17 ม.ค. 2020 เวลา 11:00 • ท่องเที่ยว
ดอยอินทนนท์
จะให้ประทับใจ ต้องไปให้สุด !
(ตอนที่ 1)
นางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่ง บนดอยอินทนนท์
ไปเที่ยวเชียงใหม่
ถ้าเป็นที่เที่ยวทางธรรมชาติยอดฮิตก็คงจะหนีไม่พ้นดอยสุเทพ
อ่างขาง
ดอยอินทนนท์
ดอยอินทนนท์ เป็นจุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย
จึงทำให้คนส่วนใหญ่อยากสร้างเกียรติประวัติและความทรงจำให้ตัวเองว่า
เคยไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของประเทศมาแล้ว
ไปถึงดอยอินทนนท์แล้วก็ต้องไปที่พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล และนภพลภูมิศิริ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่เก้า และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
 
หลังจากนั้นก็จะไปสิ้นสุดที่จุดสูงสุดในสยาม และดอยอ่างกา
ที่ซึ่งจะได้เดินชมป่าดึกดำบรรพ์
ถ้าโชคดีก็จะได้เห็นกุหลาบ 1000 ปีออกดอกสีแดงสดสะพรั่ง
 
แล้วส่วนใหญ่จะกลับ
ต้นเดือนมกราคม กุหลาบพันปีที่ดอยอ่างกาเพิ่งผลิดอก ไม่สังเกตให้ดีอาจไม่เห็น เพราะอยู่สูง
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่ดอยอ่างกา เขียวไปด้วยมอสเพราะความหนาวเย็นตลอดปี
กู่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ที่จุดสูงสุดบนยอดดอยอินทนนท์ ลองสังเกตที่ช้างไม้สลัก จะเห็นตะไคร่จับเขียวทั้งปี เพราะความหนาว
หมุด ของกรมแผนที่ทหารที่จุดสูงสุดในสยาม
คนที่ไปดอยอินทนนท์ ร้อยละ 99.99
รู้จักชื่อ”กิ่วแม่ปาน”
อย่างน้อยก็เคยไปยืนชั่งใจอยู่ตรงปากทาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทางเดิน
ว่าจะเดิน หรือจะถอย
แต่ส่วนใหญ่
รวมถึงผมด้วย
ถอยหลังกลับครับ
ไม่ได้ไป
ด้วยหลายเหตุผล
อย่างแรกคือ ต้องใช้เวลาไม่น้อย
บางคน บางคณะ อาจใช้เวลาเดินเพียง 2 ชั่วโมง
แต่สำหรับคนที่ไม่แข็งแรงนักอาจใช้เวลาเดินถึง 3 - 4 ชั่วโมง
หรืออาจมากกว่านั้น
ขึ้นอยู่กับพร้อมความพร้อมของร่างกาย
ซึ่งถ้าใช้เวลามาก กลับออกมาจากป่ากิ่วแม่ปานเย็นค่ำ ก็จะกลับลงจากดอยอินทนนท์ไม่ทัน
คนที่ตัดสินใจเดินเที่ยวกิ่วแม่ปานจึงมักเป็นคนที่พักค้างอยู่บนดอยอินทนนท์อยู่แล้ว
นอกจากเหตุผลของความไกล ต้องเดินเหนื่อยแล้ว
ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ
จะเดินไปเองไม่ได้
ต้องมีคนนำทางท้องถิ่นเดินไปด้วย
ต้องเสียค่าใช้จ่าย 200 บาท ต่อหนึ่งคณะสำหรับคนนำทางท้องถิ่นที่ว่านี้
บางคนก็จะคิดว่า
เสียค่าเข้าอุทยานมาแล้ว
(สำหรับคนที่อายุยังไม่ถึง 60 ปี)
ยังจะต้องมาเสียค่าคนนำทางอีกหรือ ?
ฉันจะเดินของฉันเองไม่ได้หรือ ?
จะบอกคำตอบให้ในตอนจบ
ที่สำคัญที่สุดคือ
ต้องเดิน
และไม่มีใครเดินแทนได้
ต้องเดินเองเท่านั้น
และกว่าครึ่งของคนที่เดินขึ้นไปที่กิ่วแม่ปาน
จะกลับเมื่อไปได้ครึ่งทาง
คือบริเวณทุ่งหญ้าบนยอดเขา ที่จุดชมวิว ซึ่งเป็นถิ่นของกวางผา
แล้วเดินกลับ
เดี๋ยวจะเล่าว่า เพราะอะไร ?
ความจริงเส้นทางเดินไปกิ่วแม่ปานไม่ได้ยาวไกลอะไรนัก
คิดเป็นระยะทางประมาณ 3.2 กิโลเมตร เท่านั้น
แต่เป็นการเดินขึ้นลงตามเส้นทางในป่า ไม่ได้เดินไปตามถนน
บางคนจึงเปลี่ยนใจ
ร้องเพลง “ถอย...ดีกว่า”
คนนำทางท้องถิ่นที่ว่านี้ ส่วนใหญ่เป็นคนชาติพันธุ์ เช่น ม้ง หรือปกากะญอ
ก่อนออกเดินต้องมีการลงทะเบียนตามข้อกำหนด
เจ้าหน้าที่จะให้เดินเข้าได้แค่ 4 โมงเย็น ไม่เช่นนั้นจะออกมามืดค่ำ
ยกเว้นแต่การขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษเพื่อเดินไปดูพระอาทิตย์ตก
ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเดินออกมาในเวลากลางคืน ซึ่งต้องมีอุปกรณ์สำคัญคือ ไฟฉาย
และมีคนนำทางที่ชำนาญ
จุดลงทะเบียน ก่อนเริ่มต้นการเดินขึ้นสู่กิ่วแม่ปาน
เมื่อลงทะเบียนแล้ว คนนำทางซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น จะให้คำแนะนำเบื้องต้น
คนมีโรคประจำตัวเช่นโรคหัวใจความดันสูงหรือหอบหืด ไม่ควรเดิน
ซึ่งก็ต้องพิจารณาความพร้อมของตัวเองด้วย
เวลาในการเดิน เจ้าหน้าที่บอกว่าจะใช้เวลาสองถึง 4 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น
ไม้ เด็กหนุ่มคนนำทางท้องถิ่นชาวม้งแนะนำให้เราเลือกหยิบไม้ไผ่ยาวประมาณเมตรครึ่ง ที่วางกองไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ติดมือไปคนละอัน
ไม้ - คนนำทางของท้องถิ่นชาวม้ง ผู้อารมณ์ดีและความรู้เรื่องพันธุ์ไม้ในป่าหลายอย่าง
“มันจะช่วยในการพยุงตัวและค้ำยันเวลาเดินขึ้นเขาลงเขา”
เส้นทางเดินในช่วงแรก ค่อนข้างสบาย เพราะมีการทำบันได และปูทางเดินไว้ให้ในจุดที่เดินลำบาก
ทางเดินบางช่วง เดินสบายอย่างที่เห็น
จะเดิน ต้องไม่ลืมไม้ค้ำยันที่เจ้าหน้าที่อุทยานเตรียมไว้ให้
สองข้างทาง ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้
ไม้ - เด็กหนุ่มชาวม้งอธิบายถึงพันธุ์ไม้ที่เราเดินผ่าน
พาแวะดูรอยเล็บหมีที่ปีนต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง
ซึ่งถ้าเราเดินเองคงไม่ได้สังเกต
รอยเล็บหมีที่ฝากไว้บนต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง
ระยะแรกของการเดิน เป็นการเดินขึ้นเป็นส่วนใหญ่
ไม้บอกว่า เมื่อเริ่มกิโลเมตรที่สอง หลังจากผ่านทุ่งหญ้าที่จุดชมวิวไปแล้วจะเป็นการเดินลง
และกิโลเมตรที่สาม จะเดินขึ้นๆลงๆ วนกลับตรงทางเข้า
ไม่ซ้ำรอยเดิมเพราะเดินเป็นวง
น้ำตกระหว่างทางเดินขึ้น
เดินขึ้นเดินลงตามสภาพพื้นที่
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเดินขึ้นตามที่ไม้บอก ไว้ประมาณ 1 กิโลเมตร
พอพ้นป่า สภาพพื้นที่ก็เปลี่ยนไป
แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เบื้องหน้าคือทุ่งหญ้าบนยอดเขา
ลมเย็นพัดมาโชยชื่น
บางคนอาจสงสัยว่าเราเดินขึ้นมาประมาณ 1 กิโลเมตร ทำไมจึงมองเห็นทิวเขาที่อยู่ไกลลิบๆ ดูต่ำกว่าเรา
เพราะลืมไปว่า เราเริ่มต้นการเดินจากยอดดอยอินทนนท์ซึ่งสูงที่สุดของภูเขาที่อยู่แวดล้อมอยู่แล้ว
ทุ่งหญ้าบนยอดเขาอันเป็นถิ่นของกวางผา
ไม้ หนุ่มชาวม้งบอกว่าบริเวณนี้คือถิ่นของกวางผา หรือม้าเทวดา
สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
กวางผา มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแพะ
หูยาว ขนตามลำตัวหยาบ และหนา
มีสีเทาหรือน้ำตาลเทา มีแถบสีดำพาดอยู่กลางหลัง
เจ้าสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์นี้ มักออกหากินยอดอ่อนของใบไม้ รากไม้ และผลไม้ตามทุ่งหญ้าโล่งในเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกดินจนถึงเวลาเช้าตรู่
ไม้บอกว่า ในรอบปีที่ผ่านมา เขามีโอกาสเห็นกวางผาเพียงแค่ครั้งเดียว
ตอนที่มันสองตัวออกมานอนอาบแดดในสายลมหนาวตอนเช้าตรู่
ที่จุดนี้
เป็นจุดที่จะต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือจะกลับ
ถ้าจะกลับก็คือเดินกลับทางเดิม
ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
แต่ถ้าเดินต่อ ระยะทางที่เหลือประมาณ 2 กิโลเมตร
 
ผมลองถามคนนำทางว่า
คนส่วนใหญ่ไปต่อ หรือกลับ
คำตอบคือ...
กลับ
จุดชมวิววยอดนิยมบนกิ่วแม่ปาน
เกรงว่าบทความนี้จะยาวเกินไป
จึงขอแบ่งเป็นสองตอนนะครับ
ตอนหน้าจะเล่าถึงตำนานของหินคู่รักทีอยู่ระหว่างทาง
และถ้าตัดสินใจเดินต่อไป
จะได้พบอะไร
ผาแง่ม หรือหินคู่รัก ตำนานคู่ขุนเขา
โปรดกดติดตาม
โฆษณา