9 ม.ค. 2020 เวลา 23:00 • ประวัติศาสตร์
ชีวิตพระ
ตอนที่ ๔๑ หมูสู้เสือ ๒
ตัจฉก ให้กำลังใจบรรดาหมูว่า ไม่ต้องกลัวเสือโคร่งตัวนั้น เสือทำท่ายังไง ก็ให้ทำเลียนแบบ
เสือโคร่ง เห็นบรรดาหมูแปลกไป ก็แปลกใจ ก็เลยทำกิริยาข่มขู่ด้วยวิธีการที่เคยทำมา ตั้งแต่ สะบัดกาย ย่อตัว ถ่ายปัสสาวะ คำราม บรรดาหมูก็ทำตามกิริยานั้นทุกอย่าง คล้ายจะบอกว่าวันนี้ข้าไม่กลัวเอ็ง เอ็งขู่มา ข้าก็ขู่กลับ ประมาณนั้น
เสือเห็นอย่างนั้น ก็แหยงเหมือนกัน ก็เลยไม่กล้าสู้ กลับไปที่อยู่ของตน ซึ่งตนอยู่กับชฎิลโกงคนหนึ่ง
คำว่า “ชฎิลโกง” เป็นคำผสมระหว่าง ชฎิล กับ โกง
ชฎิล เป็นนักบวชประเภทหนึ่ง ที่มุ่นผมเป็นทรงสูงเหมือนสวมชฎา จึงเรียกกันว่า “ชฎิล”
ส่วน โกง หมายถึง ไม่มีศีล
ชฎิลโกง จึงหมายถึง นักบวชที่ไม่มีศีล
เจ้าเสือโคร่งตัวนี้อาศัยอยู่กับชฎิลโกง เมื่อเสือจับหมูมาได้ ก็จะกินเนื้อหมูก่อน ส่วนที่เหลือก็แบ่งให้ชฎิลโกงผู้นั้นเป็นประจำ และชฎิลโกงนั้น ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คืออดีตชาติหนึ่งของพระเทวทัตนั่นเอง
เมื่อเสือกลับมาปากเปล่า คือไม่มีหมูคาบอยู่ในปาก ชฎิลโกงก็แปลกใจ เลยถาม
จากนี้ไป เราจะเห็นการให้กำลังใจของชฎิลโกงว่าไม่ธรรมดาเหมือนกัน หมูตัจฉก เป็นนักให้กำลังใจบรรดาหมูอย่างไร ชฎิลโกง (หรืออดีตชาติของพระเทวทัต) ก็เป็นนักให้กำลังใจเสือโคร่งอย่างนั้น
เพื่อไม่ให้เนื้อหาผิดเพี้ยนไปมาก จึงขอนำสำนวนในอรรถกถามาลงให้อ่านกันนะ เพราะมันไม่ยากสำหรับทำความเข้าใจ อีกอย่างท่านผู้อ่านจะได้คุ้นๆ กับสำนวนในพระไตรปิฎกไปด้วย
“ดูก่อนพญาเนื้อที่เก่งกล้า วันนี้เจ้าคงจะงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ละซิหนอ ท่านให้อภัยในสัตว์ทั้งปวงเสียแล้วหรือ หรือเขี้ยวของท่านคงไม่มี เจ้ามาถึงกลางฝูงสุกรแล้วจึงซบเซาอยู่ดังคนกำพร้าฉะนั้น”
เสือโคร่งตอบชฎิลโกงว่า 
 
 “มิใช่ว่าเขี้ยวของข้าพเจ้าไม่มี กำลังกายของข้าพเจ้าก็มีอยู่พรั่งพร้อม แต่ข้าพเจ้าเห็นสุกรทั้งหลายที่เป็นญาติกัน ร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงซบเซาแต่ผู้เดียวในป่า 
 เมื่อก่อนสุกรเหล่านี้ พอข้าพเจ้าลืมตาแลดูเท่านั้น ต่างก็กลัวตายหาที่หลบซ่อนวิ่งกระเจิดกระเจิง ไปตามทิศานุทิศ บัดนี้ พวกมันมาประชุมพร้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในภูมิภาคที่พวกมันยืนอยู่นั้น ข้าพเจ้าข่มพวกมันได้ยากในวันนี้ 
 พวกมันคงมีขุนพล จึงพรักพร้อมกัน คงเป็นเสียงเดียวกัน คงร่วมมือร่วมใจกันเบียดเบียนข้าพเจ้า เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ปรารถนาสุกรเหล่านั้น”
ชฎิลโกงฟังคำนั้นแล้ว เมื่อจะยุให้มันเกิดความอาจหาญขึ้น จึงกล่าวว่า
“พระอินทร์องค์เดียวเท่านั้น ยังเอาชนะอสูรทั้งหลายได้ 
เหยี่ยวตัวเดียวเท่านั้น ย่อมข่มฆ่านกทั้งหลายได้ 
เสือโคร่งตัวเดียวเหมือนกัน ไปถึงท่ามกลางฝูงสุกรแล้ว 
ก็ย่อมฆ่าสุกรตัวพีๆ ได้ เพราะกำลังของมันเป็นเช่นนั้น”
ลำดับนั้น เสือโคร่งจึงกล่าวว่า
“จะเป็นพระอินทร์ จะเป็นเหยี่ยว แม้จะเป็นเสือโคร่งผู้เป็นใหญ่กว่าเนื้อ ก็ทำญาติผู้พร้อมเพรียงกันมั่นคง ซึ่งเป็นเช่นกับเสือโคร่ง ไว้ในอำนาจไม่ได้ทั้งนั้นแหละ”
ชฎิล เมื่อจะปลุกมันให้อาจหาญอีก จึงได้กล่าวว่า
“ฝูงนกตัวน้อยๆ มีชื่อว่ากุมภิลกะ เป็นนกมีพวกเที่ยวไปเป็นหมวดหมู่ ร่าเริงบันเทิงใจ โผผินบินร่อนไปเป็นกลุ่มๆ ก็เมื่อฝูงนกเหล่านั้นบินไป บรรดานกเหล่านั้น คงมีสักตัวหนึ่งที่แตกฝูงไป เหยี่ยวย่อมโฉบจับนกตัวนั้นได้ นี่เป็นคติของเสือโคร่งทั้งหลายโดยแท้.
ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ปลุกใจเสือโคร่งว่า พญาเสือโคร่งเอ๋ย เจ้ามิได้รู้กำลังของตน อย่ากลัวเลยน่ะ คำรามแล้ววิ่งปรี่เข้าไปท่าเดียวเท่านั้น พวกสุกรที่คุมกันอยู่เป็นกลุ่มได้ไม่มีเลยละ”
เป็นไงบ้างเอ่ย สำนวนในอรรถกถาพระไตรปิฎก พอเข้าใจได้ไม่ยากใช่ไหม
สรุปว่า ชฎิลโกง เชียร์ให้กำลังใจให้เสือโคร่งว่าอย่ากลัวหมู ให้กลับไปใหม่นะเสือนะ แล้วพุ่งกระโจนเข้าฝูงหมูไปเลย เดี๋ยวฝูงหมูก็แตกกระเจิงเองแหละ ... แต่ชฎิลโกงคิดผิด
มีอีกเรื่องหนึ่งนะที่น่าศึกษาก็คือ ในระหว่างที่พระพุทธองค์กำลังแสดงชาดกอยู่นั้น (หมายเหตุ..)
(หมายเหตุ ใช้คำว่าแสดง ไม่ได้ใช้คำว่าเล่า เพราะพระองค์เปิดใจให้พระภิกษุสงฆ์ได้ดูเรื่องราวนั้น แบบเห็นได้ทั้งภาพ ได้ยินทั้งเสียง เหมือนดูหนัง ๓ มิติ รายละเอียดอ่านดูได้ในตอนที่ ๓๖ นะ)
บาง Short ที่สำคัญพระองค์ก็จะตรัส Comment เป็นพิเศษ Short นี้ก็เช่นกัน พระองค์ตรัสว่า
“เสือโคร่งเป็นสัตว์มีเขี้ยว ถูกชฎิลผู้หยาบช้า เห็นแก่อามิสปลุกใจให้ฮึกเหิม สำคัญจะทำได้เหมือนเมื่อครั้งก่อน จึงวิ่งเข้าไปในฝูงสุกรที่มีเขี้ยว” (หมายเหตุ)
(หมายเหตุ .. ผู้เขียนจะค่อยๆ นำสำนวนและเนื้อหาสำคัญๆ ในอรรถถถาพระไตรปิฎก มาบอกผู้อ่านทีละนิดทีละหน่อยนะ เพื่อท่านผู้อ่านจะได้มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามากขึ้น)
เครดิต www.planforkids.com
เสือโคร่งก็เชื่อคำของชฎิลโกงผู้เป็นเปรียบเสมือนกุนซือ จึงกลับไปหาฝูงหมูอีกที ส่วนฝูงหมูเห็นดังนั้นก็บอกกับ ตัจฉก ว่า
“มันกลับมาอีกแล้ว”
“พวกเจ้าไม่ต้องกลัว ลุกขึ้นยืนสู้กับมัน” ตัจฉกบอกฝูงหมู
เสือโคร่งเห็นตัจฉก ก็รู้ว่านี่คือแม่ทัพหมู ต้องปราบแม่ทัพหมูได้ให้ได้ก่อน จึงกระโจนใส่ตัจฉก ทันที
ตัจฉก ถอยหลังหลบเข้าหลุมข้างหลัง ส่วนเสือก็หลงอุบายพลาดตกหลุมข้างหน้า ตัจฉก ถือโอกาสนั้นขึ้นจากหลุมตน แล้วเอาเขี้ยวแทงเข้าที่ขั้วไส้ แล้วขวิดให้ขาดจนไปถึงหัวใจ เสือโคร่งก็สิ้นใจทันที
“เอ็งกินเนื้อหมูมามาก วันนี้หมูอย่างข้าขอกินเนื้อเสือบ้างเถอะ” ตัจฉก ว่าแล้ว ก็กินเนื้อเสือหน่อยหนึ่ง แล้วก็เอาปากคาบเสือทั้งตัว เหวี่ยงเข้าไปในฝูงหมู
“อ้าว..พวกเรากินเนื้อเสือกัน”
แล้วฝูงหมู ก็ช่วยกันกินเนื้อเสืออย่างสมแค้น จนหมดไม่เหลือ ส่วนหมูตัวที่มากินไม่ทัน ก็เอาจมูกมาดมปากตัวที่กินทัน แบบที่เรียกกันว่า “ไม่ได้กิน ดมกลิ่นก็ยังดี”
ตัจฉก ฆ่าเสือได้แล้ว ก็คิดว่า บรรดาหมูทั้งหลาย น่าจะดีใจ แต่ ตัจฉก คิดผิด
“เอ๋.... ฆ่าเสือได้แล้ว ทำไมพวกเจ้าไม่ดีใจล่ะ .. ตัจฉก ถาม .... จบตอนที่ ๔๑

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา