Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หลงไปในประวัติศาสตร์ by หมอเอ้ว ชัชพล
•
ติดตาม
30 ม.ค. 2020 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เข้าใจโรคติดเชื้อผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการ
ตอนที่ 2 มดซอมบี้
**** หมายเหตุ เรื่องนี้เรียบเรียงขึ้นใหม่ จากหนังสือเหตุผลของธรรมชาติ ที่ผมเขียนไว้ในปี พ.ศ. 2554 ครับ ****
1.
มาแต่งคอสเพลย์กันครับ
เรามาแต่งตัวและจินตนาการว่าเราเป็น หนอนพยาธิตัวแบนที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dicrocoelium dendriticum (อานว่า ได-โคร-ซี เลียม-เดน-ไดร-ทิ-คุ่ม) กัน
หน้าตาของ Dicrocoelium dendriticum (ภาพจาก wikipedia)
สปีชีส์ของพวกเรา เป็นหนอนที่พบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปและเอเชีย
วงจรชีวิตของเราก็ เหมือนพยาธิทั่วๆ ไปคือ ระหว่างที่เราเติบโตเราจะต้องหาสิ่งมีชีวิตใหม่เป็นบ้านและย้ายบ้านไปเรื่อยๆ
เป้าหมายชีวิตหลักของพวกเราคือ
1 เราจะต้องไปสืบพันธุ์มีไข่ในทางเดินอาหารของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเล็มหญ้าขนาดใหญ่ทั้งหลาย เช่น วัว แกะ แพะ หรือกวาง
2 ลูกเราจะเกิดมาเป็นไข่ จากนั้นไข่ก็จะหลุดออกไปกับอึกของสัตว์ สัตว์อึที่ไหน ไข่ของพวกเราก็จะไปตกที่นั่นด้วย ซึ่งเป็นข้อดีเพราะลูกๆของพวกเราจะได้กระจายไปเติบโตในที่ต่างๆ
3 เรารู้ว่าวันหนึ่ง อาจจะมีหอยทากคลานผ่านมาแล้วกินอึของสัตว์พวกนี้เข้าไปพร้อมๆกับไข่ (ลูกของเรา)
1
4 ไข่พยาธิ (ลูกของเรา) จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนในทางเดินอาหารของหอยทาก
5 แต่เรารู้ว่า หอยทาก เองก็ไม่ชอบให้ลูกเราไปเติบโตในทางเดินอาหาร มันจึงมีกลไกขับไล่หนอนพยาธิออกมา โดยหอยทากจะสร้างเมือกเหนียวๆขึ้นมาห่อหุ้มพยาธิ จากนั้นก็จะบ้วนเมือกนี้ออกมาจากรูหายใจของทาก เมือกที่เหนียวและมีพยาธิอยู่ด้านในก็จะไปติดอยู่บนต้นหญ้าตามพื้นดิน
6 แย่แล้วสิ !!
ถ้าเราไม่ทำอะไร ไข่ของเราจะเหนียวติดอยู่บนพื้นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าไข่ไม่สามารถกลับเข้าไปในลำไส้ของสัตว์อย่างวัว แกะ แพะหรือกวางได้ ก็อาจจะต้องแห้งแข็งตายอยู่เช่นนี้แน่ๆ
1
7 โชคยังเข้าข้างพวกเรา เพราะเมือกของหอยทากเป็นอาหารอันโอชะสําหรับมด
เมื่อกองทัพมดมารุมกินเมือกเข้าไป ก็เท่ากับว่า ตัวอ่อนของพยาธิก็เข้าไปอยู่ในทางเดินอาหารของมด
แม้ว่าจะรอดพ้นจากการแห้งตายอยู่ที่พื้นไปได้ แต่ปัญหาของเราก็ยังไม่จบ และเหมือนว่าเราจะยิ่งหลงทางไปไกลขึ้นไปอีก เพราะถ้าไม่ได้กลับไปในลำไส้ของวัว แกะ แพะหรือกวาง ลูกเราก็ไม่สามารถจะสืบพันธุ์มีหลานได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น เผ่าพันธุ์ของเราก็คงต้องสิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้
คำถามคือ จากลำไส้ของมด เราจะไปอยู่ในลำไส้ของวัวได้อย่างไร ?
เหมือนว่าจะไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะมดไม่ใช่อาหารของ วัว แกะ แพะ กวาง
การจะเดินทางจากทางเดินอาหารมด ไปทางเดินอาหารวัว จึงเหมือนว่าไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย
เราจะหาทางให้ลูกของพวกเรากลับเข้าไปใน ลำไส้ของสัตว์ใหญ่ได้อีกอย่างไร ? ถ้าพวกเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ พวกเราจะ ... สูญพันธุ์ !!
1
แต่สิ่งที่พวกเราไม่รู้คือ ลูกๆของพวกเรา ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากพวกเราอีกต่อไป พวกเขาสามารถแก้ปัญหานี้กันได้เองแล้ว
ภาพวงจรชีวิตของ Dicrocoelium dendriticum
2.
