5 ม.ค. 2020 เวลา 14:44 • ปรัชญา
EP89: จิต กับ ความคิด เป็น คนละตัวกัน
เวลานั่งสมาธิอยู่ แล้วเราเผลอไปคิดอะไรเรื่องหนึ่ง อาจจะคิดเรื่องอนาคตอะไรบางอย่าง พอมีสตินึกขึ้นได้ เราจึงกลับมาอยู่ที่ลมหายใจใหม่ จิตที่กลับมานี้กับความคิดเป็นตัวเดียวกันไหม ?
เมื่ออธิบายตามสัทธรรมของตถาคตแล้ว ตอบว่าไม่ไช่…จิตกับความคิด เป็น คนละตัวกัน
มีธรรมธาตุอะไรบ้างที่อยู่และดับไปในกรณีนี้คือ
“สัตว์ “คือตัวเราเล่นบทเป็นผู้ติดยึดในขันธ์ห้า มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูก
“ขันธ์ห้า” คือธาตุที่สัตว์มาติดยึด ได้แก่ กาย เวทนา(สุขทุกข์เฉยๆ) สัญญา(อาการจำได้) สังขาร(อาการปรุงแต่ง) วิญญาณ (อาการรู้แจ้ง)
“จิต” คือธาตุที่เกิดขึ้นและดับไวมาก อธิบายได้ยาก และมันก็หลอกสัตว์ว่ามันคือ ตัวตนเรา ท่านบอกว่าเรานั้นถูกจิตหลอกลวงมานานแสนนานกี่ภพชาตินับไม่ถ้วน อย่างไรก็ตามพระองค์ได้อุปมาอธิบาย การทำงานของ จิตมโนวิญญาณ จิตเป็นดังอาทิตย์ มโนเป็นลำแสง วิญญาณคืออาการรู้แจ้ง ลำแสงตกไปตรงไหน วิญญาณก็จะไปตั้งอยู่ตรงนั้น ซึ่งตรงนั้นพระองค์เปรียบเสมือนผืนนา ซึ่งมีผืนนาเลว ผืนนาปานกลาง และผืนนาดี (จิตมโนวิญญาณ เกิดดับเร็วมาก พระองค์ถือเป็นสิ่งเดียวกัน แยกตามเหตุปัจจัยอันละเอียดนั้นเอง)
“ผืนนา” คือที่ตั้งของวิญญาณ ท่านอุปมาวิญญาณ(อาการรู้แจ้ง)เป็นดังเมล็ดพืช มีตัณหาเป็นน้ำและยางในพืช เมื่อตกลงบนผืนนาพืชหรือวิญญาณก็เจริญงอกงาม ผืนนามีอะไรบ้าง ? ผืนนาคือกรรม รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร
อาการเพลินเผลอไปรู้สึกนึกคิดในขณะที่เรานั่งสมาธิจึงเป็นคนละตัว
ความรู้สึกนึกคิดเป็นผืนนา ที่จิตมโนวิญญาณหรือวิญญาณไปตั้งอยู่บนผืนนาเหล่านั้น
ในชีวิตประจำวันก็เช่นเดียวกัน ขณะที่เดิน นั่งยืนนอน ทำงาน อะไรก็ตาม เราอาจครุ่นคิดเรื่องที่อยากจะทำแทรกขึ้นมา สมาธิไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่ทำปัจจุบันนั้น เมื่อไรเรากลับมาตั้งสติอีกครั้งนั่นคือสัตว์หลุดจากจิตเดิมมาจุดปัจจุบันอีกครั้ง การมีสติอยู่กับกายหรือกับปัจจุบันได้อยู่ต่อเนื่อง หรือกลับมาละจากความเพลินได้เร็วเท่าไร เรียกได้ว่าเป็นผู้มีอินทรีย์สังวรที่ดี
เราดึงมาได้แต่ละครั้งคือเรากำลังเห็นจิตในจิต เห็นจังหวะที่มันจุติและโน้มไปตั้งเป็นวิญญาณตั้งที่ผืนนาใหม่อีก เราเห็นมันบ่อยเข้า เราจะเริ่มเห็นธรรม คือ จิตมันไม่ไช่เรา บังคับอะไรมันก็ไม่ได้ เดี๋ยวก็เกิดเดี๋ยวก็ดับไป ไม่ไช่ตัวเราที่แท้จริง
สักแต่ว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รสชาด ได้สัมผัส ได้รู้อารมณ์ ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะที่ดี เราก็ไม่หลงตามอารมณ์ไป เห็นทุกอย่างตามสภาพจริง จะเป็นผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ที่เรารู้เท่าทันจิต อันเป็นคุณสมบัติหนึ่งของอริยบุคคล
อ้างอิงการสนทนาธรรมของพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิผโล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา