10 ม.ค. 2020 เวลา 01:11 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 9
แปดจุดสนธิหรือจุดปาฮุ่ย (八會穴)
แปดจุดสนธิ หมายถึงการสนธิพลังจิงของอวัยะอิน อวัยวะหยาง ลมปราณ โลหิต เส้นเอ็น เส้นลมปราณ กระดูก และไขกระดูก บนจุดฝังเข็มแปดจุด ดังรายละเอียดในต่อไปนี้
แปดจุดสนธิมีปรากฏการบันทึกเป็นครั้งแรกในตำราหนันจิง (難經) แต่ดูเมือนว่าทฤษฎีแปดจุดสนธิจะไม่ใช่ผู้ประพันธ์หนันจิงเป็นผู้คิดค้น เพราะในหนันจิงได้มีการกล่าวถึงว่า “…ในตำรากล่าวถึงแปดจุดสนธิ…” คำว่า “ในตำรา” ที่อ้างอิงถึงในหนันจิงมิได้ระบุชัดว่าเป็นตำราอะไร ในจุดนี้ยังไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันได้ รู้แต่เพียงว่าทฤษฎีแปดจุดสนธิได้มีการกล่าวถึงก่อนตำราหนันจิงแล้ว
ความหมายของแปดจุดสนธิ
1.พลังแห่งอวัยวะหยางสนธิที่จุดจงหวั่น (中脘)
จงหวั่นหมายถึงส่วนกลางของกระเพาะอาหาร เป็นธาตุดิน ในทางการแพทย์ได้ถือว่ากระเพาะอาหารเป็นต้นกำเนิดของอวัยวะหยางทั้งหก อีกทั้งจุดจงหวั่นยังเป็นจุดมู่หรือจุดรวมพลังลมปราณของกระเพาะอาหารอีกต่างหาก ดังนั้นจุดจงหวั่นจึงเป็นจุดที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ในศาสตร์การฝังเข็มฮุ่ยเอวี๋ยน (會元針灸學) ยังได้กล่าวอีกว่า “อันว่าจงหวั่น เป็นจุดที่รับจงชี่หรือมัชฌิมปราณ (中氣) แห่งมนุษย์ เป็นจุดกำเนิดแห่งพลังสารอาหารหรืออิ๋งชี่ (營氣) เป็นจุดที่ดูแลกระเพาะม้าม และกระเพาะม้ามยังอยู่ตรงส่วนกลางของปอด ตับ หัวใจ และไตอีกต่างหาก ดังนั้นจึงกำหนดให้จงหวั่นเป็นจุดศูนย์รวมพลังของหกอวัยวะหยางนั่นเอง
2.พลังแห่งอวัยวะอินสนธิที่จุดจังเหมิน (章門)
จุดจังเหมินเป็นจุดมู่หรือจุดรวมพลังลมปราณของม้าม จุดจังเหมินจึงเป็นจุดที่พลังจิง (精氣) ของม้ามชุมนุมรวมตัวกันอย่างคับคั่ง อีกทั้งพลังแห่งอวัยวะอินทั้งหลายยังได้รับมาจากม้าม และม้ามก็ยังเป็นต้นกำเนิดของพลังจิง (精) ลมปราณ (氣) โลหิต (血) และสารจินเยี่ย (津液) แต่หลังกำเนิดอีกต่างหาก ดังนั้นม้ามจึงมีความสำคัญต่ออวัยวะอินทั้งห้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเรียกได้ว่า “หากม้ามมีพลังทั้งหมดก็มีพลัง หากม้ามอ่อนแรงทั้งหมดก็อ่อนแรง” และเนื่องจากในศาสตร์การฝังเข็มฮุ่ยเอวี๋ยน (會元針灸學) ยังได้กล่าวถึงจุดจังเหมินว่า “เป็นทวารที่เข้าออกของพลังลมปราณแห่งห้าอวัยวะอิน” อีกทั้งในความเข้าใจแห่งตำราแพทย์ (醫經理解) ยังได้กล่าวอีกว่า “พลังแห่งอวัยวะอินจะชุมนุมที่จุดจังเหมิน” ดังนั้นจึงได้กำหนดให้จุดจังเหมินเป็นจุดสนธิพลังแห่งอวัยวะอินนั่นเอง
3.พลังแห่งเส้นเอ็นสนธิที่จุดหยางหลิงเฉวียน (陽陵泉)
ในซู่เวิ่น (素問) ได้กล่าวไว้ว่า “อันหัวเข่า เป็นจุดสำคัญแห่งเส้นเอ็นแล” เหตุที่ซู่เวิ่นได้กล่าวเช่นนี้ นั่นก็เพราะหัวเข่าเป็นจุดศูนย์รวมของเส้นเอ็นทั้งหลายนั่นเอง ทั้งนี้ ในซู่เวิ่นยังกล่าวอีกว่า “เมื่ออาหารเข้าสู่กระเพาะ สารจิงกระจายไปสู่ตับ และหล่อเลี้ยงไปที่เส้นเอ็น” ดังนั้น คนโบราณจึงกล่าวว่า “ตับเกี่ยวเนื่องกับเส้นเอ็น” “ตับเป็นพลังแห่งเส้นเอ็น” “เส้นเอ็นควบคุมโดยตับ”
เมื่อประมวลข้อความต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว เหตุไฉนเส้นเอ็นจึงไม่เกี่ยวข้องกับจุดฝังเข็มบนเส้นตับ หากแต่เกี่ยวข้องกับจุดหยางหลิงเฉวียนบนเส้นถุงน้ำดีล่ะ ? ในเชียนจินฟัง (千金方) ได้กล่าวไว้ว่า “อันถุงน้ำดีนั้น ดูแลตับ และตับจะรวมพลังที่ถุงน้ำดี” ทั้งนี้ตับเป็นอวัยวะอิน เป็นธาตุไม้ ตับกับถุงน้ำดีมีความสัมพันธ์เชิงนอกใน ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะหยาง เป็นธาตุไม้เช่นเดียวกัน ในโบราณยังกล่าวอีกว่า “จุดเริ่มต้นแห่งปีจะเริ่มที่ฤดูใบไม้ผลิ” ฤดูใบไม้ผลิเป็นธาตุไม้ ดังนั้นธาตุไม้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งสรรพสิ่ง และด้วยเหตุนี้ จุดเริ่มต้นแห่งพลังของอวัยวะอินและอวัยวะหยาง จึงเริ่มต้นที่ธาตุไม้ประเภทหยาง ซึ่งก็คือถุงน้ำดีนั่นเอง ดังนั้น ในซู่เวิ่นจึงกล่าวว่า “อันอวัยวะทั้งสิบเอ็ดอวัยวะ กำหนดจากถุงน้ำดี”
ในศาสตร์การฝังเข็มฮุ่ยเอวี๋ยน (會元針灸學) ยังกล่าวอีกว่า “จุดหยางหลิงเฉวียน อยู่ฝั่งหยางของเส้นเส้าหยาง อยู่ใต้เข่าฝั่งนอกตรงรอยบุ๋ม มีเส้นเอ็นล้อมรอบ ทะลวงเข้าตับและกระจายที่สีข้าง เชื่อมกับปากกระเพาะล่าง เชื่อมกับหกเส้นลมปราณเอ็นประเภทหยาง แปรสภาพสารจิงให้เป็นเหมือนน้ำอมฤต ภายในเชื่อมโยงกับอวัยวะอินและหยาง ภายนอกหล่อเลี้ยงเหล่าเส้นเอ็นทั้งหลาย” จึงเห็นได้ว่า การที่ปราชญ์แต่โบราณได้กำหนดให้จุดหยางหลิงเฉวียนเป็นจุดสนธิแห่งเส้นเอ็นนั้นมีเหตุผลที่น่าฟังยิ่ง
4.พลังแห่งไขกระดูกสนธิที่จุดเสวียนจง (懸鐘)
ไตทำหน้าที่เก็บสารจิง และจิงสามารถสร้างไขกระดูก ไขกระดูกจะสะสมอยู่ในส่วนของกระดูก และกระดูกจะต้องได้รับการหล่อเลี้ยงจากไขกระดูก ไขกระดูกมีแบ่งออกเป็นไขกระดูกในกระดูกทั่วไปและไขกระดูกในกระดูกสันหลัง ไขกระดูกสันหลังจะขึ้นตรงไปสู่สมอง สมองจึงเป็นการรวมตัวกันของไขกระดูกสันหลัง ดังนั้นจึงกล่าวว่า สมองเป็นทะเลแห่งไขกระดูกสันหลัง
ในตำราได้กล่าวว่า “ไขกระดูกจะหล่อเลี้ยงไปตามกระดูก ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะหล่อเลี้ยงลงล่าง” ด้วยเพราะเหตุนี้ ในหลิงซูจึงกล่าวว่า “เมื่อทะเลแห่งกระดูกไม่พอ ก็จะทำให้วิงเวียนหูอื้อ เมื่อยหน้าแข้งและตาลาย” ในตำราได้กล่าวถึงว่าเมื่อมีอาการวิงเวียนอันเนื่องจากปัญหาของไขกระดูก ก็จะเมื่อยหน้าแข้ง ซึ่งในส่วนของหน้าแข้งที่กล่าวถึงนี้ แท้ก็คือเส้นถุงน้ำดีนั่นเอง
5.พลังแห่งโลหิตสนธิที่จุดเก๋อซู (膈俞)
การโคจรอย่างเป็นปกติของโลหิต จะต้องอาศัยอวัยวะหลาย ๆ อวัยวะในการช่วยเกื้อหนุนจึงจะทำให้โลหิตสามารถหมุนเวียนได้อย่างเป็นปกติ เป็นต้นว่า หัวใจทำหน้าที่ดูแลเส้นโลหิต ส่วนพลังแห่งหัวใจก็ทำหน้าที่ในการผลักดันโลหิต นอกจากนี้ ปอดทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของทุกเส้นลมปราณ ดังนั้น โลหิตที่โคจรอยู่ตามร่างกาย ทั้งหมดล้วนต้องรวมตัวกันที่ปอดทั้งสิ้น ด้วยการที่ปอดทำหน้าที่ปรับสภาพและการฟอกโลหิต บวกกับปอดเป็นที่รวมของลมปราณ และลมปราณก็ยังเป็นแม่ทัพแห่งโลหิตอีกต่างหาก ดังนั้น การที่ปอดสามารถดำเนินไปอย่างเป็นปกติเช่นนี้ จึงจะทำให้โลหิตกระจายไปทั่วร่างกายได้
นอกจากปอดและหัวใจแล้ว การโคจรของโลหิตยังต้องอาศัยพลังของม้ามในการกำกับดูแล บวกกับตับที่ทำหน้าที่ในการสะสมโลหิตและการระบาย ดังนั้นกระบวนการที่ทำงานอย่างประสานและกลมกลืนของอวัยวะเหล่านี้ จึงจะทำให้โลหิตสามารถหมุนเวียนไปทั่วร่างกายอย่างเป็นปกติ ดังนั้นการหมุนเวียนของโลหิตจึงมิอาจหลีกพ้นการทำงานอย่างผสมผสานของอวัยวะทั้งสี่นี้ได้เลย
อวัยวะทั้งสี่คือหัวใจ ปอด ตับ ม้ามต่างมีเส้นลมปราณที่ทะลุและเชื่อมโยงถึงกระบังลม ความสัมพันธ์ดังนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างกระบังลมและโลหิตได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจุดเก๋อซูซึ่งเป็นจุดฝังเข็มที่เกี่ยวข้องกับกระบังลมโดยเฉพาะ แน่นอนว่าจะต้องมีความสัมพันธ์กับการหมุนเวียนอย่างเป็นปกติของโลหิตอย่างแน่นอน จุดเก๋อซูเป็นจุดฝังเข็มบนแผ่นหลัง ภายในเชื่อมโยงกับกระบังลม ตำแหน่งของจุดเก๋อซูจะอยู่ถัดออกจากกระดูกสันหลังข้อที่เจ็ดออกนอกข้างละ 1.5 ชุ่น ส่วนจุดฝังเข็มที่อยู่เหนือจุดเก๋อซูขึ้นบนอีกสองข้อกระดูกสันหลัง (ข้อที่ห้า) คือจุดซินซู เป็นจุดที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ถัดจากจุดซินซูขึ้นบนอีกสองข้อกระดูกสันหลัง (ข้อที่สาม) คือจุดเฟ่ยซู เป็นจุดที่เกี่ยวข้องกับปอด และจุดฝังเข็มที่อยู่ใต้จุดเก๋อซูอีกสองข้อกระดูกสันหลัง (ข้อที่เก้า) คือจุดกันซู เป็นจุดที่เกี่ยวข้องกับตับ ถัดจากจุดกันซูลงล่างอีกสองข้อกระดูกสังหลัง (ข้อที่สิบเอ็ด) คือจุดผีซู เป็นจุดที่เกี่ยวข้องกับม้าม หากพิจารณาจากตำแหน่งของจุดเก๋อซูที่อยู่ตรงส่วนกลางของจุดฝังเข็มทั้งสี่ที่เกี่ยวโยงกับอวัยวะทั้งสี่บนเส้นลมปราณแผ่นหลังแล้ว เราก็พอจะทราบถึงความสัมพันธ์ของจุดเก๋อซูที่ดูแลเรื่องกระบังลมว่ามีความสัมพันธ์กับอวัยวะทั้งสี่ที่ดูแลเรื่องโลหิตอย่างไร ดังนั้นในหนังจิง (難經) จึงได้กำหนดให้จุดเก๋อซูเป็นจุดสนธิของพลังแห่งโลหิตนั่นเอง
6.พลังแห่งกระดูกสนธิที่จุดต้าจู้ (大杼)
จุดต้าจู้มีความหมายว่ากระสวยใหญ่ เหตุที่ตั้งชื่อว่ากระสวยใหญ่ เพราะจุดต้าจู้จะอยู่ข้างกระดูกสันหลังข้อที่หนึ่ง ซึ่งกระดูกสันหลังข้อที่หนึ่งจะเป็นกระดูกที่มีลักษณะใหญ่ที่สุดในบรรดาข้อดูกสันหลังทั้งหลาย โบราณเรียกกระดูกข้อนี้ว่ากระดูกกระสวย นอกจากนี้ ในหลิงซู (靈樞) ยังได้กล่าวถึงจุดต้าจู้ว่า “เป็นจุดฝังเข็มใหญ่แห่งแผ่นหลัง”
ความสัมพันธ์ระหว่างจุดต้าจู้และกระดูกนั้น ประการที่หนึ่งเป็นเพราะจุดต้าจู้จะอยู่ข้างกระดูกสันหลังข้อที่หนึ่ง ซึ่งกระดูกสันหลังข้อนี้เป็นกระดูกข้อใหญ่สุดของกระดูกสันหลัง ประการที่สอง เพราะจุดต้าจู้เป็นจุดที่หลาย ๆ เส้นลมปราณตัดผ่าน ในเจี่ยอี่จิง (甲乙經) ระบุว่า “เป็นจุดตัดของเส้นกระเพาะปัสสาวะและเส้นลำไส้เล็ก” ในฉีจิงป่าม่ายเข่า (奇經八脈考) ระบุว่า “เป็นจุดตัดของเส้นกระเพาะปัสสาวะ เส้นลำไส้เล็ก เส้นตูม่าย และเส้นซันเจียว” ทั้งนี้ เส้นกระเพาะปัสสาวะจะมีความสัมพันธ์กับไตแบบนอกใน ส่วนเส้นตูม่ายก็เป็นเส้นที่เดินอยู่กลางกระดูกสันหลัง ด้านเส้นซันเจียวก็มีความเกี่ยวข้องกับไต และไตดูแลเรื่องของกระดูก ดังนั้นในหนังจิง (難經) จึงได้จัดให้จุดต้าจู้เป็นจุดสนธิพลังของกระดูกนั่นเอง
7.พลังแห่งเส้นลมปราณสนธิที่จุดไท่เยวียน (太淵)
จุดไท่เยวียน เป็นจุดพลังต้นกำเนิดแห่งเส้นปอด อีกทั้งยังเป็นจุดซูซึ่งเป็นจุดที่พลังแห่งเส้นปอดจะไหลลงสู่ส่วนลึกอีกต่างหาก ดังนั้นจุดไท่เยวียนจึงเป็นจุดที่มีความสำคัญสำหรับเส้นปอดเป็นอย่างยิ่ง ในซู่เวิ่น (素問) ได้กล่าวไว้ว่า “พลังแห่งโลหิตจะเดินไปตามเส้นลมปราณ พลังแห่งเส้นลมปราณจะเดินไปรวมที่ปอด ดังนั้นปอดจึงเป็นศูนย์รวมแห่งเส้นลมปราณทั้งหลาย” หมายความว่า พลังแห่งสารละเอียด เป็นต้นว่าสารอาหาร สารจิง เป็นต้น ต่างไหลเข้าสู่เส้นลมปราณ และพลังแห่งเส้นลมปราณทั้งร่างกายก็จะไหลรวมไปที่ปอด ด้วยเพราะเหตุนี้ ปอดจึงเป็นศูนย์รวมแห่งพลังเส้นลมปราณทั้งหลาย และจุดไท่เยวียนก็ยังเป็นจุดซู (輸) และจุดเอวี๋ยน (原) ของเส้นปอดอีกต่างหาก ดังนั้นจุดไท่เยวียนจึงเป็นจุดสนธิของพลังแห่งเส้นลมปราณนั่นเอง
8.พลังแห่งลมปราณสนธิที่จุดถันจง (膻中)
ในหลิงซู (靈樞) ได้กล่าวไว้ว่า “อันจุดถันจง เป็นทะเลแห่งลมปราณแล” เหตุใดจึงให้จุดถันจงเป็นทะเลแห่งลมปราณ ในความเข้าใจแห่งตำราแพทย์ (醫經理解) ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า “ถันจง อยู่ระหว่างหัวนมทั้งสอง เป็นจุดที่ลมปราณเข้าและออก ดังนั้นจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าทะเลแห่งลมปราณบน สำหรับเส้นเยิ่นม่ายนี้จะมีทะเลแห่งลมปราณอยู่สองตำแหน่ง ทะเลแห่งลมปราณล่างคือ ชี่ห่าย เป็นทะเลที่บังเกิดลมปราณ ส่วนทะเลแห่งลมปราณบนคือ ทะเลแห่งจงชี่ (宗氣)” เนื่องจากถันจงอยู่ในส่วนของจงเจียว เป็นตำแหน่งแห่งการรวบรวมของจงชี่ ดังนั้นจึงเรียกจุดถันจงว่าทะเลแห่งลมปราณ
อันว่าจงชี่นั้น เป็นการรวมตัวกันระหว่างลมบริสุทธิ์จากภายนอกที่หายใจเข้ามา บวกกับพลังแห่งสารอาหารที่เกิดจากกระบวนการย่อยและการลำเลียงของกระเพาะม้าม ดังนั้นจงชี่จึงเกิดขึ้นที่ส่วนของหน้าอก มีความสามารถในการช่วยการหายใจของปอด ทั้งยังมีส่วนช่วยในการโคจรโลหิตของหัวใจนั่นเอง ในหลิงซู (靈樞) จึงกล่าวว่า “จงชี่รวมกันที่อก ออกที่ลำคอเพื่อทะลวงเส้นหัวใจ และทำให้เกิดการหายใจขึ้น” ด้วยเพราะเหตุนี้ การที่จุดถันจงเป็นจุดมู่หรือจุดรวมพลังลมปราณของเยื่อหุ้มหัวใจ บวกกับจุดถันจงยังเป็นทะเลแห่งลมปราณ เป็นจุดที่จงชี่บังเกิดและรวมศูนย์ จึงให้จุดถันจงเป็นจุดสนธิแห่งพลังลมปราณนั่นเอง
การประยุกต์ใช้แปดจุดสนธิในการรักษา
แปดจุดสนธิเป็นจุดฝังเข็มที่เกิดจากการสนธิพลังที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแปดสิ่ง ประกอบด้วย จุดจังเหมิน เป็นจุดที่มีการสนธิของพลังอวัยวะอิน จุดจงหวั่น เป็นจุดที่มีการสนธิของพลังอวัยวะหยาง จุดหยางหลางเฉวียน เป็นจุดที่มีการสนธิของพลังเส้นเอ็น จุดต้าจู้ เป็นจุดที่มีการสนธิของพลังกระดูก จุดเสวียนจง เป็นจุดที่มีการสนธิของพลังไขกระดูก จุดเก๋อซู เป็นจุดที่มีการสนธิของพลังโลหิต จุดไท่เยวียน เป็นจุดที่มีการสนธิของพลังเส้นลมปราณ และจุดถันจง เป็นจุดที่มีการสนธิของพลังลมปราณ ด้วยการที่จุดฝังเข็มเหล่านี้เป็นจุดสนธิของพลังแปดอย่าง ดังนั้นจึงมีสรรพคุณพิเศษในการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ
1.จุดจังเหมิน (การสนธิแห่งพลังอวัยะอิน) :
จุดจังเหมินนอกจากจะเป็นจุดสนธิแล้ว หากยังเป็นจุดรวมพลังลมปราณหรือจุดมู่ของม้ามอีกด้วย มีสรรพคุณในการรักษาอาการแน่นท้อง ท้องร้อง ปวดสีข้าง ก้อนในช่องท้อง อาการลมตีย้อน สันหลังและเอวปวดเย็น ปัสสาวะเล็ด ตกขาว เป็นต้น โดยเฉพาะจะมีสรรพคุณในการรักษาอาการของตับและม้ามเป็นสำคัญ ตามตำราได้ระบุว่า จุดจังเหมินเป็นจุดที่ใช้ในการรักษาอาการแทรกซ้อนทั้งแบบพร่องและแบบแกร่งของอวัยวะอิน อย่างเช่นข้อความที่ระบุในเชียนจินฟัง (千金方) คือ “ตัวเหลือง ปวดเมื่อย ซูบผอม แขนขาอ่อนแรง โกรธง่าย ก้อนแข็งในท้อง” หรือที่ระบุในต้าเฉิง (大成) ว่า “ตัวเหลืองและซูบผอม ก้อนแข็งในท้องและลมตีย้อนไปมา ท้องบวมโต สันหลังแข็ง แขนขาหนักไร้เรี่ยวแรง โกรธง่าย อ่อนแรง แขนขาเหน็บชา”
2.จุดจงหวั่น (การสนธิพลังแห่งอวัยวะหยาง) :
จุดจงหวั่นนอกจากจะเป็นจุดสนธิแล้ว หากยังเป็นจุดรวมพลังลมปราณหรือจุดมู่ของกระเพาะอาหารอีกด้วย จุดจงหวั่นจะมีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดกระเพาะ ท้องอืด ท้องร้อง อาเจียน ท้องร่วง อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน เป็นต้น โดยเฉพาะจะเป็นจุดที่รักษาอาการทางกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่เป็นสำคัญ ตามตำราได้ระบุไว้ว่า จุดจงหวั่นเหมาะสำหรับอาการเฉียบพลันทางอวัยะหยาง อาการร้อน และอาการแกร่ง เป็นต้น
สำหรับอาการแบบเฉียบพลัน ในซู่เวิ่น (素問) ได้กล่าวไว้ว่า “ท้องตึงแน่น ไม่สามารถกดลง” หรือในเจี่ยอี่จิง (甲乙經) ก็กล่าวว่า “อาการลมตีย้อนขึ้นหัวใจ หมดสติอย่างคนตาย” หรือในต้าเฉิง (大成) ก็ระบุว่า “อหิวาตกโรค อาการหมดสติจนหน้าเขียวคล้ำ”
ในด้านอาการร้อนนั้น ในเจี่ยอี่จิง (甲乙經) ได้กล่าวไว้ว่า “ปัสสาวะร้อน ปัสสาวะเป็นสีเหลืองแดง” หรือที่ต้าเฉิง (大成) ได้มีการระบุว่า “โดนความเย็นจนมีอาการตัวร้อนไม่ลด ตัวรุมร้อน มีอาการปวดท้อง และอาการท้องร่วงประกอบ” นอกจากนี้ ในโจ๋วโฮ่วเกอ (肘後歌) ก็ยังมีการระบุว่าจุดจงหวั่นสามารถรักษาอาการที่เกี่ยวกับแมลง (蟲) ได้ด้วย เป็นต้น
