17 ม.ค. 2020 เวลา 11:18 • ท่องเที่ยว
ดอยอินทนนท์
จะให้ประทับใจ ต้องไปให้สุด !
ตอนที่ 2 (จบ)
บอกไว้ในตอนที่แล้วว่า
เกรงว่าบทความนี้จะยาวเกินไป
จึงขอแบ่งเป็นสองตอน
ไปกันต่อครับ
จุดชมวิวยอดฮิต บริเวณทุ่งหญ้าบนยอดเขา
ภูเขารอบด้าน จะอยู่ต่ำกว่าเรา เพราะดอยอินทนนท์ คือภูเขาที่สูงที่สุด
จุดชมวิวนี้เป็นไฮไลท์ของเส้นทางเดินบนกิ่วแม่ปาน
มองไปเบื้องหน้าจะเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนและทุ่งหญ้าสวยงาม
บอกไว้แต่แรกว่า คนที่เดินมาจนถึงจุดชมวิวบริเวณทุ่งหญ้านี้แล้วมักจะเลือกเดินกลับ
เพราะหลังจากตากลมชมวิว พอพักหายเหนื่อยแล้ว
ส่วนใหญ่มักจะถามคนนำทางว่า
“เดินมาแล้วกี่กิโลเมตร”
คำตอบคือ
“หนึ่งกิโลเมตร”
โห... เดินมาเป็นชั่วโมงเนี่ยนะ ได้กิโลเมตรเดียว
“แล้วถ้าเดินต่อไปต้องเดินอีกกี่กิโลเมตร”
คำตอบคือ
“สองกิโลเมตร”
แฮ่...
กิโลเมตรแรก ก็เริ่มขาลาก หอบแฮ่ก น้ำลายเหนียวแล้ว
เพราะเดินขึ้นอย่างเดียว
ยิ่งมองเส้นทางที่จะเดินต่อไป
เห็นคนหนุ่มคนสาว หรือขาลุยที่ตัดสินใจเดินต่อ เดินอยู่ลิบๆตามไหล่เขา
คนกลัวความสูงก็ไม่อยากจะไปแล้ว
เส้นทางเดินเลาะไหล่เขา
ยิ่งพอคนนำทางบอกว่า
ถ้าตัดสินใจเดินต่อ จะต้องเดินไปจนครบ เป็นวง ไปตามเส้นทางใหม่
ไม่มีการย้อนกลับแล้ว
ส่วนใหญ่จึงถ่ายรูปที่จุดชมวิวนี้
แล้วเดินย้อนรอยกลับทางเดิม
เราตัดสินใจเดินกันต่อ
เพราะเหตุผลว่าโอกาสที่จะได้มาเดินแบบนี้อาจไม่มีแล้ว
ไหนๆก็ไหนๆ
บางคนสร้างลูกฮึด ให้กำลังใจตัวเองโดยบอกว่า
“ภูกระดึง ฉันยังพิชิตมาแล้ว”
โดยแกล้งทำเป็นลืมไปว่า
นั่นเป็นอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
เดินลง อีกด้านหนึ่งของดอย
ออกเดินจากจุดชมวิว เลาะลงตามทุ่งหญ้าบนไหล่เขา
ไม้ เด็กหนุ่มชาวม้ง ชี้ให้ดูโขดหินที่ผุดโผล่ขึ้นมา บนลาดเขาต่ำลงไปเบื้องล่างไม่ไกลนัก
ให้สังเกตดูก้อนทางซ้ายมือ ซึ่งใหญ่กว่า
พยายามจินตนาการให้เหมือนผู้ชายและก้อนทางขวามือจะมีลักษณะเหมือนผู้หญิงที่มีลูกสะพายอยู่ด้านหลัง
ตรงกลาง มีหินที่มีลักษณะเหมือนหัวใจ
ผาแง่มน้อย ตำนานคู่กิ่วแม่ปานและดอยอินทนนท์
เด็กหนุ่มชาวม้งอธิบายว่า
โขดหินนั้น คนพื้นเมืองเรียกว่า
ผาแง่มน้อย หรือผาคู่รัก
 
มีตำนานที่คนเก่าแก่ชาวม้งเล่าสืบต่อกันมาเป็นนิทานปรัมปราว่า
 
หนุ่มสาวซึ่งเป็นคู่รักกัน
ฝ่ายหญิงมีลูกตัวน้อย
ทั้งคู่พากันหนีตามกันมา
แล้วมาเสียชีวิตที่บริเวณนี้
ศพของทั้งคู่ถูกฝังไว้ที่นี่
แล้วในที่สุดกลายเป็นหิน
ตามแบบของนิทานพื้นบ้านทั้งหลาย
 
ก้อนสูงใหญ่ทางซ้ายคือผู้ชาย
ส่วนก้อนที่เล็กกว่าดูเหมือนผู้หญิงมีลูกน้อยอยู่ในกระชุสะพายหลังแบบชาวเขาเดินตามหลังสามี
หินที่เหมือนรูปหัวใจคือ หัวใจของคนทั้งสอง
ผาแง่มน้อย หรือ ผาคู่รัก
“แง่ม" เป็นภาษาถิ่นเหนือ
แปลว่า "ง่าม" หรือ”แยกออกเป็นสอง”
เป็นหินแกรนิต 2 แท่ง ตั้งอยู่คู่กันอายุประมาณ 200 ล้านปีมาแล้ว
เส้นทางต่อจากนั้น เป็นทางเดินเลียบไปตามชะง่อนเขา
มีรั้วไม้ไผ่กั้นไว้ไม่แข็งแรงนัก
แค่เตือนว่าอย่าล้ำออกไป
เพราะถ้าตกลงไปคงไม่ต้องสืบ
ว่าจะไปติดอยู่ตรงไหน
คนเป็นโรคกลัวความสูง ก็จะเดินแบบหวาดๆ
ลิบๆ ตามไหล่เขา ที่คนกลัวความสูงไม่ค่อยชอบ
เส้นทางระหว่างนี้เป็นจุดหนึ่งที่น่าชมมาก
คนที่เคยไปดูกุหลาบพันปีที่ดอยอ่างกามาแล้วคงจำได้ว่า ต้นกุหลาบพันปีจะอยู่สูงจนมองแทบไม่เห็นดอกกุหลาบ
แต่ที่บริเวณนี้ ต้นกุหลาบพันปีจะขึ้นอยู่ตามลาดเขาที่ต่ำลงไปไม่ห่าง
บางต้นขึ้นอยู่ริมทางเดินที่เราเดินผ่านสามารถชื่นชมได้ในระยะใกล้
กุหลาบพันปีบานสะพรั่งให้ชื่นชมในระยะใกล้ตลอดทาง
เดินขึ้นๆลงๆผ่านป่าป่าโปร่ง
ไม้ ชวนเราไปขึ้นเดินแยกออกจากเส้นทางขึ้นเนินไปไม่ไกลมากนัก
แล้วก็ต้องตะลึงกับภาพที่เห็น
ในแสงแดดบ่าย มองข้ามแนวยอดไม้ลงไป
นั่นคือพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลและนภพลภูมิศิริ
สัญลักษณ์แทนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่เก้า
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ อยู่คู่กัน
ซึ่งเมื่อเราอยู่ด้านล่าง จะต้องเดินขึ้นไปชมทีละองค์ แต่อยู่บนยอดเขานี้สามารถเห็นทั้งสององค์คู่กัน
งามจับตา
ที่ไกลลิบเป็นฉากหลังคือดอยเสือมูบ
พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลและนภพลภูมิศิริ ด้านหลังคือดอยเสือหมอบ หรือดอยเสือมูบ
ไม้ คนนำทางของเราบอกว่าจุดที่ยืนชมพระมหาธาตุเจดีย์นี้คือจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะวัยรุ่น ชอบมาถ่ายรูปแบบกระโดดให้ตัวลอยแล้วให้เพื่อนคอยกดชัตเตอร์จะได้ภาพเหมือนกระโดดอยู่เหนือทิวไม้
แต่ไม่กล้าหรอกครับ
กลัวกระโดดแล้ว พรรคพวกกดชัตเตอร์ ภาพที่ได้คือยอดไม้
นายแบบหายลงไปในหุบเขาข้างล่าง
 
กว่าจะหาเจอคงหลายวัน
เส้นทางต่อจากนั้นคือการเดินไปในป่า
เส้นทางจะขึ้นลงตามสภาพภูมิประเทศ ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้
มีจุดให้นั่งพักเป็นระยะๆ
จุดนั่งพัก ระหว่างเดินทางกลับ
ความร่มรื่นของป่าบนยอดเขาสูง ทำให้ไม่ร้อน
ไม้ บอกระหว่างเดินกลับว่า
เส้นทางเดิน และทางเท้าที่ทำไว้ให้นักท่องเที่ยวเดินสะดวก ก็ใช้แรงงานจากพวกเขานี่แหละมาทำไว้
แผ่นซีเมนต์ที่ปูตามทางเดิน
ก้อนหนึ่งๆ หนัก 25 กิโลกรัม
ก็พวกเขานี่แหละที่แบกกันขึ้นมา
แล้วก็มาถึงเรื่องเงิน 200 บาท ที่ผมบอกไว้ในตอนแรก ที่นักท่องเที่ยวบ่นกันกระปอดกระแปดเพราะไม่อยากควักกระเป๋า
ไม้บอกว่า เงิน 200 บาท ที่นักท่องเที่ยวต้องจ่ายให้กับคนนำทาง ที่บางคนคิดว่า ทำไมแพงนัก จนทำให้บางคนเปลี่ยนใจไม่ยอมเดิน เพราะไม่อยากจ่าย
เขาบอกว่า ไม่ว่าจะมาคนเดียว สองคนหรือมากี่คน ก็จ่ายแค่ 200 บาท
200 บาทนั้น พวกเขาจะได้แค่คนละ 160 บาท ต่อเที่ยว
บางคณะเดินเร็วเขาสามารถกลับไปรับคณะใหม่เดินได้อีก ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
แต่ถ้าเดินช้าอย่างเรา เดินกันเกือบครึ่งวันก็แปลว่า ครึ่งวันนั้นเขาก็จะได้แค่ 160 บาทเท่านั้น
ต่อรองไม่ได้
และหากวันนั้น ไม่มีนักท่องเที่ยวคณะใหม่
เขาก็จะได้แค่นั้น
160 บาท สำหรับวันนั้น
 
160 บาท สำหรับ-การนำทาง/การดูแลไม่ให้นักท่องเที่ยวออกนอกเส้นทาง/การทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่อุทยานดูแลไม่ให้นักท่องเที่ยวมือบอน ทำลายธรรมชาติ/การให้การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในกรณีที่จำเป็น/การอธิบายและเล่าเรื่องราวต่างๆ
และเคยมีในกรณีที่นักท่องเที่ยวบาดเจ็บ ล้มป่วยแบบคาดไม่ถึง ก็พวกเขานี่แหละที่ ทำหน้าที่กู้ภัย ช่วยกันหามนักท่องเที่ยวออกไป !
เงินที่หักไว้ 40 บาทก็จะเป็นเงินที่เอาไปใช้ในการดูแลเส้นทาง
และเป็นเงินกองทุนสำหรับพวกดับไฟป่า
ได้ฟังอย่างนี้แล้ว
200 บาท ไม่น่าเสียดายเลย
คนส่วนใหญ่มักจะให้มากกว่านั้นเมื่อเดินกลับไปถึงจุดเริ่มต้น
ใครที่เคยเดินขึ้นภูกระดึงมาแล้ว
เส้นทางเดินบนกิ่วแม่ปานนี้ก็จะดูว่าเด็กๆ
เดินชิวๆ
 
แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเวลา
และที่ต้องไม่ลืมก็คือ
วัยและสังขารครับ
เป็นเรื่องที่ฝืนกันไม่ได้จริงๆ.
ตอนต่อไป จะพาไปเที่ยว “ผาช่อ”
โปรดกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา