15 ม.ค. 2020 เวลา 07:00 • กีฬา
NBA 101 Special Mini-Series: NBA All-Star Games 2020 (ตอนที่ 2)
บทความนี้จะเป็นตอนต่อใน Mini-Series: NBA All-Star Games 2020 ครับ
บทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปดูกันว่า รายละเอียดในการแข่งขัน All-Star ทั้งสามวัน แตกต่างกันอย่างไร และมีรายละเอียดอย่างไรบ้างครับ
ซึ่งปกติแล้วในช่วงงานแบบนี้ ทั้ง 3 วัน มักจะเรียกรวมกันว่า All-Star Weekend
ในบทความนี้จะขอเริ่มจากวันแรกก่อนนะครับ ส่วนอีกสองวันจะนำมาลงในตอนถัดๆ ไปของ Mini Series นี้ครับ
NBA All-Star ประจำฤดูกาล 2019/20 จะจัดขึ้นที่เมือง Chicago
All-Star Weekend วันที่ 1 (วันศุกร์)
1. NBA All-Star Celebrity Game
เป็นการจัดแข่งเกมที่คล้ายกับการแข่งปกติ โดยในทีมจะประกอบด้วยบรรดาผู้เล่น NBA ที่เลิกเล่นไปแล้ว, ผู้เล่นจาก WNBA (NBA หญิง), ดารา นักดนตรี นักแสดง, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับวงการ NBA และนักกีฬาประเภทอื่นที่ไม่ใช่บาสเกตบอลรวมทีมกัน โดยจะมีหนึ่งทีมที่เปรียบเสมือนทีมเจ้าภาพ ที่จะต้องมีประวัติเกี่ยวข้องกับเมืองที่เป็นเจ้าภาพจัด All-Star ในฤดูกาลนั้นๆ มาก่อนด้วย
รูปแบบการจัดการแข่งแบบนี้ เริ่มมีครั้งแรกตั้งแต่ฤดูกาล 2002/03 ที่ Atlanta เป็นต้นมา โดยมีการปรับกติกาเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความสนุกขึ้น อาทิเช่น
-ปรับเวลาเป็น 10 นาทีต่อ Quarter และจะไม่มีการหยุดเวลาระหว่างเกม ยกเว้นช่วงสองนาทีสุดท้ายของทุก Quarter การขอเวลานอกและในช่วงต่อเวลาพิเศษ
-ปรับการขอเวลานอกให้เหลือแค่ 1 ครั้งต่อครึ่งช่วงเวลาเท่านั้น (ครึ่งแรก 1 ครั้ง และครึ่งหลัง 1 ครั้ง)
-ถ้ามีการต่อเวลาพิเศษ จะลดลงเหลือแค่ 2 นาที (จากปกติ 5 นาที)
-ไม่มีการ Fouled Out แต่ถ้าเกิดการ Technical Foul ที่รุนแรง ผู้เล่นจะมีสิทธิ์โดนไล่ออกจากสนามได้ทันที
-มีการเพิ่มเส้น 4 แต้ม เข้ามา โดยในฤดูกาล 2018/19 เส้น 4 แต้มจะอยู่หลังเส้น 3 แต้มประมาณ 1 หลา และผู้เล่นที่จะทำการยิงให้ได้ 4 แต้ม จะต้องยืนหลังเส้นนี้เท่านั้น (เหยียบเส้นไม่นับ)
Link นี้คือ Highlights ของการแข่ง NBA All-Star Celebrity Game
และ Link นี้เป็น Highlights เฉพาะฤดูกาลล่าสุดหรือ 2018/19 ที่จัดขึ้นที่ Charlotte
2. Rising Stars Games
เป็นการจัดแข่งเกม ที่รวมเฉพาะดาวรุ่งและผู้เล่นปี 2 ในลีกขณะนั้น เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะให้ดาวรุ่งได้แสดงศักยภาพของตัวเอง (ถึงจะไม่จริงจังนักก็ตาม)
การแข่งแบบนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ฤดูกาล 1993/94 โดยใช้ชื่อว่า Rookie Challenge และจัดแข่งกันในคืนวันเสาร์ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นวันศุกร์ตั้งแต่ฤดูกาล 2003/04 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น Rising Stars Challenge ตั้งแต่ฤดูกาล 2011/12 เป็นต้นมา
โดยการจัดผู้เล่นในช่วงแรก ลีกจะคัดเฉพาะผู้เล่นที่เป็นดาวรุ่งหรือเล่นเป็นปีแรกใน NBA เท่านั้น ต่อมาเพื่อเพิ่มความหลากหลายในการจัดตัวผู้เล่น จึงได้มีการเพิ่มผู้เล่นปีที่ 2 ในลีกเข้ามาด้วย
รูปแบบการจัดทีมนั้น ในช่วงแรกจะแบ่งเป็นทีมปี 1 เจอกับทีมปี 2 โดยตรง แต่ต่อมาลีกต้องการเพิ่มความสนุกและความหลากหลายในการจัดทีม จึงเริ่มมีการจับผู้เล่นทั้งสองชุดรวมกัน และจัดทีมโดยไม่ได้คำนึงถึงปีที่เล่นอีกต่อไป ตั้งแต่ฤดูกาล 2011/12 เป็นต้นมา
ในช่วงแรกนั้นจะเป็นการ Draft ผู้เล่นเข้าสู่ทีมคล้ายๆ กับกติกาที่ใช้ในการจัดทีมผู้เล่น All-Star ในปัจจุบัน
และฤดูกาล 2014/15 ทางลีกได้มีการจัดแบ่งตามสัญชาติเพิ่มเข้ามาด้วย โดยจะแบ่งเป็น Team USA เจอกับ Team World แทนการ Draft Pool ที่ใช้กันอยู่เดิมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
Link นี้คือ Highlights ของการแข่ง Rising Star Games
และ Link นี้เป็น Highlights เฉพาะฤดูกาลล่าสุดหรือ 2018/19 ที่จัดขึ้นที่ Charlotte
3. NBA G-League Dream Factory Friday Night
สำหรับหัวข้อนี้ จะไม่ใช่การแข่งเกม แต่จะเป็นการแข่งวัดทักษะ ที่จะให้ผู้เล่นจาก G-League (D-League เดิม) ที่ได้รับคัดเลือกมาได้แสดงความสามารถ โดยปัจจุบันจะมีการแข่งอยู่ 2 แบบ คือ Slam Dunk Contest และ Three-Point Shootout
การจัดการแข่งวัดทักษะแบบนี้ ได้เอาแนวคิดมาจากการแข่งวัดทักษะในคืนวันเสาร์ของผู้เล่น NBA มาดัดแปลง และจัดให้เกิดขึ้นก่อนหน้าหนึ่งวันเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน เพราะทางลีกต้องการให้ผู้เล่นมีเวทีให้เฉิดฉายอย่างเต็มที่ ไม่ถูกบดบังจากผู้เล่นในลีก NBA นั่นเอง โดยการแข่งนี้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ฤดูกาล 2007/08
เพียงแต่ว่าในฤดูกาล 2018/19 ที่เป็นฤดูกาลล่าสุดของ All-Star ทางลีกตัดสินใจยุบหัวข้อนี้ออกไป คงต้องรอดูกันต่อไปว่าในฤดูกาลนี้่จะนำ Dream Factory กลับมาหรือไม่ในฤดูกาลนี้ครับ
Link นี้คือ Highlights ของ Slam Dunk Contest ของฤดูกาล 2017/18 ซึ่งเป็นฤดูกาลล่าสุดที่จัดการแข่งทักษะ
Link นี้คือ Highlights ของ Three Point Shootout ของฤดูกาล 2016/17 ซึ่งเป็นฤดูกาลล่าสุดที่จัดการแข่งทักษะ
4. Hall of Fame
ทำเนียบหอเกียรติยศ Hall of Fame
การประกาศรายชื่อบุคคลที่จะได้เข้าทำเนียบหอเกียรติยศของลีก NBA หรือ Hall of Fame ประจำปี
ถึงแม้ว่าการประกาศในงาน All-Star จะเป็นแค่ Finalists ก็ตาม (ถ้าเทียบกับงานประกาศสำคัญอื่นๆ จะเปรียบเสมือนการประกาศผู้ที่มีสิทธิ์ในการเข้าทำเนียบในรอบสุดท้าย ก่อนที่จะมีการคัดจริงๆ อีกครั้งในภายหลัง)
โดยบุคคลที่มีสิทธิ์ได้รับคัดเลือกนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อาจจะมี Coach หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในด้านอื่นๆ หรืออาจจะยกชื่อทีมมาเลยก็เป็นได้ ซึ่งการประกาศนี้จะมีทั้งลีกชายและลีกหญิง (WNBA)
รายชื่อของ Hall of Fame 2019 Finalist สามารถดูได้จากด้านลา่งนี้เลยครับ
สำหรับรายละเอียดในส่วนนี้ ถ้ามีโอกาสจะนำเสนอต่อไปครับ
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดของการจัดงาน All-Star Weekend ในวันแรกครับ ส่วนฤดูกาล 2019/20 จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกหรือไม่ คงต้องรอติดตามกันต่อไปครับ
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณผู้อ่านเข้าใจรายละเอียดของ All-Star Game ได้มากขึ้นไม่มากก็น้อยครับ
แล้วพบกันใหม่ในตอนถัดไป สำหรับรายละเอียดของสองวันที่เหลือครับ
ถ้าชอบบทความ รบกวนฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
BombWalkerz

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา