19 ม.ค. 2020 เวลา 04:50 • ประวัติศาสตร์
“บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ อัครมหาเศรษฐีระดับโลก” ตอนที่ 4
การเติบโตของไมโครซอฟต์
บิลล์ได้ออกจากฮาร์วาร์ดและมุ่งสู่ธุรกิจคอมพิวเตอร์อย่างเต็มตัว ซึ่งต่อมา พอลก็ได้เข้ามาร่วมทำงานประจำในไมโครซอฟต์ โดยทั้งคู่ได้ร่วมกันตั้งสโลแกนของบริษัท
“คอมพิวเตอร์บนทุกโต๊ะและในทุกๆ บ้าน (A computer on every desk and in every home)”
สโลแกนของบริษัทดูเหมือนเป็นเรื่องบ้าๆ แทบเป็นไปไม่ได้ในยุคนั้น แต่ทั้งบิลล์และพอลต่างก็ไฟแรงและพร้อมที่จะทำให้ฝันเป็นจริง
ในเวลานี้ เครื่อง Altair นั้นประสบความสำเร็จมาก ทำให้บริษัทอื่นๆ ต่างผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ตามออกมา แต่มีเพียง Apple บริษัทเดียวที่ผลิตทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
ในตอนนี้ไมโครซอฟต์พร้อมที่จะผลิตซอฟต์แวร์ให้กับบริษัทอื่นๆ แล้ว
ในยุคแรกของไมโครซอฟต์ บิลล์และพอลนั้นต้องทำแทบทุกอย่างในบริษัท แต่ความฉลาดและมีหัวธุรกิจของบิลล์ทำให้บิลล์ได้เป็นหัวหน้า โดยบิลล์นั้นมักจะวางแผนธุรกิจใหม่ๆ ช่วยบริหารจัดการพนักงาน และยังเขียนโค้ดสำหรับซอฟต์แวร์ตัวใหม่อีกด้วย
1
ไมโครซอฟต์ค่อยๆ เติบโต มีการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น แต่บิลล์ก็ยังคงทำงานหนัก
บิลล์นั้นมักจะทำงานทั้งวันทั้งคืน และมีอยู่วันหนึ่ง ได้มีเลขาคนใหม่มาที่บริษัทในตอนเช้า เลขาคนนั้นเห็นชายคนหนึ่งนอนอยู่ใต้โต๊ะทำงาน ทำให้เลขาตกใจมากและคิดจะแจ้งตำรวจ เนื่องจากคิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
แต่โชคดีที่พนักงานคนอื่นมาบอกซะก่อนว่าชายคนนั้นคือบิลล์ เขาคงจะนอนหลับพักเหนื่อยอยู่ใต้โต๊ะทำงานหลังจากลุยงานมาทั้งคืน กลายเป็นเรื่องขำขันกันในบริษัท
บิลล์นั้นคาดหวังว่าพนักงานจะทำงานหนักจนดึกดื่นเหมือนเช่นตัวเขา ซึ่งก็โชคดีที่พนักงานส่วนใหญ่ไม่ติดใจอะไร เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนหนุ่มสาว และมีความทะเยอทะยาน
ที่สำคัญก็คือ พวกเขาเชื่อมั่นในไมโครคอมพิวเตอร์
แต่ถึงจะทำงานหนัก บิลล์นั้นก็รักสนุก ในเวลากลางดึก บิลล์มักจะพาพนักงานขึ้นรถพอร์ช 911 ของเขา ไปซิ่งรถเล่นนอกตัวเมือง
ค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) บิลล์กับพอลตัดสินใจย้ายที่ตั้งบริษัท จากเมืองอัลบูเคอร์คีในรัฐนิวเม็กซิโก ไปยังเมืองเบลเลอวูในวอชิงตัน เนื่องจากอัลบูเคอร์คีนั้นอยู่ไกลเกินไป
พนักงานไมโครซอฟต์ในยุคแรก
ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) บิลล์ได้รับโอกาสสำคัญ
ไมโครซอฟต์กำลังจะได้เซ็นสัญญากับ IBM ซึ่งการเซ็นสัญญานี้จะทำให้ไมโครซอฟต์เติบโตมากยิ่งขึ้น
ในเวลานั้น IBM เป็นบริษัทคอมพิวเตอร์เบอร์หนึ่งของโลก เป็นผู้ผลิตเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งในตอนนี้ IBM ต้องการจะขยายธุรกิจเข้าไปในภาคการผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก
IBM จึงติดต่อมายังไมโครซอฟต์
นี่เป็นโอกาสทองของไมโครซอฟต์ บิลล์เพิ่งจะมีอายุได้ 24 ปี และไมโครซอฟต์ก็มีพนักงานทั้งหมด 32 คน ส่วน IBM มีพนักงานกว่า 300,000 คน
ในแวบแรกที่คนของ IBM พบกับบิลล์ พวกเขาก็เกิดลังเล
บิลล์นั้นดูเด็กเกินกว่าจะเป็นนักธุรกิจที่น่าเชื่อถือ แต่ในเวลาไม่นาน พวกเขาก็ได้เห็นว่าบิลล์นั้นรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ดีมากแค่ไหน
IBM ตัดสินใจจ้างให้ไมโครซอฟต์พัฒนาระบบปฏิบัติการให้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ IBM กำลังจะทำ
ไมโครซอฟต์ใช้เวลาพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ IBM เป็นเวลาเกือบหนึ่งปี และในที่สุด ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) IBM ก็พร้อมที่จะนำไมโครคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของบริษัทออกวางตลาด
คอมพิวเตอร์นี้เรียกว่า “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer)” หรือเรียกย่อๆ ว่า “PC”
1
PC แต่ละตัวทำงานด้วย MS-DOS โดย MS ย่อมาจาก” Microsoft” ตัว D ย่อมาจาก “Disk” ส่วน OS ย่อมาจาก “Operating System”
ปรากฎว่า PC ของ IBM นั้นทำยอดขายถล่มทลาย และทำให้บริษัทอื่นๆ เลียนแบบ ซึ่งเป็นผลดีกับไมโครซอฟต์ ทำให้ไมโครซอฟต์สามารถขาย MS-DOS หลายๆ แบบให้แก่บริษัทอื่นๆ
ในเวลาไม่นาน MS-DOS ได้กลายเป็นระบบปฏิบัติการพื้นฐานสำหรับคอมพิวเตอร์ทั่วโลกในเวลานั้น
ด้วยความสำเร็จนี้ ทำให้ไมโครซอฟต์เติบโตขึ้นอย่างมาก ภายในสิ้นปีค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) พนักงานของบริษัทก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 130 คน และภายในปีค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) พนักงานก็มีเกือบ 500 คน
แต่ไม่ว่าบริษัทจะเติบโตแค่ไหน บิลล์ก็ยังคงเป็นเจ้านายที่คอยจัดการทุกอย่างในบริษัท
หากประชุมกับบิลล์ โปรแกรมเมอร์ต้องมีข้อมูลพร้อม เนื่องจากสมองของบิลล์นั้นแล่นราวกับลูกข่าง และเขาก็รู้ทุกอย่าง สามารถมองออกว่าแผนธุรกิจไหนมีจุดอ่อน
บางครั้งบิลล์ก็จะตวาดใส่โปรแกรมเมอร์ว่า
“นั่นเป็นสิ่งที่ฟังดูโง่ที่สุดที่ฉันเคยได้ยินมา”
โปรแกรมเมอร์ต่างรู้สึกกดดัน แต่ถึงอย่างนั้นบิลล์ก็ให้เกียรติพนักงาน เขาปล่อยให้พนักงานมีอิสระในการออกความเห็น และถึงเขาจะตวาดพนักงาน แต่พอถึงเวลาจบการประชุม เขาก็จะบอกพนักงานว่าโอเค เขายอมรับความคิดของพนักงาน
แต่อีกด้านนั้น บิลล์เองก็มีอารมณ์ขันและรักสนุก เขามักจะจัดการให้มีไปปิคนิคในฤดูร้อนและจัดการแข่งขันกีฬาของพนักงาน และให้มีการแข่งเล่นเกมต่างๆ
แต่ในช่วงนั้นเอง บริษัทก็ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญของบริษัทไป นั่นก็คือพอล
พอลนั้นเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และภายหลังจากที่พอลอาการดีขึ้น พอลก็ตัดสินใจลาออกในปีค.ศ.1983 (พ.ศ.2526)
บิลล์ได้เขียนจดหมายถึงพอลโดยมีใจความว่า
“ช่วง 14 ปีที่ผ่านมาเรามีความเห็นไม่ตรงกันนับไม่ถ้วน แต่ยังไงก็ตาม ฉันว่าคู่หูคู่ไหนๆ ก็คงมีความเห็นตรงกันไม่มากนักหรอก”
ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) บิลล์ได้ขึ้นปกนิตยสาร Time
บิลล์ในเวลานี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของไมโครซอฟต์แล้ว และเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนโลกด้วยไมโครซอฟต์
เส้นทางของบิลล์จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา