5 ม.ค. 2020 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๓๗ กิเลส ๓ ตระกูล
ร่างกายมีเชื้อโรคฉันใด ใจเราก็มีเชื้อโรคฉันนั้น เชื้อโรคของใจก็คือ “กิเลส”
กิเลส คือ ธาตุสกปรก ที่ฝังแน่นอยู่ในใจของมนุษย์และสรรพสัตว์ มายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน ทำให้ใจด้อยคุณภาพ มีหน้าที่บังคับให้มนุษย์และสรรพสัตว์สร้างกรรมชั่ว มีทั้งหมด ๓ ตระกูล (ที่ใช้ลักษณะนามว่า “ตระกูล” เพราะมี Sub ตามดีกรี แก่-อ่อน) คือ
๑ ตระกูลโลภะ Sub ของตระกูลนี้ ได้แก่ ความโลภ กามคุณ เป็นต้น มีหน้าที่บังคับให้อยากได้ในทางที่ผิด เช่น ลัก ขโมย ฉ้อ โกง ฉก ชิง วิ่งราว เป็นต้น จุดเริ่มต้นมักจะมาจากความเพ่งเล็ง ยกตัวอย่าง เมื่อเราเพ่งเล็งอะไรนานๆ ก็จะรู้สึกว่าอยากได้ นั่นแสดงว่าเขากำลังบังคับเรา กำลังพยายามจะบังคับให้เราอยากได้ในทางที่ผิด หากเราแพ้เขา เราก็ใช้วิธีการที่ผิดๆ เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา
๒ ตระกูล โทสะ Sub ของตระกูลนี้ ได้แก่ หงุดหงิด โกรธ พยาบาท เป็นต้น มีหน้าที่บังคับให้เราอยากทำลาย สังเกตไหมเวลาเราโกรธ เรารู้สึกอย่างไร เราอยากจะเขวี้ยงข้าวของ ทุบทำลาย คน สัตว์ สิ่งของ ใช่ไหม นึกถึงเจ้า Hulk ยักษ์ตัวเขียว ใน Marvel ก็ได้ พอโกรธแล้ว ก็อยากทุบๆ แบบนั้นแหละ จุดเริ่มต้นมักจะมาจากความไม่สมหวัง
๓ ตระกูล โมหะ Sub ของตระกูลนี้ ได้แก่ ความฟุ้งซ่าน ,ความถือตัว เหมือนกับพระเทวทัตที่กล่าวมาแล้วในหลายตอนก่อนๆ หรือ ความหลงผิด เหมือนพระใหม่ที่กล่าวมาในตอนที่ ๓๔ ... เป็นต้น มีหน้าที่บังคับให้ เรา คิดผิด พูดผิด ทำผิด เพราะเข้าใจว่าถูก เช่น การพนันเป็นสิ่งไม่ดี แต่กิเลสตระกูลโมหะจะบังคับให้เราเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้เรารวยทางลัดเป็นต้น
กิเลส ทั้ง ๓ ตระกูล เมื่อบังคับให้เรา คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ได้สำเร็จ ก็จะมีวิบากกรรมที่เป็นทุกข์ติดตัวทันที เช่น บังคับให้เราโกรธใครสักคน แล้วเราก็แพ้เขาโดยการลงมือทำร้ายร่างกายคนคนนั้น เราก็จะมีวิบากคือ ในอนาคตเราก็จะถูกคนอื่นทำร้ายร่างกายอย่างนั้นบ้างเป็นต้น ... หรืออย่างที่เรามักจะได้ยินว่า “กฎแห่งกรรม” นั่นแหละ
กฎแห่งกรรม ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธองค์สร้างขึ้นมานะ มันมีอยู่มานานแล้ว พระพุทธองค์เพียงเป็นผู้ค้นพบ แล้วนำมาบอก ใครเชื่อแล้วระมัดระวังตัว ก็รอดตัวไป ใครไม่เชื่อก็เอาตัวไม่รอดไป
คราวนี้เรามาศึกษาการทำงานของกิเลสสักตัวนะ เอาตระกูลโทสะก็แล้วกัน เพราะพระโกกาลิกะเป็น Case Study เรื่องนี้ได้อย่างดี
พระโกกาลิกะ ก็เหมือนพระเทวทัตนั่นแหละ มีความต้องการเป็นใหญ่ในทางที่ผิด พระเทวทัตพร้อมที่จะเนรคุณทรยศต่อพระพุทธเจ้าอย่างไร พระโกกาลิกะก็พร้อมที่จะเนรคุณทรยศต่อพระเทวทัตฉันนั้น
พระโกกาลิกะจึงมองพระเทวทัตเหมือนเป็นทางผ่านที่จะทำให้ตนไปถึงจุดนั้น คือความเป็นใหญ่ ดังนั้นเมื่อพระเทวทัตทำสังฆเภท แยกพระใหม่ออกมาได้ ก็มีความหวังว่า วันหนึ่ง จะช่วงชิงความเป็นใหญ่จากพระเทวทัตเพื่อปกครองพระใหม่ทั้ง ๕๐๐ รูปนี้แทน
เมื่อพระอัครสาวกทั้งสอง สามารถกลับใจพระใหม่ทั้ง ๕๐๐ รูป ได้ ความหวังก็พังทลาย ก็คือไม่สมหวัง ซึ่งความไม่สมหวัง นำมาซึ่งความโกรธ โกรธใคร โกรธพระเทวทัตก่อนเลย ที่ไม่เชื่อคำตักเตือนของตน ว่าอย่าไว้ใจพระอัครสาวกทั้งสอง (ตอนที่ ๓๕) แต่พระเทวทัตไม่เชื่อ
เมื่อกิเลสตระกูลโทสะ คือความโกรธ เข้าครอบงำจิตใจพระโกกาลิกะ ก็บังคับให้อยากทำลาย โกรธใครก็อยากทำลายหรือทำร้ายร่างกายคนคนนั้น พระโกกาลิกะ จึงโยนเข่าอัดไปที่ทรวงอกของพระเทวทัตอย่างแรง
ตอนนั้นพระเทวทัตรู้สึกเสียใจอย่างแรงที่ความพยายามของตนที่ทำมาทั้งหมดต้องพังทลายไป พร้อมจะกระอักเลือดอยู่แล้ว เจอเข่าพระโกกาลิกะอัดเข้ามาที่ทรวงอกอีก เลือดก็เลยพุ่งออกจากปากทันที
นี่คือตัวอย่างในการทำงานของกิเลสตระกูลโทสะ และในที่สุด กิเลสตระกูลโทสะ สามารถบังคับให้พระโกกาลิกะทำชั่วได้อีกครั้ง ... จบตอนที่ ๓๗

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา