14 ธ.ค. 2022 เวลา 04:03 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมเราจึงไม่มียาอินซูลิน (Insulin) แบบเม็ด ?
ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบที่ว่าทำไมเราจึงไม่มียาอินซูลิน (Insulin) แบบเม็ด ? เรามาทำความรู้จักอินซูลินกันก่อนครับ
อินซูลินคืออะไร ?
แท้จริงแล้วอินซูลินก็คือฮอร์โมนในร่างกายเรานี่เองแหละครับ มันถูกสร้างมาจากเบต้าเซลล์ (beta cell) ในตับอ่อน ร่างกายสร้างมันขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่หลายๆอย่าง แต่ที่ผมอยากให้พวกเราจดจำก็คือ หน้าที่ในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพเชื่อมโยงต่อไปครับ
ในภาวะปกติที่ร่างกายมีความสมดุลและฮอร์โมนอินซูลินมีการทำงานที่เป็นปกติ เวลาเรารับประทานอาหารอะไรเข้าไป ร่างกายมีการย่อยแล้วได้น้ำตาล อินซูลินก็จะเข้ามาจัดการน้ำตาลตรงนี้ โดยเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นไกลโคเจนเเละไตรกลีเซอไรด์ เก็บสะสมไว้ที่เซลล์ตับ กล้ามเนื้อและเซลล์ไขมัน
การทำงานของอินซูลิน ขอบคุณรูปภาพจากเอกสารอ้างอิง (6)
ระดับน้ำตาลในเลือดของเราจึงอยู่ในระดับที่เป็นปกติ
แต่จะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีฮอร์โมนอินซูลินทำงานผิดปกติ เช่นผลิตออกมาได้น้อย หรืออินซูลินทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าคนทั่วไป จนนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด
ตอนต้นผมได้ให้พวกเราจำไว้ว่า อินซูลินช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดไช่ไหมครับ นี่แหละครับมนุษย์จึงพยายามหาวิธีทางในการนำอินซูลินมาใช้ในการรักษาเบาหวาน จนเรามียาอินซูลินในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันก็มียาอินซูลินออกมาหลากหลายชนิด แต่แทบทั้งหมดเป็นยาฉีด คนไข้เบาหวานจะใช้ยาก็ต้องฉีดเข้าไปในร่างกาย ซึ่งก็ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษในการฉีด มีความยุ่งยาก ส่งผลต่อความอยากใช้ยาของคนไข้ (ไม่อยากใช้ 😆)
ตำแหน่ง และเทคนิควิธีการฉีดยาอินซูลิน
จึงเป็นที่มาของบทความนี้นั่นเอง ทำไมเราไม่ทำให้อินซูลินกินได้ล่ะ จะได้ใช้ยาได้ง่ายขึ้น จริงไหม?
จริงๆก็มีคนคิดที่จะทำมานานแล้วล่ะ แต่ประเด็นคือมันไม่ได้ทำง่ายขนาดนั้น คำถามคือทำไมล่ะ? เราต้องกลับไปดูว่าอินซูลินคืออะไร? อินซูลินก็คือฮอร์โมนนั่นเอง โครงสร้างของอินซูลินก็คือโปรตีน โปรตีนเมื่อเรากินเข้าสู่ร่างกายก็ถูกกรดในกระเพาะอาหารย่อยในที่สุด อินซูลินเมื่อเข้าไปในกระเพาะอาหารก็จะถูกย่อยไม่ต่างจากโปรตีนอื่นๆ มันถูกทำลายไปก่อนจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อออกฤทธิ์นั่นเอง
ดังนั้น ฉีดมันเข้าไปในเส้นเลือดเสียเลย จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดและทำกันมานานแล้ว มีการพัฒนาต่อยอดออกไปให้ฉีดแล้วออกฤทธิ์แบบไหนดี ไวขึ้น นานขึ้น หรือกระทั่งเลียนแบบให้เหมือนกับฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายจริงๆ
ตัวอย่างยาอินซูลินที่มีการใช้ในปัจจุบัน
แต่ถึงกระนั้นก็มีคนที่พยายามคิดค้นให้มันสามารถกินได้ โดยพยายามหาอะไรมาห่อหุ้มอินซูลินเพื่อที่จะได้ไม่ถูกกรดในกระเพาะอาหารย่อย เช่นใช้เทคโนโลยี Cholestosome เพื่อนำส่งยา แต่ก็ยังไม่เห็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้งานได้จริง
อีกแนวคิดที่น่าสนใจที่ผมไปเจอมาก็คือ ทำไมเราไม่สร้างสารที่สามารถทำหน้าที่เป็นอินซูลินได้ แต่มันไม่ใช่อินซูลิน (non-insulin) แทนอินซูลินจริงๆล่ะ ก็ในเมื่ออินซูลินมันไม่ทนกรด ก็หาอะไรมาแทนอินซูลินสิ แต่ออกฤทธิ์ได้เหมือนกัน
ตามเอกสารอ้างอิงหมายเลย 1 มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Nature Communications เป็นการทดลองการทำงานของสารชนิดหนึ่งเขาใช้ชื่อว่า cryoEM โดยออกแบบ เลียนแบบโครงสารของสารนี้ให้เหมือนอินซูลิน แล้วทดสอบการทำงานในการจับกับ insulin receptor และดูว่ามีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ไหม
ส่วนผลการทดลองเป็นอย่างไรต้องเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมเองนะครับ แต่ส่วนตัวผมมองว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจและถือเป็นจุดเริ่มต้น เปิดโลกในการพัฒนายาอินซูลินต่อไป โดยเป้าหมายก็เพื่อคนไข้ใช้ยาได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น และที่สำคัญยานั้นต้องปลอดภัยกับคนไข้ด้วยนะครับ (มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด)
หวังว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นยาอินซูลินที่สามารถกินได้กันนะครับ
โฆษณา