20 ม.ค. 2020 เวลา 12:19 • สุขภาพ
Glipizide : ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดที่ควรรู้จัก
บทความนี้ขอนำเสนอข้อมูลยา Glipizide ให้ทุกท่านได้รู้จักกันครับ เพราะยาตัวนี้ใช้บ่อยไม่แพ้ Metformin เลยทีเดียว หลัก ๆ ผมอยากเน้นเรื่องกลไกครับ เพราะอยากให้พวกเรารู้ด้วยว่ายาตัวนี้มันไปทำอะไรกับร่างกายเรา เพื่อที่จะได้รู้ต่อไปว่าแล้วเราจะใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์มากกว่าโทษครับ
ยา Glipizide จัดอยู่ในกลุ่ม Sulfonylureas ยาในกลุ่มนี้ไม่ได้มีแค่ยา Glipizide นะครับ มีเพื่อน ๆ อีกหลายตัวเลย เรียกว่ามีเป็นรุ่น ๆ เหมือนจะมีมา 3 รุ่นแล้ว และยา Glipizide จัดเป็นรุ่นที่ 2 😊 ใน 3 รุ่นนั้นมีอะไรบ้าง
1. รุ่นแรก เช่น ยา Chlorpropamide
2. รุ่นที่ 2 เช่น ยา Glibencamide และ Glipizide
3. รุ่นที่ 3 เช่นยา Glimepiride และยา Gliclazide
เอาจริง ๆ นะ ที่มีใช้บ่อยก็ยา Glipizide นี่แหละครับ ส่วนเพื่อนในรุ่นที่ 2 คือ Glibencamide ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว รุ่นแรกนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ไม่ใช้เหมือนกัน แต่รุ่นที่ 3 ออกมาใหม่ยังพอมีใช้อยู่ครับ
ต่อไปเจาะลึกถึงกลไกการทำงานกันดีกว่าครับ จะได้รู้อย่างแจ่มแจ้งว่ายา Glipizide ทำอะไรกับร่างกายเรา (จริง ๆ กลไกนี้เป็นทั้งกลุ่มเลยนะครับ)
เริ่มต้นจากเมื่อเรากินยา Glipizide เข้าไปในร่างกาย ยาก็จะเดินทางผ่านด่านต่าง ๆ มากมายจนเข้าไปในกระเเสเลือดในที่สุด เป้าหมายของยา Glipizide คือต้องหาตัวรับให้เจอครับ ซึ่งตัวรับคือ Sulfonylurea receptor (ในเบต้าเซลล์ของตับอ่อน)
เมื่อยา Glipizide เจอกับตัวรับแล้วจะเกิดการจับกันของยาและตัวรับ เมื่อจับกันแล้วจะเกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ ตามมา อันดับแรกเกิดการปิดกั้น ATP-sensitive potassium channel ที่เบต้าเซลล์ (เบต้าเซลล์อยู่ที่ตับอ่อน ย้ำอีกครั้ง)
ขยายความเพิ่มเติม ATP-sensitive potassium channel คืออะไร ?
มันก็คือช่องที่มีไว้ให้ Potassium ผ่านเข้าออกนั่นเองครับ พูดง่าย ๆ คือยา Glipizide จะไปปิดช่องนี้ไว้ พอช่องนี้ถูกปิด จะเกิดอะไรขึ้นล่ะ ?
Potassium ก็เข้าไปไม่ได้สิครับ จึงเกิดกระบวนการ depolarization เป็นผลให้ Calcium เข้าสู่เซลล์โดยผ่านทาง voltage-dependent calcium channel (ช่องที่ให้ Calcium ผ่าน) หัวใจหลักที่เราต้องการคือให้ Calcium เข้าสู่เซลล์นี่แหละครับ
ขอบคุณภาพจาก http://physiology.md.chula.ac.th/website/dm_treatment.html
เพราะเมื่อมี Calcium เข้าสู่เซลล์ เป้าหมายต่อไปคือ “การกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน" พออินซูลินถูกหลั่งระดับน้ำตาลในเลือดของเราก็ลดลงครับ (ดังภาพ)
จึงสามารถพูดได้ว่ายา Glipizide กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน นั่นเอง ซึ่งกลไกนี้จะแตกต่างจากยา Metformin โดยสิ้นเชิง
ดังนั้นเมื่อเรากินยา Glipizide เข้าไป ยาจึงสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ครับ
1
🔴 สิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาคืออะไร ?
ปัญหาคือ ยานี้ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ง่าย แล้วมันเกิดได้อย่างไร สงสัยกันไหมครับ ??
ปกติยา Glipizide จะแนะนำให้รับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที ด้วยเหตุผลทางเภสัชจลนศาสตร์ของยา พูดให้ง่ายก็คือกว่าที่ยาจะออกฤทธิ์จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที
1
เรากินยาไปแล้ว อีก 30 นาที ยาจึงจะพร้อมออกฤทธิ์ หลังจากนั้นเรากินอาหารเข้าไป ในอาหารมีน้ำตาล ตอนนี้แหละครับที่ระดับน้ำตาลในเลือดเราจะสูงขึ้น ดังนั้นยา Glipizide จะเข้าไปจัดการน้ำตาลตรงนี้ทันที (โดยกระตุ้นให้อินซูลินมาจัดการ) น้ำตาลก็ลดลง นี่คือเหตุการณ์ที่ควรจะเป็น แต่ !!
ความเป็นจริงคือ ผู้ป่วยบางคนกินยาไปแล้ว อีก 1 ชั่วโมงถึงจะกินอาหาร 😰 ยาออกฤทธิ์ไปแล้ว ดึงน้ำตาลลงแล้ว ไหนล่ะอาหาร ไหนล่ะน้ำตาล ไม่มี ยาจึงไปดึงน้ำตาลในเลือดที่มีอยู่ขณะนั้นแทน นี่แหละครับ สาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำ
กรณีข้างต้นเจอน้อย อีกกรณีเจอมากกว่าครับ ประเด็นมันอยู่ที่ยาก่อนอาหารนี่แหละครับ ลองนึกว่าถ้าเป็นเราจะลืมกินยาไหมครับ กว่าจะนึกได้คำข้าวจะเข้าปากอยู่แล้ว ก็หยิบยามากินเลยแล้วตามด้วยข้าว เพราะถือว่าก่อนอาหารแล้ว เอ๊ะยังไง
ลองนึกภาพตามครับ อย่างที่บอกไปกว่ายาจะออกฤทธิ์ 30 นาที แต่เราดันกินพร้อมข้าว อาหารถูกย่อยแล้ว ระดับน้ำตาลสูงขึ้นแล้ว ไหนยาพร้อมรึยัง ยาบอกยังรอก่อน ระดับน้ำตาลก็สูงต่อไปจนทำให้บางคนคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ก็เพราะการกินยาผิดนี่แหละครับ
แล้วกรณีกินยาพร้อมอาหารทำให้ระดับน้ำตาลต่ำได้ไหม ?
🟢 ได้ครับ
เพราะหลังจากเรากินอาหาร ระดับน้ำตาลสูงก็จริง แต่ร่างกายก็จะนำไปใช้บางส่วน แต่พอหลังจากนั้นไป 30 นาที ระดับน้ำตาลอาจจะลดลงมาระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นจังหวะที่ยา Glipizide พร้อมออกฤทธิ์ ยาจึงไปลดระดับน้ำตาลลงอีก เราจึงพบเจอผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลต่ำช่วง 10 - 11 โมง ได้ครับ (ในกรณีกินยาตอนเช้า)
ดังนั้นแล้วกินยา Glipizide ให้ถูกเถอะครับ คือกินก่อนอาหาร 30 นาที ง่าย ๆ แต่ทำยากมากจริง ๆ
1
ผมหวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ แต่อย่างน้อยก็น่าจะพอรู้ว่ายา Glipizide ทำอะไรกับร่างกายเราและเราควรกินยานี้ตอนไหนนะครับ 😊
ขอบคุณมากครับ 🙇‍♂️
โฆษณา