7 ม.ค. 2020 เวลา 01:33 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็ม (針灸學)
ภาคทฤษฎี
บทที่ 9
จุดแผ่นหลังหรือจุดเป่ยซู (背俞穴) และจุดรวมพลังลมปราณหรือจุดมู่ (募穴)
จุดแผ่นหลังหรือจุดเป้ยซู (背俞穴) เป็นจุดฝังเข็มที่อยู่ตรงเส้นกระเพาะปัสสาวะฝั่งใน ถัดจากกระดูกสันหลังออกด้านนอก 1.5 ชุ่น โดยรวมแล้ว จุดเป้ยซูจะเรียงลำดับตามตำแหน่งอวัยวะภายในที่อยู่ภายในร่างกาย แล้วตั้งชื่อตามอวัยวะภายในที่เชื่อมโยงถึง มีทั้งหมด 12 จุดด้วยกัน อันประกอบด้วย
เฟ่ยซู (肺俞 ; BL13)
เจวี๋ยอินซู (厥陰俞 ; BL14)
ซินซู (心俞 ; BL15)
กันซู (肝俞 ; BL18)
ตั่นซู (膽俞 ; BL19)
ผีซู (脾俞 ; BL20)
เว่ยซู (胃俞 ; BL21)
ซันเจียวซู (三焦俞 ; BL22)
เซิ่นซู (腎俞 ; BL23)
ต้าฉางซู (大腸俞 ; BL25)
เสี่ยวฉางซู (小腸俞 ; BL27)
และผังกวงซู (膀胱俞 ; BL28)
ส่วนจุดมู่ (募) นั้น คำว่ามู่มีความหมายว่าการระดม ซึ่งหมายถึงการระดมพลังลมปราณไว้ในที่เดียว ดังนั้นจุดมู่ (募穴) จึงหมายถึงจุดที่รวมพลังลมปราณนั่นเอง จุดมู่มีความแตกต่างจากจุดซูแบบตรงกันข้าม คือจุดมู่จะอยู่ตรงส่วนหน้าของร่างกาย มีแบบที่อยู่บนเส้นลมปราณของตัวเองบ้าง และมีแบบที่อยู่บนเส้นลมปราณอื่นบ้าง มีทั้งหมด 12 จุด คือ
จุดจงฝู่ (中府 ; LU1) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของปอด
จุดยื่อเยวี่ย (日月 ; GB24) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของถุงน้ำดี
จุดจิงเหมิน (京門 ; GB25) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของไต
จุดฉีเหมิน (期門 ; LR14) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของตับ
จุดจังเหมิน (章門 ; LR13) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของม้าม
จุดเทียนซู (天樞 ; ST25) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของลำไส้ใหญ่
ทั้งหมดข้างต้นเป็นจุดคู่ ส่วนที่เหลือจะอยู่บนเส้นเยิ่นม่าย เป็นจุดเดี่ยว ประกอบด้วย
จุดถันจง (膻中 ; CV17) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของเยื่อหุ้มหัวใจ
จุดจวี้เชวี่ย (巨闕 ; CV14) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของหัวใจ
จุดจงหวั่น (中脘 ; CV12) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของกระเพาะอาหาร
จุดสือเหมิน (石門 ; CV5) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของซันเจียว
จุดกวนเอวี๋ยน (關元 ; CV4) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของลำไส้เล็ก
จุดจงจี๋ (中極 ; CV3) เป็นจุดรวมพลังลมปราณของกระเพาะปัสสาวะ
คุณลักษณะในการรักษาของจุดซูและจุดมู่
ทั้งจุดซูและจุดมู่ต่างเป็นจุดฝังเข็มที่พลังแห่งเส้นลมปราณจะมารวมตัวและชุมนุมกันทั้งสิ้น และจุดฝังเข็มทั้งสองประเภทต่างก็สามารถรักษาอาการทางอวัยวะภายในทั้งแบบอินและแบบหยางด้วยเช่นกัน แต่จุดฝังเข็มทั้งสองประเภทจะมีคุณลักษณะเด่นในการรรักษาที่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อย
ในคัมภีร์ฟาฮุย (發揮) ได้กล่าวไว้ว่า “เส้นลมปราณอินและเส้นลมปราณหยาง พลังของทั้งสองจะสลับกัน อวัยวะอินอวัยวะหยาง หน้าท้องแผ่นหลัง พลังลมปราณจะมีการสนองซึ่งกันและกัน” หมายความว่า พลังลมปราณจะจากหยางไปสู่อิน จากอินไปสู่หยาง อินหยางทะลวงถึงกัน หน้าท้องแผ่นหลังสนองกันและกัน จนสุดท้ายอินหยางเกิดความสมดุลและทำให้อวัยวะภายในมีการทำงานที่เป็นปกติ
ในยามที่อวัยวะภายในป่วย หากเป็นการป่วยของอวัยะอินหรือเส้นลมปราณอิน โรคก็จะจากอินเข้าสู่หยาง ขณะเดียวกัน หากอวัยะหยางหรือเส้นลมปราณหยางป่วย โรคก็จะจากหยางเข้าสู่อิน ในหนันจิง (難經) กล่าวว่า “จุดมู่อยู่ฝั่งอิน (ฝั่งหน้าท้องคืออิน) จุดซูอยู่ฝั่งหยาง (ฝั่งแผ่นหลังคือหยาง) เพราะเหตุใด ? โรคอินจะเดินไปสู่หยาง ส่วนโรคหยางจะเดินไปสู่อิน ดังนั้นจึงให้จุดมู่อยู่ฝั่งอิน จุดซูอยู่ฝั่งหยาง” เนื้อหาข้างต้นอธิบายว่า โรคประเภทอินจะเดินไปสู่หยางคือแผ่นหลัง ส่วนโรคประเภทหยางจะเดินไปสู่อินคือหน้าท้องและอก ด้วยเพราะลักษณะการก่อโรคของร่างกายเป็นเช่นนี้ ดังนั้นในซู่เวิ่น (素問) จึงกล่าวว่า “ผู้ที่ชำนาญการใช้เข็ม จะรู้จักดึงอินจากหยาง ดังหยางจากอิน” อีกทั้งยังกล่าวอีกว่า “โรคหยางให้รักษาทางอิน โรคอินให้รักษาทางหยาง” ในส่วนนี้ จางซื่อเสียน (張世賢) แห่งราชวงศ์หมิงได้กล่าวไว้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีกว่า “หากโรคอินเดินสู่หยาง ควรที่จะดึงอินจากหยาง ดังนั้นให้รักษาที่จุดซู หากโรคหยางเดินสู่อิน ควรดึงหยางจากอิน ดังนั้นให้รักษาที่จุดมู่”
เมื่อทำการสรุปจากตำราต่าง ๆ แล้วจึงเห็นได้ว่า หากเป็นโรคอินให้ฝังเข็มที่จุดซูที่อยู่ตรงแผ่นหลัง หากเป็นโรคหยางให้ฝังเข็มที่จุดมู่ที่อยู่ตรงหน้าอกและท้อง
แต่โรคอินคืออะไร โรคหยางคืออะไร โรคอินคือกลุ่มอาการที่เกี่ยวกับอวัยะอิน อาการเย็น อาการพร่อง หรืออาการอ่อนเปลี้ย เป็นต้น ส่วนโรคหยางคือกลุ่มอาการที่เกี่ยวกับอวัยะหยาง อาการร้อน หรืออาการแกร่งเป็นต้น
อนึ่ง แม้นจะกล่าวว่า จุดมู่รักษาโรคหยาง จุดซูรักษาโรคอินก็ตาม แต่ในความเป็นจริงนั้น จุดซูที่อยู่เหนือกระบังลมขึ้นไปก็มีสรรพคุณในการรักษาอาการร้อน ๆ หนาว ๆ ที่เกิดจากการสัมผัสพิษร้ายภายนอก รักษาอาการหืดหอบและร้อนอึดอัด รักษาอาการปวดแบบดึงรั้งทั้งหน้าและหลัง ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางโรคหยางด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน จุดมู่ที่อยู่ใต้สะดือลงไป ก็มีสรรพคุณในการรักษาอาการพร่องเปลี้ยผอมซูบ ตกเลือด อสุจิเคลื่อน ซึงเป็นกลุ่มอาการทางโรคอินด้วยเช่นกัน ดังนั้น หลี่ตงเอวี๋ยน (李東垣) นักปราชญ์ทางการแพทย์ในสมัยโบราณได้กล่าวไว้ว่า “การรักษาที่จุดมู่ที่หน้าท้อง ล้วนเป็นการรักษาอาการพลังลมปราณอ่อนพร่อง” อีกทั้งกล่าวว่า “เมื่อรับพิษลมหรือพิษเย็นเข้าสู่ร่างกาย ก็จะไปสู่ตำแหน่งแผ่นหลัง”
โดยสรุปแล้ว เมื่อจะทำการรักษา ควรทำการวินิจฉัยให้ชัดแจ้งว่าเป็นกลุ่มอาการประเภทใด จากนั้นทำการเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ยังต้องรู้จักผสมผสานคุณลักษณะเฉพาะของจุดซูและจุดมู่แต่ละจุดในการประกอบข้อบ่งใช้เข็มอีกด้วย
การประยุกต์ใช้จุดซูและจุดมู่ในการรักษา
จุดซูและจุดมู่นอกจากจะสามารถใช้แบบเดี่ยว ๆ ก็มีสรรพคุณการรักษาที่โดดเด่นแล้ว ความจริงกลุ่มจุดฝังเข็มทั้งสองกลุ่มก็ยังสามารถนำมาผสมผสานซึ่งกันและกัน หรือกระทั่งยังสามารถนำไปผสมผสานกับจุดฝังเข็มอื่น ๆ อีกด้วยเช่นกัน ดังจะขอสรุปเป็นวิธีการผสมเข็มสองวิธีดังต่อไปนี้
1.การผสมเข็มระหว่างจุดซูและจุดมู่ (俞募相配)
การผสมเข็มระหว่างจุดซูและจุดมู่ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการผสมเข็มระหว่างหน้าท้องและแผ่นหลัง หนึ่งหน้าหนึ่งหลัง หนึ่งอินหนึ่งหยาง ทั้งสองฝ่ายผสานกลมกลืนกันและกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน จึงนับว่าเป็นวิธีการฝังเข็มที่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่โดดเด่นวิธีหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น หากมีอาการป่วยทางปอด ให้เลือกจุดจงฟู่ที่อยู่ด้านหน้าของร่างกาย บวกกับจุดเฟ่ยซูที่อยู่ด้านหลังของร่างกาย หรืออย่างเช่นโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ก็ให้เลือกจุดจงหวั่นที่อยู่ด้านหน้าของร่างกาย บวกกับจุดเว่ยซูที่อยู่ด้านหลังของร่างกาย เป็นต้น
นอกจากนี้ หากอาการของผู้ป่วยมีความสลับซับซ้อน คือมีทั้งอาการอินและอาการหยาง เป็นต้นว่า มีลมในท้องที่ทำให้ปวดร้าวจนถึงหลัง เบื่ออาหารจนร่างกายผอมซูบ ในเวลานี้ให้เลือกจุดผีซู จากนั้นให้เลือกจุดรวมพลังลมปราณแห่งม้ามคือจุดจังเหมินประกอบ เป็นต้น
2.การผสมเข็มแบบจุดมู่และจุดเหอ จุดซูและจุดพลังต้นกำเนิด (募合 俞原相配)
เนื่องจากจุดมู่จะเน้นการักษาอาการทางหยาง เป็นต้นว่า อวัยวะหยาง อาการแกร่ง อาการร้อน เป็นต้น ส่วนจุดซูจะเน้นการรักษาอาการทางด้านอิน เป็นต้นว่า อวัยวะอิน อาการพร่อง และอาการเย็น เป็นต้น ส่วนจุดเหอหรือจุดรวมก็เน้นไปในทางการรักษาอวัยวะหยาง มีลักษณะค่อนไปในทางการทะลวงให้ลื่นไหลและปรับให้ลดลง ส่วนจุดเอวี๋ยนหรือจุดพลังต้นกำเนิดก็จะเน้นไปในทางการรักษาอวัยวะอิน การรักษาจะค่อนไปในทางการประคองพลังดีขับพลังร้ายเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อทำการประมวลความโดดเด่นในการรักษาของแต่ละกลุ่มจุดฝังเข็มแล้ว จึงทำได้เกิดเป็นการผสมเข็มอยู่สองประเภทคือ การผสมเข็มระหว่างจุดมู่และจุดเหอ และการผสมเข็มระหว่างจุดซูและจุดเอวี๋ยนหรือจุดพลังต้นกำเนิดขึ้น
สำหรับการผสมเข็มระหว่างจุดซูและจุดเอวี๋ยนหรือจุดพลังต้นกำเนิด ขอยกตัวอย่างเช่นจุดเฟ่ยซูของจุดซู ผสมกับจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นปอดคือจุดไท่เยวียน หรือในกรณีที่จะรักษาไต ก็ให้เลือกจุดเซิ่นซูของจุดซู ผสมกับจุดพลังต้นกำเนิดของเส้นไตคือจุดไท่ซี
สำหรับวิธีการผสมเข็มระหว่างจุดมู่และจุดเหอนั้น ขอยกตัวอย่างเช่น การรักษาอาการถ่ายท้องและปวดท้องอย่างรุนแรง ก็ให้เลือกจุดมู่ของลำไส้ใหญ่คือจุดเทียนซู บวกกับจุดเหอล่างของลำไส้ใหญ่คือจุดซั่งจวี้ซวี หรืออย่างเช่นการรักษาอาการปวดกระเพาะ ก็ให้เลือกจุดมู่ของกระเพาะอาหารคือจุดจงหวั่น บวกกับจุดเหอของกระเพาะคือจุดจู๋ซันหลี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้จุดซูมู่นั้นยังสามารถพลิกแพลงตามอาการของโรคได้อีกด้วย เป็นต้นว่าอาการทางปอด นอกจากจะเลือกใช้จุดเฟ่ยซูแล้ว หากผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบก็ให้เพิ่มจุดถันจง หากมีอาการโดนลมจนรู้สึกเหน็บหนาวก็ให้เพิ่มจุดเฟิงฉือ เฟิงเหมิน และหากมีอาการไม่สบายที่ลำคอก็ให้เพิ่มจุดเส้าซัง หรือหากยังมีอาการไอเป็นเลือดก็ให้เพิ่มจุดข่งจุ้ย เป็นต้น
ขอยกอีกหนึ่งตัวอย่างคือการรักษาอาการทางไต นอกจากจะเลือกใช้จุดเซิ่นซูแล้ว ก็ยังสามารถเพิ่มจุดมิ่งเหมิน ซันเจียวซู ผังกวงซู และจุดกวนเอวี๋ยน ชี่ห่ายอีกเป็นต้น หรืออาจจะเพิ่มจุดเลี่ยเชวีย เจ้าห่าย ซันอินเจียว และเสวียนจง อีก
โดยสรุปก็คือ จุดซูมู่นอกจากจะสามารถใช้แบบเดี่ยว ๆ ได้แล้ว หากยังสามารถพลิกแพลงตามสถานการณ์และทำการผสมเป็นตำรับเข็มขึ้นอีกชุดหนึ่ง เพื่อเสริมศักยภาพการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โฆษณา