เหล่าตัวอ่อนของพยาธิในทางเดินอาหารของมด ตัดสินใจที่จะแยกออกเป็น 2 ทีม
1
ทีมแรก จะปักหลักในทางเดินอาหารต่อไป
ทีมสอง จะไชออกจากทางเดินอาหารและเดินทางขึ้นทิศเหนือ เป้าหมายของพวกเขาคือ สมองของมด ! (จริงๆเป็นปมประสาท แต่ขอเทียบเป็นสมองเพื่อง่ายต่อการเข้าใจ)
3.
เมื่อตะวันเริ่มคล้อยต่ำลง อุณหภมิของอากาศลดลง เวลาที่รอคอยก็มาถึง
1
หนอนพยาธิทีมที่เข้าไปยึดครองสมอง จะเริ่มปฏิบัติการบางอย่างกับสารเคมีในสมองของมด ผลที่เกิดขึ้นคือ มดตัวนั้นจะเดินแยกตัวออกไปจากฝูงอย่างเงียบๆ
มันมุ่งหน้าตรงไปเรื่อยๆ ขณะที่สายตาก็สอดส่องหาบางอย่าง
สุดท้าย มันก็เจอสิ่งที่มันมองหาอยู่
ต้นหญ้าที่สูงโดดเด่นคือเป้าหมายที่มันจะต้องปีนขึ้นไปให้ได้ มันไม่รู้หรอกว่าทำไมมันต้องปีนขึ้นไปบนยอดหญ้าที่สูงนั้น มันรู้แค่ว่า นี่คือสิ่งที่มันต้องการจะทำ มันต้องการจะปีนไปบนยอดหญ้าแล้วกัดยึดหญ้าไว้ให้แน่น
มันต้องการเท่านี้จริงๆ ...
ในสายตาของมดอื่นๆนั้น พฤติกรรมเช่นนี้ เป็นการกระทำที่บ้าระห่ำมาก เพราะการไปยืนบดยอดหญ้าที่สูงเด่นเช่นนี้ มีโอกาสที่จะถูก สัตว์เล็มหญ้ากินเข้าไปพร้อมกับหญ้าได้
แต่สำหรับลูกๆของพวกเราแล้ว นั่นคือ ภารกิจสำคัญที่จะช่วยรักษาเผ่าพันธุ์ของพวกเราชาว Dicrocoelium dendriticum เอาไว้
แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ ...
4.
ถ้าคืนและเช้าวันนั้นผ่านไปโดยที่มดไม่ถูกกิน และมดยังยืนเช่นนั้นไปเรื่อยๆ แสงแดดที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆในช่วงกลางวัน ก็จะแผดเผามดจนตายไป
ถ้าเป็นเช่นนั้น ภารกิจของลูกๆเราก็จะล้มเหลวไปด้วย
ลูกๆเราจะต้องตายไปโดยไม่มีโอกาสได้ผสมพันธุ์แม้แต่ครั้งเดียว
แต่ลูกๆของพวกเราก็ไม่ยอมให้เกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้น
ดังนั้นเมื่อดวงตะวันเริ่มขึ้นสูง เมื่ออุณหภูมิของอากาศเริ่มขึ้นสูง มดก็จะค่อยๆ คลายกราม ที่มันกัดหญ้าออกดั่งคําสาปที่ถูกถอดถอน มันจะเดินลงจากยอดหญ้าแล้วกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับมดตัวอื่นๆ อย่างปกติราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
จวบจนกระทั่งเมื่อตะวันตกเริ่มคล้อยต่ำ
เหล่ามดที่ติดเชื้อ จะกลับมายืนบนยอดหญ้าเพื่อรอความตายกันอีกครั้ง
เหตุการณ์จะวนเวียนเช่นนี้เรื่อยๆ จนกว่า ...
เราจะได้สิ่งที่ต้องการ !
หลังจากที่เราคุยถึงปรสิตที่บงการสิ่งมีชีวิตอื่นไปแล้ว 2 ตัวอย่าง ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะนำหลักการนี้ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ การป่วยด้วยภาวะติดเชื้อ
ในตอนที่ 3 เราจะไปดูกันว่า เชื้อก่อโรคมาลาเรีย ควบคุมยุงลายได้อย่างไร
และในตอนที่ 4 เราจะดูว่า เชื้อไวรัส สามารถควบคุมสมองมนุษย์ได้อย่างไร
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของโรคติดเชื้อ แนะนำหนังสือขายดีของผมเอง 2 เล่ม เหตุผลของธรรมชาติ และ สงครามที่ไม่มีวันชนะ
สามารถสั่งซื้อได้จากลิงก์
https://www.lazada.co.th/shop/chatchapolbook/
หรือ
https://shopee.co.th/cthada
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/HistorybyChatchapol
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
https://www.facebook.com/ChatchapolBook/
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
https://www.youtube.com/chatchapolbook
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
54 บันทึก
346
61
68
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
โรคระบาด
เข้าใจโรคติดเชื้อผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการ
54
346
61
68
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย