป็นผู้ที่พระองค์รัก) ได้ตายไปแล้ว พระราชินีเอลิซาเบธก็ทรงใกล้ชิดกับ “โรเบิร์ต เดอเวโรซ์ เอิร์ลที่ 2 แห่งเอสเซ็กซ์ (Robert Devereux, 2nd Earl of Essex)” ลูกบุญธรรมของดัดลีย์
โรเบิร์ต เดอเวโรซ์ เอิร์ลที่ 2 แห่งเอสเซ็กซ์ (Robert Devereux, 2nd Earl of Essex)
พระราชินีเอลิซาเบธทรงแต่งตั้งให้เดอเวโรซ์รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ และเดอเวโรซ์ก็กลายเป็นคนโปรดของพระราชินีเอลิซาเบธ
เดอเวโรซ์นั้นเป็นชายหนุ่มรูปงาม มีเสน่ห์ แต่เขาเป็นคนที่ละโมบ เขาต้องการที่จะควบคุมธุรกิจไวน์ แต่พระราชินีเอลิซาเบธไม่ทรงอนุญาต ทำให้เดอเวโรซ์ไม่พอใจและพูดดูถูกพระองค์ต่อหน้าองคมนตรี
การกระทำของเดอเวโรซ์ทำให้มิตรภาพระหว่างเดอเวโรซ์และพระราชินีเอลิซาเบธสั่นคลอน
แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ เดอเวโรซ์ก็ได้เขียนจดหมายเพื่อขอพระราชทานโทษถวายพระราชินีเอลิซาเบธ ซึ่งพระราชินีเอลิซาเบธก็ไม่ทรงยกโทษ
ในเมื่อตอนนี้เดอเวโรซ์ไม่ใช่คนโปรดอีกต่อไป หน้าที่การงานของเดอเวโรซ์ก็ไม่รุ่งอีกต่อไป เขาเริ่มจะเป็นหนี้จำนวนมาก และก็ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้
เมื่อเริ่มกดดันและจนตรอก เดอเวโรซ์ก็เริ่มสติแตก เขาได้ดูถูกพระราชินีเอลิซาเบธอีกครั้ง
เดอเวโรซ์คิดว่าพระราชินีเอลิซาเบธนั้นไม่เหมาะสมที่จะปกครองอังกฤษ และคิดว่าพระองค์กำลังนำพาประเทศไปสู่วิกฤติ และคิดว่าตัวเขาเองนั้นควรจะเป็นผู้ปกครองอังกฤษ
เดอเวโรซ์นั้นมีพรรคพวกอยู่พอสมควร เขาจึงได้วางแผนก่อกบฎ โดยคนของเขาจะบุกเข้าไปในปราสาทที่พระราชินีเอลิซาเบธประทับและบังคับให้พระองค์เรียกประชุมสภา และบังคับให้พระองค์แต่งตั้งเดอเวโรซ์เป็น “เจ้าผู้อารักขา (Lord Protector)” ทำให้ตัวเขามีอำนาจเหนือพระราชินีเอลิซาเบธ
เดอเวโรซ์รวบรวมทหารได้ 200 นาย แต่เขาก็อยากให้ชาวลอนดอนสนับสนุน เขาจึงได้บุกเข้าไปตามโรงเหล้า โรงเตี๊ยมต่างๆ พร้อมกับชูดาบ ตะโกนเรียกให้ผู้คนสนับสนุนเขา
แต่ดูเหมือนชาวลอนดอนจะไม่เอาด้วย ชาวลอนดอนส่วนใหญ่ภักดีต่อพระราชินีเอลิซาเบธ
การกระทำของเดอเวโรซ์นั้นอยู่ในสายตาของสายลับของพระราชินีเอลิซาเบธ พวกเขาจึงทำการตลบหลังเดอเวโรซ์
1
เมื่อเดอเวโรซ์นำทัพกบฎบุกเข้ามาในปราสาท ทหารของพระราชินีเอลิซาเบธก็ได้ซุ่มโจมตี ทำให้ทัพกบฎแตก และถึงแม้เดอเวโรซ์จะหนีไปได้ แต่สุดท้ายก็ถูกจับกลับมาได้ในภายหลัง
เดอเวโรซ์ถูกตัดสินว่ามีความผิดข้อหากบฎและให้ประหารชีวิต ซึ่งพระราชินีเอลิซาเบธก็ทรงลงพระนามในหมายประหารทันทีโดยไม่ต้องทรงใช้เวลาคิดนาน
1
กุมภาพันธ์ ค.ศ.1601 (พ.ศ.2144) เดอเวโรซ์ถูกประหารชีวิต
การประหารชีวิตเดอเวโรซ์
แต่ถึงพระราชินีเอลิซาเบธจะทรงสั่งประหารเดอเวโรซ์ แต่พระองค์ก็ทรงเสียพระทัย
ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์ทรงสวมพระธำมรงค์ที่เดอเวโรซ์ถวาย และภายหลังจากเดอเวโรซ์ตาย พระองค์ก็ทรงซึมเศร้า เก็บองค์อยู่ในห้องบรรทม พระพลานามัยของพระองค์ก็ค่อยๆ ทรุดโทรม
เดือนกันยายนของปีนั้น พระราชินีเอลิซาเบธมีพระชนมายุได้ 69 พรรษา พระองค์ไม่ใช่สาวแรกรุ่นเหมือนแต่ก่อน พระองค์ไม่ทรงโปรดการเต้นรำอีกต่อไป สายพระเนตรของพระองค์เริ่มจะไม่ดีนัก ต้องให้ข้าราชบริพารอ่านจดหมายต่างๆ ถวายพระองค์
พฤศจิกายน ค.ศ.1601 (พ.ศ.2144) พระราชินีเอลิซาเบธได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งต่อรัฐสภาเป็นครั้งสุดท้าย พระองค์ต้องฝืนพระวรกายเพื่อนั่งให้พระวรกายตรง แต่ขณะที่พระองค์ได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่ง พระองค์ก็ยังคงสง่างามเช่นเดิม
พระราชกระแสรับสั่งของพระองค์มีใจความว่าพระองค์ทรงรักประชาชน และความภักดีของประชาชนนั้นมีค่ายิ่งกว่าเครื่องเพชรที่ราคาแพงที่สุด
พระองค์กล่าวในช่วงหนึ่งว่า
“ท่านอาจจะหาเจ้าชายผู้ชาญฉลาดมานั่งบนเก้าอี้ตัวนี้ได้ แต่ท่านไม่เคยหา หรือจะหาคนที่รักท่านมากกว่านี้ได้”
1
ก่อนเสด็จกลับ วงดนตรีเล่นดนตรี และพระราชินีก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมาชิกสภาจำนวน 150 คนเข้ามาจุมพิตพระหัตถ์ของพระองค์
หลังจากนั้น พระพลานามัยของพระราชินีเอลิซาเบธก็ยิ่งทรุดโทรม พระองค์ต้องทรงใช้ไม้เท้าเพื่อช่วยเวลาทรงพระดำเนิน และพระองค์ก็เกือบจะหมดพระสติก่อนการประชุมเนื่องจากฉลองพระองค์ที่มีน้ำหนักมาก
ค.ศ.1602 (พ.ศ.2145) เรือรบอังกฤษสามารถยึดเรือของโปรตุเกสและนำสมบัติล้ำค่ามากมายกลับมาถวายพระองค์ แต่พระราชินีเอลิซาเบธก็ไม่ได้ทรงรู้สึกตื่นเต้นหรือดีพระทัยอีกต่อไป
ตอนนี้พระองค์แทบจะไม่มีความสุขเลย ดัดลีย์ก็ตายไปแล้ว เดอเวโรซ์ก็ได้หักหลังพระองค์ ส่วนคนอื่นๆ ที่พระองค์ทรงไว้วางพระทัยต่างก็ได้จากไปหมดแล้ว
พระองค์ทรงรู้สึกโดดเดี่ยว
มีนาคม ค.ศ.1603 (พ.ศ.2146) พระองค์ได้ใช้เวลาประทับอยู่ในห้องส่วนพระองค์ พระองค์ไม่บรรทม ไม่เสวย และตลอดเวลากว่าสองวัน พระองค์ก็เอาแต่ยืนและทอดพระเนตรออกไปนอกหน้าต่าง
พระราชินีเอลิซาเบธไม่สามารถจะรับสั่งอะไรได้เนื่องจากความเจ็บปวด และเมื่อแพทย์ทำการตรวจก็พบว่าพระศอของพระองค์นั้นเต็มไปด้วยตุ่ม
พระองค์ได้บรรทมบนเตียง และพระองค์ก็ทรงทราบดีว่าพระองค์ใกล้จะสวรรคตแล้ว
พระองค์ต้องทรงคิดถึงคำถามที่พระองค์ถูกถามมาตลอด
ใครจะเป็นผู้ปกครองอังกฤษต่อจากพระองค์?
ถึงแม้พระองค์จะไม่สามารถรับสั่งได้ แต่พระองค์ก็ทรงให้ที่ปรึกษาทราบว่าพระองค์ทรงเลือกใคร
นั่นคือ “พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ (James VI and I) ซึ่งภายหลังขึ้นเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ” พระราชโอรสของ “สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ (Mary, Queen of Scots)” ศัตรูเก่าของพระองค์นั่นเอง
1
พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ (James VI and I)
24 มีนาคม ค.ศ.1603 (พ.ศ.2146) พระราชินีเอลิซาเบธสวรรคต
ชาวอังกฤษต่างตะลึงกับข่าวนี้ พวกเขาถูกปกครองโดยพระราชินีเอลิซาเบธมาเป็นเวลานานและไม่ชินกับการเปลี่ยนแปลงพระประมุข
พระเจ้าเจมส์ที่ 1 กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงมีรับสั่งให้จัดงานพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ
ชีวิตของพระราชินีเอลิซาเบธนั้นเรียกได้ว่าพลิกผันอย่างมาก
พระองค์นั้นเป็นพระราชธิดานอกสายพระเนตรของพระราชบิดา และต่อมา พระองค์ยังถูกพระเชษฐภคินีจับขังคุก เป็นนักโทษ
แต่พระองค์ก็ขึ้นมาเป็นพระประมุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ พระองค์ทรงนำพากองทัพอังกฤษชนะสงคราม และทรงส่งเสริมศิลปะมากมาย
1
และคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจในเวลาต่อมา
จบลงแล้วสำหรับซีรีย์ชุดนี้ ซีรีย์เรื่องต่อไปจะเป็นเรื่องอะไร ฝากติดตามด้วยนะครับ
โฆษณา