3.จุดเสวียนจง (การสนธิพลังของไขกระดูก) :
จุดเสวียนจงมีสรรพคุณในการรักษาอาการอัมพาต แขนขาไร้เรี่ยวแรง ปวดเข่าและหน้าแข้ง แน่นหน้าอกและสีข้าง เป็นต้น และเนื่องจากสมองเป็นทะเลแห่งไขกระดูก ดังนั้นจุดเสวียนจงจึงเป็นจุดหลักที่ใช้ในการรักษาอาการทางสมอง มีสรรพคุณในการบำรุงไตและสมอง มักจะนำมาใช้บ่อยในการรักษาอาการอัมพฤกษ์อัมพาต อย่างเช่นในต้าเฉิง (大成) ได้ระบุว่า “รักษาอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต จุดหลักที่ต้องใช้คือจุดเสวียนจง เหอกู่ คุนหลุน เป็นต้น” ในเฉียนคุนเซิงอี้ (乾坤生意) ได้ระบุว่า “ก่อนเกิดอาการอัมพฤกษ์ ให้รมยาที่จุดเสวียนจง” นอกจากนี้ ในต้าเฉิง (大成) เจี่ยอี่จิง (甲乙經) ถงเหยิน (銅人) จินเจี้ยน (金鑑) ล้วนมีการระบุถึงสรรพคุณในการรักษาอาการ “กระเพาะร้อน” ด้วยกันทั้งสิ้น
4.จุดต้าจู้ (การสนธิพลังของกระดูก) :
จุดต้าจู้มีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดสะบัก อาการไหล่คอหลังปวดตึงจนมิอาจนอน นอกจากนี้ ตามตำรา ต้าเฉิง (大成) เจี่ยอี่จิง (甲乙經) จินเจี้ยน (金鑑) ถูอี้ (圖翼) ต่างระบุว่า จุดต้าจู้สามารถรักษาอาการตัวร้อนและไร้เหงื่อ ตัวร้อน หัวหมุน วิงเวียน และกลัวหนาว โดนลมตัวร้อนแต่ไร้เหงื่อ ตัวร้อนตาลาย อาการร้อน ๆ หนาว ๆ ไอและเสมหะมาก เป็นต้น
5.จุดเก๋อซู (การสนธิพลังแห่งโลหิต) :
เป็นจุดฝังเข็มหลักที่ใช้ในการรักษาอาการทางโลหิต ในจินเจี้ยน (金鑑) ได้ระบุว่า “เป็นจุดที่รักษาอาการเสียเลือดทั้งหลาย” ในถูอี้ (圖翼) ยังระบุอีกว่า “จุดเก๋อซู เป็นจุดสนธิแห่งโลหิต หากใช้วิธีการรมยาอย่างเดียวจะเหมาะสำหรับรักษาอาการทางโลหิตทั้งหลาย เช่น เลือดกำเดาไม่หยุด โลหิตร้อนจนโลหิตเดินไม่เป็นระบบ หรืออาการกระอักเลือดอันเนื่องจากเส้นหัวใจและปอด หรืออาการถ่ายออกเป็นเลือดไม่หยุด เป็นต้น”
จุดเก๋อซูมีสรรพคุณในการปรับสภาพของโลหิต บวกกับมีสรรพคุณในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ปอด ม้าม ตับ แพทย์ในปัจจุบันมักจะนำมาผสมกับจุดผีซู ซี่เหมิน เสวียห่ายในการรักษาโลหิตจาง หรืออาการเป็นรอยจ้ำสีม่วงตามลำตัว เป็นต้น
6.จุดถันจง (การสนธิพลังแห่งลมปราณ) :
จุดถันจงนอกจากจะเป็นจุดสนธิแล้ว หากยังเป็นจุดรวมพลังลมปราณหรือจุดมู่ของเยื่อหุ้มหัวใจอีกด้วย มีสรรพคุณในการรักษาอาการแน่นหน้าอก หอบหืด ไอ ลมจุกที่ลำคอจนกลืนอาหารไม่ลง ซึ่งเป็นอาการที่เกี่ยวกับลมเป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถรักษาอาการชาหน้าอก ปวดหัวใจ หรืออาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเยื่อหุ้มหัวใจอีกด้วย ในเชียนจินฟัง (千金方) ได้ระบุสรรพคุณของจุดถันจงว่า “รักษาอาการปวดหัวใจและชาที่หน้าอก ลมตีขึ้นบนและไอย้อน หน้าอกชาและปวดหลัง” นอกจากนี้ ในสิงเจินจื่อเย่าเกอ (行針指要歌) ยังกล่าวว่า “ฝังเข็มรักษาอาการที่เกี่ยวกับลมปราณ ถันจงเพียงหนึ่งจุดก็ได้ผล”
จุดถันจงมีสรรพคุณในการปรับลมปราณให้ลื่นไหล ช่วยระบายอกและกดลดลมตีย้อนได้ ดังนั้น ในการรักษาทางคลินิกจึงมักจะใช้จุดถันจงบวกกับจุดจงหวั่นในการรักษาอาการอาเจียน หรือบวกกับจุดเน่ยกวนรักษาอาการบิดปวดที่หัวใจ หรือผสมกับเฟ่ยซู เทียนถูเพื่อรักษาอาการไอหอบ หรือบวกกับจุดเทียนจงเพื่อรักษาอาการตึงเต้านม หรือผสมกับอี้เหมินเพื่อเร่งน้ำนม เป็นต้น
7.จุดหยางหลิงเฉวียน (การสนธิพลังแห่งเส้นเอ็น) :
จุดหยางหลิงเฉวียนนอกจากจะเป็นจุดสนธิแล้ว หากยังเป็นจุดเหอของเส้นถุงน้ำดีอีกด้วย มีสรรพคุณในการรักษาอาการท่อนขาล่างอ่อนเปลี้ย เหน็บชา เข่ามิอาจยืดหด ปวดชายโครงและสีข้าง ปากขม และอาเจียน เป็นต้น มีหน้าที่หลักในการระบายเส้นเอ็น ช่วยเรื่องไขข้อให้ลื่นไหล ช่วยระบายตับและถุงน้ำดี เป็นต้น ในเจี่ยอี่จิง (甲乙經) ได้กล่าวสรรพคุณของจุดหยางหลิงเฉวียนไว้ว่า “ตึงที่ถุงน้ำดี ตึงแน่นที่สีข้าง อาเจียน เหน็บชาตรงท่อนขาบนลงถึงหัวเข่า ปวดก้นบริเวณจุดหวนเที่ยว และเส้นเอ็นตึงแข็ง”
8.จุดไท่เยวียน (การสนธิพลังแห่งเส้นลมปราณ) :
จุดไท่เยวียนนอกจากจะเป็นจุดสนธิแล้ว หากยังเป็นจุดเหอของเส้นปอดอีกด้วย จุดไท่เยวียนมีสรรพคุณในการรักษาอาการชาที่หน้าอก ปวดหัวใจ ชีพจรฝืด หอบหืดและไอย้อน ซึ่งเป็นอาการที่เกี่ยวกับปอดและหัวใจ
เนื่องจากหัวใจดูแลเรื่องของเส้นโลหิต ส่วนปอดก็เป็นศูนย์รวมของเหล่าเส้นลมปราณทั้งหลาย ดังนั้นจุดไท่เยวียนจึงมีสรรพคุณในการรักษาเรื่องที่เกี่ยวเส้นโลหิตหรือเส้นที่มีลักษณะเป็นท่อได้ ไท่เยวียนยังมีหน้าที่ในการปรับลมปราณ กระตุ้นโลหิต ทะลวงเส้นลมปราณให้ลื่นไหลอีกด้วย ในต้าเฉิง (大成) ระบุว่า จุดไท่เยวียนนอกจากจะรักษาอาการไอ ตึงแน่นที่ปอด หอบหืดไม่หยุดแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการรักษาอาการชาที่หน้าอกและลมตีย้อน ปวดหัวใจ และชีพจรฝืดได้อีกด้วย ตามรายงานที่ทำการรักษาในเชิงคลินิกได้ระบุว่า จุดไท่เยวียนสามารถรักษาอาการไร้ชีพจรได้เป็นอย่างดี
โฆษณา