28 ม.ค. 2020 เวลา 12:11 • บันเทิง
[ CNY Special 2020 #ep.4 ]
1
บทส่งท้าย : 'เสียงเพลงจากดวงจันทร์' 🌝
หากคุณเกิดมาในครอบครัวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ความเป็นไปได้คือแทบจะ 100% ที่คุณจะเคยได้ยินเพลงที่ผมหยิบมาเล่าในวันนี้
เพลงที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และจิตวิญญาณแบบสังคมนิยม
ตามฉบับของเหมาเจ๋อตุง
เพลงที่ว่านี้มีชื่อว่า "Spring Festival Suite"
เป็นบทเพลงออร์เคสตราแบบจีน
ซึ่งประพันธ์โดย Li Huanzhi
แล้วเพลงนี้มีความสำคัญอย่างไร
เกี่ยวข้องอะไรกับดวงจันทร์ ?
ผมจะพาไปหาคำตอบกันครับ
cr. unsplash.com
[ ศิลปะเพื่อมวลชน ]
ในช่วงปี 1942 กระแสของการปฎิวัติวัฒนธรรม ได้ก่อตัวขึ้นที่เมืองเยียนอาน มณฑลส่านซี อันเป็นศูนย์กลางของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง
ด้วยแนวคิดแบบสังคมนิยม ที่มุ่งเน้น 'ประชาชนส่วนรวม' เป็นหลัก ทำให้ศิลปะชั้นสูงอย่างอุปรากร ถูกมองด้วยสายตาที่ติเตียน
ศิลปะและวรรณกรรมที่ดี ควรสะท้อนถึงชีวิตของชาวบ้านสามัญชน เพราะพวกเขาเหล่านั้นคือผู้ชมที่แท้จริง มิใช่แต่เพียงชนชั้นสูงอีกต่อไป
cr. artsjournal.com
หนึ่งในผลของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมนี้ คืองานเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิในเทศกาลปีใหม่ "Spring Festival" ที่ได้เกิดขึ้นในปี 1943
เหล่าศิลปินและผู้คนทั่วไปต่างมาพบปะสังสรรค์และเต้นรำกัน นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสมัครสมาน
ฝ่ายที่มีอำนาจปกครอง ทหาร รวมไปถึงชาวบ้านต่างก็ร่วมฉลองภายใต้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
จากอดีตสู่ปัจจุบัน การเตรียมข้าวของสำหรับงานฉลองเทศกาล / cr. xinhuanet.com
[ บทเพลงแห่งการเฉลิมฉลอง ]
จากประสบการณ์และความรู้สึกนึกคิดที่ได้สัมผัส ในช่วงเวลาเทศกาลฤดูใบไม้ผลิที่เมืองเยียนอานเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านี้ เป็นแรงบันดาลใจให้ Li Huanzhi แต่งเพลง "Spring Festival Suite" นี้ขึ้นมา
โดยเขาได้รำลึกถึงบรรยากาศความกระตือรือร้นเบิกบานของผู้คนท่ามกลางกระแสการปฏิวัติ ที่มาร่วมฉลองด้วยความรักในผืนแผ่นดิน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเสมอภาคเท่าเทียมกัน
Li Huanzhi แต่งเพลง Spring Festival Suite ในบ้านของเขาที่ปักกิ่ง ในเดือนมิถุนายน 1954
“Spring Festival Suite" ประกอบไปด้วยดนตรี 4 ช่วง (movement) โดยเริ่มจาก Overture, Love song, Pange, และปิดท้ายด้วย The Lantern Festival
โดยในแต่ละช่วงเน้นเครื่องดนตรีและอารมณ์ที่แตกต่างกันไป ช่วงที่โดดเด่นและถูกนำมาบรรเลงเดี่ยว ๆ มากที่สุดคือช่วงแรกอันมีชื่อว่า "Spring Festival Overture" นี่เอง
cr. amazon.com
[ ตำนานปรัมปรา...และการเดินทางสู่ดวงจันทร์ ]
ก่อนจะไปถึงเรื่องราวที่ว่าบทเพลงนี้
เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์อย่างไร
ผมขอเล่านิทานปรัมปราสั้น ๆ ให้ฟังเรื่องหนึ่งนะครับ
กาลครั้งหนึ่ง...มีหญิงสาวนามว่า "ฉางเอ๋อ" เธอมีคนรักเป็นนักแม่นธนูนามว่า "โฮ่วอี้" ผู้ได้ยาอมฤตจากบรรดาทวยเทพเป็นรางวัลที่ช่วยยิงธนูใส่ดวงอาทิตย์ทั้งสิบ ให้เหลือเพียงดวงเดียว ช่วยให้บรรดาสิ่งมีชีวิตอาศัยบนพื้นโลกได้อย่างเป็นสุข
แต่แล้วเมื่อลูกศิษย์คิดไม่ซื่อของเขา ต้องการจะครอบครองยานี้ขณะที่โฮ่วอี้ไม่อยู่ ด้วยภาวะที่คับขัน ฉางเอ๋อจึงจำต้องกลืนยานี้เข้าไปเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในมือของลูกศิษย์
ฉางเอ๋อ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ / cr. english.gov.cn
ด้วยฤทธิ์แห่งยา ทำให้ร่างของเธอลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า และกลายเป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์
เธอเลือกพำนักอยู่บนดวงจันทร์ เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ชิดกับโลกซึ่งมีคนรักของเธอมากที่สุด
และชื่อของเทพธิดาฉางเอ๋อนี้เอง ได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของ ดาวเทียมดวงแรกของจีน "ฉางเอ๋อ-1" (Chang’e-1) ซึ่งได้ส่งออกไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 2007
[ เสียงเพลงที่ก้องกังวานมายังโลก ]
ดาวเทียมฉางเอ๋อ 1 / cr. directory.eoportal.org
นอกจากภารกิจสำรวจดวงจันทร์แล้ว 'ฉางเอ๋อ 1' ยังได้นำเสียงเพลงอันเป็นที่รักของชาวจีนขึ้นไปด้วย
เพลงคลาสสิกจำนวน 30 เพลง ถูกคัดเลือกจากการโหวตของประชาชน โดยเป็นเพลงที่สะท้อนถึงความรักที่มีต่อผืนแผ่นดินมาตุภูมิ
และเพลงอันดับแรกที่อยู่ในรายชื่อก็คือ
"Spring Festival Overture" นี้เอง
เมื่อดาวเทียมไปถึงวงโคจรอันเป็นจุดหมายที่ระยะ 380,000 กิโลเมตรจากผิวโลก เพลงได้ถูกเล่น และถ่ายทอดสัญญาณเสียงมายังวิทยุ โทรทัศน์ และออนไลน์ให้ประชาชนชาวจีนได้ฟังบทเพลงอันเป็นที่รักจากฟากฟ้าอันแสนไกล...
จากงานเต้นรำของชาวบ้าน สู่ห้วงอวกาศ
"Spring Festival Overture" ได้สร้างความสุขให้กับผู้คนผ่านกาลเวลา และระยะทางสุดขอบฟ้า
พร้อมกับบันทึกเรื่องราวไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ให้ชาวจีนจากรุ่นสู่รุ่น ได้หวนรำลึกด้วยความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม และความรักในแผ่นดินอันเป็นมาตุภูมิ
🎵 ฟังเพลง "Spring Festival Overture" บรรเลงโดย China Broadcasting Chinese Orchestra ได้ที่นี่ 👇
ขอบคุณทุกกำลังใจที่มีให้กัน
แล้วพบกันใหม่ในเพลงหน้าครับ 🎶

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา